Skip to main content

สิ่งที่ "ได้มา" และ "เสียไป"

คอลัมน์/ชุมชน

เหตุการณ์รัฐประหารผ่านมาได้พักหนึ่งแล้ว


สิ่งที่ได้จากเหตุการณ์ดังกล่าว ในขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้คือ


ความสะใจในการโค่นล้มชายผู้หนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าอันตรายที่สุดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย


 


ได้เห็นนักการเมืองพรรคไทยรักไทยซึ่งเคยเรืองอำนาจเดินคอตกรายงานตัวกับ คปค.


ได้เห็นงานวันเด็กที่ยาวนานกว่าปรกติเกือบๆ 2 อาทิตย์ เพราะทหารเอาอาวุธออกมาให้ประชาชนได้สัมผัสและถ่ายรูปอย่างใกล้ชิด


ได้เห็นคนชื่อ สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกฎหมายมหาชนชื่อดังแห่งสถาบันที่ก่อตั้งมาเพื่อพิทักษ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยออกมาบอกว่า คปค. คือ รัฐฐาธิปัตย์  (ผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย) ทั้งที่การยึดอำนาจนั้นกระทำโดยวิธีนอกกฎหมาย


 


ได้เห็นการเตรียม "เช็กบิล" ระบอบทักษิณ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะมีประบวนการอย่างไรแน่


ได้เห็นธรรมนูญการปกครองที่อำนาจแท้จริงนั้นอยู่ที่ประชาชนเพียง "พิธีการ"


ได้เห็นนายกรัฐมนตรีที่มีเค้าว่าจะมาจาก "การแต่งตั้ง" หลังเมื่อ 15 ปีก่อนเราเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และ "ประชาชน" เท่านั้นที่จะเป็นคนปลดนายกรัฐมนตรี มิใช่หัวหน้า คปค.


ได้เห็นสื่อทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์บางฉบับ วิทยุบางคลื่น เชียร์ คปค. กันเซ็งแซ่เพียงเพราะกลัว และเกลียดทักษิณ โดยลืมหลักการและอุดมการณ์ที่ท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์ผู้บุกเบิกถางทางของพวกเขาได้เคยวางเอาไว้


 


สิ่งที่คนไทยยอมต้องยอมคือ…


เสียรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ร่างมาด้วยเลือดเนื้อของวีรชนคนแล้วคนเล่า ด้วยเหตุว่านี่คือประเพณีของการรัฐประหาร


เสียสิทธิทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็น


เสียสิทธิในการตรวจสอบคณะผู้ปกครองกลุ่มที่เชื่อว่า "ปลดปล่อย" พวกเขาจากเผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตย ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อ "ป้องกันระบอบเดิมฟื้นคืนชีพ" ด้วยข้ออ้างที่ว่า "เพื่อความสมานฉันท์" ของคนในชาติ


 


ยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย คณะรัฐมนตรีหุ่นเชิดกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สามารถดึงทำการรับรองและประกาศใช้กันเองได้ทันที


ยอมให้มีนายกรัฐมนตรีที่สามารถปลดได้ด้วยหัวหน้า คปค. ไม่ใช่ประชาชน


ยอมรับโดยดุษณี ว่าพลังประชาชนไม่สามารถเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาของตนเองตามระบอบประชาธิปไตยได้ และต้องอาศัย "อาวุธ" ที่ใช้ประหัตประหารคนในการแก้ปัญหา


 


ยอมหวังว่า "สักวันหนึ่ง" คนไทยอีกหลายล้านคนจะหลุดพ้นจากความไม่รู้ โดยไม่ผ่านการเรียนรู้ ดุจเดียวกับการหวังว่าทารกจะเดินได้โดยไม่มีการหกล้มมาก่อน


ยอมหวังกับสัญญาลมๆ แล้งๆ ที่ไม่มีหลักประกันว่าอำนาจการปกครองจะกลับมาอยู่กับประชาชนเมื่อ คปค. บอกว่าจะถอยไป


 


ปีนี้ ขอให้ท่านที่เห็นด้วยกับ คปค. รำลึกเหตุการณ์ 30 ปี 6 ตุลา 19 และ 33 ปี 14 ตุลา 16 และคิดให้มากๆ กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต


ด้วยหวัง…ว่าดวงวิญญาณของเหล่าวีรชนจะปลุกท่านให้ตื่นขึ้นจากภวังค์


ด้วยหวัง…ว่าการอภิวัฒน์เมื่อ 72 ปีก่อนหน้านี้จะไม่สูญเปล่า


ด้วยหวัง …แด่รัฐประชาชาติอันเป็นที่รักยิ่งของผม


 


 



2519
– 30 ปีก่อน



2549
– 30 ปีให้หลัง