Skip to main content

ก้าวย่างสู่สังคมใหม่ ที่เราปรารถนา

คอลัมน์/ชุมชน

มาถึงวันนี้หลายคนคงจะมีข้อถกเถียงและคำถาม ความสงสัยต่างๆ ต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยต่อการข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะปฏิรูปฯ ที่มีการแบ่งความคิดของประชาชนในผืนแผ่นดินสยามนี้ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เอาและไม่เอารัฐประหาร


 


ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่กับเหตุการณ์เข้ายึดอำนาจนี้เกิดขึ้น แม้ว่าหลายคนจะบอกว่านี้คือการปลดแอกประชาธิปไตยของประเทศจากที่คุณทักษิณ ชินวัตร อดีดนายกฯ ได้กระทำการฉีกรัฐธรรมนูญโดยการใช้ช่องว่างทางกฎหมายและวิธีแบบศรีธนญชัย บริหารประเทศภายใต้ระบบประชาธิปไตยที่เป็นเผด็จการ


 


ช่วงภาวะที่สังคมมีคำถามต่อสิ่งที่คุณทักษิณ ได้ดำเนินนโยบายไม่ว่าจะเป็น การประกาศสงครามกับยาเสพติด การหว่านเม็ดเงินลงสู่ชุมชน สร้างโครงการเมกกะโปรเจคต่างๆ หรือแม้แต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การครอบงำและแทรกแซงองค์กรสื่อและองค์กรอิสระต่างๆ ว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดและไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และรวมไปถึงการขายหุ้นของตระกูลชินวัตร และข้อคำถามต่อจริยธรรมการเป็นผู้นำ


 


จากคำถามต่างๆ นี้ กลับไม่พบคำตอบที่ชัดเจนของคุณทักษิณ แม้แต่น้อย แม้ว่าประชาชนจะรวมตัวเคลื่อนไหวผ่าน "วิธีการ" ต่างๆ เพื่อไปสู่ "เป้าหมาย" ของการให้คุณทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเว้นวรรคทางการเมือง ผ่านแนวทางต่างๆที่หลากหลาย อาทิ การชุมนุมประท้วง การออกแถลงการณ์ของนักวิชาการ เครือข่ายประชาชน นิสิต นักศึกษา แต่กลับพบความนิ่งเฉยและเฉยเมยต่อต่อมจริยธรรมของคุณทักษิณ


 


ในช่วงภาวะเหล่านี้ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย  ได้แก่ การประกาศยุบสภา การบอยคอตการเลือกตั้ง การที่ศาลมีคำพิพากษาให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน เป็นโมฆะ และรวมถึงคำพิพากษาจำคุกอดีต กกต. 3 คน ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายประชาชนที่สยามพารากอน และเหตุการณ์ลอบสังหารคุณทักษิณ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนถือว่ามีความแตกแยกและเห็นต่างทางความคิดสูงมาก มีการเลือกข้างที่ชัดเจน มีการดิสเครดิต ประชาชนที่ออกมาต้านทักษิณว่าสร้างความแตกแยกให้กับสังคม ...... สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดจากภาวะผู้นำประเทศที่ขาดซึ่งจริยธรรมและต่อมสำนึกต่อความคิดเห็นของประชาชนที่คัดค้านตัวเอง


 


จนในที่สุดเมื่อช่วงค่ำคืน 19 กันยายนที่ผ่านมา ทหาร กองทัพ และตำรวจ บางกลุ่มจึงออกมาทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ช่วงนี้ผมรู้สึกดีใจมากที่มีคนออกมาจัดการกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ แม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่ให้ด้วยกับวิธีการนี้ก็ตาม แต่ความโล่งใจต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็คงจะดีขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน เพราะการปฏิวัติ – รัฐประหารครั้งนี้ เป็นการกระทำที่สุดแสนจะงดงามและโรแมนติก (แม้จะเป็นความงดงามและโรแมนติก ที่เป็นการทุบและฉีกรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดทิ้งก็ตาม)


 


ผมให้นิยามเหตุการณ์นี้ว่า เป็นการปฏิวัติเพื่อการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งน่าจะเป็นการดีกว่าการเป็นประชาธิปไตยที่เป็นเผด็จการ และเอาเข้าจริงประชาชนเองก็ไม่ได้มีพลังมากพอที่จะหยุดการกระทำต่างของคุณทักษิณลงได้ การเข้ายึดการปกครองครั้งนี้จึงเป็นที่ "จับตา " และ "เฝ้าระวัง" ของภาคประชาสังคมเป็นอย่างยิ่งว่า คณะปฏิรูปฯ จะคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองได้จริงหรือไม่


 


 


มาถึงตอนนี้ ประชาชนหลายส่วนที่ก็เกิดคำถามต่อไปว่า หลังจากที่สิ่งที่เราเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ได้เคลื่อนผ่านไป สังคมไทยเราจะมีหน้าตาออกมาในรูปแบบใด ผมเห็นด้วยกับอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ได้ออกมาสารภาพและสื่อสารกับประชาชนว่าตนคิดเห็นอย่างไร และผมก็เห็นด้วยกับแนวทางของอาจารย์ใจ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของเพื่อนนักศึกษาหลายๆ สถาบันต่อการอารยะขัดขืนการรัฐประหาร โดยเฉพาะการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน


 


ความคิดเห็นที่แตกต่างของภาคประชาสังคม นักวิชาการหลายๆ ส่วน ก็ถือเป็นสิทธิอันพึงมีของคนนั้นๆ แต่ผมรู้สึกเสียความรู้สึกกับจุดยืนที่แข็งกระด้างของคนที่บอกว่าตัวเองรักและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย แล้วมากระทำการ "ว่าร้าย" และ "ต่อว่า" คนที่เห็นต่างอย่างไร้เหตุผล และขาดวุฒิภาวะ


 


แม้ว่าผมจะเป็นแค่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยประสีประสาอะไรต่อความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ก็ไม่ได้เห็นว่าความคิดเห็นของคนที่ต่างกันนั้น จะเป็นสิ่งที่บอกว่าผิด ถูก เพราะเอาเข้าจริง ไอ้สิ่งที่เราเรียกว่าผิดหรือถูก ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์จำกัดและให้นิยามขึ้น ดังนั้นเมื่อคนนี้บอกถูกแต่อาจจะผิดในความหมายของอีกคน หรือหากคนนี้บอกผิดอาจจะเป็นความหมายถูกของคนหนึ่ง เราต้องเคารพในความเห็นที่แตกต่าง และโต้แย้งอย่างมีเหตุมีผล มากกว่าใช้อารมณ์ในการว่าร้ายอย่างไร้วุฒิภาวะ


 


ที่ผมกล่าวถึงเรื่องความขัดแย้งทางความคิดของประชาชนที่เกิดขึ้นนี้ เพียงเพื่ออยากบอกว่าความเห็นในช่วงนี้นั้นมันเป็นแค่จุดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่สิ่งที่ใหญ่และเป็นระยะยาวมากกว่า คือหลังจากผ่านพ้นช่วงนี้ไปแล้ว พวกเรา ประชาชน นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และชาวสยามทุกคนอยากเห็นหรือต้องการสังคมแบบไหน


 


สังคมที่พวกเราทุกคนปรารถนาจะมีหน้าตาอย่างไร เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าจะมาถกเถียงและสร้างความรุนแรงที่อาจไม่ต่างจากการเอารถถังมาบนถนน หากแต่เป็นความรุนแรงทางวาจาที่อาจบ่มเพาะเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่โตในอนาคต แต่เรื่องสังคมใหม่ที่เราต้องการ จะออกมาเป็นแบบไหน  การจัดระดับความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมใหม่จะเป็นอย่างไร อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันคิด


 


ณ วันนี้หลายคนออกมาต้านการทำรัฐประหาร หลายคนออกมาปกป้องสิทธิของตนตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่หลายคนก็เข้าไปแสวงหาประโยชน์และอำนาจจากคณะปฏิรูปฯ  โดยผ่านการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาต่างๆ


 


ผมขอให้กำลังใจอาจารย์ประทีป อึ๊งทรงธรรม ที่ประกาศการไม่เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปฯ ที่ได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้เห็นว่าคนที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะปฏิรูปฯ เป็นคนที่งอมือให้กับคณะปฏิรูปฯ แต่ผมเชื่อว่ามันก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะใช้ช่องทางอำนาจที่มีอยู่ เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนหลายคนได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา


 


ผมเห็นด้วยว่า "อำนาจ" เป็นความหอมหวนที่ใครมีแล้ว หากใช้อำนาจของตนในทางที่ผิด ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม แต่หากภาคประชาสังคมที่เข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ ให้กับคณะปฏิรูปฯ คงจะใช้อำนาจที่มีอยู่ เอื้อประโยชน์ต่อบ้านเมืองให้ได้มากที่สุด และไม่หลงอยู่กับอำนาจ บารมีที่มีเหมือนคนเดือนตุลา ในยุครัฐบาลทักษิณ


 


มาถึงตรงนี้ ผมเพียงหวังว่าการที่จะร่วมกันก้าวย่างไปสู่ "เป้าหมาย" สังคมที่เราปรารถนานั้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลาย "แนวทาง" ที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันสร้าง และร่วมตีหลาย ๆ จุด มากกว่าจะมาขัดขาต่อว่ากันเสียเอง หากเรื่องที่ใหญ่กว่ารอเราอยู่ข้างหน้า


 


ที่ผ่านมา ประชาสังคมเรียกร้องสังคมที่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ รัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพ การคัดค้านการค้าเสรี ความหลายด้านวัฒนธรรม การพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค การคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ – เหล่านี้คือสิ่งที่พวกเราต้องการในสังคมใหม่หรือไม่


 


คำตอบของเหตุการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาจนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เราไม่คาดคิด อาจทำให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้ทบทวนตัวเอง และได้รับบทเรียนอันมีคุณค่าและความหมายอย่างยิ่งต่อการอยู่และใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า คำตอบอาจไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็คงต้องดีและเหมาะสมต่อการก้าวย่างในสังคมหลังจากนี้ร่วมกันของประชาชนทุกๆ คน


 


คำถามหลังจากนี้จึงน่าจะอยู่ที่ว่าเราจะเอาสังคมใหม่แบบไหน?