Skip to main content

น้ำตาไหลกลางสายฝน ทุกข์ของคนจนที่ต้องสู้

คอลัมน์/ชุมชน















































































































เป็นเวลาเดือนครึ่งแล้ว ที่ชาวบ้านปางแดง หมู่ที่ ๙ ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ถูกชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ ๑๑ หน่วยงาน นำโดยสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๑๖ จำนวนราว ๒๐๐ นาย เข้าล้อมหมู่บ้าน และจับกุมชาวบ้าน ๔๘ คน เป็นชาย ๓๔ คน หญิง ๑๔ คน ในช่วงเช้าตรู่ เวลา ๐๕ . ๓๐ น . ของวันศุกร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ

 

ซึ่งตัวแทนชาวบ้านสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ เครือข่ายนักวิชาการ และสภาทนายความ ได้พยายามร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล แต่ยังไม่มีผลคืบหน้า

 


















ขณะนี้ญาติของผู้ที่ถูกจับซึ่งเป็นชาวลาหู่ ปะหล่อง และลีซู จึงพากันมาหลบภัย ( เพราะกลัวว่าจะถูกจับซ้ำซากอีก ) อยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ แม้จะเปียกปอนด้วยสายฝนที่ตกหนักแทบทุกวัน ก็ต้องอดทน

 

องค์กรพันธมิตร และเครือข่ายนักวิชาการได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง " สถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้นโยบายทักษิณ " ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ออกแถลงการณ์เรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและข้อเรียกร้อง ๔ ข้อ แล้วเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานที่กรุงเทพ ฯในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ได้แก่ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ผู้แทนองค์กรสหประชาชาติประจำประเทศไทย ตู้ร้องทุกข์ หน้าบ้านพิษณุโลก ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสภาทนายความแห่งประเทศไทย

 

เพียง ๓ เดือนของฤดูฝนปีนี้ คือเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม ๒๕๔๗ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้รับเรื่องร้องเรียน ว่ามีการละเมิด และคุกคาม การทำหน้าที่และสิทธิมนุษยชนของประชาชนขั้นรุนแรงถึง ๔ เรื่อง คือ









 
 

กรณีถูกสังหารชีวิต ๒ ราย ได้แก่ นายเจริญ วัดอักษร แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกยิงเมื่อคืนวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ ผู้ใหญ่สุพล ศิริจันทร์ แกนนำอนุรักษ์ป่า ถูกยิงเมื่อคืนวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๗

 

กรณีชาวปะหล่อง ๔๘ คน ถูกจับกุม โดยหน่วยเฉพาะกิจ สนธิกำลังของหน่วยงานทหาร ตำรวจ พลเรือน ราว ๒๐๐ นาย พร้อมอาวุธครบมือ ที่บ้านปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗

 

และ กรณีการอพยพชาวเขาบ้านห้วยวาด อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยขาดการเตรียมการรองรับที่ดี ทำให้เกิดความเดือดร้อน เพราะสถานที่ใหม่ไม่เหมาะ แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ไม่พอเพียง พื้นที่ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร ขาดการสนับสนุนการขนย้ายวัสดุสร้างบ้านจากที่เดิม จึงต้องสร้างบ้านใหม่ด้วยวัสดุชั่วคราวแบบลวก ๆ ไม่มีอาชีพทดแทนอาชีพเกษตร ฯลฯ

 

ในสี่กรณีนี้ คณะกรรมาธิการฯ คณะใหญ่ ได้มีโอกาสลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้เพียงเรื่องเดียว คือ กรณีการสังหารนายเจริญ วัดอักษร ส่วนอีก ๓ กรณี ของภาคเหนือ คณะกรรมาธิการได้มอบให้ สว . การุณ ใสงาม และดิฉัน ลงพื้นที่กรณีกรณีอพยพชาวเขาบ้านห้วยวาด กรณีผู้ใหญ่สุพลกับกรณีชาวเขาปางแดง ดิฉันอาสาเข้ามาให้กำลังใจชาวบ้านและหาข้อมูลเบื้องต้น เนื่องจากกรรมาธิการส่วนใหญ่ติดภารกิจอื่น ซึ่งล้วนมีความสำคัญ

 

ซึ่งทั้ง ๔ กรณี นี้ การแก้ไขปัญหาของภาครัฐยังไม่บรรลุผล คือยังไม่มีความคืบหน้า

 

เรื่องผู้บงการและผู้ลงมือสังหารผู้นำทั้ง ๒ ราย เหมือนดังจะปล่อยให้เรื่องถูกลืมไปเอง พร้อมกับความอ่อนล้า หมดแรง ขององค์กรภาคประชาชนผู้อุทิศตนเพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและความเป็นธรรมในสังคม ทั้ง ๆ ที่รัฐมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๖


สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

กรณีการอพยพชาวเขาบ้านห้วยวาดได้รับการแก้ไขที่ปลายเหตุ คือคณะกรรมการชุมชนได้รับการลงรายการสัญชาติไทยแล้ว แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอแจ้ห่ม ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จึงยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ไม่สามารถออกไปหางานทำนอกพื้นที่ได้ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านก็ไม่มีงานทำ มีแค่งานจักสานที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจัดฝึกอบรม และหาที่ขายให้

 

การขอใช้พื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเป็นพื้นที่ทำการเกษตรยังไม่ได้รับการอนุมัติจากระดับนโยบาย ไม่รู้ว่าจะทันฤดูกาลเพาะปลูกปีหน้าหรือไม่

 

หน่วยงานในพื้นที่ตั้งแต่ระดับนายอำเภอ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดลำปาง ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดลำปาง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ฯลฯ จะพยายามช่วยกันเต็มที่ องค์กรพัฒนาเอกชน คือ ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา ( ศอข .) และองค์กรศาสนา เข้าช่วยประสานงานทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าประชาชนเต็มใจ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการอพยพครั้งนี้หรือไม่ มีการศึกษาวิจัยเพื่อเตรียมการรองรับให้เกิดผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุดหรือไม่

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ ต้องผลักดันให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นแกนนำให้เกิดการทบทวนแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาพืชเสพติดบนพื้นที่สูง ให้เป็นแผนที่ภาคประชาชนและภาครัฐร่วมกันคิด


 















ส่วนกรณีการอพยพชาวเขาบ้านปางแดง ซึ่งดิฉันได้ลงพื้นที่เมื่อวันศุกร์ ที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๗ โดยการประสานงานของคุณอัญชลี ผลเกลี้ยง ประธาน ศอข . ได้ไปเห็นสภาพการมาอยู่กินในเพิงผ้าพลาสติก ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอความมั่นใจจากผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าถ้าอยู่ในหมู่บ้านจะไม่ถูกจับกุมเยี่ยงนักโทษคดีอุกฉกรรจ์

 
จากนั้นดิฉันได้ไปดูสภาพหมู่บ้านของชาวปะหล่อง ( ดาระอั้ง ) ซึ่งอยู่บนที่ราบ พื้นที่ทำกินโดยรอบเป็นของคนเมือง ปลูกไม้ผล เช่น ลำไย ส้มโอ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ชาวปะหล่องเป็นเพียงลูกจ้างในไร่สวน
 
สถานที่ตั้งหมู่บ้านปางแดงเป็นที่ที่ซื้อจากคนพื้นราบ เมื่อ ๒๐ - ๓๐ ปีมาแล้ว มีถนนผ่านหน้าหมู่บ้าน มีโรงเรียนซึ่งมีเด็กชาติพันธุ์ต่าง ๆ นับร้อยเป็นนักเรียน เป็นชุมชนที่มีหลักฐานถาวร ไม่น่าจะถูกตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวน เพราะชาวชนบททุกภาคของไทย รวมทั้งชาวเขาทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก ล้วนตั้งถิ่นฐานในเขตป่าสงวน เขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งส่วนใหญ่ถูกประกาศหลังการตั้งถิ่นของชุมชน " ด้วยเจตนาดี " ของทุกรัฐบาลที่มักให้เหตุผลว่า ประกาศเขตอนุรักษ์เพื่อความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติแต่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการจำแนก " เขตอนุรักษ์ " ออกจาก " เขตที่ชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์และดูแลรักษาได้ " อย่างชัดเจน
 

บ้านเรือนของชาวดาระอั้งสร้างด้วยไม้ไผ่และหญ้าคาอย่างง่าย ๆ ภายในบ้านมีแค่ของจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เตาฟืน ถ้วยชามไม่กี่ชิ้น ที่นอน เสื้อผ้า ๓ - ๔ ชุด ต่อคน หญิงดาระอั้งนุ่งซิ่นทอสีส้มคล้ายชาวปกาเกอญอ ( กะเหรี่ยง ) แต่ซิ่นสูงเหมือนกระโจมอกอาบน้ำ เสื้อแขนกระบอกคอกลม มีเครื่องประดับที่ต้นแขน คล้ายเสื้อของชาวลาหู่ ( มูเซอ ) ลักษณะเด่นคือ มีสายคาดเอว ทำด้วยหวายเคลือบเป็นสีดำที่เอวใส่ซ้อนกันหลายเส้น เด็กหญิงสัก ๓ - ๔ ขวบก็จะเริ่มนุ่งซิ่นและใส่สายคาดเอวเหมือนผู้ใหญ่


 
















อาชีพรองของชาวบ้าน นอกจากการรับจ้างภาคเกษตร คือการตั้งเพิงขายของให้นักท่องเที่ยว ซึ่งดิฉันสังเกตว่าของที่ขายไม่ค่อยน่าสนใจ เพราะเป็นของที่นักท่องเที่ยวจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน คือผ้าซิ่นที่ผู้หญิงทอเอง ขายผืนละ ๕๐๐ บาท ถุงย่าม ถุงใส่ขวดน้ำดื่ม เป็นต้น ซึ่งควรมีหน่วยงานช่วยพัฒนา ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับรสนิยมของนักท่องเที่ยว
 
สีหน้าของแม่เฒ่า กลุ่มผู้หญิงที่รอดจากการถูกจับกุมดูเศร้าหมอง ไร้ความหวังต่อหลักประกันที่จะมีชีวิตที่มีความมั่นคงปลอดภัย พวกเขาได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ๔ ข้อ คือ
 

* ๑ . ขอให้สอบสวนตรวจสอบการจับกุมชาวบ้านปางแดง ทั้ง ๔๘ คน ครั้งนี้ ว่าเป็นการจับกุมโดยชอบหรือไม่เพราะการจับกุมครั้งนี้ไม่มีการขออำนาจศาล ออกหมายจับตามหลักรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา ๒๓๗ และ ๒๓๘ โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างว่าชาวบ้านกระทำผิดซึ่งหน้า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ข้อหา " ก่นสร้างแผ้วทางเผาป่าทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า ยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่อาศัยในที่ดินก่อสร้างแผ้วถางเผาป่า หรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาต " และการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ( กองกำลังผาเมือง ) มาร่วมจับกุมก็เพื่อจะใช้กฎอัยการศึกตามแนวตะเข็บชายแดนประกอบการจับกุม

 

ซึ่งข้อเท็จจริงในพื้นที่ พวกเราได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยอย่างถาวร มีการตัดถนนคอนกรีตผ่านหมู่บ้าน มีการจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ตั้งโรงเรียนก่อนปี ๒๕๒๗ มีการพัฒนาสาธารณูปโภค , การประปา , ไฟฟ้าและฉีดมาเลเรีย บริเวณรอบๆหมู่บ้านมีการออกโฉนด สปก . เต็มพื้นที่ และเจ้าหน้าที่มีการลาดตระเวนดูแลพื้นที่ตลอดเวลา ย่อมทราบดีชาวบ้านสร้างถิ่นฐานบ้านเรือนทำกินมานานแล้ว

 

. ขอให้ตรวจสอบว่า การใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งชาวบ้านที่ไม่มีทางสู้ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเลือกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ เพราะการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างว่า " ชาวบ้านบุกรุกถางป่าเพื่อขายให้นายทุน " จึงต้องเข้าจับกุมเป็นข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ว่าพื้นดังกล่าวเป็น " โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว ( บ้านปางแดง ) ลุ่มน้ำแม่เตาะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน "

 

อีกทั้งมีการส่งเสริมทำเกษตรตามแนวกรมป่าไม้เช่นโครงการธนาคารอาหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลและวิถีชีวิตชาวบ้านก็อยู่ภายใต้การควบคุมอยู่แล้วไม่มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม ชาวบ้านโดยอาศัยพื้นที่ดังกล่าวสร้างบ้านเรือนเท่านั้น และพื้นที่ที่ทางราชการปักป้ายว่าเป็น " พื้นที่ป่า " มีเนื้อที่มากกว่าที่ถูกจับอีกหลายกิโลเมตร แต่เลือกจับเฉพาะกลุ่มคนจนชนเผ่าที่ถูกราชการจับมาแล้ว ๓ ครั้ง ขณะที่กลุ่มนายทุนบุกรุกป่าของรัฐไม่ว่าทำสวนส้ม รีสอร์ท สนามกอล์ฟ สปา สเตย์ และอื่นๆ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานไหนกล้าจับชุดปฏิบัติการจับกุมแม้แต่รายเดียว

 

. กรณีพื้นที่ในอำเภอเชียงดาวดังกล่าวนี้ ซึ่งราชการประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และกรณีป่าสงวนแห่งชาตินั้น รัฐบาลมีนโยบายลงทะเบียนแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเอาที่ดินของรัฐ ๗ ประเภท มาจัดสรรให้ชาวบ้านโดยการลงทะเบียนอยู่แล้ว การจับกุมของหน่วยรัฐ ๑๑ องค์กร ครั้งนี้ถือว่าเป็นการละเมิดนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลด้วยหรือไม่

 

๔. สุดท้ายนี้ พวกเราในนามญาติผู้ต้องหาทั้ง ๔๘ คน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ขอยืนยันให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด เพราะพวกเราคือผู้บริสุทธิ์ มีฐานะยากจนไม่สามารถหาหลักทรัพย์หรือเงินสดมาประกันหัวหน้าครอบครัวทั้ง ๔๘ คน การที่หัวหน้าครอบครัวถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำครั้งนี้ทำให้ชีวิตลำบากยากแค้นยิ่งขึ้น

 

และ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งระบบเป็นองค์รวมโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ที่มีข้อตกลงผลการเจรจาร่วมกันว่า " ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะยุติการจับกุม ดำเนินคดีจนกว่าการแก้ไขปัญหาจักสำเร็จ "

 

เราเห็นว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐไม่สามารถจับคนจนทั่วทั้งประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งหากรัฐบาลนิ่งเฉยไม่สั่งการ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำอันป่าเถื่อนครั้งนี้ไม่ได้

 

เรา ขอยืนยันว่าจะเรียกร้องเคลื่อนไหวเพื่อให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมและสามารถแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องจนถึงที่สุด

 

ขอให้ชาวไทยทุกคน นายกทักษิณ และรัฐบาลรับฟังข้อเรียกร้องของชาวบ้านปางแดงด้วยใจเป็นธรรม และพิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน เพื่อนำศานติสุขมาสู่ประชาชนผู้เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด

 

* ข้อมูลจากทีมงานไทยเอ็นจีโอ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗