Skip to main content

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีรถไฟฟ้า 3 สาย

คอลัมน์/ชุมชน

การสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 3 สายเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ เฝ้ารอคอยกันอย่างจดจ่อ คนต่างจังหวัดก็รอลุ้นว่าจะมีนโยบายขนาดใหญ่เกี่ยวกับขนส่งมวลชนให้บ้างไหม ขณะที่การสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ นั้นมีแน่นอน แค่จะเร็วหรือช้า


 


รัฐบาลชุดเฉพาะกิจหนึ่งปีเพื่อรอให้เกิดรัฐบาลจากการเลือกตั้งคงต้องคิดหน้าคิดหลังอย่างมากว่าจะให้ปีงบประมาณ 2550 มีงบสำหรับการสร้างรถไฟฟ้า 3 สายหรือไม่ อย่างไร       เพราะเป็นงบประมาณจำนวนสูงมากเป็นแสนล้าน และเป็นงบประมาณผูกพันคือต้องเตรียมการใช้หนี้ด้วย เพราะเป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) ที่สำคัญการสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยใช้ระบบออกแบบไปสร้างไป พร้อมกับให้บริษัทที่ประมูลได้เป็นคนพิจารณาเรื่องเส้นทาง รูปแบบ บนดิน ใต้ดิน  ตลอดจนการเวนคืนที่ดิน ซึ่งเป็นประเด็นทางด้านเทคนิค เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากที่ประชาชนควรได้รับรู้และติดตาม  สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดพิจารณาเพิ่มเติมในกรณีนี้คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งก่อนสร้าง ระหว่างสร้าง และหลังจากเปิดใช้งานแล้ว โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพ


 


สุขภาพ หมายถึงสุขภาวะซึ่งเป็นความหมายที่นอกเหนือไปจากเรื่องโรค การไม่เป็นโรคเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงสภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ เป็นการมองสุขภาพว่าเป็นชีวิตที่มีความสุข มีคุณภาพ เริ่มจากมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง คล่องแคล่ว ไม่เป็นโรค ไม่พิการ มีเศรษฐกิจจำเป็นพอเพียง มีสภาวะแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตราย  ทางด้านจิตใจก็คือการมีความสุข รื่นเริง มีภาวะที่มีสติ มีปัญญา มีความเอื้ออาทรต่อกัน ทางสังคมคือการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขทั้งในครอบครัว ในชุมชน มีอิสระภาพ เสรีภาพ มีสันติภาพ มีบรรยากาศของการพัฒนาเรียนรู้อยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพชีวิต ทางจิตวิญญาณคือภาวะที่มีความปิติสุข อิ่มเอิบใจ เมื่อได้กระทำคุณความดีต่อตนเอง คนใกล้ชิด สังคมและประเทศชาติ (สรุปความจากหนังสือ "การประเมินผลกระทบทางสุขภาพเพื่อการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ:แนวคิด แนวทาง และแนวปฏิบัติ" โดย เดชรัต สุขกำเนิด, วิชัย เอกพลากร และปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จัดพิมพ์โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สิงหาคม 2545)


 


การสร้างรถไฟฟ้าเกี่ยวอะไรกับสุขภาพก็น่าสงสัยอยู่ โดยเมื่อการมีรถไฟฟ้าย่อมทำให้คนกรุงเทพฯ มีทางเลือกในการเดินทางได้มากขึ้น ลดสภาวะรถติดได้ ตลอดจนไฟฟ้าไม่น่าจะมีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  หากพิจารณาเพียงแค่นี้ก็ไม่ครอบคลุมความหมายสุขภาพดังกล่าวมาเบื้องต้น และต้องคำนึงถึงเป้าหมายสูงสุดของการจัดการขนส่งมวลชนในเมืองหลวงด้วย กรุงเทพฯ มีคนอาศัยอยู่เกินกว่าสิบล้านคนสภาพการจราจรคือปัญหาหนักหนาสาหัส เป็นแหล่งมลพิษ การเผาผลาญเชื้อเพลิง การสร้างความเครียด การสร้างความเห็นแก่ตัวในการแย่งกันใช้บริการ เหล่านี้คือผลต่อสุขภาพของคนในเมืองหลวง


 


การสร้างรถไฟฟ้ามีเป้าหมายเพื่อลดความคับคั่งของการจราจร การลดมลพิษ ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ทั้งนี้จึงต้องพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าเป็นนโยบายสาธารณะของรัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทางด้านการขนส่งมวลชน ดังนั้น เป้าหมายของรถไฟฟ้าคือลดการใช้รถส่วนตัว ประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ปลอดภัย และอยู่ในราคาที่เหมาะกับรายได้  เส้นทางของรถไฟฟ้าต้องไม่ไปทำลายทัศนวิสัย หรือก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจที่มีรางรถไฟพาดผ่านหลังคาบ้าน หน้าต่างบ้าน หรือแม้แต่อยู่เหนืออนุสาวรีย์ที่เป็นอนุสรณ์สถานของคนในชุมชน รวมถึงสถานีรถต้องเอื้อต่อคนส่วนใหญ่ในการเข้าไปใช้บริการ การมีบริการรถเมล์มาส่งถึงสถานีรถไฟฟ้า การมีลานจอดรถที่เหมาะสม เพียงพอ และปลอดภัย การมีลิฟต์ บันไดเลื่อน สัญญาณบอกทิศทางสำหรับผู้พิการต่างๆ รวมถึงเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ตั้งครรภ์  


 


กระบวนการก่อสร้างทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพของคนมากน้อยเพียงใด ส่งผลระยะยาวหลังจากการมีรถไฟฟ้านั้นๆ ใช้ไปแล้วอย่างไร มีกระบวนการลดผลกระทบและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร  มีการวางแผนการขนส่งมวลชนทั้งระบบที่เชื่อมโยงกันมากน้อยเพียงใด เช่น การมีโครงการเส้นทางจักรยาน ลานจอดจักรยานเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจรไปพร้อมๆ กับการสร้างรถไฟฟ้า การจัดเส้นทางรถเมล์ เรือ และเส้นทางเดินเท้าที่เชื่อมต่อกันผ่านสวนสาธารณะ เพื่อลดการใช้รถและเสริมสร้างสุขภาพจิตให้คนในเมืองหลวง การมีกฎระเบียบที่งดการใช้รถในบางพื้นที่ บางจุด  การจัดทำที่จอดรถสาธารณะ เพื่อห้ามจอดรถบนถนน  เป็นต้น 


 


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นหากได้มีการดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment ,HIA) ก่อนการจัดทำโครงการสาธารณะขนาดใหญ่  ซึ่งเป็นกระบวนการที่แตกต่างจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment  Impact  Assessment ,EIA) ซึ่งถูกระบุใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่ต้องจัดทำและเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งเป็นการประเมินในระดับโครงการและเป็นข้อบังคับให้โครงการนั้นๆ ต้องลงทุนจัดทำการประเมินเองแล้วส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณา  เป็นการประเมินไปในแต่ละโครงการ ซึ่งอาจมีข้ออ่อนในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ได้เป็นการประเมินในเชิงนโยบายสาธารณะ  ไม่ได้มีกระบวนการประเมินโดยประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เอง 


 


กรณีตัวอย่างสนามบินสุวรรณภูมิที่มีปัญหาเรื่องเสียงดัง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพกาย ใจ และสุขภาพจิต ต่อไปในระยะยาวได้ สิ่งเหล่านี้ประชาชนควรได้ตระหนักและเตรียมทางออกที่เหมาะสมให้กับตนเองไว้ก่อนล่วงหน้า ทางการท่าอากาศยาน แจ้งว่ารับผิดชอบโดยอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนออก ซึ่งฟังดูเหมือนง่ายและน่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นจริงได้หรือ การท่าอากาศยานเตรียมงบประมาณสำหรับส่วนนี้ไว้เพียงใด และชาวบ้านต้องรอนานอีกเท่าไร 


 


บทเรียนจากสนามบินสุวรรณภูมิ สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนเป็นเรื่องจำเป็นในการดำเนินนโยบายสาธารณะต่างๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชน นโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำ นโยบายด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น การสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติมนั้นควรพิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพอย่างจริงจังและมองเป็นนโยบายภาพรวมด้านการขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าจะมีประโยชน์อะไร หากสร้างแล้วคนที่มีโอกาสได้ใช้คือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้น หรือเส้นทางมีเฉพาะแหล่งธุรกิจ ไม่เอื้อต่อคนใช้รถเมล์ให้สามารถเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าได้ หรือไม่มีการเพิ่มลานจอดรถ กลายเป็นว่าคนมีรถก็ยังต้องขับไปทำงานเหมือนเดิม ที่สำคัญบนเส้นทางที่รถไฟผ่านได้เกิดผลกระทบกับประชาชนด้านสุขภาพอย่างไร ประชาชนบนเส้นทาง คนกรุงเทพฯ จะมีโอกาสร่วมประเมินผลกระทบได้หรือไม่อย่างไร  เป็นสิ่งที่ประชาคมกรุงเทพฯ ต้องส่งเสียงของตนบ้างแล้ว แม้จะอยู่ในประกาศกฎอัยการศึก เพราะนี่เป็นกระบวนการทางการเมืองภาคประชาชน ที่นอกเหนือจากการเมืองระบบตัวแทนเท่านั้น


 


หากต้องการทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็ต้องหาโอกาสไปฟังการเสวนาฟรี ในวันที่ 28 ตุลาคม 2549 นี้ที่ อิมแพค เมืองทองธานี ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ในเนื้อหาว่าด้วย "เศรษฐกิจพอเพียง สู่ความอยู่เย็นเป็นสุข" ก็เชิญชวนไปฟังกันนะคะ เขามีงาน 3 วันตั้งแต่วันที่ 27 ถึง 29 ตุลาคมนี้ค่ะ