Skip to main content

ประชาธิปไตย และ เผด็จการ

คอลัมน์/ชุมชน

ชั่วเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ "คปค." หรือ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลทักษิณ ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายท่วมท้นในสังคมไทยก็เกิดขึ้น ราวกับว่า "เขื่อน" ที่กักขังเสรีภาพและความรู้สึกร่วมบางอย่างของสังคมไทยมาเนิ่นนาน ได้พังทลายลงไป


 


ว่ากันตามจริง สังคมไทยก็สมควรที่จะโล่งอกกับวิกฤตความตึงเครียดที่ผ่านพ้นไปพร้อมกับผู้มีอำนาจในระบอบทักษิณ หลังจากบรรยากาศแห่งการทำลายล้างและความแตกแยกครอบงำประเทศชาติอยู่นานหลายเดือน และคิดๆ ดูแล้วก็น่าจะเป็นเรื่อง "พิลึก" ที่สุดในโลกอย่างที่สำนักข่าวต่างประเทศเขาว่านั่นละครับ ปฺฏิวัติแบบไหนกันเล่า ไม่เสียเลือดสักหยด ไม่เสียกระสุนแม้แต่นัดเดียว แถมทันทีที่รถถังวิ่งเข้ามาจอดตามจุดสำคัญในเมืองกรุง ผู้คนก็ออกไปมอบดอกไม้ และอาหารให้เหล่าทหารเสียแล้ว เราได้เห็นภาพประชาชนถ่ายรูปคู่กับทหารและรถถังตั้งแต่วันแรกที่มีการปฏิวัติ จนกระทั่งการถ่ายรูปคู่กับทหารและรถถัง ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแปรสภาพกลายเป็น "งานเทศกาล" ย่อมๆ ไป  ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพียงแค่วันเดียว ที่นี่กำลังจะกลายเป็นที่ชุมนุมของบรรดาผู้ไม่นิยมทักษิณ ซึ่งอาจกลายเป็นการ "เปิดแผล" ให้แก่ประเทศชาติระลอกใหม่


 


อาจเรียกได้ว่านี่เป็นปฏิบัติการ "เปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นสนามเด็กเล่น" ที่ทำเอาประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่เบื่อทั้งทักษิณและพวกพันธมิตรไชโยโห่ฮิ้ว พาลูกพาหลานมาถ่ายรูปกับทหารและรถถังราวกับงานวันเด็ก ทั้งที่ตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างกฎอัยการศึก และถูกปกครองโดยคณะทหาร นักวิชาการบางท่านถีงกับเรียกว่านี่คือปรากฎการณ์ "รัฐประหารบำบัดมวลชน" หรือ "คูพ เด ทาท์ เธอราพี"(Coup d’etat therapy) ซึ่งไม่เคยปรากฎในตำราการบำบัดใดๆ ในโลก


 


เราอาจจะชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคณะบุคคลที่ปกครองประเทศ แต่ในระบอบประชาธิปไตยของทักษิณ เราอาจจะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้รักทักษิณ อาจจะต้องระวังมือมืดมาป่วน อาจต้องเจ็บแค้นกับข้อหา "พวกไม่รักทักษิณคือพวกไม่รักชาติและประชาธิปไตย"  แต่การชุมนุมของนักวิชาการและนักศึกษาที่ต่อต้าน คปค. แม้จะมีทหารมาสังเกตุการณ์แต่ก็ไม่ได้มีการจับกุมตัวหรือเหตุรุนแรงแต่อย่างใด


 


ถึงแม้สื่อมวลชนจะถูกควบคุมอยู่ระดับหนึ่ง แต่ใช่หรือไม่ว่า ความแตกแยกในสังคมไทย (และระหว่างสื่อแท้กับสื่อเทียม) ได้ลดน้อยลง และในบางกรณี ก็ดูเหมือนว่า ในการปกครองของ คปค. เราจะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและตั้งคำถามมากกว่า ประชาธิปไตยแบบทักษิณ เสียอีก กลับตาลปัตรกันไป


 


ในช่วง 2-3 วันแรกหลังการปฏิวัติ บางคนและบางสำนักข่าวอาจจะยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่พอสมควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ คปค.แต่ดูเหมือนหลังจากไม่มีใครติดคุกเพราะวิจารณ์หรือแสดงความไม่เห็นด้วย สื่อมวลชนและปัญญาชน ก็ออกมาแสดงความเห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ถนนทุกสายมุ่งสู่ คปค. ถ้าไม่นับข้อเสนอแนะต่างๆ จากสื่อมวลชนตามหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว เฉพาะการยื่นหนังสือเสนอแนะจากองค์กรต่างๆ ตอนนี้ก็คงปาเข้าไปเป็นร้อยเรื่องแล้ว


 


สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกว่า "น่าเสียดาย" คือเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่ถูกยกเลิกไป เพราะ


จะว่าไปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือว่าก้าวหน้าที่สุดเท่าที่เคยมีมา แม้จะยังมีข้อบกพร่องที่ควรแก้


ไขอยู่หลายข้อ แต่โดยรวมแล้วผมว่า น่าจะใช้เป็นรากฐานสำหรับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ และที่สำคัญที่สุดคือเราได้เห็น "ช่องโหว่" อันเบ้อเริ่มร่วมกันแล้วว่า ต่อให้รัฐธรรมนูญดีแค่ไหน แต่ได้ผู้นำประเภทเอากฎหมายเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง มันก็ไร้ความหมาย


 


ย้อนคิดถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่ถูกยกเลิกไป ผมได้มีประสบการณ์ร่วมกับบทบัญญัติหนึ่งในรัฐธรรมนูญมาตลอดเวลาเกือบสิบปีที่มันถูกใช้อยู่ นั่นคือบทที่ว่าด้วย "การเลือกตั้ง" ที่กำหนดให้ประชาชนคนไทยทุกคน "มีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้ง" ถ้าไม่ไปจะต้องเสียสิทธิ์ 8 ประการจนกว่าจะไปเลือกตั้งอีกครั้งจึงจะได้สิทธิ์คืน ที่ผมมีประสบการณ์ร่วมกับบทบัญญัติดังกล่าว เพราะว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกประกาศใช้ ผมไม่เคยไปเลือกตั้งเลย ใครจะว่า ผมนอนหลับทับสิทธิ์ หรือขู่ว่าจะต้องเสียสิทธิ์ 8 ประการ ก็ตามแต่ 


 


ไม่ใช่ว่าไม่มีเวลา หรือขี้เกียจ แต่เหตุผลของผมก็คือ ผมไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้คนไปเลือกตั้ง ผมคิดว่ามันควรจะเป็น "สิทธิ" ไม่ควรจะเป็น "หน้าที่" จะลิดรอนสิทธิ์ 8 ประการอะไรนั่นก็เอาเถอะครับ ชาตินี้ผมไม่ไปยุ่งกับการเลือกตั้งใดๆ ผมก็มีชีวิตอยู่ได้ ตอนนั้นและแม้กระทั่งตอนนี้ผมก็ยังคิดเหมือนเดิมว่า บังคับให้คนไปเลือกตั้งนี่นะ ประชาธิปไตย? (ผมคิดถึงขนาดว่า ไอ้การบังคับให้ไปเลือกตั้งกันแบบนี้หรือเปล่า ถึงไปสนับสนุนให้ใครบางคนมันอ้างเอาได้ว่า มันมีสิทธิ์ขาดในประเทศนี้ เพราะ "สิบกว่าล้านเสียงเลือกผมมา"? บังคับให้ไปเลือกตั้ง แถมยังอ้างเอาผลการเลือกตั้งเป็นสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศอีก ก็ไม่รู้ว่า เรียนคำว่า ประชาธิปไตย มาจากตำราฝรั่งเล่มไหน แต่ผมคาดว่า คงเป็นตำราประเภท "ฮาวทู" (อาจจะชื่อ "เล่นการเมืองอย่างไรจึงจะรวบอำนาจได้" อะไรประมาณนั้น)


 


แต่ถึงจะไม่เห็นด้วยกับบางมาตราดังที่ว่า แต่ผมเห็นว่าน่าจะทบทวน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 นำมาปรับใช้อีก โดยแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ เสียให้เรียบร้อย


 


ลองคิดย้อนดูนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย"  ในยุคทักษิณดูสิครับ ผมว่าความหมายมันถูกบิดเบือนไปจากผู้มีอำนาจทั้งหลายอย่างมากมายก่ายกอง จนชาวบ้านชาวช่องที่เขาไม่ได้มีความรู้เรื่องรัฐศาสตร์นิติศาสตร์ เขาพากันคิดว่า ประชาธิปไตย แปลว่า "ผู้นำคือความถูกต้อง"  ไปหมดแล้ว แถมนักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยก็คงจะสับสนว่า ประชาธิปไตยแบบที่ห้ามคนเห็นต่างแสดงความเห็นนั่นมันเป็นประชาธิปไตยแบบไหนกันหว่า? ผู้นำรัฐบาลเป็นผู้เดียวในประเทศที่มีสิทธิ์กล่าวถึงและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยใช่ไหม? และ ประชาธิปไตยก็เป็นแค่ "เครื่องมือ" ในการปกครองประเทศแบบท่านผู้นำเคยกล่าวไว้นั่นหรือ?


 


สิ่งที่ผิด และ สิ่งที่ถูก มันถูกบิดเบือนมาเป็นเวลาหลายปี ประชาธิปไตย กลายเป็นแค่คำอ้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจ แต่วิธีการที่ใช้ในการบริหารประเทศ มันถอยห่างจากคำว่า ประชาธิปไตยออกไปทุกที ซึ่งถ้าท่านผู้นำเชื่อของท่านคนเดียวก็ปล่อยท่านไปเถิด แต่นี่ท่านเล่นทำตัวเป็น "คุรุ" สอนสั่งคนทั้งประเทศว่า ประชาธิปไตยมันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ประชาธิปไตยไม่ใช่อย่างนั้นไม่ใช่อย่างนี้ ราวกับว่า ท่านเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยซะงั้น ถ้าเราๆ ท่านที่มีวิจารณญาณแยกแยะได้ มันก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นคนที่เขารักเขาเชื่อท่านเสียเหลือเกิน ก็น่าห่วงว่า คำว่า "ประชาธิปไตย" จะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยแตกแยก เพราะให้ความหมายตามความเชื่อของตนเอง


 


ผมเองไม่ใช่นักวิชาการหรือนักประชาธิปไตยจ๋าแต่อย่างใด ไม่ลึกซึ้งในเรื่องนี้ด้วย แต่ผมคิดว่า 70 กว่าปีของประชาธิปไตยไทย เราไม่เคยให้คำนิยาม "ประชาธิปไตย" ที่ถูกต้องตรงกันแก่สังคมไทยเท่าใดนัก หรือพูดให้ถูกต้องที่สุด ประชาชนไทยส่วนใหญ่ ยังเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้ง ดังที่อดีตนายกฯ และพลพรรคลูกหาบ ประสานเสียงพร้อมกันว่า "ประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้ง" นั่นละครับ นักวิชาการ ผู้รู้ทั้งหลายจะอธิบายว่าไม่ใช่อย่างไร ก็ไร้ประโยชน์ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เขาก็รู้กันอยู่แค่นั้น และนั่นคือจุดด้อยของ ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยของชาวบ้าน ที่พรรคการเมืองหยิบมาสร้างวาทกรรม สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง


 


ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เมื่อมีการแบ่งแยกสังคมไทยด้วยคำพูดที่ว่า "พวกรักทักษิณคือพวกโง่" ผมเองแม้จะไม่นิยมชมชอบทักษิณ ก็ไม่คิดว่าพูดแบบนี้จะถูกต้องสักเท่าไร เพราะชาวบ้านที่เขาได้รับประโยชน์ ลืมตาอ้าปากได้เพราะสารพัดโครงการประชานิยมก็มีไม่น้อย ไม่เคยมีใครให้เขาได้มากเท่านายกฯ คนนี้ เขาก็ต้องชื่นชมเป็นธรรมดา อันที่จริง ผมเคยคิดว่า ชาวบ้านเขาไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าใครจะมาเป็นนายกฯ หรือใครจะมาเป็นรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น เขาอาจจะไม่สนใจด้วยซ้ำว่าประเทศเราควรจะปกครองด้วย "ประชาธิปไตย" หรือ "เผด็จการ" เพราะชนบทที่ห่างไกลรับรู้เรื่องราวของโลกได้เพียงแค่จากจอโทรทัศน์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ เขาก็ได้แค่รับรู้และยอมรับ ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรเลวลง เขาเคยจนยังไงก็ยังจนอยู่อย่างนั้น


 


อาจเป็นเพราะประชาธิปไตยตัวแทนเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลชาวบ้าน และข้าราชการประจำก็เห็นชาวบ้านเป็นแค่ "ลูกไล่"  ขณะที่ "ทหารป่า" เข้าถึงและแสดงความเห็นอกเห็นใจชาวบ้านมากกว่า ประเทศไทยจึงได้มีประวัติศาสตร์แห่งการสู้รบระหว่างคนไทยกันเองในช่วงหนี่ง


 


ผมเห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอะไรที่คล้ายๆ กันอยู่ นั่นคือ ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทย ซึ่งควรจะเติบโตขยายแผ่กว้างตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กลับถูกทำให้ "หดหาย" ด้วยนโยบายประชานิยม และการส่งสัญญาณผิดๆ ที่ว่า "ประชาชนมีหน้าที่เลือกตั้ง และนายกฯ จะหาเงินมาให้ใช้" ประเทศไทยเลยได้มีประวัติศาสตร์ความแตกแยกในระบอบประชาธิปไตย ระหว่างคนรัก "ประชาธิปไตยแบบทักษิณ" กับคนเกลียด "เผด็จการในคราบประชาธิปไตย"  


 


คำถามในช่วงเวลานี้ นอกจาก เรื่องล้างบางนักการเมืองขี้โกง, ตั้งนายกฯ และรัฐบาลรักษาการ, ฟื้นความเชื่อมั่นของต่างประเทศ, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฯลฯ แล้ว ผมคิดว่า เราควรจะทบทวนนิยามของคำว่า "ประชาธิปไตย" กันเสียใหม่ ถ้าคิดว่าเราจะยังต้องใช้มันเป็นระบอบการปกครองประเทศต่อไป หลังจากข้อบกพร่องในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ควรแก้ไขได้ถูกชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน และหลังจากระบอบทักษิณได้เปลี่ยนแปลงมันด้วยวาทกรรมหลายครั้งหลายหน จนมันจำตัวเองไม่ได้เสียแล้ว อย่างน้อยที่สุด ภายใต้สถานการณ์ความสับสนนี้ ประชาชนก็ควรจะได้รับการชี้แนะที่ถูกต้อง ว่าอะไรคือ "ประชาธิปไตย" อะไรคือ "เผด็จการ" หลังจากที่ถูกชี้นำแบบผิดๆ ผ่านรายการวิทยุของท่านผู้นำมานานหลายปี


 


คิดๆ ดูแล้วก็น่าแปลกนะครับ ที่ผู้นำซึ่งมาจากระบอบประชาธิปไตยกลับนำประเทศไปสู่ระบอบเผด็จการ ขณะที่ผู้นำเผด็จการทหารกลับพยายามจะนำประชาธิปไตยกลับคืนมา


 


ปิดท้ายด้วยขำ-ขำ จาก "มหรรณพ โฉมเฉลา" นักเขียนผู้พำนัก ณ เชิงดอยหลวงเชียงดาว แต่ไปเป็นเขยอำเภอแม่อาย เล่าให้ฟังว่า


 


เมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติขึ้น มีชาวบ้านบางคนที่อำเภอแม่อาย สารภาพว่า รู้สึกอายฝรั่งนักท่องเที่ยวมาก คุณมหรรณพ ถามว่า ทำไมต้องอายด้วย?


 


ชาวบ้านบอกว่า "อาย - รถถังมันเก่า"