Skip to main content

เป้าหมายและวิธีการ

คอลัมน์/ชุมชน

ด้วยเวลาเพียงสิบกว่าวันนับจาก "คปค." เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของนายกฯ ทักษิณ  รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 39 มาตรา ก็ถูกประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อย พร้อมๆ กับการที่เราได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทยคือ "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" อดีต ผบ.ทบ.,ผบ.สส. และองคมนตรี ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งในโผตัวเก็งมาตั้งแต่ต้น และกว่าที่ข้อเขียนนี้จะปรากฎ เราก็คงจะได้คณะรัฐมนตรีใหม่กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


 


ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ชนิดที่ต้องจับตากันวันต่อวัน แต่ด้วยความเป็น รัฐบาลเฉพาะกิจ ที่มองเห็นอยู่แล้วว่า มีเวลาทำงานเพียงแค่ 1 ปี ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ดังนั้น การทำงานน่าจะเป็นไปในลักษณะ รักษาระดับ และซ่อมแซมกลไกที่พิกลพิการ จากช่วงเวลาที่ผ่านมา มากกว่า จะริเริ่มโครงการใหม่ๆ


 


เท่าที่ผ่านมายังไม่ครบเดือนดี ผมคิดว่า คปค. ทำงานได้ตามที่เคยลั่นวาจาไว้ แม้จะมีส่วนที่ไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วก็น่าเอาใจช่วย โดยเฉพาะเมื่อได้ผู้นำรัฐบาลอย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมีประวัติการทำงานและภาพลักษณ์ที่โดดเด่นมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความยึดมั่นในปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริ และความซื่อสัตย์ การทำงานอย่างจริงจัง และการจงรักภักดีต่อสถาบัน ซึ่งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองการันตีให้ร้อยเปอร์เซ็นต์


 


อดไม่ได้ที่จะต้องเปรียบเทียบกับอดีตนายกฯ มหาเศรษฐีผู้มีธุรกิจอยู่ในสายเลือด และเชื่อมั่นในระบบทุนนิยมยิ่งกว่า "รัฐศาสตร์" หรือ "นิติศาสตร์"  บริหารประเทศด้วยการกระตุ้นให้เงินหมุน กระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นให้คนกู้หนี้ยืมสิน กระตุ้นให้คนทำธุรกิจกันให้มากๆ แม้แต่การบริหารประเทศท่านก็ยังกางตำราฮาวทูซัคเซสของฝรั่งมาประยุกต์ใช้ แน่นอน นายกฯ ทักษิณเป็นคนเก่ง ทำงานจริงจัง และทำให้ประเทศก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน แต่สำหรับคุณสมบัติอีกหลายๆ อย่างที่ผู้นำรัฐบาลควรจะมี ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ โดยเฉพาะหลังจากการกล่าววาจาพาดพิงเรื่อง "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ซึ่งบางคนวิเคราะห์ว่า นี่เป็นคำพูดที่ทำให้รัฐบาลทักษิณ ถึงแก่กาลอวสาน


 


ที่ต้องขอแสดงความชื่นชมจริงๆ คือเรื่องของการแก้ไขประกาศของ คปค. ฉบับที่ 23 มาเป็นประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ซึ่งมีผลทำให้ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือ คตส. มีการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวบุคคลและอำนาจหน้าที่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้เพิ่มชื่อของ "นาม ยิ้มแย้ม" และ "แก้วสรร อติโพธิ" คู่กรณีขาประจำของพลพรรคไทยรักไทยเข้าไปด้วย ซึ่งทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แบล็คลิสต์โครงการฉาวพันล้านที่จ่อคิวเตรียมถูกเชือดก็ปรากฎขึ้นทันที


 


หลังจากรัฐบาลที่แล้ว "งาบ" กันจนน่าเป็นห่วงว่าประเทศชาติจะล่มสลาย ก็ถึงคราว "เชือด" กันมั่งแล้ว ก็หวังแต่ว่าคงจะจัดการกับตัวการใหญ่ได้สมกับความตั้งใจและความหวังของประชาชน


 


กระนั้นหลายต่อหลายเรื่องที่ยังคาราคาซังและเป็นปัญหาใหญ่ที่รออยู่เช่นเรื่อง FTA ก็ยังต้องลุ้นกันอยู่ว่าจะเอาอย่างไรกันต่อ แต่เชื่อแน่ว่ารัฐบาลนี้น่าจะ "ฟัง" คนอื่นมากกว่ารัฐบาลที่แล้ว


 


มีข้อสังเกตประการหนึ่งหลัง คปค. ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา คือ เมื่อปรากฎว่า ระบอบทักษิณถึงคราวล่มสลายแน่แล้ว ผู้คนที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน จะแบ่งออกเป็น 2 พวก พวกแรกคือ ไม่แสดงท่าทีคัดค้านการยึดอำนาจอย่างชัดเจน เพียงแสดงความไม่เห็นด้วยต่อวิธีที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และอาจแสดงความเห็นต่อเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือการดำเนินงานปราบทุจริต และ พวกที่สอง คือคัดค้านการยึดอำนาจอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะจัดเสวนา หรือชุมนุมต่อต้านการปฏิวัติ ซึ่งจะว่าไปแล้ว พวกที่สองนี่เองที่แสดงให้เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความไม่เห็นด้วยก็ยังไม่ถูกลิดรอนไป ตราบเท่าที่ยังไม่ "ล่วงเกิน" กันและกัน และกระนั้นก็ยังต้องติดตามต่อว่า การชุมนุมต่อต้านนั้น จะดำเนินต่อไปอย่างไร และ "ตั้งธง" เอาไว้ที่ตรงไหน เพราะหากการชุมนุมไม่มีน้ำหนัก ไม่มีเหตุผลเพียงพอ หรือไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ย่อมไม่อาจทำให้สังคมหันมาสนใจได้ อย่าลืมว่ากระแสสังคมตอนนี้ ยังมุ่งหวังกับ "รัฐบาลใหม่" มากกว่าสิ่งอื่นใด


 


เมื่อหันมามองอดีตพรรคการเมือง "พรรครัฐบาล"อย่าง "พรรคไทยรักไทย"  ต้องยอมรับว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทย ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ๆ บนบันทึกการเมืองไทยหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่มีหัวหน้าพรรค "รวยที่สุด" ,มีสมาชิกพรรคมากที่สุด,มีจำนวน ส.ส.ในสภาฯ มากที่สุด,มีแนวโน้มจะครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานที่สุด ฯลฯ จนกระทั่งพรรคการเมืองที่ก่อตั้งมาเพียงไม่กี่ปี เกือบจะกลายเป็น "สถาบัน" หนึ่งไปเสียแล้ว หากไม่เกิดการปฏิวัติขึ้นเสียก่อน


 


หลังการปฏิวัติได้เพียงสองสัปดาห์ ชะตากรรมของพรรคไทยรักไทยจากสูงสุด กลายเป็นร่วงสู่จุดต่ำสุดทันที เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค เปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็เมื่อหัวหน้าใหญ่ผู้เป็นนายทุนตัวจริง ประกาศถอนตัวเสียแล้ว ลูกน้องที่เหลือย่อมคิดถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองว่าจะมีสภาพอย่างไรต่อไป


 


แต่ก็ไม่ต้องเสียเวลาคิดนาน เพราะแทบจะทันทีหลังการประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ บรรดา ส.ส.ไทยรักไทย ก็เดินแถวมายื่นใบลาออกเกือบร้อยคน ซึ่งแสดงให้เห็นสัจธรรมประเภท "ยามมั่งมีหมู่มิตรมาล้อมหน้า ยามยากไร้หมูหมายังหนีหาย" หลายคนเห็นว่าเป็นเพราะประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27 ที่ระบุว่าหากมีการสั่งยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นจะต้องมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งแกนนำของพรรคส่วนใหญ่เป็นหัวหน้า "มุ้ง" หรือ "วัง"ต่างๆ เมื่อหัวหน้าลาออกแล้ว ลูกน้องก็ต้องชักแถวตาม บ้างก็ว่า ส.ส.บางคนตั้งใจจะลาออกอยู่แล้ว เมื่อสบโอกาสเลยยื่นใบลาออกตามกันมา


 


หากถามว่า พรรคไทยรักไทย ยังมีอนาคตทางการเมืองอยู่อีกหรือไม่? ก็คงต้องย้อนไปดูการก่อกำเนิดของพรรคตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งมีสโลแกนที่ว่า "คิดใหม่ ทำใหม่" และได้ใจประชาชนไปอย่างท่วมท้น จนได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่า เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้คนที่เคยร่วมก่อตั้งพรรคกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องโบกมือลากันถ้วนหน้า แม้กระทั่งคนตรงเป็นไม้บรรทัดอย่าง "ดร.ปุ" ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ยังขอหันหลังให้กับการเมืองแบบน่าจะถาวร เมื่อประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่ง คตส. และปชป. กำลังลับมีดเตรียมเชือดสารพัดโครงการส่อทุจริตจากรัฐบาลที่แล้ว รวมไปถึงกรณี "ดีล 73,000 ล้านบาท" อันลือลั่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยแล้ว ก็น่าจะมองเห็นแล้วว่า สภาพของอดีตนายกฯ ท่านนี้อยู่ในสถานการณ์ใด สมมติว่า ท่านรอดมาได้ทุกข้อกล่าวหา (ซึ่งคงจะยากเหลือเกิน) แล้วจะกลับมาเล่นการเมือง ถามว่าตอนนั้น ยังจะมีคนพร้อมร่วมหัวจมท้ายกับท่านอีกสักกี่คน?


 


น่าคิดนะครับว่า หากรอดจากการ "ยุบพรรค" มาได้ พรรคไทยรักไทยจะยังอยู่ได้หรือไม่? เพราะเท่าที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ คือพรรคไทยรักไทย หากไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เสียคน พรรคไทยรักไทยก็ต้องมีรูปร่างที่ต่างไปจากที่เคยเป็นแน่ๆ อาจจะเป็นเช่นเดียวกับ พรรคกิจสังคม เมื่อไม่มีมนตรี พงษ์พานิชย์ หรือ พรรคพลังธรรม ที่ไม่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเปรียบเสมือน "สัญลักษณ์"ของพรรค เมื่อหัวหน้าไม่ใช่คนเดิม สัญลักษณ์เดิมก็ไร้ความหมาย ถึงแม้จะยังคงชื่อเดิมไว้ได้ แต่สภาพการณ์คงไม่ต่างจากถูกยุบพรรคเท่าไร นั่นคือ ยากที่จะกลับมาสู่เวทีการเมืองได้อีกแล้ว


 


เวลา 1 ปีนับจากนี้ไป คงเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายหลายอย่าง ที่เคยเก็บกัก อัดอั้น ค้างคา คาราคาซังในรัฐบาลที่แล้วมานานก็คงจะได้ปลดปล่อยกันในช่วงต่อไปนี้


 


แน่นอนวิธีการยึดอำนาจด้วยกำลังทหาร ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องตามครรลองสากลโลก แต่ในเมื่อวิธีการดังกล่าวมีเป้าหมายอยู่ที่ "การปฏิรุป" ปรับเปลี่ยนกฎกติกาต่างๆ เสียใหม่ และ คณะผู้ก่อการก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เคยให้สัญญาไว้ สิ่งที่สำคัญที่สุดนับจากนี้ไป น่าจะเป็นเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ควรจะร่วมติดตามอย่างใกล้ชิด ร่วมวิพากษ์ในทุกๆ แง่มุม เพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด (ถึงแม้ในภายภาคหน้ามันอาจต้อง "ถูกฉีก" อีกก็ตาม)


 


โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับรัฐบาลหนึ่งปีชุดนี้ หากสามารถเยียวยาสังคมจากอาการบอบช้ำและกำจัด "ขยะ" ที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้ได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว หากจะมีอะไรที่ดีกว่านั้น ก็ถือเป็นผลพลอยได้ ในทางตรงกันข้าม ผมคาดหวังกับสังคมไทยโดยรวมมากกว่า เพราะบทเรียนจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนไทยสนใจการเมืองมากขึ้น พยายามติดตามและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ผมคิดว่าสิ่งนี้ต่างหากเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คำว่า "ประชาธิปไตย" ไม่เป็นเพียงสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ หากแต่ทุกคนมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้นจริง


 


หลายวันที่ผ่านมา ผมคิดถึงวลีอมตะของอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ว่า "ไม่ว่าแมวดำหรือแมวขาว ขอให้จับหนูได้ก็พอ" บางทีนี่อาจจะอธิบายสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันได้บ้าง ไม่ว่าจะอยู่ในการปกครองแบบไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การกินดีอยู่ดีของประชาชน ไม่ใช่หรือ? เรากำลังก้าวไปในอนาคตที่ไม่มีใครรู้ อีกหนึ่งปีข้างหน้า การเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน อะไรจะดีขึ้นอะไรจะเลวลง คำตอบทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลฝ่ายเดียวหรอกครับ มันอยู่ที่เราทุกคนด้วยว่าจะ "ส่งเสียง" ออกไปอย่างไร หากเอาแต่กล่าวโทษกัน คงไม่มีอะไรดีขึ้นมา


 


เมื่อมี "เป้าหมาย" แล้ว ก็ต้องเลือก "วิธีการ"  แม้ว่าวิธีการที่เลือกแล้วนั้นไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่สามารถนำไปสู่เป้าหมายได้เช่นกัน ก็น่าสนใจว่าจะมันจะเป็นได้จริงหรือไม่ แค่ไหน ไม่ใช่หรือ