Skip to main content

อานาปาณสติเบื้องต้น

คอลัมน์/ชุมชน

เรจินัลด์ เรย์  นำการปฏิบัติ


วิจักขณ์ พานิช แปลและเรียบเรียง


 


 



 


แบบฝึกหัดที่ ๑: อานาปาณสติเบื้องต้น    


 


"อานาปาณสติ" เป็นเทคนิคการฝึกภาวนาพื้นฐานที่ใช้กันทั่วไปในหลายสายปฏิบัติของพุทธศาสนา การใช้ลมหายใจช่วยในการฝึกฝนความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่าลมหายใจเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลึกลับน่าพิศวง  ลมหายใจ ก็คือร่างกายของเรานั่นเอง แต่เป็นร่างกายในลักษณะของการสัมผัสรับรู้การดำรงอยู่ในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น ทุกลมหายใจที่เราสูดเข้าไปยังส่วนต่างๆ เต็มไปด้วยพลังชีวิตอันเปี่ยมไปด้วยญาณทัศนะ ที่หากเราให้ความใส่ใจกับมันมากพอ เราก็จะสามารถเรียนรู้ทุกแง่มุมของชีวิตบนการเดินทางในสังสารวัฎอันยาวนาน


 


แม้คุณจะเคยมีประสบการณ์กับการฝึกอานาปาณสติมาก่อนแล้ว ก็ขออย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าแบบฝึกหัดนี้จะไม่มีอะไรน่าสนใจ เพราะหากเราเริ่มต้นฝึกด้วยพื้นฐานของการมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวอย่างแท้จริง เราก็จะได้ค้นพบและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทุกๆ ครั้ง


 


เริ่มต้นด้วยการนั่งขัดสมาธิ เลือกท่านั่งที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด ผู้คนในสังคมสมัยใหม่มักจะพบกับปัญหายามที่ต้องนั่งบนพื้นราบ เพราะวิถีชีวิตประจำวันที่นั่งบนเก้าอี้จนเคยชิน ในกรณีนั้นคุณอาจจะใช้เบาะสมาธิที่มีความสูงที่เหมาะสม รองบริเวณกระดูกก้นกบให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายให้กับกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่า จากนั้นยืดแผ่นหลังให้ตรง ผ่อนช่วงแขน ส่วนมือทั้งสองข้างนั้นวางอย่างผ่อนคลายบนหัวเข่า ช่วงตัก หรือจะวางซ้อนกันก็ได้


 


ท่านั่งที่ถูกต้องจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เมื่อเราได้ฝึกไปสักระยะ ร่างกายจะเริ่มปรับตัวเข้ากับรูปแบบการฝึก ท่านั่งก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย เราจึงควรเริ่มต้นด้วยการสำรวจท่านั่งที่เหมาะสมก่อนการฝึกทุกๆครั้ง เป้าหมายของการปรับท่านั่งให้เหมาะกับตนเองไม่ใช่เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูขลัง  แต่ท่านั่งที่ดีจะนำเราไปสู่การสร้างความสัมพันธ์กับพลังแห่งการตื่นรู้ในกายอย่างถูกต้อง หัวใจของท่านั่งอยู่ที่ความรู้สึกผ่อนคลาย ความยืดหยุ่น และความมั่นคง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปทรมานนั่งตัวเกร็ง หลังขดหลังแข็งอยู่ในท่านั่งที่เราไม่ถนัด


 


เมื่อได้ท่านั่งที่เหมาะสมกับตนเองแล้ว เราจึงเริ่มตามความรู้สึกของลมหายใจที่เลื่อนไหลกระทบปลายจมูก รู้สึกถึงความอุ่นที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อลมค่อยๆ เข้าสู่ร่างกาย และรับรู้ถึงลมที่ค่อยๆเย็นลงเมื่อออกจากร่างกาย พยายามสูดหายใจให้เต็มปอดเพื่อสร้างความรู้สึกเปิดรับและผ่อนคลาย ค่อยๆ ตามลมหายใจเข้าออก ด้วยความมีสติอยู่ในทุกปัจจุบันขณะ


 


หากจิตเริ่มฟุ้งด้วยภาพความคิดในอดีตและจินตนาการในอนาคต เราสามารถนำเทคนิคการเตือนสติตนเอง โดยเมื่อรู้ตัวว่าเริ่มคิด ให้บอกกับตัวเองในใจว่า "คิด!" แล้วจึงปล่อยวางการยึดมั่นในความคิดนั้น การเตือนตัวเองเช่นนี้จะทำให้เราสามารถตัดวงล้อแห่งความคิดฟุ้งซ่านแล้วสามารถกลับมามีสติอยู่ที่ลมหายใจได้อีกครั้ง


 


จากการฝึกสติที่ปลายจมูก ค่อยๆสังเกตถึงพลังแห่งการตื่นรู้ภายในที่ไหลเวียนอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย หากสังเกตให้ดี เราจะรู้ว่าพลังแห่งการตื่นรู้ที่ว่ายังรวมถึงพื้นที่ว่างภายนอกรอบตัวเราอีกด้วย การค้นพบนี้จะนำเราไปสู่คำถามที่ว่า ร่างกายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?


 


ยิ่งเราสามารถผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนได้มากเท่าไหร่ การตามลมหายใจที่ปลายจมูกก็ดูจะส่งผลต่อการสร้างสัมพันธ์กับพลังแห่งการตื่นรู้ในกายได้มากขึ้นเท่านั้น และที่น่าแปลกก็คือ ยิ่งเรามีสติอยู่ที่ลมหายใจมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งค้นพบจุดที่แข็งเกร็งตามส่วนต่างๆ ที่ร้องเรียกให้เราได้ปล่อยวางและผ่อนคลาย นั่นคือความหมายของบ่มเพาะการมีสติอยู่กับเนื้อกับตัว


 


การฝึกอานาปาณสติบนฐานกายอย่างง่ายๆ เช่นนี้จะส่งผลให้เกิดกระบวนการการปรับสรีระของร่างกายสู่ความสมดุลเดิมตามธรรมชาติ แก่นภายในของร่างกายนั้นประกอบด้วยเส้นการไหลวิ่งของพลังงานบริเวณด้านหน้าของกระดูกสันหลัง จากกระดูกสะโพกถึงกระดูกศีรษะส่วนบน เส้นพลังงานที่ว่าจะค่อยๆปรากฏให้เราสัมผัสได้ก็ต่อเมื่อความตึงเครียดค่อยๆถูกปลดปล่อยออกไปทีละน้อย  สรีระตามธรรมชาติของการไหลเวียนแห่งพลังงานจะเพิ่มความสำคัญต่อการฝึกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการฝึกอานาปาณสติเช่นนี้จะนำผู้ฝึกไปสู่ความผ่อนคลายที่ลึกขึ้นจนคุณรู้สึกราวกับว่าขอบเขตข้อจำกัดทางกายภาพของร่างกายค่อยๆ อันตรธานไป จนเหลือเพียงพลังแห่งการตื่นรู้ที่ไหลวนตามการเข้าออกของลมหายใจเพียงเท่านั้น