Skip to main content

ความจริงที่ยังถูกปิดบังจากการประหยัดไฟฟ้า

คอลัมน์/ชุมชน

ความร่วมมือของคนไทยทั้งประเทศที่พร้อมใจกันประหยัดไฟฟ้าตามคำเชิญชวนของรัฐบาลเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า คนไทยเรามีความสำนึกดีต่อบ้านเมืองและพร้อมที่จะปฏิบัติตามหากเห็นว่าคำร้องขอของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ดี


ความจริงแล้ว เราเคยร่วมกันประหยัดไฟฟ้าในลักษณะนี้มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ครั้งนั้นเราร่วมใจกันปิดไฟที่ไม่จำเป็นเมื่อเวลา ๑ ทุ่มตรง ผลปรากฏว่าเราสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง ๕๐๐ เมกะวัตต์


ผมทราบในเวลาต่อมาว่า เหตุผลของการรณรงค์ในครั้งนั้นเป็นเพราะเรามีโรงไฟฟ้าสำรองในช่วงความต้องการสูงสุดซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลา ๑ ถึง ๒ ทุ่มเพียงร้อยละ ๘ ของกำลังผลิตทั้งหมด ในวงการไฟฟ้าเขาถือกันว่ากำลังผลิตสำรองควรจะอยู่ที่ ๑๕ % จึงจะถือว่ามีความมั่นคงหรือไม่เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าดับ เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกผลักดันจากการที่เศรษฐกิจฟองสบู่มันเติบโตเร็วเกินไปจนทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) สร้างโรงไฟฟ้าไม่ทัน


แต่การรณรงค์ในครั้งนี้มีความแตกต่างกันกับเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วอยู่ ๓ ประการคือ


หนึ่ง เรามีกำลังผลิตสำรอง ๓๔ . ๗% ( สิ้นปี ๒๕๔๗ มีกำลังผลิต ๒๖, ๐๔๐ เมกะวัตต์ มีความต้องการสูงสุด ๑๙, ๓๒๖ เมกะวัตต์- ข้อมูลจากเอกสารของผู้ว่าการ กฟผ. คนปัจจุบัน)


สอง ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในช่วงประมาณบ่าย ๒ ถึงบ่าย ๓ โมง แต่การรณรงค์ให้ปิดเครื่องปรับอากาศได้ทำในช่วงเวลา ๑๒ ถึง ๑๓ นาฬิกา และปิดไฟฟ้าเวลา ๒ ทุ่ม ๔๕ นาที ผลจากการร่วมกันครั้งนี้สามารถลดกำลังการผลิตได้ถึง ๘๒๒ และ ๗๐๒ เมกะวัตต์ ตามลำดับ หรือเท่ากับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มากจำนวน ๑ โรง ถ้าคิดเป็นมูลค่าโรงไฟฟ้าก็ประมาณ ๓ . ๓ หมื่นล้านบาท


สาม การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่กำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอยสอง ที่จังหวัดสระบุรี( โดย บริษัท กัลฟ์พาวเวอร์เจเนอเรชั่น จำกัด ขนาด ๑, ๔๖๘ เมกะวัตต์) และมีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้าสงขลาขนาด ๗๐๐ เมกะวัตต์


ข้อสงสัยของผมก็คือว่า รัฐบาลมีเหตุผลอะไรจึงได้ริเริ่มโครงการ " ที่สร้างสรรค์" นี้ ทั้ง ๆ ที่ยังมีโรงไฟฟ้าสำรองเกินมาตรฐานอยู่เยอะ


โปรดสังเกตนะครับว่า ผมยังคงเห็นด้วยกับโครงการประหยัดครั้งนี้อยู่ ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลมีความจริงใจจริงที่จะประหยัดพลังงานก็ควรจะประหยัดมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่การแถลงนโยบายเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลครั้งแรกโน้น


ข้อสันนิษฐานของผมก็น่าจะมาจากสาเหตุการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ ๙ ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการถือโอกาสปลุกกระแสรักชาติ


ไหน ๆ ชื่อบทความชิ้นนี้คือ " ความจริงที่ยังถูกปิดบังจากการประหยัดไฟฟ้า" จึงขอขมวดเรื่องมาที่ ความจริงที่ยังถูกปิดบัง ดังนี้


๑ . สมมุติว่าเราร่วมกันประหยัดไฟฟ้าโดยปิดไฟฟ้า ปิดแอร์ รวมทั้งไม่มีการรีดผ้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด คือประมาณช่วงบ่าย ๒ ถึงบ่าย ๓ ( แทนที่จะเป็นเวลาเที่ยงถึงบ่ายโมงที่รัฐบาลทำ) เราก็น่าจะลดการใช้ไฟฟ้าได้สัก ๑, ๐๐๐ เมกะวัตต์ (ซึ่งน่าจะทำได้ไม่ยาก) จะส่งผลให้


๑. ๑ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐. ๗% ( แทนที่จะเป็น ๓๔. ๗% ดังในปัจจุบัน- คำนวณจาก ๒๖, ๐๔๐ ลบด้วย ๑๘, ๕๐๔ แล้วหารด้วย ๑๘, ๕๐๔)


๑ . ๒ ค่าไฟฟ้าจะถูกลงเนื่องจากไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่า ๔ หมื่นล้านบาท ถ้าคิดค่าดอกเบี้ยและค่าบำรุงรักษารวมกันเป็น ๑๐% จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลงถึง ๒. ๖ สตางค์ต่อหน่วย รวมกันทั้งประเทศก็ประมาณ ๔, ๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ


การที่ประชาชนผู้บริโภคไม่ทราบความจริงในส่วนที่กล่าวมาแล้ว ทำให้การคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่สระบุรี หรือที่สงขลาต้องอ่อนกำลังลง แต่กลับทำให้กลไกของรัฐที่ฉ้อฉลมีความแข็งแกร่งขึ้น รัฐจึงจะไม่ยอมให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงเหล่านี้โดยเด็ดขาด


๒ . ความจริงเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์เขามีเครื่องมือในการวัด เขาเรียกเป็นศัพท์แสงที่เข้าใจยากสักนิดว่า " ค่าความยืดหยุ่นด้านพลังงาน" กล่าวคือเขาวัดว่า ถ้าประเทศหนึ่ง ๆ ต้องการจะให้มีรายได้ประชาชาติ ( หรือจีดีพี) ของตนเพิ่มขึ้นสัก ๑% จะต้องเพิ่มการใช้พลังงานขึ้นอีกสักกี่เปอร์เซ็นต์


ตัวเลขที่รัฐมนตรีพลังงาน รวมทั้งข้าราชการชอบอ้างก็คือ ๑ . ๔% นั่นคือต้องเพิ่มการใช้พลังงานในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มของรายได้ ในขณะที่ประเทศจีนและญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศในเขตหนาว จะมีการเพิ่มการใช้พลังงานเพียง ๐. ๘ % และ ๐. ๙ % ตามลำดับ ขณะที่สิงค์โปร์เท่ากับ ๐. ๖% เท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ตัวเลข ๑ . ๔ % ของไทยเป็นตัวเลขที่เกิดจากค่าเฉลี่ยในช่วง ๑๕ ปีคือจาก ๒๕๓๘ จนถึง ๒๕๔๔ แต่ถ้าคิดในช่วงหลัง คือ ๒๕๔๑ จนถึง ๒๕๔๖ แทนที่คนไทยจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า ๑. ๔% ( ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายจะลดให้เหลือ ๑% ในปี ๒๕๕๐) แต่กลับเพิ่มขึ้นเป็น ๒. ๓% ( คิดจากข้อมูลดิบของกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) นั่นคือความเป็นจริงกำลังเดินสวนสวนทางกับที่รัฐบาลคาดหวัง


การที่ประเทศเรามีค่าความยืดหยุ่นด้านพลังงานสูงกว่าประเทศอื่นทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราต่ำลง


ความจริงเรื่องนี้รัฐบาลควรจะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจัดการ แต่กลับละเลยทั้ง ๆ ที่ประชาชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือดังที่ได้ทำให้เห็นแล้วเมื่อต้นเดือนมิถุนายน


สิ่งที่รัฐบาลนี้สนใจคือ การนำกิจการไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าสัวในแวดวงรัฐบาลได้รับซื้อไปในราคาถูกๆ เช่น กรณี ปตท . ที่คนไทยต้องเจ็บปวดอย่างไม่มีวันลืม


๓ . ความจริงที่สามคือเรื่องพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากชีวมวล ซึ่งแม้ขณะนี้จะมีราคาการผลิตสูงกว่าราคาไฟฟ้าที่ผลิตอยู่ทุกวันนี้เพียงเล็กน้อย แต่ในอนาคตเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินจะมีราคาสูงขึ้น พลังงานหมุนเวียนซึ่งกำลังพัฒนาตนเองอยู่อย่างรวดเร็วก็สามารถแข่งขันได้อย่างสบาย


สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือ การส่งเสริมให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นให้ได้ เพราะพลังงานหมุนเวียนก่อมลพิษน้อยมาก


นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนยังสามารถแก้ปัญหาความยากจนและการไม่มีงานทำของคนได้จำนวนมาก ธุรกิจกังหันลมเพียงอย่างเดียวสามารถสร้างงานให้กับชาวเยอรมันนีได้ถึง ๑ แสนสี่หมื่นคน ในขณะที่โรงไฟฟ้าทั้งประเทศไทยใช้คนน้อยกว่านี้มาก


ในปี ๒๕๔๖ ทั้ง ๆ ที่โดยเฉลี่ยคนไทยต้องจ่ายค่าพลังงานถึง ๒๔ บาทจากทุก ๆ ๑๐๐ บาทของรายได้ แต่รัฐบาลซึ่งประกาศจะขจัดความยากจนของคนไทยกลับไม่เคยใส่ใจที่นำธุรกิจพลังงานมากระจายให้อยู่ในมือของประชาชนเลย


ถ้าธุรกิจพลังงานที่มีขนาดใหญ่โตถึง ๒๔ % ของรายได้ประชาชาติและจะต้องใหญ่กว่านี้อีกได้ถูกผูกขาดโดยคนไม่กี่คนแล้ว การลดจำนวนคนจนก็ไม่มีทางจะสำเร็จได้ลงอย่างแน่นอน