Skip to main content

Nacho Libre: บ่มิไก๊ไฟต์เตอร์

คอลัมน์/ชุมชน

๒๔ ๑/๖


 


ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีหนังตลกเรื่องนึงเข้าฉายในบ้านเราแบบเงียบๆ (เผลอๆ ตอนนี้อาจจะออกไปอย่างเงียบๆ ด้วยเช่นกัน) โดยแทบไม่ให้นักดูหนังบ้านเราได้รู้เนื้อรู้ตัวกันเลย


 


หนังที่ผมพูดถึงก็คือ Nacho Libre ซึ่งแสดงนำโดย Jack Black นักแสดงตลกร่างอ้วนที่เราจำเขาได้จากลีลาการแสดงที่ "กวนตรีน" ได้ใจคนดูอย่างพนักงานขายแผ่นเสียงปากคอเราะร้ายใน High Fidelity


 หรือนักดนตรีร็อกตกอับที่จับพลัดจับผลูกลายเป็นครูสอนดนตรีใน School of Rock


 




 


ซึ่งในคราวนี้เขาต้องรับบทบาทสองขั้วที่ไม่น่าจะเกี่ยวกันได้เลย นั่นคือบาทหลวง และ เอ่อ... นักมวยปล้ำสวมหน้ากาก


 


แจ๊กรับบทเป็นนาโช่ – บาทหลวงในโบสถ์เล็กๆ ในเม็กซิโก ที่มีหน้าที่ประจำคือการเป็นพ่อครัวปรุงอาหารให้กับบรรดาบาทหลวงและบรรดาเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่ในวัด... ซึ่งฝีมือทำอาหารของเขานั้นสามารถชมได้อย่างเต็มปากว่า "หมาม่ายแหลก" ส่วนเรื่องการปฏิบัติกิจของบาทหลวง.... ก็ดีพอๆ กับอาหารที่เขาทำนั่นแหละ


 


"ที่อาหารมันห่วย ก็เพราะวัตถุดิบไม่ได้เรื่องต่างหาก (โว้ย)" นาโช่บอกกับทุกคนแบบนี้ แต่ด้วยความที่โบสถ์ที่เขาอยู่นั้นจนเกินกว่าจะหาวัตถุดิบดีๆ มาทำอาหาร เลยทำให้เขาได้แต่บ่น จนกระทั่ง...เมื่อนาโช่ตัดสินใจขึ้นสังเวียนการต่อสู้แบบ Lucha Libre (มวยปล้ำสไตล์เม็กซิกัน ที่เน้นความว่องไวและผาดโผนเป็นหลัก) โดยจับคู่แท็กทีมกับเอสเคลีโต้ (เฮ็คเตอร์ จิมีเนซ) หัวขโมยขี้ก้างที่มีดีที่ความว่องไว


 


นาโช่ตัดสินใจขึ้นเวที ด้วยหวังว่าจะหาเงินมาซื้อของดีๆ ให้บรรดาเด็กกำพร้าได้กิน แถมยังหวังว่าด้วยความดีเช่นนี้จะส่งผลให้ซิสเตอร์เอนคาร์นาเซียน (อานา เดอ ลา รีกูร่า) ซิสเตอร์คนสวยประจำโบสถ์ได้ประทับใจ แต่เพราะมวยปล้ำไม่ใช่กิจของสงฆ์ (ทั้งยังถูกศาสนาจักรมองว่าเป็นเรื่องชั่วร้าย) นาโช่จึงต้องขึ้นปล้ำโดยสวมหน้ากากเพื่อปกปิดตัวเอง (ซึ่งก็ตรงกับขนบของนักมวยปล้ำเม็กซิกัน ที่นิยมใส่หน้ากากกันอยู่แล้ว)


 


ผลที่ได้จากการขึ้นเวทีของเขาทั้งคู่...ก็กลายเป็นว่าพวกเขา "ห่วยแตก" ในทุกกระบวนท่า เพราะพี่แกเล่นแพ้ให้กับนักมวยปล้ำทุกแบบ ตั้งแต่นักมวยปล้ำธรรมดา ผู้หญิง ไปจนกระทั่งนักมวยปล้ำคนแคระ!


 


แต่ถึงกระนั้น ลีลาไม่ได้เรื่องของเขาทั้งคู่ก็ถูกใจโปรโมเตอร์มวยปล้ำ ทำให้เขาถูกจ้างอยู่เรื่อยๆ และก็ทำให้นาโช่มีเงินพอจะซื้ออาหารดีๆ ให้เด็กกำพร้า และแต่งหล่อ (เอ่อ...ตรงนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจแฮะ ว่าไอ้ที่แก "แต่ง" เนี่ยมัน "หล่อ" หรือ "พิลึก" กันแน่) ให้ซิสเตอร์เอนคาร์นาเซียนได้เห็นเป็นขวัญตา


 


แต่โชคชะตาก็พาให้นาโช่ต้องขึ้นเวทีปะทะกับแรมเซส (เซซาร์ กอนซาเลส) นักมวยปล้ำระดับ "ผู้มีบารมีในเวที" โดยมีเดิมพันเป็นรางวัลสูงลิบลิ่ว ซึ่งมากพอจะทำให้ความเป็นอยู่ของบรรดาเด็กกำพร้าดีขึ้น และเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนได้เห็นถึงความสามารถของเขา


 


นี่คือสิ่งที่จะพาไปสู่บทสรุปของหนังเรื่องนี้...


 



 


 


ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คิดไปถึง "หน้ากากเสือ" การ์ตูนญี่ปุ่นในตำนานเรื่องนั้น เพราะว่าวีรเวร-วีรกรรมของนาโช่ ทำให้ผมคิดถึงดาเตะ นาโอโตะ ที่ต้องสวมบทบาท "หน้ากากเสือ" บนสังเวียนมวยปล้ำ ในขณะที่เขาต้องเป็นดาเตะ – พี่ชายขี้โอ่ แถมไม่ได้เรื่องได้ราวที่มักจะเอาเงิน (ที่ได้จากการปล้ำ) มาแจกให้บ้านเด็กกำพร้าจิบิโกะอยู่บ่อยๆ (เคยได้ยินมาว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากประวัติชีวิตของไจแอนท์ บาบะ – นักมวยปล้ำระดับตำนานของญี่ปุ่นที่ชีวิตเริ่มจากการเป็นเด็กกำพร้าเหมือนกัน แถมพอหลังจากที่การ์ตูนเรื่องนี้โด่งดัง ก็ทำให้มีนักมวยปล้ำที่นำคาแรกเตอร์ของ "หน้ากากเสือ" ไปใช้จริงบนเวที ทั้งยังมีการสืบต่อคาแรกเตอร์นี้มาจนถึงรุ่นที่ 4 ในปัจจุบัน)


 


หากจะต่างกันก็ตรงที่หน้ากากเสือคือตัวแทนของวีรบุรุษที่ใช้ชั้นเชิงที่มีอยู่ต่อสู้กับฝ่ายอธรรมอย่างอาจหาญ ในขณะที่อีตานาโช่เป็นแค่ไอ้อ้วนห่วยแตกธรรมดาๆ ที่อุดมไปด้วยลูกบ้าเท่านั้น


 


แต่ทั้งคู่ต่างก็มี "หัวใจ" ที่ใฝ่ดีเหมือนๆ กัน ซึ่งสิ่งนี้นี่เองที่เป็นอาวุธสำคัญที่สุด...มันอาจสำคัญกว่าฝีมือด้วยซ้ำ


 


ดังนั้น แม้นาโช่จะไม่มีอะไรให้เราได้กรี๊ดสักเท่าไหร่ (ลองนึกภาพไอ้อ้วนใส่หน้ากาก แถมสวมกางเกงรัดรูปดูสิ) แต่ด้วยหัวใจของเขา ก็มากพอจะทำให้เราเชียร์เขาได้อย่างเต็มปาก


 


และเรายังอาจแอบคารวะเขาได้ด้วยซ้ำ