Skip to main content

"เสียงของผู้ไร้สัญชาติ ไม่ใช่เสียงนกเสียงกา"

คอลัมน์/ชุมชน




















































































































































 

ดิฉันได้รับเชิญเข้าร่วมในเวทีรับฟัง สถานการณ์ปัญหาการไร้สัญชาติ ไร้สถานะบุคคลทางกฎหมาย เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๗ นี้ ที่สวนธรรมโกศล ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยคุณจิราภรณ์ บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เชิญกลุ่มเยาวชนและประชาชนที่มีปัญหาจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ มาให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปจัดทำยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติทั้งระบบในระดับชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นผู้รับผิดชอบ

 

เมื่อเดินทางมาถึงที่ประชุม ดิฉันประทับใจมากว่า คณะศรัทธาของวัดท่าตอน จัดสร้างศาลาหอประชุมไว้ที่สวนธรรมโกศล ได้อย่างเรียบง่าย สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ เป็นศาลาโล่งโปร่งหลังใหญ่ ทรงสูง มุงหญ้าคา เสาทำด้วยไม้ไผ่กับเสาต้นเล็ก ลมจึงพัดผ่านได้สะดวก พื้นเป็นดินปูเสื่อ ผู้เข้าประชุมทุกคนนั่งกับพื้น จุคนได้ ๔๐๐-๕๐๐ คน นับว่าลงทุนน้อย ใช้ทรัพยากรน้อย และเกิดประโยชน์ได้สูงสุดจริง ๆ

 

นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดเวทีครั้งนี้มีหลายส่วน ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ โดยอาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอาจารย์ลัคนา พบร่มเย็น ศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย โดยคุณนฤพร ถนอมเกียรติภูมิ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา โดยคุณกฤษฎา ยาสมุทร มูลนิธิกระจกเงา โดยคุณณัฐพล สิงห์เถื่อน โครงการพัฒนาชุมชนชาวเขาผู้ไร้สิทธิและสัญชาติไทย จังหวัดพะเยา โดยคุณสุริยาวุธ สร้อยสวิง ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยคุณสันติพงษ์ มูลฟอง ศูนย์ประสานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา (ศอข.) โดยคุณอัญชลี ผลเกลี้ยง โครงการแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง โดยคุณวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ดำเนินรายการบนเวที คือ คุณประเสริฐ กายทวน ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร อำเภอแม่อาย ได้แนะนำว่า วันนี้จะมีการนำเสนอปัญหาการไร้สัญชาติของ ๖ กลุ่มหลัก คือ

 
๑. กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ โดยตัวแทนเยาวชนจากตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
๒. กลุ่มผู้ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร โดยตัวแทนราษฎรอำเภอแม่อาย ที่ถูกอำเภอถอนชื่อออกจากทะเบียนเป็นเวลา ๒ ปี ๖ เดือนมาแล้ว และตัวแทนจากอำเภอเชียงของที่เคยเป็นทหารเกณฑ์ครบ ๒ ปี และยังขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองหนุนอยู่ แต่ไม่สามารถต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนครั้งที่ ๓ ได้
๓. กลุ่มผู้ขอสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ ของ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยตัวแทนจากจังหวัดเชียงราย
๔. กลุ่มบุคคลผู้ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย และต้องการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย โดยตัวแทนจากโครงการพัฒนาชุมชนชาวเขาผู้ไร้สิทธิและสัญชาติไทย จังหวัดพะเยา และตัวแทนชาวบ้าน จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
๕. กลุ่มผู้ถือบัตรลาวอพยพ (สีฟ้าขอบน้ำเงิน) โดยตัวแทนชาวบ้าน จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
๖. กลุ่มผู้ตกสำรวจ ไร้สัญชาติ พิสูจน์ตน โดยตัวแทนชาวบ้านปรากฏอยู่เกือบทุกพื้นที่
 


 


















กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ หน้าปกของนิตยสารสาละวินโพสต์ ซึ่งเป็นสื่อเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศพม่าจากฝ่ายประชาชน เห็นแล้ว " กระทบใจ" อย่างยิ่ง ที่เด็กหญิงตัวน้อย ๆ แก้มป่อง น่ารักน่าเอ็นดู ยกมือไหว้ต่อหน้าถ้วยอาหาร หนูคงตั้งความหวังในใจว่า ขอให้ชีวิตหนูมั่นคง ปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม ได้เติบโตเจริญงอกงาม เป็นดอกไม้แห่งความหวังของสังคม โดยไม่ถูกทำลายก่อนวัยอันควร โดยการไม่ให้หนูมีสถานะทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิทุกอย่างในชีวิต

 

กลุ่มผู้ถูกถอนสัญชาติไทยน้องปราณี อ้ายหยี อายุ ๒๔ ปี เป็นตัวแทนพูดด้วยความสะเทือนใจว่า

 

" เมื่อรู้ตัวว่า ถูกถอนสัญชาติ ปราณีกำลังเรียนอยู่ที่สถาบันราชภัฏเชียงราย ปราณีเสียใจมาก แต่ก็พยายามปรับตัว ปราณีกู้เงินรัฐบาลเป็นค่าเล่าเรียน การถูกถอนสัญชาติ ทำให้ชีวิตเหมือนอยู่ในความมืด ไม่เห็นแสงสว่าง เพื่อน ๆ ที่มีสัญชาติ มีโอกาส

ก้าวหน้า หางานทำที่ไหนก็ได้แต่ปราณีไม่มีสิทธิเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อหางานทำ โรงเรียน ตชด. เมตตารับเข้าเป็นครูอัตราจ้าง ซึ่งก็ไม่ได้เงินค่าตอบแทนเต็มตามวุฒิ แล้วปราณีจะเอาเงินที่ไหนมาคืนให้รัฐบาล"
 

" กรมการปกครอง ไม่เข้าใจเลยว่า การสั่งถอนสัญชาติได้ก่อให้เกิดผลต่อคนทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ ต้นตอปัญหาเกิดจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ว่าเมื่อเจ้าหน้าที่สำรวจทำทะเบียนนั้น ถูกเขียนบันทึกไว้ว่าอย่างไร ไม่รู้สิทธิของตัวเอง"

 

" หลังจากถอนสัญชาติไทยแล้ว คืนสัญชาติได้แค่ร้อยกว่าราย ทั้งหมดได้เพราะผลการตรวจ DNA แต่ใช้หลักฐานพยานบุคคลไม่ได้ผล"

 

" ปราณีขอให้กรมการปกครองคืนสัญชาติให้คนทั้งหมด ๑,๒๔๓ คน ตามคำพิพากษาของศาลปกครองที่เชียงใหม่ แล้วจึงสอบกรณีทุจริตเป็นราย ๆ ไป"

 

ตัวแทนของบ้านใหม่หมอกจ๋าม ได้ตั้งคำถามว่า " ทำไมระบบการแก้ไขปัญหาของชาวอำเภอแม่อาย โดยกรมการปกครอง จึงล่าช้าเหลือเกิน"

 

" ในอดีตการเดินทางของชาวบ้าน ต้องใช้เรือถ่อมาตามลำน้ำแม่กก เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไม่ถึง จึงตกหล่นจากการสำรวจเรื่อยมาตั้งแต่สำรวจครั้งแรกในพ.ศ. ๒๔๙๙"

 

" ครั้นมาถึงสมัยของนายอำเภอกฤษฎา บุญราช ซึ่งเข้าถึงชาวบ้านได้ดี ได้ให้โอกาสชาวบ้านพิสูจน์ตนและอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทย เพิ่มชื่อลงในทะเบียนราษฎร ทร.๑๔ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่กลับถูกคำสั่งจำหน่ายชื่อเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ซึ่งนายอำเภอปกปิดข้อมูลไว้ถึง ๓ เดือน ไม่ให้โอกาสชาวบ้านชี้แจง"

 

" บัดนี้เรื่องยืดเยื้อมาเป็นปีที่ ๓ แล้ว ชาวบ้านหมดอนาคต คนที่มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยพัฒนาบ้านเมืองได้ ต้องตกงาน ต้องออกจากราชการกลับมาเป็นคนว่างงานในหมู่บ้าน"

 

" กรมการปกครองไม่จริงใจการแก้ไขปัญหา ไม่รับฟังพยานบุคคล พยานประชาคม ชาวบ้านหมดที่พึ่ง ถูกปิดกั้นจากโลกภายนอก เพราะขาดสิทธิในการเดินทางออกนอกพื้นที่"

 

" จนถึงบัดนี้ กรมการปกครองมีหลักฐานหรือยัง ว่าใครทำผิดในการให้สัญชาติแก่คน ๑,๒๔๓ คน"

 
" ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ"
 


 


















ตัวแทนปัญหามาตรา ๗ ทวิ นายอาโด่ เยเบียงกู่ จากจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า " ที่หมู่บ้านผมมีคนได้สัญชาติแก่ ๑๑ คน ได้สถานะต่างด้าว ๑๐๐ กว่าคน ยังไม่ได้สถานะอีกเกือบ ๔๐๐ คน"

 

" พ่อผมได้ต่างด้าวแล้ว ลูก ๆ ของคนที่ได้ต่างด้าวต้องขอมีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ เริ่มเดินเรื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๔ อำเภอแจ้งว่าต้องมีหลักฐานการทำประโยชน์ต่อสังคมโดยการเสียภาษีคนละ ๓๐๐ บาทบริจาคช่วยกาชาดคนละ ๒๐๐ บาทค่าคำร้องอีกคำร้องละ๑๐๐ บาท แต่เจ้าหน้าที่มักบอกว่า คำร้องหาย เอกสารที่ส่งอำเภอมักหายบ่อย ๆ บางทีก็ไปเจอในถังขยะ กว่าจะทำได้ต้องยื่นเรื่องไม่น้อยกว่า ๕ ครั้ง"

 

" ตัวผมเองเรียนจบ ปวส. จากวิทยาลัยเกษตรเชียงราย สอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ แต่ผมเรียนไม่ได้เพราะไม่มีสิทธิ์กู้เงินเรียนจากรัฐบาล เนื่องจากเป็นคนไม่มีสัญชาติ"

 

" ตอนนี้ผมเป็นผู้รวบรวมหลักฐานของเพื่อน ๆ ในหมู่บ้าน ๒๑ คำร้องยื่นต่ออำเภอ ขณะนี้ผ่านการสอบประวัติอาชญากรรมแล้ว แต่มีผีเพิ่มเข้ามาอีก ๕ รายไม่รู้ว่ามาจากไหน"

 

" ผมและเพื่อนบ้านโดนจับตามด่านตรวจเป็นประจำ ครั้งล่าสุด พาชาวบ้านที่เป็นโรคประสาทไปส่ง รพ.ที่เชียงใหม่ก็โดนจับ"

 

" พี่สะใภ้ของผมต้องผ่าตัดเพื่อคลอดลูก ต้องจ่ายเงิน ๒ หมื่นกว่าบาท เพราะไม่มีบัตรทอง กลายเป็นหนี้เงินกู้นอกระบบ"

 

" ขอเสนอให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง เข้ามาดำเนินการเรื่องสถานะต่างด้าวและ ม.๗ ทวิ โดยเฉพาะเป็นการด่วน เพราะทางอำเภอทำไม่ไหว เจ้าหน้าที่ดี ๆ ถูกย้ายบ่อย และควรหาคณะทำงานติดตามปัญหาเรื่องสัญชาติด้วย"

 

คุณสุริยาวุธ สร้อยสวิงโครงการพัฒนาชุมชนชาวเขาผู้ไร้สิทธิและสัญชาติไทย จังหวัดพะเยา ได้เสนอปัญหาชาวม้งในศูนย์อพยพว่า ชาวม้งกลุ่มที่เกิดในไทยแถบจังหวัดน่าน แล้วอพยพหนีเข้าไปลาวในช่วงที่มีการปราบคอมมิวนิสต์ในไทย ต่อมากลับเข้ามาในไทยอีก โดยเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพของ UNHCR (United Nation High Commission on Refugee) ซึ่งส่วนหนึ่งสมัครใจเดินทางไปอยู่อเมริกาหรือฝรั่งเศส แต่กลุ่มคนที่ประสงค์จะอยู่ในไทยกลับพบปัญหาการได้สัญชาติคือ ได้รับบัตรประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวร โดยกรมการปกครอง กับตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไม่ชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของใคร จนถึงบัดนี้ เรื่องยื่นผ่านผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ๖ คน ๖ สมัยแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ

 


 










กลุ่มผู้ถือบัตรลาวอพยพ (บัตรสีฟ้าขอบน้ำเงิน)ผู้แทนกลุ่มจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า " ก่อนที่ทางการจะทำบัตรลาวอพยพให้ใคร ทำไมไม่ตรวจหลักฐานให้ชัดเจนก่อน ดิฉันเองเรียนจบที่โรงเรียนบ้านหัวเวียง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้ทำประโยชน์ให้ชุมชนตลอดมา เป็น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ดีเด่น แต่กลับไม่ได้สัญชาติไทย ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่เป็นคนไทย ญาติพี่น้องเกือบทั้งหมดได้เป็นคนไทย แต่ดิฉันกับน้อง ๒ คน ไม่มีหลักฐานยืนยัน เพราะพ่อยากจน เดินทางไปติดต่ออำเภอไม่ได้

 

แม้กระทั่งคนที่เป็นทหารเกณฑ์มาแล้ว ขอต่ออายุบัตรประชาชนก็ไม่ได้ เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็น ทหารปลอม "

 

กลุ่มผู้ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย และต้องการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ตัวแทนกล่าวว่า ได้ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวมาแล้ว ๑๐ กว่าปี แต่เมื่อยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ กลับติดที่ขั้นตอนที่ยุ่งยาก และระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยให้กระทำการแปลงสัญชาติได้ จึงเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหงจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า " พวกเราอยู่ที่นี่มา ๔๐ กว่าปีแล้ว แต่ยังถือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ในขณะที่ผู้ถือบัตรจีนฮ่ออิสระกลับได้ถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ขอให้ทางอำเภอเร่งดำเนินการเพื่อให้ชาวบ้านได้สิทธิอย่างชอบธรรม"

 

คนที่กล่าวได้จับใจ คือ นางสาวมื่อดา เป็นชาวกะเหรี่ยงจากบ้านท่าเรือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเคยเป็นตัวแทนเด็กไร้สัญชาติ ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันเด็กแห่งชาติเดือนมกราคม ปีนี้ วันนี้ น้องมื่อดาเข้มแข็งขึ้นมาก เธอบอกว่า " เพื่อนบ้านของหนูที่บ้านท่าเรือ บ้านแม่สามแลบ และบ้านแม่ดึ๊ รวมแล้วเกือบ ๑,๐๐๐ คน ยังไม่มีสัญชาติ เด็กไม่มีที่เรียนต้องออกมาเรียนนอกหมู่บ้าน แต่ออกนอกอำเภอไม่ได้ เรียนต่อสูงขึ้นไปไม่ได้ ไม่มีช่องทางอาชีพที่ดี ไม่มีบัตรทองเพื่อรักษาโรค

 

กลุ่มกระบวนการค้ามนุษย์ มักจะมุ่งที่กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ เพราะติดตามไม่ได้ ไม่มีหลักฐาน พี่สาวหนู หายไป ๑๐ กว่าปีแล้ว ยังตามไม่เจอเลย "

 

" เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ หนูได้รับหลักฐานแสดงตัวตนชิ้นแรกคือ บัตรสีเขียวขอบแดง (บัตรสำรวจบุคคลบนพื้นที่สูง) ถูกเขียนว่า " เผ่าพม่า" ทั้ง ๆ ที่หนูเกิดในไทย และเป็นชาวกะเหรี่ยง บัตรนี้จึงไม่ทำให้หนูมั่นใจว่าจะเป็นคนไทยได้"

 

" หนูกลัวว่า พวกเราจะถูกบังคับให้ไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งทำให้พวกเราไม่มีโอกาสเป็นคนไทย"

 

" ขอให้ผู้ใหญ่ระดับนโยบายให้ความมั่นใจกับนายอำเภอสบเมย ต่อการให้สถานะแก่ชาวบ้านให้ถูกต้อง"

 

" หนูหวังว่า วันหนึ่งจะมีโอกาสได้สัญชาติไทย หนูได้รับทุนเรียนระดับอุดมศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพายัพ แต่ยังกังวลเรื่องการเดินทางมาเรียน ถ้าหนูได้เรียนจริง จะได้ช่วยเพื่อน ๆ และคนอื่นด้านกฎหมายได้ค่ะ"

 

ขอขอบคุณผู้ที่ร่วมจัดเวทีครั้งนี้ ขอให้ทุกเสียงที่พูดในวันนี้ ดังไปก้องโลก เพื่อความเป็นธรรมจะกลับคืนมาสู่ประชาชนชายขอบทุกคน ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในประเทศและในโลกนี้ ขอสัญชาติไทยและสถานะทางกฎหมาย รองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนด้วยความเมตตาและความเข้าใจที่ดีของผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติทุกคนค่ะ