Skip to main content

ลบความจำเกี่ยวกับโครงการ 30 บาท

คอลัมน์/ชุมชน

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการ 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค ก็เป็นเพียงแค่ความพยายามอาบน้ำแต่งตัวให้ดูดีขึ้นเท่านั้น แต่ก็ยังติดยึดอยู่กับความเป็นโครงการ ซึ่งหมายถึงเป็นโครงการเฉพาะหน้าของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเท่านั้น อันเป็นผลให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่ประชาชนว่าโครงการนี้จะล้มหายตายจากไปพร้อมกับรัฐบาลที่สูญสิ้นอำนาจลงไป 


 


ทั้งที่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  สิ่งที่เป็นจริงกว่านั้นมากคือนี่ไม่ใช่โครงการเฉพาะหน้าของรัฐบาลแต่เป็นประชามติของประชาชนที่ต้องการหลักประกันสุขภาพเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งสถานะที่เปลี่ยนไปจากความเป็นโครงการฯ เริ่มเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 นั่นคือไม่ใช่โครงการอีกต่อไปแต่เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในเรื่องสุขภาพ  มีเจตนารมย์เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคน โดยใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาเมื่อเจ็บป่วย รวมถึงการฟื้นฟูสุขภาพจากการเจ็บป่วย ด้วยค่าธรรมเนียมครั้งละ 30 บาท สถานะความเป็นโครงการ มีอายุเพียงไม่ถึงปีใน พ.ศ. 2544  ต่อปี 2545


 


สิ่งที่ต้องลบทิ้งไปจากความจำของประชาชนคือ ไม่ใช่โครงการ 30 บาทแต่เป็นสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับประชาชนทุกคน เป็นระบบหลักประกันด้านสุขภาพถ้วยหน้า  ที่ทุกคนได้รับการส่งเสริมดูแลสุขภาพ และได้รับการรักษาอย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพเมื่อเจ็บป่วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสำนึกว่านี่เป็นสิทธิของประชาชนไทย


 


รัฐบาลใหม่ต้องทำหน้าที่สนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพนี้ต่อไปให้ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มเม็ดเงินงบประมาณให้เหมาะสมต่อการให้บริการอย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพ  ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ส่งเสริมความรู้สึกเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะประชาชนผู้รับบริการ และบุคลากรสาธารณสุขผู้ให้บริการ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่มีสิทธิในระบบประกันสังคม เพราะระบบหลักประกันสุขภาพคือระบบสำหรับพ่อแม่ ลูก สามี ภรรยา ของตนเองที่ไม่มีสิทธิในประกันสังคม


 


เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงและลบความทรงจำเดิมๆ สิ่งที่ต้องทำเพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชนคือ  1)  ต้องยกเลิกการใช้บัตรสีเหลือง ที่มีลายเซ็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพราะทำให้เข้าใจว่าเป็นผลงานของรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นนโยบายพื้นฐานของรัฐ   2) การใช้บัตรประชาชน แบบเดิมและแบบสมาร์ทการ์ด  เพียงบัตรเดียวก็เข้ารับบริการได้   3)  การจัดทำงบประมาณเฉพาะเรื่องหลักประกันสุขภาพ  โดยมีการระบุชัดเจนว่างบประมาณจะมาจากส่วนใดบ้าง เช่น จากภาษีเหล้า บุหรี่  ภาษีการนำเข้าสารเคมี  เป็นต้น  


 


4) ยืนยันว่าบริการได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ไม่มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในการใช้ยาเหมือนกับระบบข้าราชการ มีการใช้บัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นมาตรฐานการรักษา ซึ่งเป็นบัญชีที่มีความทันสมัย มีคุณภาพ มีการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชา 5)  ยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิ และมีการขยายบริการครอบคลุมผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้บำบัดยาเสพติด กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มไม่มีบัตรประชาชนซึ่งเป็นคนไทยเพียงแต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สถานะภาพโดยมหาดไทยหรือหน่วยงานความมั่นคง แต่คนเหล่านี้ควรได้รับบริการ  โดยยืนยันให้มีการตั้งกองทุนเฉพาะกิจเพื่อดูแลคนเหล่านี้ แล้วเร่งรัดให้เขาได้รับสถานะภาพโดยเร็ว


 


รวมถึงการสร้างความเข้าใจประชาชนเรื่องความพยายามที่จะลดช่องว่างในระบบหลักประกันสุขภาพของ ข้าราชการและแรงงานในระบบประกันสังคมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องการตั้งงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ข้าราชการและคนในประกันสังคมต้องมาใช้งบของระบบหลักประกันสุขภาพ โดยให้โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการให้บริการเรื่องส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับทุกคนรวมข้าราชการและคนงานในประกันสังคม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค เพื่อให้เป็นการสร้างสุขภาพมากกว่าการซ่อมสุขภาพ


 


ขณะเดียวกันข้าราชการและคนงานในประกันสังคมก็ต้องมีน้ำใจต่อเพื่อนพี่น้องประชาชนด้วยกันเอง ไม่ใช่เรียกร้องให้ตนเองได้บริการที่สะดวกสบายมากกว่า โดยไม่ยอมร่วมจ่ายค่าใช้จ่ายร่วมกัน เช่น ค่าเงินเดือนบุคลากรของโรงพยาบาล การเรียกร้องใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งหลายครั้งเป็นการใช้ยาเกินจำเป็น การละเลยที่จะร่วมเรียกร้องให้ระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอุบัติเหตุจากรถทุกประเภทมีความง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่เรียกร้องเอกสารเกินจำเป็น เพื่อให้เงินเบี้ยประกันที่ประชาชนผู้ใช้รถจ่ายให้บริษัทประกันภัยไปล่วงหน้าในแต่ละปีแล้วนั้นได้ใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการมาใช้เงินในระบบหลักประกันสุขภาพเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพียงเพราะมันยุ่งยากเกินไปเลยขอรักษาโดยใช้ระบบหลักประกันสุขภาพหรือยอมควักกระเป๋าตนเอง 


 


เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสวัสดิการของทุกคนอย่างแท้จริง ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นเจ้าของระบบ ไม่ใช่เอาแต่ตั้งแง่  ตั้งคำถาม หรือจ้องคอยจะล้มระบบ  อันแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีประชาธิปไตยที่จะทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันแม้แต่ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีคุณภาพชีวิต


 


คงต้องมาช่วยกันลบความจำเดิมๆ แล้วร่วมมือร่วมใจที่จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากันต่อไป เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่เย็นเป็นสุขเสมอไป