Skip to main content

คณะปฏิรูปการปกครอง ; คิดผิด ทำผิด (2) เสียงที่แตกต่าง

คอลัมน์/ชุมชน

-1-


คำถามของท่านทูตแห่งประเทศออสเตรเลียต่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อหลายวันก่อน มีความน่าสนใจและตรงประเด็นอย่างมาก   ท่านถามว่าอย่างนี้ครับ


 "ใครเป็นคนชวนให้ทำการปฏิรูปในครั้งนี้ในเมื่อสถานการณ์กำลังคลี่คลายลง  เพราะมีกกต.จัดการเลือกตั้งแล้ว"


พล.อ. สนธิ  บุญยรัตนกลิน ท่านตอบว่า
 "คนที่ชวนผมมาปฏิรูปคือประชาชน   คนไทยส่วนใหญ่ที่เรียกร้องให้เราลุกขึ้นมาจัดการปัญหาประชาธิปไตยที่ไม่ใช่อำนาจของปวงชน   เพื่อประชาชน เราเลยต้องลุกขึ้นมา ส่วนกกต. มันคนละเรื่องกัน" (ข่าวสด. 21 ก.ย. 49, หน้า 14)


นักการเมืองชอบอ้างประชาชน นักวิชาการก็ชอบอ้างประชาชน  ดังนั้นคงจะไม่แปลกอะไรหากทหารจะอ้างประชาชนบ้าง แต่การใช้คำว่า  "คนไทยส่วนใหญ่"  ของพล.อ.สนธินั้นน่าจะมีคลาดเคลื่อน   เพราะไม่มีใครสามารถอ้างได้หรอกว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องการอย่างนั้นอย่างนี้  ผมคุยกับคนจากทางภาคอีสานที่ขับรถแท็กซี่อยู่ในกรุงเทพ  เขาก็บอกว่าคนอีสานเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ เขาชอบทักษิณทั้งนั้นและอย่างน้อยที่สุดหากดูจากผลการเลือกตั้งเราก็จะพบว่า   "คนไทยส่วนใหญ่"    เขาเลือกทักษิณและไทยรักไทยต่างหาก


หากเรามองโลกในแง่ดีโดยแสร้งทำเป็นเชื่อตามคำตอบของพล.อ.สนธิ  บุญยรัตนกลิน  ก็จะพบว่าการยึดอำนาจในครั้งนี้เกิดจากเจตนาดีของผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ต้องการฟื้นฟูความสามัคคีของคนในชาติ (เจตนาที่จะยึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูความสามัคคีของคนในชาติที่ว่ากันว่าก่อตัวเตรียมการมาตั้ง 8 เดือนแล้ว)


หากแต่นักปราชญ์ใหญ่อย่าง Gramsci เคยบอกว่า  "Optimist in our heart and pessimist in our minds" (หัวใจเราควรจะมองโลกในแง่ดี    ส่วนสมองนั้นควรจะมองโลกในแง่ร้าย) แล้วผมเลือกที่จะเชื่อคนที่มีปัญญามากกว่าคนที่มีรถถัง เพราะปัญญาช่วยให้คิดวิเคราะห์แยกแยะได้ว่าอะไรคือเจตนาดี อะไรคือลมปาก และอะไรคือข้ออ้าง


การยึดอำนาจในครั้งนี้ไม่ได้ยึดจากทักษิณ  ไม่ได้ยึดจากรัฐบาลอย่างที่นักเต้าข่าวพูดกัน  แต่เป็นการยึดอำนาจจากประชาชนซึ่งใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งส.ส.ทั้งหลายเข้ามา  ดังนั้นมันจึงดูแปลก ๆ และเข้าใจได้ยากมากหากบอกว่าการยึดอำนาจ  เป็นไปเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน!


-2-


ใครที่ดูข่าวโทรทัศน์ช่วงนี้คงจะเกิดอาการเหมือนผมคือ   หงุดหงิดรำคาญใจอย่างมาก เพราะสื่อโทรทัศน์ทุกช่องพากันสรรเสริญสดุดีความดีงามของการยึดอำนาจของคณะปฎิรูปการปกครองฯ ราวกับว่าเทพเจ้ามาโปรด


แต่ในหนังสือพิมพ์พอจะเห็นอะไรที่ต่างออกไปบ้าง มันอาจจะเก่าไปสักหน่อยที่ผมจะหยิบเอาความคิดของนักการทูตและนักการเมืองต่างชาติที่ไม่ชอบการยึดอำนาจในหนนี้ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2549มาเสนอซ้ำอีกครั้งเพื่อให้เห็นเสียงที่แตกต่างไปจากสื่อสำนักอื่น ๆ (แต่ความคิดของนักการเมืองต่างชาติจะเป็นคนละเรื่องเลยหากถูกนำเสนอโดยโทรทัศน์ช่องทหาร)


หน้า 13 ของเดลินิวส์เขียนว่า   "สำหรับปฏิกิริยาจากผู้นำทั่วโลกจากเหตุการณ์ยึดอำนาจในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะออกมากล่าวประณามการรัฐประหารโดยกองทัพ..  


เริ่มที่นายโคฟี  อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านทางซีเอ็นเอ็นว่าการรัฐประหารโดยกองทัพเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะไปส่งเสริมหรือสนับสนุน องค์การสหประชาชาติสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลผ่านกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้ง...


 "ด้านนายจอห์น  โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทยว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ขณะที่นายอเล็กซานเดอร์ ดาวเนอร์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่าออสเตรเลียวิตกอย่างมากกับการโค่นอำนาจรัฐบาลไทยซึ่งถือว่ายอมรับไม่ได้...


 "นางมาร์กาเร็ต เบคเค็ตต์ รมว. ต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษไม่ยินดีกับการก่อรัฐประหารของกองทัพในประเทศไทยเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร...


 "นายแมตตี  ฟานฮาเนน  นายกรัฐมนตรีแห่งฟินแลนด์ในฐานะประธานหมุนเวียนของกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู กล่าวว่า อียูขอเรียกร้องให้ไทยฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาโดยเร็วอย่างไม่ต้องรีรอ หลังจากเกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล เป็นที่น่าเสียอย่างยิ่งที่สถาบันในระบอบประชาธิปไตยถูกโค่นอำนาจโดยกองทัพ...


 "นายทาโร อาโซ รมว. ต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า  เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่กองทัพยึดอำนาจการปกครองในประเทศไทย  รัฐบาลญี่ปุ่นได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นหวังว่าไทยจะเร่งปรับสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ  และรื้อฟื้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว นอกจากนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังเตือนชาวญี่ปุ่นว่าอย่าเพิ่งเดินทางมาประเทศไทยในขณะนี้…


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชียร่วมกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เช่น ฮิวแมนไรท์  วอท์ช กล่าวประณามการก่อรัฐประหารในประเทศไทย  และเรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้กับรัฐบาลรักษาการของพลเรือนโดยเร็วที่สุด  นอกจากนั้น        ยังเรียกร้องให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก และสมัชชาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  ร่วมประณามเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย"


นี่คือเสียงที่แตกต่างไปจากเสียงของคณะปฏิรูปฯ   (ซึ่งนั่งหน้าสลอนอยู่ในจอโทรทัศน์ราวกับรัฐบาลสลอคของประเทศพม่า)  และแตกต่างไปจากเสียงของผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ซึ่งถูกแทรกแซงอย่างตรงไปตรงมาโดยคณะปฏิรูปฯ


ผมเชื่อว่ามีคนไทยจำนวนมากคิดต่าง เห็นต่างไปจากคณะปฏิรูปฯ เพียงแต่ไม่มีช่องทางแสดงออก เพราะถูกรถถังปิดปากเอาไว้ 


แต่จากนี้  ผมหวังว่าจากนี้ไปเสียงที่แตกต่างไปจากคณะปฏิรูปฯ ก็จะดังขึ้น ดังขึ้น และดังขึ้น  และดังมาจากทุกทิศทุกทาง  มีคนเดียวก็ส่งเสียงคนเดียวครับ, มี 2  คนก็ส่งเสียงกัน 2 คน, มี 3 ช่วยกันส่งเสียงที่แตกต่าง, ฯ  ขอเชิญชวนคนที่หัวใจยังหนุ่มยังสาว (เพราะเราเห็นแล้วว่าคน "หัวใจแก่" ไว้วางใจไม่ได้) คนหนุ่มสาวหัวใจมาร์กซ์ และทุก ๆ คนมาช่วยกันเปล่งเสียงที่แตกต่างเพื่อขับไล่ "คนรวบอำนาจตัวจริง เสียงจริง"  ออกไปโดยเร็ว.


โปรดอ่านอีกครั้ง... ขอเชิญชวนคนที่หัวใจยังหนุ่มยังสาว  คนหนุ่มสาวหัวใจมาร์กซ์ และทุกๆ คนมาช่วยกันเปล่งเสียงที่แตกต่างเพื่อขับไล่ "คนรวบอำนาจตัวจริง เสียงจริง"  ออกไปโดยเร็ว.