Skip to main content

ความหมายและบริบท

คอลัมน์/ชุมชน

จวบจนวันนี้ (30 กันยายน) ครบ 10วันของการรัฐประหาร ข่าวต่างๆ เปลี่ยนแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง หากไม่ตามข่าวก็จะตกข่าวอย่างง่ายดาย ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ มีหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารคราวนี้ และหลายคนถึงกับทำการประท้วงอย่างรุนแรงและชัดเจน หลายคนจึงออกมากล่าวถึงจุดยืนของตนเองในการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้  แต่ละคนมีจุดยืนที่ต่างกัน ทั้งที่แต่ละคนอาจเคยมีอุดมการณ์ที่เคยร่วมกันมาในอดีตก่อนที่รัฐบาลชุดเก่าจะโดนยึดอำนาจ หรือลากยาวไปจนถึงสมัยเก่าๆ นับเป็นสิบๆปี


 


สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะกาลเวลาทำให้ความหมายต่างๆเปลี่ยนไป เหมือนกับที่เรียกกันว่า "ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน" ซึ่งหมายถึงว่า ม้าดีต้องอึด อดทน และสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางที่ยาวนานและอาจหมายถึงสภาพทางที่อาจทุรกันดารด้วย เช่นเดียวกับคนที่ว่าจะเป็นคนดีหรือเลวนั้น ให้ดูที่ความเสมอต้นเสมอปลาย หากคนดีนั้นต้องมาเลวตอนท้าย เรียกว่านั่นคือคนไม่ดี ไม่ใช่คนที่น่ายกย่อง ทั้งที่ปัญหาก็คือ นิยามของคำว่าความดี ความเลวนั้น มีการเปลี่ยนแปลงตลอดตามกาลเวลา ค่านิยมบางชุดในสิบปีที่แล้ว ใช้ไม่ได้ในปัจจุบันนี้ ยิ่งสมัยใหม่ ข้อมูลข่าวสารไปกันเร็วจี๋  ความหมายต่างๆจากเดิมเปลี่ยนไป หายไป แล้วเกิดของใหม่แทน


 


ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่า "กาลเวลาพิสูจน์คน" นั้นต้องแปรเปลี่ยนไปด้วย คือ เราไม่สามารถจะคาดหวังได้ว่าคนต้องคิดแบบที่เคยคิดเสมอไปในบางเรื่อง อาจมีบางเรื่องที่เปลี่ยนไม่ได้ เช่น ต้องไม่ทำร้ายชีวิตคน แต่เรื่องอื่นๆ เช่น ความใจกว้างก็ต้องกว้างมากขึ้น เพราะคนมีความต่าง จะไปบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องเป็นในกรอบที่เราเป็นมาเมื่อ 20-30 ปีก่อน มันไม่แฟร์กับเด็กวันนี้ เพราะเค้าย่อมมีสิทธิที่จะเลือกชีวิตของเค้า สังคมเปลี่ยนไปไม่ใช่วันก่อนที่เราเคยเป็นเด็กอีกต่อไป


 


สองสามวันที่ผ่านมา ผู้เขียนได้คุยกับนักศึกษาผู้ช่วยสอนจึงเห็นว่า เด็กรุ่นใหม่มีแนวคิดของเค้าเอง ความตื้นหรือลึกไม่ได้ต่างจากเด็กรุ่นเดียวกันนี้เมื่อ 10 ปีก่อน เช่นมุมมองเรื่องชีวิตคู่ การเมือง สังคม ค่านิยม การศึกษา เด็กคือเด็ก แต่พวกเค้าเปลี่ยนไปตามสภาวะสังคม นักสังคมศาสตร์ที่ไม่ตกหล่นจนเกินไปย่อมเข้าใจในเรื่องนี้ดีว่ากาลเวลาเป็นเรื่องสำคัญในการเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม  มิเช่นนั้นคงไม่มีการที่จะบอกว่างานค้นคว้าใหม่ๆเป็นเรื่องจำเป็นในวงการวิชาการ  ตัวอย่างเช่นงานวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเองเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนนี้ถือว่าล้าสมัยไปเรียบร้อย งานวิชาการนี้ ถ้าเกิน 5 ปีถือว่าหลุดสมัยไปเสียแล้ว


 


ขอวกมาที่เรื่อง "การเมือง" ที่ตึงเขม็งในปัจจุบัน มีผู้รู้หลายท่านพยายาม "justify" หรือการทำให้เกิดความชอบธรรมของการรัฐประหารครั้งนี้ และหลายท่านที่ไม่ยอมรับ ต่างคนต่างมีหลักการและเหตุผลที่มาหักล้างกัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมอง (อย่างผู้ทำงานทางวิชาการที่อาวุโสไม่มาก) ในเรื่องการตัดสินการดำเนินรัฐประหารคราวนี้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับกรอบที่เคยมีมาแต่เดิม แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ และยากที่จะมาบอกว่าถูกหรือผิด หรือชอบธรรม/ไม่ชอบธรรม หากมองกันละกรอบ 


 


ผู้เขียนขอมองต่อว่า บริบทแบบไทยๆนั้น หลายครั้งกรอบแบบตะวันตกก็นำมาใช้ไม่ได้ชัดเจนนัก เพราะมีกรอบทางวัฒนธรรมมาเป็นปัจจัย และตัวนี้นี่เองที่อาจยิ่งทำให้การเข้าใจภาวะความเป็นไทยๆนั้นยากขึ้นกว่าที่คิด ตัวอย่างเช่น ในทางการสื่อสารมีประเด็นเรื่อง "ความไม่ตรงไปตรงมา" หรือ Indirectness ซึ่งเรื่องนี้ในบริบทฝรั่งนั้น ฝรั่งเป็นผู้กำหนดกรอบความหมายก่อนตามกรอบใหญ่ทางวัฒนธรรมของเค้า  แต่เมื่อมาเอากรอบดังกล่าวมาใช้อธิบาย"ความไม่ตรงไปตรงมา"ของไทยแล้ว จะเกิดความผิดพลาดได้เพราะไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างได้ หรือได้ก็ไม่ชัดเจน เช่น การไม่ตรงคือการไม่ซื่อสัตย์ เป็นเรื่องไม่มีมารยาทในสังคมฝรั่ง แต่ในสังคมไทย การที่พูดไม่ตรงกับใจในหลายๆ สถานการณ์ถือเป็นเรื่องที่น่านิยม virtue เพราะไม่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ หลายครั้งที่คนหลายคนมองว่าการพูดตรงเป็นคนไม่มีมารยาท หรือไม่ถนอมน้ำใจในกรอบแบบไทยๆ ไปเลยก็มี


 


จากเหตุดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเคยโดนถามจากคณะกรรมการวิทยานิพนธ์ว่า ไอ้ Indirectness ของไทย มันจะซ้ำกับของ เกาหลี หรือจีน หรือญี่ปุ่นมั้ย ผู้เขียนตอบว่า "ไม่เลย เพราะป้ายบอกเท่านั้นที่เหมือน แต่ความหมายนั้นไม่เหมือน เพราะคนไทยเท่านั้นจะรู้ว่า ความไม่ตรงแต่ละครั้ง ในแต่ละสถานการณ์ มีลักษณะอย่างไร และความหมายอย่างไร ในบางกรณีดูเผินๆไม่ใช่ แต่จริงๆใช่ คนนอกจะไม่รู้ แต่คนวงในหรือคนพูดเองนั่นแหละรู้ ดังนั้น ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่จะบอกว่า แม้มีชื่อเรียกเดียวกัน แต่ความหมายต่างกัน และรู้กันเฉพาะคนในกลุ่มเท่านั้น" เมื่อพูดเช่นนี้ กรรมการก็อึ้งไป เพราะว่ามีเรื่องทางวิชาการแบบนี้มาก่อน ทำให้ผู้เขียนเรียนจบออกมาได้


 


เช่นเดียวกับ คำว่า "ประชาธิปไตย" Democracy ไม่ว่าในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ความหมายพื้นผิวทุกคนไม่ว่าชาติใดภาษาใดน่าจะเข้าใจไม่ผิดเพี้ยนกันนัก แต่ว่า "ความหมายลึก" ย่อมแตกต่างไปตามบริบท เช่นเวลา บุคคล สถานการณ์ทางสังคมเฉพาะกาล และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (เช่นตอนนี้ใครๆ ในเมืองไทย รู้จักกับคำว่า สึนามิ) ตัวอย่างที่เราเห็นชัดเจนต่อมาอีกคือ เรื่องกฎหมายที่นักกฎหมายไทยที่จบจากสหรัฐฯ จากอังกฤษ จากฝรั่งเศส มานั่งถกกันให้เห็นๆ ทั้งที่ก็เรียนเรื่องเดียวกันคือกฎหมาย ในสาขาของผู้เขียน การสื่อสารที่เรียนกันในสหรัฐฯก็ต่างจากของที่อื่นๆ ภาษาอังกฤษเองก็เช่นกัน สองสามวันที่ผ่านมาใช้ตำราอังกฤษสอน สอนๆไปก็ขำเพราะว่าอเมริกันใช้อีกแบบ สอนไปก็สนุกไปเพราะเห็นความต่าง จะบอกเค้าผิดย่อมไม่ได้ เพราะว่าเค้าก็ถูกของเค้า ส่วนผู้เขียนเองคุ้นกับแบบสหรัฐฯมากกว่า และตอนนี้สหรัฐฯครองโลก ยิ่งต้องทำใจว่า เราจะเจอแบบของสหรัฐฯมากกว่าของอังกฤษ


 


คำว่า "ประชาธิปไตย" Democracy จะมีความหมายอย่างไร ขึ้นอยู่กับความชาญฉลาดของคนในสังคม ในการที่จะรู้จักเลือกใช้ให้ถูกต้อง หลายคนพยายามที่จะให้นิยามและกรอบต่างๆของคำๆนี้ บ้างก็ใช้กรอบสมัยที่ตนเองเป็นนักเรียนนักศึกษา เมื่อ10-30ปีก่อน ซึ่งไม่ผิดแต่ใช้ไม่ได้กับวันนี้ ดังเช่นที่เคยมีคนเปรียบเทียบผู้นำที่เพิ่งหลุดพ้นอำนาจไปกับผู้นำจอมพลสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อันนี้ไม่ใคร่จะชัดเจนนัก ทั้งที่ยอมรับว่ามีบางอย่างที่คล้ายกัน แต่หลายส่วนไม่คล้าย ดังกล่าวนี้ ถือเป็นเรื่องที่มีปัญหามากในการเข้าใจเรื่องต่าง/เหมือน โดยใช้การเปรียบเทียบของสองสิ่งที่อยู่ในคนละบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม  เพราะไม่มีสิ่งใดที่เหมือนกันสนิท หรือทาบกันสนิท การที่จะเอา "ประชาธิปไตย" Democracy ของไทยให้เหมือนฝรั่งชาติไหนๆคงไม่ได้ หรือจะบอกว่า"ประชาธิปไตย" Democracyวันนี้ควรมีนิยามเหมือนกับที่ผ่านมาในหลายปีก่อนคงฟังแล้วแปร่งๆ เนื่องจากตัวละครคนละตัว ฉากคนละฉาก ดังนั้น คำตอบที่ออกมาไม่สมบูรณ์อย่างแน่นอน มันคงมีขาดมีเกิน


 

ผู้เขียนเชื่อว่าความต่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วในขณะนี้ เพียงแต่ว่า การที่เราจะจัดการความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องนี้ได้จะเป็นประโยชน์ให้เกิดแสงสว่างทางปัญญามากขึ้น ที่ผ่านๆมานี่ สังคมไทยชอบเหลือเกินที่จะหยิบของฝรั่งมาเป็นดุ้นๆมาใช้  ผู้เขียนเองก็เผลอเอามาใช้บ่อยๆ ก็ต้องคอยกระตุกตัวเองบ่อยๆเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระวังด้วย เพราะการต้องปรับเป็นแบบไทยๆ มากไปก็มีปัญหา จะไปตรงกับคำว่า "ลากเข้าวัด" ซึ่งเห็นเยอะพอควรในสังคมไทยที่อะไรๆ ก็อ้างไปหมดว่านี่แหละ "แบบไทยๆ"