Skip to main content

โถส้วมวิทยา ( Toiletology 101)

คอลัมน์/ชุมชน



คำนำ


ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกแปลกใจว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันประหยัดพลังงาน ผมกลับมาเขียนเรื่องโถส้วมซึ่งไม่อยู่ในกระแสหรือกล่าวด้วยภาษาวัยรุ่นว่าไม่ " แนว" เลย


โถส้วมวิทยา หรือ toiletology (อ่านว่า ทอยเล็ตโตโลยี) มาจากการผสมของคำว่า toilet ที่แปลว่าโถส้วมและ ology ซึ่งใช้เติมหลังคำนามเพื่อให้มีความหมายเป็นศาสตร์หรือวิชา เช่น biology ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยสิ่งมีชีวิต และเทคโนโลยี (technology) ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยเทคนิคต่าง ๆ เป็นต้น


ส่วน 101 เป็นรหัสวิชาที่บอกว่าสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งและภาคการศึกษาที่หนึ่ง โดยทั่วไปวิชาที่มีรหัส 101 มักจะเป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาในหลักสูตรนั้น ๆ ที่บังคับก็เพราะว่าเป็นวิชาที่สำคัญและจำเป็นมาก ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คนไทยทุกต้องช่วยกันคิดครับ


ที่ผมต้องเขียนเรื่องโถส้วมในเวลานี้ก็เพราะว่า ขณะนี้ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เปิดสอนวิชาใหม่ที่ชื่อว่า " วิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)" เป็นวิชา 3 หน่วยกิตและบังคับสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ทุกคน


ปรัชญาของวิชานี้ก็คือ " นำความรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในวิทยาเขต" คือนำความรู้ความเข้าใจที่นักศึกษาได้เรียนมาแล้วไปปฏิบัติ โดยใช้ปัญหาในวิทยาเขตเป็นห้องทดลอง ถ้าปฏิบัติจนเกิดเป็นจิตสำนึกได้ยิ่งดีครับ เราคิดว่าในสังคมไทย คนที่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมีมากพอสมควรแล้ว เราอยากจะช่วยกันสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้แล้วลงมือปฏิบัติเองดูบ้าง


การปฏิบัติที่ว่านี้ นักศึกษาแต่ละกลุ่มต้องทำโครงงาน โดยผ่านกระบวนการตั้งโจทย์ การวิเคราะห์ปัญหา การเสนอทางเลือก การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม รวมทั้งการรณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิทยาเขตด้วย


ผมและเพื่อนอาจารย์อีก 9 ท่านได้ร่วมกันรับผิดชอบวิชานี้ แต่ด้วยความที่ยังใหม่ต่อวิชานี้ ผมจึงยังกังวลและคิดว่าต้องช่วยแนะนำการตั้งโจทย์ให้นักศึกษาบ้าง


ผมพยายามค้นจากอินเทอร์เน็ต ก็ไปพบวิชาโถส้วมวิทยา หรือ toiletology เข้า ก็รู้สึกว่า


น่าสนใจ นอกจากชื่อวิชาจะฟังดู " เท่ห์และทึ่ง" แล้ว เนื้อหาก็น่าสนใจมากครับ เขาให้ความรู้หลายอย่าง ตั้งแต่การทำงานของส้วมรวมถึงการซ่อม การกำจัดกลิ่น เป็นต้น


ท่านที่สนใจ เชิญเข้าไปที่ http://www.toiletology.com/toc.shtml


ต่อไปนี้ผมจะเล่าปัญหาการใช้น้ำ ซึ่งก็เกี่ยวพันกับเรื่องโถส้วมในวิทยาเขตหาดใหญ่ครับ


ข้อมูลการใช้น้ำ


ผมเสียดายที่ยังไม่มีข้อมูลการใช้น้ำปีล่าสุด แต่ในปีงบประมาณ 2540 ชาว มอ.หาดใหญ่เฉพาะที่ไม่ใช่ส่วนของโรงพยาบาลและหอพักพยาบาลได้ใช้น้ำไปจำนวน 9.9 แสนลูกบาศก์เมตร ถ้าคิดเป็นราคาลูกบาศก์เมตรละ 14 บาท (เพราะเป็นอัตราก้าวหน้าและมีมิเตอร์ตัวเดียว) ก็มีมูลค่าถึงประมาณ 14 ล้านบาท ถ้ารวมส่วนของโรงพยาบาลและคิดรวมถึงจำนวนคนที่มากขึ้นโดยเฉพาะจำนวนนักศึกษาแล้ว ผมคิดว่าในปี 2548 ชาวมอ.ทั้งหมดใช้น้ำไม่ต่ำกว่าปีละกว่า 30 ล้านบาท


ความรู้เรื่องโถส้วมชักโครก


โถส้วมชักโครกมี 3 ชนิด คือแบบที่ใช้แรงโน้มถ่วงธรรมดา ( gravity flush style- ขอเรียกว่าแบบธรรมดา) แบบมีวาล์ว (flush valve style) ส่วนแบบที่ 3 เป็นแบบใช้แรงดัน (pressurized tank style) ซึ่งแบบที่ 3 นี้มีราคาแพงมาก จึงไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้



สำหรับ 2 แบบแรก ผมขอนำภาพมาลงให้ดูพร้อมข้อมูล





 




ก่อนปี พ.ศ. 2520 เล็กน้อย บริษัทผู้ผลิตโถส้วมชักโครกแบบธรรมดาและแบบมีวาล์ว ได้ออกแบบให้ใช้น้ำครั้งละ 22.7 ถึง 32 ลิตร และ 20 ถึง 22 ลิตรตามลำดับ


ต่อมาในช่วงปี 2520 ถึงประมาณ 2530 ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็น ยุคกลาง โถส้วมทั้ง 2 ชนิดใช้น้ำลดลงเหลือเพียงครั้งละประมาณ 16 ลิตร


แต่นับจากประมาณปี 2530 เป็นต้นมาซึ่งขอเรียกว่า ยุคใหม่ ด้วยความก้าวหน้าของวิชาโถส้วมวิทยา ได้ทำให้โถส้วมทั้ง 2 ชนิด ใช้น้ำครั้งละไม่เกิน 7.3 ลิตร


เอกสารที่ผมค้นพบที่ใช้ชื่อว่า "water efficiency. Water Management Options " ยังได้


วิเคราะห์การลงทุนเปลี่ยนโถส้วมว่าจะคุ้มทุนเมื่อใด ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) ค่าลงทุนเปลี่ยนและติดตั้งโถส้วมใหม่ (2) จำนวนผู้ใช้โถส้วมในสำนักงานนั้น ๆ และ (3) ราคาค่าน้ำ


การศึกษาที่ผมอ้างถึงเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ถ้าเราเปลี่ยนโถส้วมจากยุคกลางมาเป็นยุคใหม่ทำให้การใช้น้ำในโถส้วมลดลงมาอยู่ที่ 46 % ของโถส้วมยุคกลาง


สำหรับจำนวนปีที่คุ้มทุนพบว่า ถ้าค่าลงทุนติดตั้งใหม่จำนวน 105 ดอลลาร์ต่อโถ และมีผู้ใช้ส้วม 5 คน จะคุ้มทุนใน 45 เดือน แต่ถ้ามีผู้ใช้ส้วม 14 คน จะคุ้มทุนเร็วขึ้นคือในเวลา 16 เดือนเท่านั้น (รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จากกราฟ)


อย่างไรก็ตาม เราจะคิดเฉพาะแต่ต้นทุนทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องคำนึงผลกระทบที่เกิดจากการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อมาทำน้ำประปาด้วย


 


 



โจทย์สำหรับนักศึกษา


ข้อมูลเรื่องโถส้วมที่ผมกล่าวมาแล้วทั้งหมดอาจจะไม่ถูกต้องสำหรับประเทศไทย แต่อย่างน้อยก็พอได้เป็นแนวทางบ้าง สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำนักศึกษาก็คือต้องสำรวจข้อมูลให้ชัดเจนสำหรับคนใน มอ . โดยเฉลี่ยแต่ละคนเข้าส้วมวันละกี่ครั้ง ค่าติดตั้ง จำนวนเงินที่ประหยัดได้ ฯลฯ



วิธีการสำรวจและเก็บข้อมูล รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิตินักศึกษาจะได้รับการแนะนำจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือวิธีการเผยแพร่ผลการศึกษาและวิธีการรณรงค์ให้คนใน มอ . เห็นด้วยและลงมือปฏิบัติซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์



อนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของผมคนเดียว อาจารย์ท่านอื่นอาจจะไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้ แต่อย่างน้อย วันนี้ผมมีการบ้านส่งให้หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ประชาไท และวิทยาลัยวันศุกร์แล้วครับ


 


ไชโย !