Skip to main content

พืชสวนโลก : สวนญี่ปุ่น

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงนี้ดอกปีบ หรือกาสะลองกำลังบานรับฤดูกาล สำหรับฉันแล้วดอกปีบถือเป็นเพื่อนสนิทที่ต้องรอคอยการกลับมาทุกปี ช่วงนี้เชียงใหม่อากาศดี เวลาขี่รถมอเตอร์ไซด์จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นดอกปีบที่อยู่ในทุกหนทุกแห่ง ลองสูดลมหายใจเข้าไป แล้วสัมผัสกับอากาศรอบกายจะรู้ว่าธรรมชาตินั้นดีที่สุดแล้ว ดอกปีบฤดูกาลนี้เป็นตัวแทนของคนเจียงใหม่ที่กำลังเบ่งบานต้อนรับงานใหญ่อย่างพืชสวนโลก


 


มีสวนหลาย ๆ สวนที่คนรักต้นไม้อย่างฉันเห็นว่าน่าดู  สวนแรกคือสวนของประเทศญี่ปุ่น  ญี่ปุ่นจัดแสดงสองสวน คือสวนในนามของประเทศ นำเสนอ สวนแห่งความโชคดี  ซึ่งน่าจะเป็นโชคดีของคนไทยจริง ๆ ที่เราจะได้มีโอกาสเห็นภูเขาไฟฟูจิ  และที่น่าตื่นเต้นที่สุดเห็นจะเป็น ดอกบัวโอกะฮาสุ  ที่เพาะจากเมล็ดอายุกว่า 2 พันปี  แต่เดิมจัดแสดงเพียงสองแห่งในโลกเท่านั้น คือ ราชวังอิมพีเรียลและมหาวิทยาลัยโตเกียว และนำมาจัดแสดงในงานมหกรรมพืชสวนโลก


 


นอกจากนี้ภายในสวนได้จำลองหุบเขาหมอกคิริทานิ เกาะเต่าแห่งอายุที่ยั่งยืน และเกาะกระเรียนแห่งความโชคดีมาไว้ที่นี่ด้วย


 


ตรงภูเขาไฟฟูจิจำลอง บ่อน้ำ และหินญี่ปุ่นนั้น เขาเขียนข้อความไว้ว่า "รู้ความพอ"  ซึ่งเป็นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไว้ด้วย  ยังมีสวนภายในอาคารของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเน้นศิลปะของการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่น โดยมีการเปลี่ยนดอกไม้และการตกแต่งทุกสัปดาห์


 


อีกสวนหนึ่งคือสวนในนามจังหวัดเฮียวโกะ   ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความประทับใจเมื่อ


คราวพวกเขาประสบกับภัยธรรมชาติ แล้วมีอาสาสมัครชาวไทยเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาก่อนประเทศอื่นๆ  เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจของคนไทย  ในงานนี้ด้วยความร่วมมือระหว่าง 3 จังหวัดของญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดเฮียวโกะ เกียวโต และโอซากา จึงได้ร่วมกันสร้าง สวน "คันไซ" (Kansai) บนพื้นที่ 500 ตร.ม. โดยเรียกว่าเป็นการตกแต่งสวนในสไตล์ "คาเระซันซุย" (Karesansui) ใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมโดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่การตกแต่งด้วยรั้วไม้ไผ่ หินที่ปูเป็นทางเดิน และสวนหิน การจัดแสดงครั้งนี้ต้องการให้ผู้ที่เข้ามาชมสวนได้ดื่มด่ำกับจิตวิญญาณของสวนแบบคันไซ


 


นอกจากนั้น จุดเด่นของสวนยังอยู่ที่การแสดงถึงความเป็นเมืองอันเจริญรุ่งเรืองของโอซาก้า โดยการสร้างท่าเรือ ความสง่างามของเฮียวโกะ สะท้อนจากการสร้างทางเดินยาวเข้าไปจากทางเข้าของบ้านสไตล์ดั้งเดิมที่เรียกว่า "มาชิย่า" (Machiya) และความสงบของเฮียวโกะที่สะท้อนออกมาจากความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัด


 


ไม่มีรูปสวนญี่ปุ่นมาให้ดู จึงขอนำเสนอป่าและหมอกบนดอยสุเทพ ถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2548


เวลาประมาณสิบโมงเช้า บอกให้รู้ว่าแค่แหงนหน้ามองขึ้นไปที่พระธาตุ  ก็ยังพอมีความหวังถึงสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนเมืองอยู่ ใต้พระธาตุลงมามีขุนเขาใหญ่ที่ยังมีป่าอันอุดมสมบูรณ์ค้ำจุนโลกใบใหญ่กลางเมืองเล็กๆ เมืองนี้ไว้