Skip to main content

ค่ำคืนแห่งการรัฐประหาร

คอลัมน์/ชุมชน

สุเจน กรรพฤทธิ์


 


19 กันยายน 2549… 21.30 .


 


เสียงโทรศัพท์มือถือผมดังขึ้นขณะที่นั่งผ่อนอารมณ์อยู่ในที่พักแห่งหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


"นายได้ข่าวปฏิวัติไหม"


 "ไม่เห็นรู้เรื่องเลย เอาอะไรมาพูด ข่าวลือมั้ง"


 "เออ ตรวจสอบข่าวให้ดี ลือทั่วกรุงเทพฯ เลยตอนนี้"


 


ผมละโทรศัพท์ ไปอาบน้ำและยังไม่คิดอะไรมากมาย เพราะรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่สร้างปัญหามาตลอดสี่ซ้าห้าปีนี้ อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจากพลังประชาชน มิใช่จากวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่ไม่มีความยั่งยืนอย่างเช่น การปฏิวัติรัฐประหาร


 


22.00 . ผมพบว่าทีวีขึ้นรูปทักษิณ ชินวัตร พร้อมข้อความ "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" พร้อมกับเสียงแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสั่งปลด พล..สนธิ บุญยรัตกลิน จาก ผบ.ทบ. โดยให้เข้ามารายงานตัวกับ พล...ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ทันที


 


งงและอึ้ง ด้วยไม่คิดว่านายทักษิณกล้าประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ในเขตเมืองหลวง เพราะนั่นหมายถึงการจำกัดการชุมนุมและอำนาจทั้งหมดจะตกอยู่กับนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการปลดผู้บัญชาการทหารบกกลางอากาศ


 


แต่สัญญาณก็ถูกตัดในทันที พร้อมมีเพลงพระราชนิพนธ์เปิดค้างอยู่เกือบทุกช่อง  ผมรู้สึกได้ทันทีว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นบางอย่างในกรุงเทพฯ และข่าวสารทั้งหมดของเรากำลังจะถูกปิดกั้น


 


ไปดูที่ CNN จึงทราบว่า ขณะนั้นมีข่าวว่ารถถังวิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ทั่วไปหมด โดยเฉพาะจุดสำคัญคือ ถนนราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาลนั้น รายงานระบุชัดเจนว่ามีรถถังเข้ามาประจำการ ขณะที่ตัวทักษิณเองนั้นอยู่ในนิวยอร์คเพื่อประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ


 


ผมพยายามตรวจข่าวจากเพื่อนและรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ในสายสื่อมวลชนก็พบว่า ขณะนั้นเป็นเกมการต่อสู้กันทางสื่อ โดยทักษิณอ่านแถลงการณ์ผ่านโทรศัพท์ข้ามประเทศมาที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ขณะที่โทรทัศน์ช่องอื่นปฏิเสธสัญญาณด้วยถูกกำลังทหารควบคุมเรียบร้อยแล้ว โดยมี ททบ.5 เป็นช่องแรก


 


กล่าวอย่างตรงไปตรงมา  ผมไม่คิดว่าบรรยากาศที่ผมเคยเจอสมัยเรียน ป.5 จะกลับมาอีกในยุคที่เรามีรัฐธรรมนูญร่างจากประชาชนบังคับใช้


 


20 กันยายน 2549….รุ่งเช้า


 


 



ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ


 


ผมพบว่าหลายคนสะใจที่รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีตกจากเก้าอี้โดยปากกระบอกปืน


แต่ผมกลับเศร้าใจ ทั้งที่ไม่ค่อยชอบขี้หน้าของนายกฯ ทักษิณนัก


 


ด้วยไม่เคยเชื่อน้ำยาของคณะทหารที่แม้ว่าจะใช้ชื่อสวยหรูอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงคือ พวกเขาเข้ามายึดอำนาจด้วยวิธีการเช่นนี้จากรัฐบาลที่มาตามระบบประชาธิปไตย (แม้ว่าบางความรู้สึก ผมคิดว่ามันมาจากประชาธิปไตยแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนส่วนหนึ่งในสังคมไทยจนทำให้เราต้องเผชิญสถานการณ์ที่เกิดขึ้น)


             


ภาพเมื่อ 15 ปีก่อนที่ พล..ชาติชาย ชุณหะวัณ โดน รสช. จับตัวก่อนทำการรัฐประหารและนำพวกพ้องตัวเองขึ้นเถลิงอำนาจยังคงตราตรึงในใจของผม


 


เวลานั้น แม้ประชาชนไม่ได้แสดงออกว่าสนับสนุนโดยไปมอบดอกไม้และถ่ายภาพเป็นที่สนุกสนานเหมือนเวลานี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ  มีการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง  พล..สุจินดา คราประยูร ก็ขึ้นเถลิงอำนาจพร้อมหลั่งน้ำตาอ้างว่า "ทำเพื่อชาติ" จำต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


สิ่งที่ตามมาคือ คลื่นมหาประชาชนในเหตุการณ์ "พฤษภาประชาธรรม" เมื่อปี 2535  สังเวยชีวิตวีรชนไม่รู้เท่าไร เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตย


 


เสียเวลาอีกเกือบ 10 ปี เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพกว้างขวางที่สุดทางการเมือง แม้ว่ามันจะมีจุดด้อยที่ต้องแก้ไขอยู่หลายจุดก็ตาม


 


วันวานคนไทยเดินหน้ามา 15 ปี….และวันนี้ถอยหลังไปจุดเดิม


 


แน่นอน รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โกงขนาดไหน ล้วงลูกระบบราชการขนาดไหน ขายชาติขนาดไหน คนไทยต้องออกมาไล่เอง ทหารไม่มีความจำเป็นต้องเอากระบอกปืนออกมาช่วยไล่


 


อย่ามาอ้างว่าไม่มีทาง เพราะถ้าอ้างเช่นนั้นแสดงว่าคุณไม่เชื่อพลังประชาชน และกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน


 


ผมคิดเช่นนี้ตลอด เมื่อเกิดเหตุการณ์สนธิ ลิ้มทองกุลนำประท้วง ผมไปร่วม แต่ผมไม่เคยสนับสนุนมาตรา 7 ที่เขาเสนอ


 


แต่เมื่อ คปค. หรือ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำไปแล้ว  และนายสนธิออกมาสนับสนุน ในฐานะคนตัวเล็กๆ อย่างผม ก็คงทำอะไรไม่ได้อีก


 


20 กันยายน 2549 สายวันนั้น คปค. มีคำสั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ร่างมาด้วยเลือดเนื้อของวีรชน


 


ในฐานะคนทำงานสื่อ ขอเรียกร้องให้ คปค. คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด และเริ่มต้นระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยใหม่อีกครั้ง ยุติคำสั่งที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนโดยทันที หยุดการให้เหตุผลควบคุมการเสนอข่าวและส่งเอสเอ็มเอสเพื่อ "ความสมานฉันท์" เสียที เพราะในระบอบประชาธิปไตย เราอยู่กันได้ด้วยความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสำคัญ


 


อย่าอ้าง "ความสมานฉันท์" บังหน้าการควบคุมสื่อ เพราะนี่คืออาวุธประชาธิปไตยชิ้นเดียวภายใต้การปกครองโดย คปค. ซึ่งคนไทยมีอยู่ในตอนนี้


 


ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณคือคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ อันทรงอำนาจโดยที่ประชาชนเดินดินธรรมดาอย่างผมไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงของพวกท่านว่าคืออะไรที่ทำเช่นนี้


 


หลายทศวรรษก่อน นักหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า


            เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เป็นอันหนึ่งกันเดียวกับเสรีภาพของประชาชน


เมื่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน โดยข้ออ้างกฎหมายที่ไม่เป็น


ประชาธิปไตย ประชาชนก็ขาดอาวุธอันสำคัญและจำเป็นเพื่อป้องกันเสรีภาพของเขา


เสรีภาพของประชาชนในประการต่างๆ ก็จะถูกล่ามด้วยโซ่ตรวนไปด้วย"


 


ห้วงเวลานี้ ผมคิดถึง "กุหลาบ สายประดิษฐ์" เสียจับใจ เมื่ออ่านงานของคอลัมนิสต์บางคน