Skip to main content

สภาวะโลกร้อน อากาศเปลี่ยนแปลง มหันตภัยที่ทุกคนต้องช่วยแก้

คอลัมน์/ชุมชน

สภาวะฝนตกหนักในภาคเหนือตั้งแต่ก่อนสงกรานต์จนถึงบัดนี้เข้าเดือนที่เจ็ดแล้ว โดยพายุโซนร้อน ไต้ฝุ่น ดีเปรสชั่น ที่ถาโถมเข้ามาไม่ขาดสาย ทำให้เดือนตุลาคมกลายเป็นเดือนวิปโยคของเกือบ ๕๐ จังหวัดทั่วประเทศที่ถูกกระแสน้ำถล่มจนบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ชีวิตผู้คน สัตว์เลี้ยง เมืองและศูนย์เศรษฐกิจ การค้า เสียหายจนเกินคาด ยังไม่รวมถึงสภาพจิตใจที่เคร่งเครียด หดหู่ เศร้าหมองกับสภาพอุทกภัยและดินฟ้าอากาศอันแปรปรวน


 


สภาวะโลกร้อนและอากาศเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์ทั่วโลก แต่ความตระหนักถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตินี้ยังไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายของรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่จะให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สถาบันการเงินระดับชาติ ระดับโลกที่มุ่งแต่การเพิ่มขึ้นของตัวเลขผลกำไรและการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อคนไม่กี่คนไม่กี่ตระกูล


 


ความรับรู้และตระหนักถึงปัญหาของบุคคลทุกระดับก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติ เปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนวิถีการผลิต การบริโภค ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยหลัก  ศาสนธรรมของทุกศาสนา ที่สอนให้มนุษย์บริโภคด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ไม่เบียดเบียน ไม่โลภ ไม่สะสมมากเกินควร ไม่เอาเปรียบ ดังแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงของปวงชนชาวไทยทรงพร่ำสอนพสกนิกรตลอดมา


 


หนังสารคดีเรื่อง AN INCONVENIENT TRUTH ที่อดีตรองประธานาธิบดีอัลกอร์ ของอเมริกาเป็นตัวแสดงนำ ได้แสดงถึงสภาวะโลกร้อนและอากาศเปลี่ยนที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก สาเหตุและแนวทางแก้ไขทั้งในระดับบุคคล ระดับประเทศ และระดับโลก น่าเสียดายที่เมืองไทยขณะนี้ฉายที่โรงหนังสกาลาแห่งเดียว (โดยโฆษณาว่าถ้าไปดูเป็นหมู่คณะ ลดราคาให้พิเศษ)


 


รัฐบาลชุดใหม่ของท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ควรจะดูหนังเรื่องนี้ แล้วส่งเสริมให้หน่วยงานทั้งหลายได้ดูกันทั่วเพื่อจะได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาได้ตรงเหตุ


 


ยิ่งถ้าหนังเรื่องนี้ได้ออกรายการโทรทัศน์หลาย ๆ ช่อง หลาย ๆ รอบก็ยิ่งดี เพื่อประชาชนจะได้ดูกันทั่วประเทศ แล้วเกิดสำนึกใหม่ พฤติกรรมใหม่ ที่ช่วยกันรักธรรมชาติเหมือนท่านนายกฯ เพื่อธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ที่หลากหลายอันทรงคุณค่าของไทยจะได้ฟื้นตัวขึ้นมา ชุบชีวิตคนไทยให้สุขสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่


 


การประชุมเรื่อง "ความหลากหลายทางชีวภาพกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ


สหภาพยุโรป" ที่ปารีส ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ กันยายน ๒๕๔๙ หากผู้เข้าประชุมเกือบ ๔๐๐ คน จากทุกทวีปได้นำสาระจากการประชุมไปผลักดันให้เกิดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติที่เหมาะสมในทุกระดับ รวมทั้งสื่อสารให้เกิดความเข้าใจอย่างกว้างขวาง คงจะช่วยแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและอากาศเปลี่ยนแปลงได้มาก แม้จะต้องใช้เวลาพอสมควร


 



 


น่าชื่นชมที่ IUCN (THE WORLD CONSERVATION UNION) หรือสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกับสหภาพยุโรป (EUROPEON UNION) ได้เชิญผู้บรรยายและผู้เข้าประชุมจากหลากหลายสถาบัน โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เกษตร สุขภาพและการพัฒนา มาถึง ๑๐ ประเทศ เป็นรัฐมนตรีหญิง ๕ คน คือรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ไนจีเรีย ซูดาน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และกรีนแลนด์


 



 


รัฐมนตรีผู้ชายมาจาก ๕ ประเทศ คือ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เคนย่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจากเปรู รัฐมนตรีกระทรวงน้ำจากโบลิเวีย รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมจากฟินแลนด์ และรัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยา กับการพัฒนาที่ยั่งยืนจากฝรั่งเศส


 


บรรยากาศการประชุม ๓ วัน เอื้อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยทุกเช้าผู้เข้าประชุมซึ่งกระจายกันพักตามโรงแรมต่าง ๆ จะทยอยมาถึงศูนย์การประชุมตั้งแต่ก่อน ๙.๐๐ น.มีน้ำชา กาแฟ น้ำผลไม้ ขนม ไว้บริการ ช่วงพักครึ่งเช้า ช่วงอาหารกลางวัน และช่วงพักครึ่งบ่าย เป็น ๔ ช่วงเวลาของการพบปะสังสรรค์ รวมทั้งการเลี้ยงต้อนรับตอนเย็นวันแรกกับเลี้ยงส่งตอนเย็นในวันสุดท้าย


 



 



 



 


เจ้าภาพได้จัดนิทรรศการที่น่าสนใจให้ชมที่ห้องโถง โดยเปลี่ยนเนื้อหาทั้ง ๓ วัน ดิฉันสนใจทั้งดูนิทรรศการและอยากรู้จักเพื่อนใหม่ จึงดูนิทรรศการได้ไม่เต็มอิ่มนัก และได้คุยกับเพื่อนใหม่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะคุยกับเพื่อนหญิงจากทวีปอัฟริกา และจากประเทศหมู่เกาะที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมในมหาสมุทรแปซิฟิก และอเมริกากลาง ซึ่งไม่ค่อยได้มีโอกาสได้พบกัน


 


เนื้อหาของนิทรรศการ น่าสนใจมาก เช่น เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพกับโภชนาการ ระบุว่าตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ในโลก อาหารของมนุษย์มาจากความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มาจากการเก็บของป่า และล่าสัตว์ป่า แล้วจึงพัฒนามาเป็นการทำเกษตรที่มีความหลากหลายของระบบเกษตร และหลากหลายชนิดของพืชพันธุ์ท้องถิ่น อันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์


 


พันธุ์พืชท้องถิ่นทั่วโลกที่ได้บันทึกไว้มีไม่น้อยกว่า ๖,๓๐๐  ชนิด ซึ่งจำนวน ๑,๓๕๐ ชนิด อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ หรือบางอย่างได้สูญพันธุ์ไปแล้ว


 


 "ธรรมชาติไม่เคยทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ไม่เคยสร้างพืชเพียงชนิดเดียวมากๆ (อย่างที่มนุษย์ยุคทุนนิยมทำกัน : ผู้เขียน) และจะไม่มีวันทำเช่นนั้น แม้ในอนาคต" เป็นคำคมที่เกษตรกรคนสำคัญชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้


 


นิทรรศการเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพกับการประมง กล่าวไว้ว่า "ปลาไม่เห็นเบ็ด เห็นแต่เหยื่อ (ที่ติดอยู่ปลายเบ็ด : ผู้เขียน)


 


มนุษย์ไม่เห็นอันตราย เห็นแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตน" (สุภาษิตของชาวแมนจู)


 


สัตว์ทะเล ๗๐ % ถูกจับมากเกินควรด้วยวิธีการที่เป็นการทำลายล้างและจับในอัตราที่เกินกำลังที่จะฟื้นตัวเกิดขึ้นใหม่ได้ "จงทำการประมงให้น้อยลง แต่ใช้วิธีการที่ดีขึ้น อนุรักษ์และยั่งยืนมากขึ้น"


 


มนุษย์ ๘๔๐ ล้านคนในโลก


ทุกข์ยากเพราะความหิวโหย


ธรรมชาติและการเกษตรอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาหลายพันปี


อากาศและระบบนิเวศหล่อเลี้ยงพันธุ์พืชในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งมีวัฒนธรรมที่เคารพ


ธรรมชาติและตระหนักถึงขีดความจำกัดที่ธรรมชาติจะเลี้ยงมนุษย์ได้


ชีวิตเล็กๆได้เอื้ออำนวยให้ดินอุดมสมบูรณ์ การย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ การแพร่กระจายของละอองเกสรจากดอกโดยแมลง ช่วยให้ผลและพืชผักงอกงาม ความมั่งคั่งของความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้กิจกรรมการเกษตรของมนุษย์ได้ปรับปรุงพัฒนาด้วยดีตลอดมา


 


การประชุมวันแรกค่อนข้างเป็นทางการ จัดในห้องประชุมใหญ่มีพิธีเปิดโดยสารคดีสั้น เรื่อง "ธรรมชาติสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนา" ต่อด้วยการปาฐกถานำ หัวข้อ "ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อการพัฒนาของประเทศหุ้นส่วน" โดยผู้แทนของ ๓ ทวีป คือ อัฟริกา : รัฐมนตรีหญิงกระทรวงสิ่งแวดล้อมหญิงของไนจีเรีย อเมริกาใต้ : รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเอลซัลวาดอร์ ทวีปเอเชีย: เลขาธิการสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกัมพูชา


 


สาระสำคัญ คือ  ต้องเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่มุ่งพัฒนาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเฉพาะในประเทศ เปลี่ยนเป็นการมองภาพกว้างของปัญหาสิ่งแวดล้อม กำหนดนโยบายข้ามพรมแดน รวมกันในทวีป ในภูมิภาค ตัวอย่างที่ดี คือ ข้อตกลงร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ในอเมริกากลาง (CENTRAL AMERICA AGREEMENT) ที่จะจัดการความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกัน จัดการพื้นที่ชุ่มน้ำร่วมกัน กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกัน ทำการศึกษาวิจัย ติดตามประเมินผล การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคมและร่วมกันแก้ปัญหาความยากจน


 


รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสเน้นว่า ปัญหาที่ท้าทายพลเมืองโลกมี ๓ เรื่อง คือ ความยากจน ภาวะอากาศแปรปรวนกับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ  และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม


 


ทางแก้คือต้องกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาปัญหาและทางออกเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วส่งผลการวิจัยมากระตุ้นให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน และสร้างจิตสำนึกใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน


 


รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งโบลิเวียได้สะท้อนว่า โดยหลักการด้านสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนเกิดมามีสิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะมีอาหาร น้ำ มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิทธิที่จะมีงานทำ แต่ปัญหาในทวีปอเมริกาใต้ คือ แม่น้ำนานาชาติที่ใช้ร่วมกันหลายประเทศถูกทำลาย โดยบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ ทำให้แม่น้ำถูกทำลาย กลายเป็นแม่น้ำที่ไม่มีปลา คนท้องถิ่นใช้ประโยชน์ไม่ได้


 


รัฐธรรมนูญของประเทศจึงต้องกำหนดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรและน้ำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและในพื้นที่เกษตร ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือช่วยประชาชน จากการรุกรานของนายทุนข้ามชาติ


 


ผลการประชุมวันแรกทำให้ทุกคนได้เห็นปัญหาการพัฒนาที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก


 


ตอนหน้าจะเล่าเรื่องผลการประชุมวันที่สองกับวันที่สามนะคะ