Skip to main content

"อำนาจนิยม" ความเคยชินที่ไม่อารยะ : โปรดฟังอีกครั้ง!

คอลัมน์/ชุมชน


เราทุกคนคงจะจดจำความรู้สึกของตนเองในวัยเด็กได้บ้าง

ในตอนที่ผู้ใหญ่หรือเพื่อนทีตัวโตกว่ามากลั่นแกล้งเราได้ เรารู้สึกโกรธแค้นขนาดไหน เราบางคนก็คงจะเคยผ่านการได้แกล้งผู้ที่อ่อนแอกว่ามาบ้าง ถ้าไม่แสแสร้งกันเกินไปเรารู้สึกสนุกหรือสะใจที่ได้ใช้อำนาจที่เหนือกว่ารังแกผู้อื่น

ครั้นเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เราได้ผ่านการเรียนรู้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งว่า การใช้อำนาจรังแกคนอื่นเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ มนุษย์ถูกสอนให้ระลึกอยู่เสมอว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป การกินเนื้อมนุษย์เป็นสิ่งต้องห้าม ผมคิดว่าจิตสำนึกเหล่านี้ค่อยๆได้รับพัฒนาและการปลูกฝังให้อยู่ในยีนของมนุษย์และ "ยีนของสังคม" (meme) ที่สามารถถ่ายทอดได้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งได้เสียด้วยซ้ำ

ยิ่งในวัยสูงอายุขึ้นมา จิตใจของคนเราก็ค่อยๆพัฒนาให้สูงขึ้น แม้แต่จะตีแมลงสาบสักตัวเราก็ยังต้องระวัง เพราะเกรงว่าจะไปทำให้มดที่อยู่ใกล้ๆตายไปด้วย ซึ่งตรงกันข้ามกับตอนที่เป็นวัยรุ่นที่เราไม่ค่อยคิดอะไร

ในสังคมที่ระบอบประชาธิปไตยพัฒนามาหลายปีอย่างต่อเนื่อง แม้นักการเมืองในรัฐบาลบางประเทศจะเป็นนักล่าอาณานิคมด้วยอาวุธร้ายแรง แต่ต่อประชาชนของเขาเอง เขาก็ใช้กระบวนการประชาธิปไตย เขารู้จักเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

ผมเชื่อว่านักการเมืองของประเทศเหล่านี้บางคนก็มีความกระหายที่จะใช้ "อำนาจนิยม" กับประชาชนของตนเองเหมือน แต่ด้วย "ยีนของสังคม" ที่ได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่อนุญาตให้พวกเขากระทำเช่นนั้นได้

ในประเทศไทยแม้ความรุนแรงแบบ "อำนาจนิยม" ด้านอื่นๆจะปรากฏไปทั่ว แต่สำหรับการรัฐประหารซึ่งเป็นอำนาจนิยมอย่างหนึ่งได้ว่างเว้นมานานถึงกว่า ๑๕ ปี นับว่านานที่สุดตลอด ๗๔ ปีประชาธิปไตยไทย แม้ระบอบประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ จะยังมีข้อบกพร่องในหลายจุด แต่สังคมก็ยังหวังว่าสิ่งที่ตนทั้งหลายมีส่วนร่วมในการบัญญัติมันขึ้นมาจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่อยู่ๆ ก็มี "ผู้มีอำนาจที่มีอาวุธ" มาฉีกมันทิ้งไปเสียโดยปราศจากการยั้งคิด มันทำให้เราเกิดความรู้สึกคล้ายๆกับตอนที่เราก่อกองทรายในวัยเด็ก แล้วมีผู้ใหญ่ใจร้ายมาเตะทำลายมันเสีย เพียงเพราะเห็นว่าทำแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เหตุการณ์รัฐประหาร ในคืนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้ทำให้กลุ่มประชาสังคมไทยที่ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อบ้านเมืองมีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าระบอบทักษิณเป็นอันตรายต่อสังคมไทยอย่างรุนแรง จำเป็นต้องให้พ... ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีให้ได้โดยเร็วที่สุด คนพวกนี้จึงรู้สึกดีอกดีใจอย่างออกหน้า เมื่อที่คนมาร่วมขับไล่ทรราชของประเทศออกไปได้ โดยไม่สนใจว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อุตส่าห์ "ก่อ" กันมาจะถูกเตะไปด้วย ไม่สนใจว่า "ฝูงมดนับล้านตัว" จะต้องตายตามไปด้วย

ผมเองถูกตั้งคำถามย้อนกลับมาว่า "ไหนลองบอกมาซิว่าจะให้ทำอย่างไร ถ้าฝ่าย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค. เขาไม่อนุญาตให้เรียกชื่อสั้นๆ) ไม่ทำ ฝ่ายทักษิณก็ทำเอง แล้วสังคมไทยจะต้องมีการนองเลือดอย่างแน่นอน"

ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนี้ ผมขอเปรียบเทียบให้เห็นกรอบความคิดของคณะบุคคลที่ร่วมกันทำรัฐประหารครั้งนี้ก่อน

ถ้าเปรียบวิธีการคิดแก้ปัญหาของคนเรากับช่างก่อสร้างคนหนึ่งที่มีเพียงค้อนเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องมือ เขาก็ต้องจะใช้ค้อนเป็นเรื่องมือในการแก้ปัญหา ไม่ว่าเขาจะต้องการจะตอกตาปู ถอนตาปู หรือขันน๊อต

ดีไม่ดีถ้าเขาใจร้อนมากๆ เขาก็อาจจะใช้ค้อนแทนเลื่อยก็เป็นไปได้

เราคงนึกภาพออกนะครับว่า ผลงานของช่างไม้คนนี้จะเป็นอย่างไร ร่องบนหัวน๊อตคงจะถูกทุบบู้บี้ยับเยินจนยากจะรื้อถอนในโอกาสต่อไปได้ แผ่นไม้ก็ไม่ได้พอเหมาะพอเจาะกับที่ต้องการ

แม้โลกในยุคข้อมูลข่าวสารได้พัฒนาไปมากแล้ว จนยากที่จะบอกว่า คปค. มีแต่อาวุธเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องมือ แต่ด้วย ปัจจัยคือ หนึ่ง ความเคยชินของผู้มีอำนาจ กับ สอง การอนุญาตของสังคม ทำให้ คปค. ตัดสินใจโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

กลับมาที่คำถามว่า "แล้วมีทางอื่นไหมละ"

ผมได้ประกาศอย่างไม่อายมาหลายครั้งว่า ผมเคยเลือก ... ทักษิณ เมื่อปี ๒๕๔๔ พร้อมๆ กับคนไทยอีกจำนวนมหาศาลที่เลือกเขา แต่อีกไม่กี่เดือนต่อมา ผมก็ปฏิเสธเขาด้วยเหตุที่ เขาได้กระทำในทางตรงกันข้ามกับที่เขาได้พูดไว้ในกรณีท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย เขาตระบัดสัตย์อย่างไม่อายต่อบาป

สังคมไทยโดยรวมก็ได้เห็นธาตุแท้และปฏิเสธเขามากขึ้นแม้จะในอีก ปีต่อมา อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า "ปัจจุบันทักษิณไม่ต่างอะไรกับศพทางการเมือง"

นี่คือภาพสะท้อนการเรียนรู้ที่ต้องถือว่าทำได้รวดเร็วมากของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน

ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ "ปรากฏการณ์สนธิ" จนถึง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" , กลุ่มราชนิกุล นักเรียน นักศึกษา แม่ค้าในตลาด ตลอดจนการล่ารายชื่อของเครือข่าย ๔๓ องค์กร ได้ส่งผลให้ทักษิณและระบอบทักษิณซวนเซ และอ่อนแอลงทุกขณะ ถ้าเป็นนักเลงก็เพียงช่วยกันผลักอีกเล็กน้อย เขาก็จะล้มอย่างไม่เป็นท่าแล้ว

ที่ทักษิณต้องมีสภาพเป็นเช่นนี้เป็นเพราะ การกระทำของตัวเขาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีขายหุ้นที่เป็นสมบัติของชาติให้กับสิงคโปร์ (และไม่เสียภาษี)

ผมทราบจากปากของคนที่มีเส้นสายกับ "ผู้หลักผู้ใหญ่" ที่มีบารมีว่า เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ก่อนการรัฐประหารเพียงคืนเดียว ได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกับชั้นนำของคนในเครื่องแบบว่า จะร่วมกันแถลงข่าว เพื่อไม่ยอมรับ ... ทักษิณ

แต่ไม่ใช่การรัฐประหารนะ

ลองคิดดูซิครับว่า ถ้าแนวคิดที่กล้าหาญเช่นนี้ ได้ลงไปถึงระดับ ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง อธิบดีทุกกรม อะไรจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ (ไม่ต้องไปแกล้งเขาหรอก)

ทักษิณก็จะร่วงไปเองโดยไม่ต้องใช้ "อำนาจนิยม" แถมกำลังทหารของกลุ่มไม่เอาทักษิณก็มีมากกว่า

ผมเชื่ออย่างนี้ครับ

แล้วทำไมต้องรัฐประหารด้วยเล่า? หรือเพื่อยับยั้งการเติบโตของกระบวนการภาคประชาชน?

ประเด็นที่น่าจะต้องแลกเปลี่ยนกันอีกก็คือ เราควรจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันให้กระจ่าง ไม่ใช่กล่าวแต่เพียงว่า "ไหนๆ เขาก็รัฐประหารไปแล้ว เรามาร่วมมือกันป้องกันไม่ให้ทักษิณกลับมาดีกว่า"

ถ้าทำเพียงแค่นั้น ผมคิดว่าไม่พอครับ เพราะอีกไม่กี่ปีเขาก็จะรัฐประหารอีก เพราะสังคมได้ถ่ายทอดความคิดนี้ไปให้ลูกหลานของเราในอนาคตโดยผ่านทางพันธุกรรมของสังคม (meme) แล้ว ว่า "สังคมอนุญาตให้ทหารปฏิวัติ" ได้อีก

ราจะต้องร่วมกันปลูกฝังให้สังคมไทยต่อต้าน "อำนาจนิยม" ทุกรูปแบบให้อยู่ในยีนของคนไทยและสังคมไทยให้ได้ ต้องสอนกันจนคนไทยเกิดจิตสำนึกว่า

"
การรัฐประหารเป็นบาป ไม่เป็นอารยะ ไม่ว่ากรณีใดๆ เราไม่เพียงแต่ไล่ทักษิณเท่านั้น แต่เราต้องต่อต้านการรัฐประหารด้วย"

"
โปรดฟังอีกครั้ง"

"
การรัฐประหารเป็นบาป ไม่เป็นอารยะ ไม่ว่ากรณีใดๆ เราไม่เพียงแต่ไล่ทักษิณเท่านั้น แต่เราต้องต่อต้านการรัฐประหารด้วย"