Skip to main content

"หนาน* ตั๋น มณีโต" ผู้รังสรรค์สำนึกสีเขียว สู่ดอยอินทนนท์

คอลัมน์/ชุมชน

















































































นายตั๋น มณีโต ลูกจ้างประจำของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าชุดสื่อความหมายธรรมชาติ ได้ปฏิวัติความคิดของตนเอง จากการเป็นหัวหน้าสายตรวจ รับผิดชอบชุดลาดตระเวนจับกุมผู้กระทำผิดในเขตอุทยาน ซึ่งครั้งหนึ่งได้ปะทะกับกลุ่มผู้กระทำ ถูกยิงจนต้องสูญเสียดวงตาไป ๑ ข้าง แต่ด้วยความที่บวชเรียนมาหลายปี จึงเปลี่ยนจากความโกรธแค้นเป็นการไม่จองเวร ทำให้ใจเบาสบาย ไม่ขุ่นมัว พลิกผันแนวคิดใหม่ในการทำงานอย่างมีพลัง โดยทุ่มเทสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจกับชาวบ้าน จนได้ใจที่จะร่วมมือกันรักษาป่า และรักษาชีวิตสัตว์ป่าของชาวบ้านทุกหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

 

คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว ๖ คน คือ ดร.ทัศนีย์ อนมาน (ผู้เชี่ยวชาญศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ) ดร.โกมล แพรกทอง (รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า) ดร.บุญยงค์ เกศเทศ (อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย-ภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) คุณสุภาวดี หาญเมธี (กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการอำนวยการสื่อในเครือรักลูก) คุณอุดม วิเศษสาธร (อดีตผู้อำนวยการ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ปตท.) และดิฉัน ได้เข้าศึกษาการทำงานของนายตั๋น มณีโต (หนานตั๋น) ที่ดอยอินทนนท์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๗ ได้พบกับหนานตั๋นกับคณะทำงานสื่อความหมายธรรมชาติ และกรรมการชมรมเพื่อนดอยอินท์ ผู้เสนอผลงานของหนานตั๋น เพื่อรับรางวัลประเภทบุคคล คือ คุณกุล ปัญญาวงค์ ผู้จัดการชมรมฯ และม.ล.ปริญญากร วรวรรณ กรรมการชมรมฯ

 






















ประวัติของหนานตั๋น คือ เป็นลูกคนที่ ๕ จากจำนวนลูก ๘ คน ของพ่อแม่ ซึ่งมีฐานะค่อนข้างยากจน มีอาชีพทำนา ทำสวน รับจ้างเลี้ยงวัวควาย เกิดที่หมู่บ้านแม่แตง ตำบลยางคราม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดเขตพื้นที่อุทยานฯ

 

ในวัยเด็ก หนานตั๋นไม่ได้เข้าโรงเรียน เพราะต้องช่วยพ่อทำงานเลี้ยงครอบครัว โดยเลี้ยงควาย ตามพ่อเข้าป่าตัดไม้ไผ่ หาของป่าไปขาย บุกเบิกพื้นที่นาเพื่อปลูกข้าว

 

การศึกษาของ ด.ช.ตั๋น ได้จากการเรียนหนังสือกับพระที่พ่อนิมนต์มาจำวัดในหมู่บ้าน บางครั้งพ่อก็สอนให้ และเรียนด้วยตนเอง จนสอบได้ ป. ๔ ตามหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่

 

เมื่ออายุ ๑๑ ปี ด.ช.ตั๋น มาอยู่ที่วัดซึ่งห่างจากบ้าน ๒๐ กิโลเมตร เดินทางด้วยเท้า ได้ฝึกอ่าน เขียน สวดมนต์อยู่ ๓ ปี จึงได้รับอนุญาตให้บวช แล้วเรียนหนังสือจากครูที่วัดจ้างมาสอนให้กลุ่มเด็กวัดจนสอบได้ ป.๗ ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน แล้วบวชต่อจนอายุ ๒๒ ปี จึงกลับบ้านมาทำนา ทำสวน










 

 

หนานตั๋นได้เริ่มงานกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยสมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำหน้าที่ถางหญ้า ต่อมาได้รับหน้าที่ออกลาดตระเวนป่า จนรู้จักพื้นที่อย่างดี ทำงานครบ ๕ ปีแล้ว หนานตั๋นสอบบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับหน้าที่หัวหน้าสายตรวจ ดูแลชุดลาดตระเวนจับกุมผู้กระทำผิด โดยทำงานอย่างเข้มแข็ง จริงจัง ดำเนินคดีด้วยตนเองจนคดีถึงที่สุด พร้อมหลักฐานยืนยันชัดเจน ได้รับการแจ้งเบาะแสจากชาวบ้านตลอดมา

 

พ.ศ. ๒๕๓๕ หนานตั๋นพร้อมชุดสายตรวจ ๖ นาย ได้ล้อมจับผู้ล่าสัตว์ เกิดการปะทะกัน หนานตั๋นถูกยิงที่บริเวณใบหน้า กว่าจะเดินทางออกจากป่า ซึ่งต้องเดินเท้าถึง ๓ ชั่วโมง จึงมาถึงทางรถ และต่อมาถึงโรงพยาบาลที่เชียงใหม่ แพทย์แจ้งว่าต้องสูญเสียดวงตาข้างซ้าย ทำให้หนานตั๋นพบจุดเปลี่ยนของแนวคิดในการทำงาน โดยได้บทเรียนว่า ทางออกของการรักษาป่าและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การจับกุมปราบปราม เพราะทุกครั้งที่ได้รับแจ้งเหตุ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงก็พบว่า มีความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว ต้นไม้ถูกโค่นไปแล้ว สัตว์ป่าถูกยิงตายแล้ว คำตอบที่แท้จริง คือ การรวมดวงใจของชาวบ้าน ที่จะรวมพลังกันดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน ด้วยความรัก ด้วยความเข้าใจ

 

หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว อุทยานฯ เห็นใจว่า หนานตั๋นเหลือดวงตาเพียงข้างเดียว จึงโยกย้ายให้ทำงานประจำสำนักงาน แต่หนานตั๋นขอทำงานสายตรวจเหมือนเดิม แต่ปรับวิธีการโดยเข้าหาผู้นำ หมอผี และชาวบ้านทุกหมู่บ้านทั้ง ๒๙ แห่งในเขตอุทยานฯ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจถึงกติกาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ขอความร่วมมือในการดูแลรักษาป่า รวมเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๔๐

 

ผลงานการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านของหนานตั๋นอย่างจริงจัง ทำให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานเห็นประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของชาวบ้าน จึงตั้งทีมประชาสัมพันธ์ ทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น สนับสนุนสื่อ อุปกรณ์การสอน ค่าน้ำมันรถ ส่วนค่าอาหารที่กินร่วมกับชาวบ้าน หนานตั๋นซึ่งเป็นหัวหน้าชุดมักต้องรับภาระเอง

 

กลุ่มเยาวชนเป็นเป้าหมายที่หนานตั๋นมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ โดยตั้งทีมนักสื่อความหมายธรรมชาติ ทำงานกับโรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวม ๓๑ แห่งในพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอแม่แจ่ม อำเภอจอมทอง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ สอนเรื่องนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า ฝึกให้สัมผัสโดยตรงจากห้องเรียนธรรมชาติ และจัดค่ายพักแรม โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน

 

ฟังผลงานความคิดของหนานตั๋นแล้ว คณะกรรมการได้รับประทานอาหารกลางวันที่เอร็ดอร่อย คือ น้ำพริกหนุ่ม แกงแคที่อุดมด้วยสมุนไพรพื้นเมือง ผักลวก ทำโดยฝีมือของภรรยาคู่ใจของหนานตั๋นและลูกสาวกับกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งเป็นกองหลังที่หนุนช่วยงานของหนานตั๋นในทุกที่ ทุกเวลา

 

อิ่มท้องแล้ว คณะกรรมการฯ ได้เดินดูผลงานที่เกิดขึ้นจริงของหนานตั๋น ซึ่งงานแรกคือ " กลุ่มเด็กม้งรักนก" ที่เด็กม้งบ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์ ได้รวมกลุ่ม ชวนกันมาศึกษาดูนกอย่างจริงจัง ทิ้งหนังสติ๊กยิงนกมาใช้กล้องส่องนก เพื่อศึกษาชีวิตนก โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีใจรัก อย่างหมอหม่อง (นพ.รังสฤษดิ์ กาญจนวณิชย์) เป็นพี่เลี้ยง จนสามารถเป็นมัคคุเทศก์ นำนักท่องเที่ยวดูนก และมีรายได้เพื่อเป็นค่าเล่าเรียนเป็นประจำ

 

งานที่สองคือ การไปเยี่ยมหน่อเย้ง อดีตพรานล่าสัตว์ชาวม้ง ซึ่งได้เปิดใจว่าตนเลิกล่าสัตว์ เพราะการเข้าถึงจิตใจ ชนะใจโดยหนานตั๋น ซึ่งมีมนุษยสัมพันธ์ดี ทำให้ชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าหน้าที่อุทยาน ร่วมมือกันแจ้งเบาะแสการล่าสัตว์ การทำลายป่า ช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำ ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์กวางผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายาก

 

ในหมู่บ้านขุนกลาง ยังมีพืชพื้นบ้านอยู่บ้างคือ ฝรั่งขี้นก เถามะระหวาน ดอกไม้พื้นเมืองสีสดใส หน่อเย้งเล่าว่าหลังจากที่ชาวบ้านเลิกล่าสัตว์ บางทีก็มีเก้งหรือหมูป่าหลงเข้ามาเดินในหมู่บ้าน

 

ในหมู่บ้านขุนกลาง ยังมีพืชพื้นบ้านอยู่บ้างคือ ฝรั่งขี้นก เถามะระหวาน ดอกไม้พื้นเมืองสีสดใส หน่อเย้งเล่าว่าหลังจากที่ชาวบ้านเลิกล่าสัตว์ บางทีก็มีเก้งหรือหมูป่าหลงเข้ามาเดินในหมู่บ้าน พ่อเฒ่าแม่เฒ่าชาวม้ง ซึ่งอยู่กันเพียงลำพังในกระท่อมไม้หลังเก่า ( เพราะลูก ๆ แยกครอบครัวไปแล้ว) ก็รู้จักหนานตั๋นเป็นอย่างดี เพราะหนานตั๋นพากเพียร เข้าถึงจิตใจของชาวบ้านทุกคน เหมือนเป็นญาติสนิท

 














 














ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชุมชนปกาเกอะญอ คณะกรรมการ ฯ ได้เดินเยี่ยมตลาดม้ง ซึ่งมีหญิงชาวม้ง ( เป็นส่วนใหญ่) มานั่งขายสินค้า ได้แก่ ผัก ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาว ที่ได้รับการส่งเสริมโดยเจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงฯ รวมทั้งผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ดูคล้าย ๆ ตลาดบนดอยแม่สลอง ที่เชียงราย เป็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากชุมชนที่เคยผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง เพื่อการบริโภคในครัวเรือน มาเป็นการผลิตเพื่อการขายก๋วย ( ตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่กับหวาย) ที่เคยใส่พืชผลจาก นา สวน เปลี่ยนมาใส่ดอกไม้ ใส่ท้ายรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อนำไปฝากพ่อค้าที่รับซื้อส่งไปขายต่อที่กรุงเทพฯ

 

เสร็จจากชมตลาดม้งแล้ว คณะกรรมการฯ นั่งรถต่อไปยังบ้านชาวปกาเกอะญอ ชื่อบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งมีนาขั้นบันไดผืนใหญ่ เขียวขจี แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ บ้านของชาวปกาเกอะญออยู่อย่างเรียบง่าย ทั้งหมู่บ้านดูเงียบสงบ

 

คุณกุล บอกว่าจะพาพวกเราไปกินกาแฟที่ร้านอร่อยที่สุดในโลก ดิฉันนึกภาพไม่ออกว่ากลางป่าอย่างนี้ ร้านกาแฟจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

เราไปหยุดอยู่ที่เพิงบนเนินเขา ข้างกอไผ่กอใหญ่ และต้นไม้ร่มครึ้ม มีโต๊ะไม้ไผ่อยู่กลางหลังคามุงจาก ชายหนุ่มท่าทางคล่องแคล่ว ชื่อ สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง เชิญให้พวกเรานั่ง แล้วพัดไฟเตาถ่านต้มน้ำในกาจนเดือด ตักกาแฟที่คั่วหอมกรุ่นใส่ถุง ชงใส่ถ้วยกระเบื้องให้พวกเราทุกคน พร้อมกับโถน้ำตาลทรายแดงให้เติมตามใจชอบ

 

เขาเล่าว่ากาแฟนี้ปลูกแบบอินทรีย์ ๑๐๐ % โดยชาวปกาเกอะญอหมู่บ้านนี้ ใช้สูตรการคั่วและผสมกาแฟที่คิดค้นขึ้นมาเป็นพิเศษ จึงผลิตได้จำนวนจำกัด ส่งขายให้ลูกค้าเจ้าประจำทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

ผู้ที่มาชิมกาแฟถึงถิ่นผลิต เขาไม่คิดค่าชิมกาแฟ แต่ขายกาแฟที่คั่วเสร็จแล้วเพียงกระปุกละ ๑๐๐ บาท พวกเราจึงซื้อกันทั่วหน้าคนละ ๒ - ๓ กระป๋อง

 

เสร็จภารกิจที่น่าประทับใจ ด้วยความชื่นชมในความมุ่งมั่นพากเพียรของหนานตั๋น ผู้ปฏิวัติการทำงานของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จากผู้รักษากฎหมาย ผู้ควบคุมกฎกติกา มาเป็นผู้ที่สร้างความเข้าใจ นั่งอยู่ในดวงใจของชาวบ้านเพื่อร่วมกันรักษาป่า

 

ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า ศึกษาแนวการทำงานของหนานตั๋น และนำไปปรับใช้ทั่วทุกอุทยานในประเทศไทยนะคะ

 
* " หนาน" เป็นภาษาของภาคเหนือตอนบน หมายถึง ชายผู้ได้บวชเรียนมาแล้วเป็นเวลาหลายปี เหมือนกับที่ภาคกลางเรียกว่า " ทิด"