Skip to main content

เดียวดายในปารีส

คอลัมน์/ชุมชน

สองสัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันจากบ้านไปประชุมต่างประเทศ ๒ ครั้ง ที่เมือง CEBU ฟิลิปปินส์  ประชุมใหญ่รัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ และประชุมของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ที่ปารีส ฝรั่งเศส เรื่อง "Biodiversity in European Development Cooperation" ได้รู้ข่าวเรื่องการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่ง CNN เสนอข่าวอย่างต่อเนื่องที่ปารีส นั่นเอง


 


กลับมาถึงกรุงเทพ ฯ เช้าวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๙ ดิฉันพยายามติดตามสถานการณ์จากสื่อต่าง ๆ เห็นข่าวสวนดุสิตโพลสำรวจว่า ประชาชนพอใจที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยุติลงได้ ภาพประชาชนมอบดอกไม้ให้ทหาร ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหน้ารถถัง แสดงถึงไมตรีจิตอันดีระหว่างทหารกับประชาชน ที่น่าชื่นใจ (แต่ภาพหน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์วันที่ ๒๖ กันยายนบางฉบับ ที่สาวแดนเซอร์นุ่งน้อยห่มน้อยยืนหน้ารถถัง อธิบายภาพว่าไปเต้นกล่อมขวัญทหาร ดูขัดตากับภารกิจของทหารกล้า)


 


เมื่อมาถึงบ้านที่เชียงราย ได้สัมผัสถึงฤดูกาลอันงดงาม คือ ปลายฝนต้นหนาว ดอกปีบขาว (กาสะลองเงิน) เริ่มบาน ดอกขี้เหล็กอเมริกาช่อสีเหลือง บานไสว เมื่อขึ้นไปไหว้พระในห้องพระ เห็นดอกมณฑาทองสีเหลืองกับดอกยี่หุบสีขาว ซึ่งลูกศิษย์ตัดจากต้นหน้าบ้านนำมาบูชาพระ ก็ยิ่งปลื้มปีติ ธรรมชาติหล่อเลี้ยงจิตใจให้เป็นสุขเสมอ ถ้ามนุษย์รู้คุณค่า เคารพ และกตัญญูต่อธรรมชาติ


 



 


ไหว้พระแล้วก็มาเปิดกระเป๋าเดินทาง เพื่อเก็บเสื้อผ้าข้าวของให้เข้าระบบ พบว่ากระเป๋าสตางค์ที่ใส่บัตรประชาชนและบัตรอื่น ๆ หายไป นึกไม่ออกว่าน่าจะหายที่ไหน เมื่อไหร่ เพราะอยู่ใน Parisแค่ ๔ วัน คือวันที่ ๑๘ ถึง ๒๑ กลับตอนบ่ายวันที่ ๒๒ แต่เป็น ๔ วันที่ได้พบกับเหตุการณ์ และกิจกรรมมากมายอันก่อให้เกิดความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งโดดเดี่ยว อ้างว้าง วิตกกังวล ตื่นเต้น ปลาบปลื้ม ตื้นตันใจ ฯลฯ บางช่วงสติจึงไม่อยู่กับตัว ก่อให้เกิดเหตุกระเป๋าหายดังกล่าว


 


IUCN ได้เชิญผู้แทนจากประเทศไทย ๒ คน ไปประชุมครั้งนี้ คือ ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทยกับดิฉัน(ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เดินทางไปก่อนเพราะมีภารกิจต้องรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีในงานเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส) โดยได้เอื้อเฟื้อให้นั่งการบินไทยชั้นธุรกิจจากกรุงเทพฯ ไป Paris ซึ่งคุณ Rosa ได้กรุณาจัดแฟ้มเอกสารการประชุมและตั๋วเครื่องบินให้เรียบร้อย โดยในเอกสารแนะนำว่าเมื่อไปถึง Paris แล้วให้นั่งรถไฟใต้ดินไปที่ศูนย์ประชุม ซึ่งดิฉันเรียนคุณ Rosa ว่า มีกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ น่าจะใช้รถใต้ดินไม่สะดวก ขอนั่งแท๊กซี่ดีกว่า จึงเป็นความกังวลลึก ๆ ในใจ แล้วคิดว่า จะต้องซื้อเงินยูโรสำรองไปเท่าไรจึงจะพอ แล้วตัดสินใจซื้อไปแค่ ๒๐๐ ยูโร


 


เครื่องบิน TG ๙๓๐ กรุงเทพฯ – ปารีส ออกเวลา ๐๐.๒๕ น.เมื่อเครื่องขึ้นได้สักครู่ดิฉันก็หลับสนิท โดยลืมเรื่องอาหารดีๆไปเลย มารู้ตัวตื่นก็น่าจะเป็นเวลาเช้าตรู่ของไทย แต่เครื่องบินทั้งลำมืดสนิท มีแต่แสงไฟจากห้องครัวท้ายเครื่องบิน ดิฉันรู้สึกหิวจึงเดินไปหาพนักงานต้อนรับ พบสจ็วตวัยเยาว์คงจะราว ๒๐ ต้นๆ หน้าตายิ้มแย้ม บอกว่าจะจัดผลไม้มาให้


 


ถาดรองด้วยผ้าขาวสะอาดตา มีผลไม้สด ๕ อย่าง คือ มะละกอ องุ่น สับปะรด ส้มโอ แคนตาลูป ดิฉันกินด้วยความสดชื่น สบายใจ พร้อมกับขอซุปอุ่นๆ ๑ ถ้วย สจ็วตบอกว่าขอเวลาประมาณ ๒๐ นาที จึงได้กินซุปหัวหอมอุ่นสมใจ


 


นาฬิกาในสมองยังใช้เวลาเช้าของประเทศไทยอยู่ ดิฉันจึงหลับไม่ลง เดินไปหาหนังสือมาอ่าน (ทั้งๆ ที่เกรงใจผู้โดยสารข้างที่ต้องเปิดไฟ แต่เห็นเธอใส่ผ้าปิดตาไว้ คงไม่รบกวนนัก) ทั้งสกุลไทย เพื่อนเดินทาง มติชน Bangkok Post จนพนักงานต้อนรับเปิดไฟทั้งเครื่องบิน ในเวลาอีก ๓-๔ ชั่วโมงต่อมาเพื่อเตรียมเสิร์ฟอาหารเช้า ซึ่งดิฉันเลือกบะหมี่ลูกชิ้นปลา เพราะกินแล้วร่างกายอบอุ่นดี


 


เหตุการณ์ก่อการร้ายสากลทำให้ทุกสนามบินตรวจกระเป๋าอย่างเข้มงวด ของเหลวและน้ำ รวมทั้งโลชั่น ครีม บำรุงผิว ยาสีฟัน ถูกห้ามนำใส่กระเป๋าพกติดตัว มือจึงเหี่ยวย่น เพราะอากาศในเครื่องบินแห้งมาก หน้าก็ตึง แสบ โชคดีที่สาวไต้หวันคนที่นั่งข้างๆ บอกว่าในกระเป๋าเครื่องทำความสะอาดที่การบินไทยแจก มีครีมทาหน้ากับครีมทารอบดวงตาหลอดเล็กๆ จึงเอามาทาแก้ขัดไปได้ตอนก่อนลงเครื่อง


 


เครื่องลงจอดที่สนามบินชาร์ล เดอ โกล เวลา ๖ โมงเช้า ท้องฟ้ายังขมุกขมัวอยู่ ระหว่างรอรับกระเป๋าดิฉันเจอคุณแม่ชาวไทยที่มาเยี่ยมลูกสาวซึ่งเรียนอยู่ที่ปารีส จึงปรึกษาเธอว่าจะไปโรงแรมด้วยวิธีใดดี เธอบอกว่าเดี๋ยวลูกสาวจะมารับ ถ้าโรงแรมอยู่ในเส้นทางผ่านจะแวะไปส่งให้


 


กว่ากระเป๋าจะเดินทางมาถึงก็เป็นชุดสุดท้ายก่อนที่สายพานจะหยุดใช้เวลาเกือบชั่วโมง ดิฉันโล่งใจเพราะคิดว่าวันนี้จะไม่ได้รับกระเป๋าเสียแล้วเพราะมีประสบการณ์ไม่ดีที่ CEBU ฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน นี้เอง (เพราะกระเป๋าของอดีตประธานวุฒิสภา สุชน  ชาลีเครือ กับอดีต สว.ณรงค์  นุ่มทอง เดินทางไปถึงลอนดอนกว่าจะกลับมาที่ CEBUใช้เวลา ๒ – ๓ วัน)


 


โชคดีที่เจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ณ กรุงปารีสซึ่งมาต้อนรับคุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธ์เห็นคณะคนไทยแล้วปรึกษากันเรื่องการเดินทางเข้าเมือง จึงแนะนำให้ดิฉันเข้าเมืองโดยรถ SHUTTLE BUS ไปถึงจุดที่ใกล้ที่สุดแล้วค่อยต่อรถแท๊กซี่เข้าโรงแรม โดยกรุณาพาไปซึ้อตั๋วราคา ๑๓ ยูโร และพาขึ้นรถ พร้อมทั้งฝากกระเป๋าใบใหญ่ และวงจุดที่จะต้องลงรถในแผนที่ให้ดิฉันถือไป


 


ความที่เคยชินกับการเดินทางเป็นหมู่คณะในวุฒิสภามา ๖ ปี เมื่อต้องเดินทางคนเดียวในวัย ๕๔ ปี พร้อมกระเป๋าเดินทางที่ต้องลาก ในประเทศที่คนภูมิใจในความเป็น"เมืองหลวงของยุโรป" ภูมิใจในภาษาของตน ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ดิฉันจึงกังวลมาก เมื่อรถจอดที่จุดแรกของนครปารีส ดิฉันจึงขยับตัวถามผู้โดยสารที่นั่งใกล้ ๆ ว่าจะไปโรงแรม CALIFORNIAซึ่งมีเลขที่และชื่อถนนระบุไว้ กรุณาบอกจุดที่ลงให้ด้วย


 


สุภาพสตรีชาวปารีสทำให้ดิฉันอุ่นใจและประทับใจในความเอื้ออารี เธอบอกว่าจะลงที่เดียวกับดิฉันแล้วพาไปเรียกรถแท็กซี่ เธอมากับลูกสาววัยรุ่น บอกให้ลูกสาวเฝ้ากระเป๋าของเธอไว้แล้วช่วยดิฉันลากกระเป๋าข้ามถนน พาไปที่ป้ายจอดรถแท็กซี่


 


ฝนเริ่มตกปรอย ๆ ที่ป้ายรอรถแท็กซี่มีผนังและหลังคาเป็นกระจกคุ้มลม คุ้มฝนได้ มีผู้รอรถอยู่ก่อนแล้ว ๒-๓ คน ดิฉันจึงมีเวลาศึกษาวิธีเรียกรถ จนเรียกรถได้ในที่สุดโชเฟอร์ (ผู้ไม่พูดภาษาอังกฤษ) พามาถึงโรงแรมในเวลา ๑๐ กว่านาที มิเตอร์ระบุราคา ๘ ยูโรกว่า ๆ เป็นอันว่าโล่งใจไป ๑ ขั้น


 


พนักงานโรงแรมมารับกระเป๋าดิฉันไปเช็คอินที่แผนกต้อนรับเวลา ๑๐ นาฬิกาเขาแจ้งว่าห้องยังไม่พร้อมต้องมาเช็คอินใหม่เวลา ๑๕.๐๐ น. คือต้องรออีก ๕ ชั่วโมง


 


นอกจากนี้โรงแรมยังกำหนดให้วางมัดจำด้วยบัตรเครดิต ซึ่งดิฉันมีแต่บัตรวีซ่าอิเล็กตรอน ใช้เงินได้เท่าที่มีต้นทุนเงินฝากจริงในธนาคาร (ซึ่งเพิ่งมีความรู้ภายหลังว่า เขาเรียกว่า บัตรเครดิต) หรือวางมัดจำด้วยเงินสด ๒๐๐ ยูโร ดิฉันจ่ายค่ารถไปแล้ว ๒๑ ยูโร จึงมีเงินสดไม่พอ


 


หันไปมองผู้ที่มาเช็คอิน ในเวลาเดียวกันพบเพื่อนผู้มาประชุมของ IUCN จากทวีปอาฟริกา ๒ คน กำลังประสบปัญหาเหมือนกัน คือเดินทางบนเครื่องบินกว่า ๑๐ ชั่วโมง เหนื่อยล้ามาก อยากเข้าห้องเพื่อพักผ่อน แล้วก็ไม่มีบัตรเครดิตไม่มีเงินสดที่จะค้ำประกัน เนื่องจากไม่รู้ข้อมูลมาก่อนจึงไม่ได้เตรียมตัว


 


ในที่สุดจึงตกลงว่าฝากกระเป๋าไว้ที่โรงแรมก่อน แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ตอนบ่าย ๓ โมง "จดหมายน้อย" จาก ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ที่ฝากไว้กับโรงแรมแจ้งว่าท่านกรุณาหาบัตรไปดูโขนที่พระราชวังแวร์ซายส์ ให้ ๑ ใบ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นประธานทอดพระเนตรการแสดงเวลา ๑ ทุ่ม หวังว่าจะได้พบกันค่ำนี้


 


ด้วยความมืดแปดด้านไม่รู้จะจัดการกับตัวเองอย่างไร ท้องก็เริ่มหิวอยากกินอาหารกลางวัน ดิฉันจึงตั้งใจว่าจะนั่งอยู่ที่ห้องรับแขกของโรงแรมจนกว่าจะถึงบ่าย ๓ โมง เจ้าหน้าที่ของ IUCN ผู้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคงจะมาช่วยคลี่คลายปัญหา


 


เหมือนพระมาโปรด ดิฉันได้ยินเสียงผู้หญิงพูดภาษาไทยอยู่ใกล้ๆ จึงเงยหน้าขึ้นดู แล้วเดินไปทักทาย ทราบว่าเธอชื่อ พรศิริ  คีระพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นผู้ประสานให้ผู้ประกอบการสิ่งทอของไทยกว่า ๔๐ บริษัทมาแสดงผลงานในงาน World Textiles ซึ่งจัดขึ้นที่ปารีส เธอชวนดิฉันไปงาน World Textiles แล้วค่อยกลับมาเช็คอินใหม่ ความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายในท่ามกลางมหานครใหญ่ของโลก คือ ปารีส ของดิฉันจึงมลายไปในพริบตา


 



 


เราสองคนเดินไปลงรถใต้ดินไปถึงที่จัดงาน World Textiles  ดิฉันได้เห็นความสามารถของผู้ประกอบการสิ่งทอไทย ที่นำผลงานมาแสดงอย่างโดดเด่น ทั้งคุณภาพของเนื้อผ้า และการออกแบบลวดลาย สีสัน ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ปิดท้ายด้วยการกินข้าวมื้อกลางวันที่ภัตตาคารจีนใกล้ ๆ โรงแรมที่พัก แล้วกลับถึงโรงแรมตอนบ่ายสามโมง ได้เช็คอิน โดยพี่ปุ๋ม (พรศิริ คีระพัฒน์) กรุณาวางเงินมัดจำให้ ๒๐๐ ยูโร


 


เลขาของท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ แจ้งว่ารถของสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส จะมารับเวลา ๑๘.๑๕ น. เพื่อไปดูโขนหน้าพระที่นั่งของสมเด็จพระเทพ ฯ ดิฉันจึงได้โดยสารไปด้วย


 


สื่อทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ได้รายงานโขนตอนนางลอย ยกรบ ให้คนไทยได้รับรู้แล้ว ถึงความชื่นชมของผู้ดูกว่า ๔๐๐ คน ที่ได้รับเกียรติให้แสดง ณ โรงละครโอเปร่าในพระราชวังแวร์ซายส์ ซึ่งได้รับเสียงปรบมือยาวนานมาก


 


เช้ารุ่งขึ้น (๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงชมนิทรรศการหมู่บ้านไทยและชมการแสดงศิลปร่วมสมัยของไทย ซึ่งชาวไทยในปารีสพากันมาเข้าเฝ้าอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณวาสนาที่มาเปิดบริการนวดแผนไทยและร้านอาหารไทย โดยคุณวาสนากับลูกสาวและคณะพนักงาน แต่งชุดไทยอย่างสวยงาม มาเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ


 



 


ฉบับหน้า คอยติดตามการประชุมเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนะคะ