Skip to main content

ศิลปะของภาพ : วันวาร...ราวรถถังสถาพร

คอลัมน์/ชุมชน

โดย อรรคพล สาตุ้ม


 



                                                  



ขบวนพันธมิตรกำลังเตรียมเคลื่อนไหวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 



 



กองทัพพร้อมรถถังในกรุงเทพฯ แน่นอนภาพต่อไปจะเป็นภาพในเชียงใหม่บ้านของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร  (ที่มา: ประชาไท ‘โอรสสวรรค์’ กับ พวกเราชาว ‘กบ’)


 



 


ผู้เขียนยืนอยู่ใกล้รถสายพานลำเลียงพล หน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ใกล้สถานทูตอเมริกัน เจดีย์กิ่ว และตรงข้ามแม่น้ำปิง "มิมีเสียงดัง ฤาปรารถนาดังแบบใด"  ระหว่างออกถ่ายภาพเพื่อทำข่าวลงหนังสือพิมพ์นั้น ข้าพเจ้าพบเจอรุ่นพี่ คนรู้จักและไม่รู้จัก คนขอถ่ายรูปกับทหาร เด็ก ผู้ใหญ่ และคนญี่ปุ่นให้ข้าพเจ้าถ่ายรูปให้โดยสองคนทำท่าอ้าปากถือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษยืนชูไว้ห่างรถดังกล่าว และข้าพเจ้าคงไม่ยืนเป็นนายแบบสำหรับถ่ายรูปทำท่าเข้าไปอ้าปากจ่อปืนเล่นๆ


(ที่มา: วิทยากร บุญเรือง)


 


ทำไมต้องวันวารราวรถถังสถาพร?


 


คำตอบ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ หรือในวันวาร[1] และวันวานจากอดีตของวันสถาปนาชื่อของประเทศไทย ที่มีการกล่าวถึงจากชื่อสยามเป็นไทย และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข


           


อนึ่ง ช่วง 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครอง วันวาน จนกระทั่งปัจจุบันเหมือนเรากลับเห็นรถถัง อีกครั้งที่เคยอ่านเรื่องราวในหนังสือแบบเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์  กลายเป็นความคุ้นชินหรือไม่ กรณีรถถัง[2] เป็นวัตถุย่อมเปลี่ยนแปลงตามคนซ่อม หรือมีคนสร้างรูปแบบปรับปรุงตัวรถถังขึ้นมาใหม่ได้ แต่ว่าวัตถุย่อมมีวันเสื่อมสลายตามกาลเวลา และความคิดของคนย่อมปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ คือ รถถังเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และคนได้สร้างความหมายต่อรถถังด้วยเช่นกัน


 


ในขณะที่รถถัง ทหาร กับสถานการณ์ครั้งนี้เป็นมิตรเหมือนจะถาวรของประชาชน เนื่องจากความทรงจำทางประวัติศาสตร์อันหลงลืมได้ง่าย และความทรงจำก็บิดเบือนได้ง่าย จึงกลายเป็นว่ารถถังเป็นสิ่งที่ถูกสร้างความหมายให้แก่เราได้ผ่านความคิดไปยังรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไป


 


และรถถังก็สถาพร มีความหมายว่า ยืนยง กับเราทางความคิดตลอดเวลา และตอกย้ำสม่ำเสมอ จริงหรือไม่  ผู้เขียนครุ่นคิดว่า เราลืมกับจำ สลับกันไป-มา และไม่ต้องถามว่าอะไรคือประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำในวันนี้ เราเลือกที่จะจำอีกครั้งด้วยความประทับใจ และรูปภาพ ที่บันทึกความทรงจำของเราเอาไว้สนุกสนานได้ แต่ว่าการมีมุมมองอย่างเดียวที่เห็นว่าทหารการกระทำครั้งนี้ไม่มีพลังความรุนแรงอะไรเลย มันไม่ใช่เพียงเท่านั้น


 


สมมุติว่า เมื่อปากกระบอกปืนกลลั่น คราใด ย่อมต้องมีเลือด โศกนาฏกรรม และมีคนใช้ปากกาบรรจงสร้างสรรค์ บันทึก เขียนประวัติศาสตร์ และเราคิดว่านี้เป็นจุดเปลี่ยนของการเขียนเรื่องรถถัง ทหาร ซึ่งไม่มีโศกนาฏกรรมแล้วหรือไม่ เราต้องถามตัวเอง


 



 



ประเทศไทยรวมมาเนื้อชาติเชื้อไทย….โปรดนึกถึงเพลงชาติขับกล่อมบรรเลงราวธงไตรรงค์โบกไสว และรูปอีกมุมมองหนึ่งจะเห็นรถอะไรเอ่ยสำหรับการก่อสร้างอาคาร  รวมทั้งโปรดสังเกตรายละเอียดอื่นๆ หากอยากอ่านสัญญะเพิ่มเติมชวนตีความตั้งคำถามให้ปวดหัวเล่นๆ


(ที่มา:อรรคพล สาตุ้ม)


 


อย่างไรก็ตาม เราเชื่อหรือไม่ว่าเชื้อแห่งความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ด้วยข้อจำกัดของมุมมองคนเรา มันได้ซ่อนอยู่นอกจากในแบบเรียนแล้ว รูปภาพของ ณ ช่วงเวลาขณะนี้ และเหตุที่สำคัญคือศิลปกรรมในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภาพปูนปั้นหลัก 6 ประการของคณะราษฎร หลักเอกราชและความสงบภายใน[3]ประกอบด้วยทหารถือปืนและรถถัง  เมื่ออนุสาวรีย์เป็นการเมืองเชิงสัญลักษณ์[4] รูปธรรมกับนามธรรม มีนัยยะแห่งความทรงจำกับเรา เหมือนวลีฉันคิดฉันจึงมีอยู่ ไม่เพียงเรื่องของประสบการณ์อันจับต้องได้เท่านั้น แต่มันมีเรื่องความจริงภายในตัวเอง ที่ต้องนิยามความหมายของการคิดต่อการมีอยู่ในชีวิตของเราเพื่อความยืนยง หรือยั่งยืน


 


กระนั้นประชาธิปไตยจะยั่งยืนได้รูปแบบใด ซึ่งจากรูปภาพข้างบนเราเห็นภาพผู้ชายคนหนึ่ง ใส่เสื้อขาว แม้ว่าจะใส่เสื้อขาวดูประหนึ่งผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่เจือสีดำอันเป็นตัวแทนแห่งความชั่วร้าย (คู่ตรงข้ามกัน) และ สวมหมวกขาวก็ตาม ภายใต้ร่างกายที่ถูกบงการโดยอำนาจอันซ่อนเร้นยังคงต้องแอบซ่อนรักนัยยะความเป็นทหาร แต่ความผูกพันลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ฝังในใจ จากเครือข่ายของกองทัพ ที่มีตำแหน่งแห่งที่ตามจังหวัดใหญ่ และตั้งแต่งานวันเด็กแล้ว กองทัพในส่วนพื้นที่สำคัญต่างๆของจังหวัด ที่มีค่ายทหารได้ส่งเสริมให้ความรักชาติไทย และความเป็นไทย ความเป็นชายชาติทหาร  น่ารักกลมกลืน ตื่นเต้น เมื่อมีการแสดงรถถัง เครื่องบิน ต่างๆ


 


ซึ่งผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในงานวันเด็กมีรูปภาพตอนเป็นเด็กใส่เสื้อยืดขาวเทา กางเกงลายทหารกับนั่งทำท่ายิงปืนกลบนเฮลิคอปเตอร์ ดังกล่าวนั่นคือภาพแสดงแทนพลังของจินตนาการแสนยานุภาพ ผูกพันแนบแน่นกองทัพไทย กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย แต่รัฐชาติได้ผนึกสำนึกความมั่นคงนี้ไว้ กลายร่างมาเป็นพรมแดนของตัวตนเราด้วย ถ้ามีวันเด็กเราจะรู้สึกได้ในพื้นที่ความทรงจำ และการโหยหาอดีตภาพประทับใจ เหมือนเพลงชาติในตอนเคารพธงชาติที่โรงเรียน


 


สุดท้ายแล้ว ทุกคนดูเหมือนว่าจะมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยภาพถ่ายที่ทุกคนเข้าไปใกล้ถ่ายรูปกับรถถัง ทหาร จากที่กล่าวมา แต่แน่นอนว่าไม่มีรูปภาพจากหนังสือพิมพ์ใด ซึ่งเป็นตัวแทนสถานการณ์ความเป็นจริงหรือจะเห็นว่าประชาชนได้ขึ้นไปนั่งยืนจับปืนบนรถถัง มีเพียงแค่ทหารถือปืนเท่านั้นดุจดั่งผู้มีอำนาจสถาพร….


 






[1] ผู้เขียนในฐานะอดีตนักศึกษาวิชาทหาร ขอชี้แจ้ง ดังต่อไปนี้ การใช้คำว่า วันวาน แทนวันวาร เพื่อกร่อนหรือกลายรูปคำเดิม แต่คำพ้องเสียงเดิมเพื่อล้อเลียนกับภาษาไทย และได้แรงบันดาลใจชื่อวันวาร จากนวนิยายเล่มสุดท้ายที่ยังเขียนไม่จบของสุวรรณี สุคนธา



 


[2] ดู รูปประกอบของรถสายพานลำเลียงพล เพิ่มเติม "จากสุนทรียขัดขืนถึงสุนทรียเช็คบิล" ใน พลเมืองเหนือ ประจำวันที่ 25 ..- 1 .. 2549 หน้า 10-11ส่วนรูปประกอบของผู้เขียน ณ ที่นี้ใช้คำว่า รถถังเพื่อบิดเบือนความจริง


 



[3] ดู เครก เจ. เรย์โนลดย์. วารุณี โอสถารมย์ แปล ปูชนียแห่งอัตลักษณ์ ในฐานะแหล่งชุมนุมประท้วง: เปรียบเทียบพม่ากับไทย จุลสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 18.4..-.. 2543 : 11 และเครก เจ.เรย์โนลดย์ ได้กล่าวถึงงานของมาลินี คุ้มสุภา กับธงชัย วินิจฉะกูล เรื่องเกี่ยวข้องกับการอ่านใหม่อนุสาวรีย์ และความทรงจำอันเป็นเรื่องที่ความจริงแท้ การอภิปรายโต้แย้งต้องตีความใหม่เสมอ และดูเพิ่มเติม อ่านความคิด ‘มาลินี คุ้มสุภา’ กับงานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รางวัล : ‘’รางวัลชูเกียรติ อุทกพันธ์’


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4137&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


 



[4] ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ :สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย ในชาติไทย,เมืองไทย,แบบเรียนและอนุสาวรีย์-ว่าด้วยวัฒนธรรม,รัฐ และรูปการจิตสำนึก มติชน,กรุงเทพฯ 2538: 119