Skip to main content

เยาวชนกับสังคมใหม่

คอลัมน์/ชุมชน

ดอกไม้ดอกไม้จะบาน


บริสุทธิ์กล้าหาญจะบานในใจ


สีขาวหนุ่มสาวจะใฝ่


แน่วแน่แก้ไขจุดไฟศรัทธา


เรียนรู้ต่อสู้มายา


ก้าวไปข้างหน้าเข้าหามวลชน


ชีวิตอุทิศยอมตน


ฝ่าความสับสนเพื่อผลประชา


ดอกไม้บานให้คุณค่า


จงบานช้าๆแต่ว่ายั่งยืน


ที่นี่และที่อื่นๆ


ดอกไม้สดชื่นยื่นให้มวลชน


………….


"ดอกไม้จะบาน" โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา


 


เมื่อ 30 ปีที่แล้ว 6 ตุลา 2519 – เกิดความเปลี่ยนแปลง แปรผันครั้งใหญ่หลวง ขบวนการประชาชน นักวิชาการ นิสิตนักศึกษาเยาวชนหนุ่มสาว รวมพลังต้านเผด็จการและอำนาจที่คุกคามต่อสิทธิ เสรีภาพ แห่งประชาธิปไตย "พลังแห่งศรัทธา"  ไปทั่วทุกหนแห่ง ซึ่งพร้อมใจกันสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ปลดแอกเผด็จการทหารสู่วิถีแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


30 ปีให้หลัง, ปัจจุบันขณะ – ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างได้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ต่างๆ ของสังคม สิ่งที่เห็นได้ชัดในมุมที่เกี่ยวกับเยาวชน คนหนุ่มคนสาวในยุคนี้คือ "พลัง" ของเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่ใครหลายคนตั้งความหวัง และตั้งคำถามว่าพลังคนหนุ่มสาวหายไปไหน


 


หากนับช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่เดือนที่เกิดปรากฎการณ์ขับไล่ผู้นำประเทศ ซึ่งผู้ใหญ่จากหลายภาคส่วนในขบวนการภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้เยาวชน คนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา เข้ามามีบทบาทต่อการนำมวลพลังสังคมขับไล่ผู้นำประเทศที่ไร้จริยธรรมและความชอบธรรมในการบริหารแผ่นดิน


 


มีความพยายามของเยาวชน คนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา ที่ออกมามีส่วนร่วมต่างๆ ผ่านการรวมกลุ่มแบบเครือข่ายลักษณะต่างๆ ออกแถลงการณ์ จัดเวทีการเรียนรู้ ให้ข้อมูลชาวบ้าน ล่ารายชื่อห้าหมื่นรายชื่อถอดถอนนายกฯ เป็นต้น ซึ่งแรงพลังเหล่านี้ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแรงกระตุ้นและแรงผลักสำคัญจากภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นอย่างมาก


 


ในเวลานั้น ถือว่าเป็นช่วง "ขาขึ้น" ของขบวนการคนหนุ่มสาว นิสิต นักศึกษาก็ว่าได้ ที่มีหลายกลุ่ม หลายเครือข่าย รวมตัวกันเป็นเครือข่าย องค์กรที่ชัดเจน และมีการรวมกลุ่มกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ (จำนวนหนึ่ง) ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแตกต่างของขบวนการคนหนุ่มสาว นิสิต นักศึกษาในปัจจุบันนี้มีความแตกต่างจากขบวนการคนหนุ่มสาวเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ผ่านมาอย่างมาก –ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นขบวน, ความรู้สึกร่วม, ทักษะการทำงาน, การจัดการต่างๆ เป็นต้น


 


ทั้งนี้ผมเห็นว่า เมื่อยุคสมัยมีความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่า 30 ปีที่ผ่านมา และ 30 ปีให้หลังนี้ ย่อมมี "บริบท" และสภาพทางสังคมที่ต่างกัน นับตั้งแต่ระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีความศิวิไลซ์และความนิยมต่อเงินทองมากขึ้นกว่าเดิม


 


ปัญหาหลักๆ ของสังคมจากที่เมื่อก่อนเป็นแค่เรื่อง "ต้านเผด็จการ" ก็ขยับขับมาสู่สภาพเป็นปัญหาอื่นๆ เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด เอชไอวีเอดส์ การล่วงละเมิดสิทธิ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความยากจน –ในมุมมองของผม มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาในยุคหลังถือได้ว่า เป็นปัญหาระดับ "ปัจเจก" ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมไม่ต้องการเจอสภาพปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น ผู้คนจึงสนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง ว่าจะให้ตนได้ดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยจากภยันอันตรายต่างๆ ได้อย่างไร


 


ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงกระแสความเจริญที่มุ่งตรงไปสู่ชุมชนชนบท ซึ่งทำให้สภาพของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ต้องติดหนี้ยืมสินมากขึ้น ในระดับครอบครัวก็มีความเป็น "ครอบครัวเดี่ยว" มากยิ่งขึ้น พ่อ แม่ ลูก ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน เพราะต่างคนก็ทำหน้าที่ของตนไปตามบริบทต่าง         ๆ ทางสังคม


 


ขณะที่ในระบบการเรียนการสอน ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เรียน ซึ่งหมายถึงเยาวชน คนหนุ่มสาว ได้เรียนรู้หรือซึมซับต่อ "ความเป็นส่วนร่วม" หรือ "มองประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง" แต่กลับมองแต่ตัวของตัวเอง เรียนให้ได้อันดับที่ดี ต้องเรียนให้สูงๆ และกระบวนการเรียนการสอนก็ไม่ได้ทำให้เยาวชน คนหนุ่มสาวเข้าใจ "คุณค่า" และ "ความหมาย" ของสังคมเท่าใดนัก ซึ่งนำไปสู่การมองปัญหาแค่ "ระดับตัวเอง" อาทิ เงินไม่พอจ่ายค่าเทอม ไม่มีเงินซื้อบัตรเติมเงิน ฯลฯ


 


ดังนั้น เมื่อเกิดปรากฎการณ์ไล่ผู้นำประเทศ ก็ไม่ควรจะแปลกใจนะครับ หากเยาวชน คนหนุ่มสาวในวงกว้าง จะไม่เข้ามาร่วมขบวนการเคลื่อนไหว หรือรวมพลังอย่างคึกคักและเข้มแข็งเหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าควรจะกล่าวโทษคนหนุ่มสาวเท่านั้น เพราะความอ่อนแอของสังคม ความไม่ไหวตัวทันต่อปัญหาของสังคมของผู้ใหญ่ที่ละเลยต่อเยาวชน คนหนุ่มสาว อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหนุ่มสาวไม่ค่อยจะ "เท่าไหร่" กับสังคม "อย่างนี้"


 


ทว่า การ "ออก" หรือ "ไม่ออก" มาของเยาวชน นิสิต นักศึกษา หาใช่เป็นเพียง "ตัวชี้วัด" เดียวของขบวนการเยาวชน คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันต่อความสนใจสังคม เพราะอานิสงส์ของการที่องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายประชาสังคมต่างๆ ได้ทำงานในพื้นที่หมู่บ้านและชุมชน ก็ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเยาวชน คนหนุ่มสาวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากนับระยะเวลาตั้งแต่ที่ผมทำกิจกรรมมาและรับรู้ข้อมูลจากองค์กรต่างๆ  ก็ถือว่ามีกลุ่มเยาวชนที่ทำงานเพื่อสังคมทั่วประเทศมากกว่า 800 กลุ่ม


 


กลุ่มเยาวชนที่ทำงานก็มีหลายรูปแบบ และมีการทำงานในประเด็นที่มีความแตกต่างกัน เช่น เรื่องเอดส์ เพศศึกษา วัฒนธรรม การศึกษาทางเลือก ผู้บริโภค ฯลฯ – ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่กล่าวมาจะเป็นปัญหาระดับ "ปัจเจก" หากแต่ว่าหลายปัญหาก็ถือเป็นปัญหาของสังคมด้วยเช่นกัน


 


ดังนั้น หากขบวนการประชาสังคมจะบอกว่าเยาวชน คนหนุ่มสาวไม่สนใจสังคม ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกเสียทีเดียว หากแต่พวกเขาอยู่กระจัดกระจายออกไปตามพื้นที่ ท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งไม่ค่อยอยู่ในการรับรู้ของคนในสังคมเท่าใดนักเพราะพื้นที่ตามสื่อต่างๆ ก็มีแต่ข่าวด้านลบๆ ของเยาวชน ที่จนในที่สุด "อัตลักษณ์" ลบๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่คนในสังคม "อนุมาน" ภาพเอาว่า เยาวชน คนหนุ่มสาวสมัยนี้ "ไม่ไหว" เอาเสียเลย


 


ความเชื่อที่ว่า "เยาวชนไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นทางออกของปัญหา" ที่เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนได้ประกาศไว้เมื่อ ปี 2545 นั้น ถือว่า เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการมองเยาวชน คนหนุ่มสาวด้วยความเข้าใจต่อสภาพ บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และยังเป็นการให้ "คุณค่า" ต่อเยาวชน ที่จะออกมาทำงานเพื่อสังคมอีกด้วย


 


ดังนั้น สังคมใหม่หลังจากนี้จึงเป็นความท้าทายของผู้ใหญ่ และเยาวชน คนหนุ่มสาว ว่าจะกำหนดอนาคต ความเป็นไปในวันข้างหน้าอย่างไร เพราะหากเรามองกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายปีนั้น จะเห็นว่ามี "ช่องโหว่" หรือจุดอ่อนอย่างไร แล้วเราจะลดจุดอ่อน สร้างจุดแข็งให้สืบต่อไปอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ผมมองว่าทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ต้อง "ร่วมกัน" คิดในฐานะ "พันธมิตรที่เท่าเทียม" ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่สั่งเยาวชนทำอย่างเดียว หากแต่เป็นการกำหนดและมีส่วนร่วมคิดและสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน


 


ผมเข้าใจถึงข้อจำกัดของขบวนการประชาสังคมดีว่าต้องเดินหน้าทำงาน แต่อย่างไรแล้วผมก็หวังว่ารุ่นพี่ที่อาวุโสในขบวนการประชาสังคม จะหันหลังกลับมาให้ความสนใจกับเยาวชน คนหนุ่มสาว ที่หลายคนมองว่าเป็น "คนรุ่นใหม่" ที่จะเข้ามาทดแทนคนรุ่นก่อนได้ในอนาคต


 


ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า เพื่อนๆ เยาวชน คนหนุ่มสาวเองต้องให้ความสำคัญและมีบทบาทมากยิ่งขึ้นต่อเรื่องเหล่านี้เพราะหากวันนี้เยาวชน คนหนุ่มสาว ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร อีกหลายสิบปีต่อไปข้างหน้า สังคมคงจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรแต่อย่างใด และคงจะมีแต่เรื่องเดิมๆ ที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ  คือ ทำโครงการรายโครงการ จัดกิจกรรมรายกิจกรรม แต่ไม่ได้ทำอย่างเชื่อมโยงกัน


 


สำหรับวาระครบรอบ 30 ปี 6 ตุลา มีคำกล่าวของใครคนหนึ่งที่แทรกผ่านเข้ามาว่า "ไฟศรัทธาของคนหนุ่มสาว วัยรุ่น สมัยนี้อยู่ที่ใดกัน เจ้าจะยื่นดอกไม้สู่มวลชน หรือจะปล่อยดอกไม้ให้หล่นโรยราตาย" – ผมรู้สึกว่าคำพูดนี้เป็นเชื้อไฟเล็กๆ ที่ช่วยจุดประกายไฟศรัทธาของเยาวชน คนหนุ่มสาวในยุคนี้ให้เติบโตและมีพลังมากยิ่งขึ้น ได้เป็นอย่างดี, และเยาวชนยุค 30 ปีที่ผ่านมาก็คงจะยังจำได้อยู่ หากไม่ลืมไปเสียก่อน