Skip to main content

"ถึงโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ฉันก็ (อยากจะ) เหมือนเดิม"

คอลัมน์/ชุมชน














































































































ฤดูฝนทำให้ธรรมชาติรอบตัวเป็นสีเขียวชอุ่ม อากาศเย็นชุ่มฉ่ำ ดิฉันอยากเห็นคนทั้งโลกรักสีเขียวของธรรมชาติ ซึ่งแต่งแต้มด้วยสีอื่น ๆ ตามฤดูกาล เช่น ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูเข้าพรรษา ไม้ในป่ามักจะออกดอกโทนสีเหลือง* เช่น ดอกสัก ดอกจำปา
 
สีเขียวของป่าและพืชพรรณต่าง ๆ แสดงถึงการพึ่งพิงอิงอาศัยกันและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว ดังที่พืชนานาชนิดในป่าล้วนแบ่งปันแสงแดด และอาหารจากแผ่นดินอย่างเหมาะสม จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
 





ป่าสีเขียวให้แหล่งที่อยู่อาศัยแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ ซึ่งสร้างอารยธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต อย่างสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติรอบตัว
 
สามสิบปีที่ดิฉันได้ใช้ชีวิตผูกพันกับพี่น้อง "ชาวเขา" บนดอยสูงทางภาคเหนือ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งรับอิทธิพลของโลกทุนนิยม บริโภคนิยมและโลกาภิวัตน์ ทำให้วิถีชีวิตที่คนเคารพธรรมชาติอยู่อย่างพอเพียง สมดุล เปลี่ยนไปเป็นต้องการความทันสมัย สะดวกสบาย มั่งคั่ง ตามแบบฉบับชาวกรุงผู้ศิวิไลซ์ ดั่งที่ได้เห็นจากผู้คนภายนอก จอทีวี ที่เข้ามาสู่หมู่บ้านพร้อมกับถนน สายไฟฟ้า จานดาวเทียม อันเป็นสัญลักษณ์ของ "การพัฒนา"


















พิธีโล้ชิงช้าของชาวอาข่าบ้านแม่เต๋อ หมู่ที่ 10 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งดิฉันได้ไปร่วมงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม 2547 พร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้ไปเยี่ยมบ้านของสมาชิก อบต. ชื่อนาย อาโซ อาช่า ซึ่งเป็นบ้านแบบดั้งเดิมของชาวอาข่า เห็นความปรับตัวระหว่างของเก่ากับของใหม่ ที่ต้องการความรู้เท่าทันด้วยปัญญา
 
ภายในบ้านอาข่าแบ่งพื้นที่เป็นสองห้อง เมื่อขึ้นบันไดมาจะเป็นชานบ้าน สำหรับตากพันธุ์พืช ตากเสื้อผ้า นั่งทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ
 
ผ่านประตูเข้ามาถึงห้องแรก เป็นห้องของฝ่ายชาย ซึ่งใช้เป็นส่วนที่รับแขก คือ ญาติและเพื่อนบ้านที่มาเยี่ยมเยือน
เมื่อการพัฒนาแบบใหม่เข้ามาเยือน ห้องนี้ก็มีทีวี ตู้เย็น ตั้งไว้ มีเด็กหญิงชายวัย 5-6 ขวบ นั่งดูการ์ตูนอย่างสนใจ
 
ห้องด้านในเป็นห้องของฝ่ายหญิงมีไหนึ่งข้าวที่ทำด้วยไม้ วางไว้บนชั้นวางของริมฝาบ้าน มีกระบุงตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่ สำหรับใช้ใส่พืชผล ซึ่งวันนี้มีกล้วย เมล็ดทานตะวัน และแตงกวาดอยลูกโตที่เก็บมาจากไร่ กลางห้องคือที่ตั้งของเตาหุงต้มที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง
 
ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.ชาย 2 คน เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และดิฉันนั่งคุยกันรอบกองไฟ ประเด็นสำคัญคือ เรื่องการบริหารงานของ อบต. ซึ่งสมาชิก อบต.ควรมีส่วนร่วมในการเสนอแผนงาน งบประมาณ เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ประเพณี ไม่ควรใช้เป็นงบบริหารทั่วไป หรืองบโยธามากเกินควร
 
เรื่องที่สองคือสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยคนในหมู่บ้านจัดได้เป็นสามกลุ่ม คือผู้ที่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว กลุ่มที่สองผู้ที่ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ และกลุ่มที่สามคือ บุตรของบุคคลที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทย และต้องขอสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535)
 
สองกลุ่มหลังต้องได้รับอนุมัติสถานะโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอำเภอพิจารณาคำร้องเป็นเบื้องต้น แล้วส่งเรื่องมายังจังหวัดเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานแล้วส่งต่อให้กรมการปกครองตรวจสอบขั้นสุดท้าย จากนั้นเสนอรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา 5–6 ปี ขึ้นอยู่กับว่า ตัวแทนชุมชนติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดแค่ไหน เอกสารถูกต้องเพียงใด ถ้าตัวแทนมีความรู้เรื่อง พ.ร.บ.สัญชาติและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีการรวมกลุ่มทำงานเป็นเครือข่าย มีนักวิชาการคอยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน และมีสื่อช่วยประโคมข่าวให้สังคมได้รับรู้อย่างเป็นกระแส เช่นกรณีนายยุทธนา ฟามวัน ที่สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ แต่ยังไม่ได้สัญชาติ เรื่องก็ถึง มท.1 อย่างรวดเร็ว จนสำเร็จได้ในเวลาแค่ 1-2 สัปดาห์
 
กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องเป็นเจ้าของเรื่อง โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความรู้จริงเรื่องกฎหมายสัญชาติ และทำงานร่วมกับกรมการปกครองอย่างต่อเนื่องเป็นฝ่ายสนับสนุนอย่างแข็งขัน
 
คุยกันเสร็จแล้วผู้ใหญ่บ้านพามาร่วมพิธีที่บ้าน "อะบอหยุมา" คือ ผู้นำศาสนาของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบ้านที่สร้างด้วยวัสดุถาวร ผนังปูนซีเมนต์ พื้นปูน หลังคามุงกระเบื้อง แต่ภายในยังคงมีเครื่องบูชาตามจารีตประเพณีเดิมอย่างครบถ้วน ทั้ง "อาพีปอเหลาะ" (ซึ่งเปรียบเสมือนพระพุทธรูปบูชา) พร้อมเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษครบทุกอย่าง ส่วนบริเวณห้องครัวจัดข้าวของเครื่องใช้แบบดั้งเดิม ซึ่งดูอบอุ่น มีจิตวิญญาณแบบชาวอาข่า
 
วงทำพิธีของกลุ่มพ่อเฒ่า (อาบอชอหม่อ) กับกลุ่มแม่เฒ่า (อาพีชอหม่อ) นั่งแยกกันคนละห้องตามประเพณี
 
ความต่างที่เห็นชัด คือ กลุ่มแม่เฒ่าและหญิงแม่เรือนนั้น ยังคงดำรงรักษาอัตตาลักษณ์ ความเป็นตัวตนของหญิงอาข่าไว้อย่างเหนียวแน่น ดังหนึ่งจะประกาศให้โลกรู้ว่า "ถึงโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ฉันก็ (อยากจะ) เหมือนเดิม" ในขณะที่วงพ่อเฒ่าแต่งกายแบบคนพื้นราบทั่วไป
 
แม่หญิงอาข่ายังคงแต่งกายด้วยเสื้อผ้า หมวกที่ประดับเงินและดอกไม้หอม ที่งดงามด้วยความภาคภูมิใจ
 
มือของแม่หญิงยังคงเก็บรักษา คัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองชนิดต่าง ๆ ที่ปลูกในไร่ ในสวน และส่งผ่านสู่รุ่นลูกหลาน หากลูกหลานพร้อมจะรับ
 
วิธีคิดและจิตใจของแม่หญิงอาข่า ยังคงผูกพันกับธรรมชาติและจารีตประเพณีที่ปลูกฝังกันมาหลายชั่วคน
 
เมื่อลูกหลานป่วยไข้ แม่หญิงอาข่าจะไปหาสมุนไพรจากป่า จากรอบบ้านมารักษา พร้อมทำพิธีสู่ขวัญ ขอขมาถ้าได้ทำผิดล่วงเกินเจ้าป่า เจ้าเขา
 
แม่หญิงอาข่าห่วงว่า อนาคตของลูกหลานจะใช้ชีวิตอย่างไร หากยังต้องไล่ตามโลกยุคทุนนิยม วัตถุนิยม จนต้องละทิ้งจารีตประเพณีเดิม แล้วรับของใหม่เข้ามาแทน
 
ถนนทำให้การเดินทางไปสู่เมืองง่ายและรวดเร็ว พร้อมนำรถขายของที่พาอาหารและสินค้าจากตลาดมาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านลดการพึ่งพาตัวเอง ไม่ค่อยผลิตอาหารเอง เห็นว่าซื้อเขาง่ายกว่า ลูกหลานโดดเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่เร็วเกินไป บ้างก็ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ไกลถึงกรุงเทพฯ หาดใหญ่ ไต้หวัน
 
ถุงพลาสติก โฟม ขวด กระป๋องต่าง ๆ ถูกนำเข้ามาใช้แล้วทิ้ง กองสุมเป็นขยะที่เป็นพิษต่อแผ่นดิน ป่าต้นน้ำลำธาร แทนการใช้วัสดุธรรมชาติ เป็นภาชนะห่อหุ้ม ซึ่งเมื่อทิ้งแล้วก็ย่อยสลายเป็นดิน คืนสู่ธรรมชาติ
 
ยาฆ่าหญ้า สารเคมี จำกัดศัตรูพืชที่ถูกโหมกระหน่ำโฆษณา หาซื้อง่ายเหมือนขนมเด็ก เข้ามาพร้อมกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำให้ป่าหายไปเป็นแถบ ๆ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่เคยเป็นอาหาร เริ่มร่อยหรอลง
 
ประเพณีโล้ชิงช้าสมัยใหม่ในวันนี้ ลูกหลานไม่สวมใส่ชุดอาข่า แต่ใส่เสื้อผ้าที่หาซื้อได้ง่ายจากตลาด
 
เสียงร้องเพลง การเต้นรำประกอบจังหวะเสียงเคาะกระบอกไม้ไผ่ของเด็ก ๆ และคนหนุ่มสาว กลางลานบ้าน ในยามค่ำคืนที่มีแสงดาว แสงจันทร์ส่องสว่าง โดยมีผู้ใหญ่คอยสั่งสอนแนะนำ ถูกแทนด้วยการดูโทรทัศน์ การฟังเพลงจากคาราโอเกะหรือวิทยุ
 
ยุคสมัยใหม่เอ๋ย อยากมาพรากจิตวิญญาณบ้านป่าของชาวอาข่าจากลูกหลานข้าเร็วเกินไป ขอให้มีระยะเปลี่ยนผ่านของการปรับตัวอย่างมีปัญญา รู้เท่าทันที่เหมาะสม
 
การศึกษาภาคบังคับของรัฐ ขอให้จัดหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของผู้เฒ่าสู่ลูกหลาน ให้พวกเขาเติบโตอย่างมีรากเหง้าที่แข็งแรง แตกกิ่งแตกใบ ออกดอก ออกผลอย่างงดงาม เพื่อให้ผู้เฒ่าได้จากไป โดยนอนตายตาหลับ
 
แม้โลกเปลี่ยนไปแค่ไหน ทางด้านวัตถุและเทคโนโลยี แต่ในด้านจิตใจและปัญญา ก็ขอให้ชาวอาข่าและมนุษย์ทุกเชื้อชาติ จงรักษาความดี ความเมตตา และศานติสุขได้มากกว่าเดิมเทอญ
 
* ข้อมูลจากการสนทนากับ ดร . โกมล แพรกทอง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช ระหว่างเดินทางไปจังหวัดน่าน ของคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม 2547