Skip to main content

คารวะน้าหงา – คอนเสิร์ต สายน้ำสามัญชน

คอลัมน์/ชุมชน


โปสเตอร์ คอนเสิร์ตสายน้ำ สามัญชน หงา คาราวาน โดดเด่นสะดุดตาที่หน้าหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีงานสัมมนาวิชาการ ๓๐ ปี ทองปาน : คน  เขื่อน น้ำ และดินกับโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ แล้วปิดท้ายด้วยคอนเสิร์ตของ น้าหงา ที่หอประชุมใหญ่เวลา ๑ ทุ่ม เพื่อระดมทุนให้กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ นำไปมอบแก่เด็กๆ ผู้ด้อยโอกาสในภาคอีสาน


 


สี่ชั่วโมงครึ่งที่ตรึงผู้ชมอยู่ในห้องประชุม ด้วยความอิ่มเอมใจในบทเพลงและดนตรีอันงดงาม ที่กระตุ้นจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ความเข้าใจในความทุกข์ของคนชายขอบในแดนดินอีสาน บนภูเขาสูงทางเหนือของไทย ๓ จังหวัดภาคใต้ และในลุ่มน้ำโขง สาละวิน ถิ่นอินโดจีน


 



 


น้าหงาได้เชิญ คุณสุนทรี เวชานนท์ กับปี่จุม สะล้อ ซอซึง ของภาคเหนือ มาแสดงเบิกโรงก่อน คุณสุนทรี คือศิลปินล้านนา ผู้ยืนเคียงข้างการต่อสู้ของประชาชนตลอดมา ตั้งแต่เรื่องคัดค้านกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยหลวง เธอมาในซิ่นและเสื้อแบบล้านนา เกล้ามวยมุ่นผม งามสง่าและอ่อนหวาน เธอเป็นศิลปินหญิงที่อู้กำเมืองได้ไพเราะ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน เสียงเพลงและบทสนทนาของเธอที่เล่าประสบการณ์การต่อสู้อย่างองอาจกล้าหาญ เรียกเสียงปรบมือยาวนานจากผู้ชมเมื่อเธอกล่าวอำลา ก่อนเชิญน้าหงามาปรากฏตัว


 


ใบหน้ายิ้มแย้มอย่างคนมีศานติในเรือนใจ ตลอดเวลาที่อยู่บนเวที กับกระแสเสียงอันไพเราะทรงพลัง แสดงถึงการเตรียมตัวอย่างดีของน้าหงา แสดงถึงการรักษาสุขภาพ ทั้งใจและกาย ทำให้คงคุณภาพเสียงได้ดีไม่มีตก รวมทั้งการวางแผนเชิญศิลปินรุ่นเพื่อน พี่ น้อง หลาน ผู้เชี่ยวชาญดนตรีด้านต่าง ๆ มาร่วมแสดงในช่วงเวลาที่เหมาะสม  คือความรับผิดชอบ คือความก้าวไกลอย่างไม่หยุดนิ่ง คือความเคารพต่อศรัทธาของแฟนเพลง และเจ้าภาพ ที่สังคมควรยกย่อง เชิดชู ว่าน้าหงา สุรชัย จันทิมาธร คือ ครูต้นแบบของเพลงเพื่อชีวิตผู้ไม่เคยเปลี่ยนอุดมการณ์ ไม่ว่าสังคมจะผันแปรไปอย่างไร


 



 


คอนเสิร์ตของน้าหงา ครั้งนี้ มี ๓ ภาค ๓ อารมณ์ ภาคแรก เปิดด้วยน้าหงากับน้าหว่อง (มงคล  อุทก) เพื่อนคู่ใจในแบบฉบับที่เรียบง่าย ดิฉันฟังด้วยความปลื้มปีติจนลืมบันทึก จำได้ว่า เพลงประทับใจที่สุด คือ เพลงจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ปลุกคุณค่าชีวิตของจิตรสู่ใจของทุกคนในห้องประชุม เพลงคนกับควาย ร้องในแนวใหม่ ปิดท้ายด้วยน้าหว่องร้องเพลงเดี่ยว ๒ -๓ เพลง อย่างจับใจ


 



 


ภาคที่ ๒ เป็นอารมณ์เพลงที่สวยงาม อ่อนหวาน โดยฝีมือศิลปินรุ่นใหม่ รุ่นหลานของน้าหงา คือ น้องปิ๊กกับน้องเปรียว  ลูกของอี๊ดแห่งวงฟุตบาธเล่นไวโอลิน เซลโล่ เป่าปิ๊กกะโล่ กับน้องขวัญเล่นเปียโน และอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป่าแซกโซโฟน โดยมีลีลาใหม่ คือ เดินลงมาโชว์การเป่าแซกอย่างใกล้ชิดกับผู้ฟังในหอประชุมใหญ่ ซึ่งพากันถ่ายรูปอย่างชื่นชม  จนน้าหงาแซวว่า รู้อย่างนี้ผมฝึกเป่าแซกก็ดี จะได้เดินไปไหนก็ได้ ไม่ต้องตรึงอยู่แต่บนเวที แล้วเชิญอาจารย์กลับขึ้นเวที


 


ภาพที่โชว์ขึ้นจอ แสดงถึงความเข้าถึงอารมณ์เพลงของนักดนตรีทุกคน ทั้งน้องขวัญผู้บรรจงเล่นเปียโน น้องปิ๊ก น้องเปรียว อาจารย์ธนิสร์ รวมทั้งน้าหงา ชนิดที่ดูตามแทบไม่ทัน


 


เพลงโปรดในช่วงสอง คือ เพลงยิ้มกลางสายฝน กับดอกไม้ให้คุณ นอกนั้นก็ไพเราะตรึงใจทุกเพลง น้า หงาบอกว่าซ้อมกันหนักมาก กว่าจะได้เป็นความงดงามอย่างนี้


 



 


หมอแคนอีสาน ที่น้าหงาเชิญมาด้วยความเคารพเป็นพิเศษ คือ อาจารย์สมบัติ สิมหล้า แม้ดวงตามองไม่เห็น แต่อาจารย์ได้แสดงความเป็นเลิศทางฝีมือเป่าแคน เริ่มด้วยเดี่ยวแคน"ลายน้อย" "ลายใหญ่" เป่าแคนเลียนเสียงรถไฟออกจากสถานี เป่าแคนเลียนเสียงกีตาร์ แสดงถึงภูมิปัญญาแห่งแดนดินอีสาน ที่มีสุนทรียภาพทางดนตรี โดยมีจังหวะที่คึกคัก สนุกสนาน ชวนให้ใจเบิกบาน จนมีผู้ชมขอขึ้นไปมอบของขวัญให้อาจารย์สมบัติด้วยความชื่นชมเป็นพิเศษ


 


ภาคที่ ๓ เป็นวงใหญ่เต็มเวที ผสมผสานดนตรีพื้นบ้าน แคน โปงลาง กลอง ฉิ่ง กับดนตรีสมัยใหม่คือกีตาร์โปร่ง กีตาร์ไฟฟ้า กลองชุด  มีน้องกันตรึม ลูกชายน้องน้าหงามาร่วม "เกากีตาร์" ด้วย รวมนักดนตรีกับน้าหงา เป็น ๑๒ คนพอดี


 


เพลงชุดในช่วงที่ ๓ หลายเพลงน้าหงาเพิ่งแต่งขึ้นมาใหม่ เพิ่งร้องที่เวทีนี้เป็นครั้งแรก เช่น เพลง แม่นางรัฐฉาน เพลงคนในหมอก เพื่อชาวดอยไตแลงที่แม่ฮ่องสอน เล่าเรื่องความยากแค้นของชาวรัฐฉานทั้งชายหญิง ที่ถูกข่มเหงโดยฝ่ายเผด็จการ จนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และป่าวร้องให้ชาวโลกได้รับรู้ เพลงอินโดจีน ที่พูดถึงชีวิตของผู้คนหลากหลายในลุ่มน้ำโขง เพลงอังกอร์วัด อังกอร์ธม ที่สร้างด้วยพระเจ้าชัยวรมัน เป็นแหล่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ เชื่อมกับประสาทหินพิมาย เพลงเพื่อปลูกต้นมิตรภาพ ภราดรภาพ และสันติภาพ เพื่อพี่น้องภาคใต้


 


ทุกเพลงแสดงถึงความทุกข์ยากของคนชายขอบในสังคม ความกล้าหาญที่จะต่อสู้ด้วยสันติวิธี ด้วยความหวัง ด้วยพลังที่จะร่วมมือ ร่วมใจกัน อย่างไม่ย่อท้อ แม้กระทั่งเพลงที่เรียกร้องให้อเมริกาหยุดสงคราม "Stop the war"


 


เพลงปณิธาน ย้ำว่า "ก็คือชีวิต คือการพึ่งพา เวลาของความเข้าใจ..ก็คือความรัก คือความผูกพัน คือการให้กันอยู่เสมอ ดั่งคืนและวัน ดั่งฉันและเธอ..รักกัน" แสดงถึงน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ ไม่ให้ชีวิตแห้งแล้ง เหี่ยวเฉา


 


น้าหงาบอกแฟนเพลงว่า ได้ร่วมต่อสู้ทางการเมืองมานาน ที่ไหนมีการต่อสู้ เพื่อปกป้องจากความ อยุติธรรม ที่นั่นจะมีน้าหงา ไม่ว่าจะเป็นเวทีพันธมิตร หรือเวทีอื่นๆ (เช่น เวทีบ่อนอก บ้านกรูด เวทีเขื่อนปากมูน เวทีท่อก๊าซไทย มาเลเซีย เวทีสันติภาพ เพื่ออิรัก เพื่อโลก ฯลฯ) แต่น้าหงาก็ต้องทำสัมมาอาชีพเลี้ยงตน แต่งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง โดย "รู้จักพอ อย่าเอาเปรียบกัน ช่วยกันพยุงโลกใบนี้ไว้"


 


"ผมเล่นหลายแบบ บางทีก็ไปทางลูกทุ่ง เพื่อให้อายุของเพลงเพื่อชีวิตอยู่ได้ยาวนาน ตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมา จะให้เหมือนเดิมคงไม่ได้"


 


"ผมรักเมืองไทย อยากอยู่เมืองไทย ได้ไปเล่นเพลงที่ประเทศไหนๆ ทั้ง ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เห็นบ้านเมืองเขาก็ดี มีสิ่งทันสมัย แต่ยังไงผมก็คิดถึงบ้าน"


 


คือจุดยืนที่ชัดเจนของน้าหงา ขอคารวะในความแน่วแน่ของอุดมการณ์ชีวิตที่ไม่ผันแปรตามกระแสสังคม


 


บทเพลงสุดท้าย คือ เพลงระบัดใบ ที่น้าหงาเน้นให้เห็นสัจธรรมชีวิต ว่าโลกต้องมีการผลิใบใหม่ ความคิดใหม่ ของคนรุ่นใหม่ ที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของคนรุ่นเก่า งานเลิกเวลาห้าทุ่มครึ่ง อย่างจุใจผู้ชม


 


ขอคารวะ ดร.ชาญวิทย์  เกษตรศิริ นักบริหาร นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ผู้รังสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ผลงานของมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองทุนจิตร  ภูมิศักดิ์ ก่อให้เกิดสติปัญญาและความสมานฉันท์ในประเทศและในภูมิภาคเสมอ


 


อยากเห็นบันทึกการแสดงคอนเสิร์ต สายน้ำ สามัญชน หงา คาราวาน ได้เผยแพร่ในรูป CD และ DVD โดยเร็ว ดิฉันคิดว่าแฟนเพลงของน้าหงา น้าหว่อง และคุณสุนทรี กำลังรอคอยอยู่ค่ะ


 


สุดท้ายขอชื่นชมผู้ออกแบบโปสเตอร์/บัตร/เสื้อ คือ คุณเทวัญ จารุรัตนาภรณ์ผู้สนับสนุนงานพิมพ์คือบริษัทแปลนพริ้นติ้ง จำกัด และผู้ออกแบบฉาก วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร ที่ทำให้เวที โปสเตอร์ บัตร และเสื้อ งดงาม มีคุณค่าควรแก่การเก็บไว้เป็นที่ระลึก ดิฉันยังเก็บโปสเตอร์มาไว้อวดชาวเชียงรายเลยค่ะ


 


ปล. ขออภัยท่านผู้อ่านที่ยังไม่ได้เขียนเรื่องการประชุม Biodiversity in European Development Cooperation เนื่องจากต้องใช้เวลาแปลภาษาอังกฤษและเรียบเรียงให้อ่านง่าย ขอเวลาอีกช่วงนะคะ


 


หมายเหตุ ขอขอบคุณกลุ่มดินสอสีที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ