Skip to main content

ปฏิวัติ = เซ็กส์ ?

คอลัมน์/ชุมชน

อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา


 


มันทั้งน่าแปลกใจและน่าสนใจ ที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนกรุงต่างก็หน้าชื่นตาบานกับการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ทั้งที่เรื่องการรัฐประหารในพ.ศ.นี้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่รับได้


 


ที่รัฐประหารกลายเป็นเรื่อง ‘หวานเย็น’ อาจเพราะคนคิดกันว่า การรัฐประหารนี้ไม่เป็นอันตราย อีกทั้งข่าวลือที่ว่า การรัฐประหารครั้งนี้มีเบื้องหลังที่อาจเชื่อมโยงได้กับ ‘สถาบัน’ ก็ยิ่งทำให้คนไทยยินดีปรีดา เดินออกจากบ้านไปถ่ายรูปคู่รถถังแม้จะอยู่ภายใต้ภาวะการประกาศกฎอัยการศึก


 


กระแสส่วนใหญ่ในสังคมไทย นิยมอะไรที่ได้มารวดเร็วทันใจ เมื่อครั้งที่คุณทักษิณมาแรง คนก็ชอบ เพราะได้นายกรัฐมนตรีมาดใหม่ พูดเร็ว ทำเร็ว มาคราวนี้เกิดการรัฐประหาร คนก็นิยม เพราะเหลือทนกับความไม่โปร่งใสของคุณทักษิณมาร่วมปี


 


บ้านเมืองที่มีการรัฐประหารจึงคล้ายๆ คอมพิวเตอร์ที่แฮงค์แล้วตัดสินใจกด shut down เพื่อ restart เครื่องใหม่


 


แต่ต้องพูดให้ชัดว่า คนที่อยู่ในกระแสส่วนใหญ่ในครั้งโน้นกับในครั้งนี้ เป็นกลุ่มเดียวหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้ คนที่ชอบคุณทักษิณ อาจเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่พึงพอใจการรัฐประหารหรือไม่ก็ได้ และคนที่ไม่ชอบคุณทักษิณ ก็อาจเป็นกลุ่มที่พึงพอใจการรัฐประหารหรือไม่ก็ได้เช่นกัน


 


นั่นคือ จุดยืนของคนมีหลากหลาย เพียงแต่กระแสหลักมาแรงมีอยู่เพียงกระแสรักทักษิณ กับกระแสพอใจการรัฐประหาร ซึ่งคนที่คิดต่างไปจากสองกระแสนี้มีมากมาย หลบยืนอยู่ในมุมเล็กๆ เผลอแสดงความคิดเห็นออกมาเมื่อไร ก็อาจถูกปัดให้ไปทางกระแสใดกระแสหนึ่งไม่รู้ตัว


 


จะว่าไป ก็เหมือนชีวิตทางเพศ บ้างนิยมการรักนวลสงวนตัว บ้างนิยมเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย บ้างเห็นด้วยกับการทำแท้ง บ้างไม่เชื่อในเรื่องรักเดียวใจเดียว ฯลฯ


 


กับเรื่องการเมือง เรามักเห็นเสมอ ที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกลายเป็นต้นเหตุให้คนทะเลาะกัน ไม่ต่างจากเรื่องเพศ ที่อุดมการณ์ต่างกัน ก็มักถูกตัดสินดี-ชั่วไปเสียแล้ว


 


สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเราอาจลืมไปว่า เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการการเคารพในสิทธิและเสรีภาพ และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมใช่หรือไม่


 


ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลรองรับจุดยืนของตน คนที่ไม่เอาทักษิณเพราะรับไม่ได้ที่มีผู้นำที่ขี้โกง คนที่ไม่เอารัฐประหารเพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักการ และหวั่นใจว่าอาการแฮงค์นั้น แม้จะ restart ใหม่ แต่ถ้าไม่แก้ไขให้ดี ปัญหาเดิมก็ต้องย้อนกลับมา


 


ขณะเดียวกัน เราก็ไม่อาจปฏิเสธเสียงจำนวนมากที่รักทักษิณได้ เพราะทักษิณเป็นผู้นำที่รู้ว่าจะสนองให้คนพึงพอใจได้อย่างไร และเราก็ปฏิเสธคนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ได้ เพราะประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองไม่ได้ทำให้คนเชื่อมั่นในหลักการ


 


คนไม่ต้องคิดเห็นเหมือนกัน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะได้ยินและเคารพเสียงที่ต่าง โดยไม่จำเป็นต้องตัดสิน ล้มล้างความคิดที่ต่างจากตน


 


และที่สำคัญเราจะมีความเห็นได้ ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ที่รอบด้านเพียงพอที่จะสำรวจข้อดีและข้อเสียของจุดยืนแต่ละแบบ


 


ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องตั้งคำถามต่อการเชื่อมั่นในค่านิยมเก่าๆ เช่น การ "เชื่อมั่นในคนดี" อาจสร้างอันตรายในอนาคตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง


 


เราน่าจะลองหรี่เสียงในความคิดของตนให้เบาลง เพื่อเปิดใจฟังข้อมูลให้รอบด้าน จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความรู้เป็นพื้นฐาน ไม่ใช่เต็มไปด้วยความเห็น


 


(บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน สื่อสังวาส ปีที่ 2 ฉบับที่ 43 ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2549)