Skip to main content

เรา ‘เป็น’ อย่างที่เรา ‘กิน’

คอลัมน์/ชุมชน

หลายปีก่อน ตอนที่ผมเพิ่งจะเป็นบัณฑิตหมาดๆ และหางานทำอยู่หลายเดือนพอสมควร ผมก็ได้เข้าทำงานที่หน่วยงานระดับกองแห่งหนึ่ง ในกระทรวงสาธารณสุข ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ประสานงานด้านกฎหมาย โดยสถานภาพก็คือ ลูกจ้างโครงการด้านกฎหมาย งานหลักๆ คือการผลักดันพระราชบัญญัติที่จะยกระดับจาก "กอง" ให้กลายเป็น "กรม"  คาดว่า ที่ผมได้ทำงานนี้ นอกจากเพราะวิชาโทที่เรียนมาคือ โทด้านกฎหมาย และการเคยทำงานด้านแก้ธรรมนูญนิสิตสมัยเรียนแล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่อง "เส้น" ด้วยนิดหน่อย เพราะคนที่ชวนผมมาสมัครและสัมภาษณ์ผมนั้นคือ รุ่นพี่ที่เรียนจบจากภาควิชาเดียวกัน ซึ่งอันที่จริงก็ไม่รู้จักกันมาก่อนหรอกครับ เพราะตอนที่ผมเข้าปี 1 นั้น พี่เขาเรียนจบและไปต่อปริญญาโทเรียบร้อยแล้ว แกชื่อ "พี่วี" ครับ เป็นคนที่ผมนับถือและสนิทมากในช่วงที่ทำงานที่นั่น


 


เรื่องงานก็สนุกบ้าง เบื่อบ้างเป็นธรรมดา แต่เรื่องที่สนุกจริงๆ คือชีวิตหลังเลิกงาน เพราะในกลุ่มงานวิชาการของเราซึ่งมีแผนกของผมเป็นหนึ่งในนั้น มีหนุ่มๆ สาวๆ ลูกจ้างโครงการ มาทำงานอยู่ด้วยกันตั้งเกือบสิบคน แต่ละคนก็อายุแค่ยี่สิบกว่าๆ แถมเฮฮาไม่แพ้กัน แม้ว่างานจะหนักจนหลังแอ่นแต่ก็มีเรื่องให้สนุกสนานกันได้ตลอด


 


โดยเฉพาะ"พี่วี" คนที่ทำให้ผมได้งานทำนั้น แกเกิดมาเพื่อเป็น "หัวโจก"ในทุกเรื่องโดยแท้ แกเป็นนักวิจัยประจำสถาบัน งานตั้งเป็นปึ๊งๆ เต็มโต๊ะตลอดเวลา แต่แกก็จัดการของแกได้เรียบร้อย แถมยังมีเวลาไปช่วยงานคนอื่นอีกต่างหาก แล้วพอเลิกงานปั๊บ ถ้าแกไม่มีธุระต้องไปไหน แกเป็นต้องชวนคนอื่นไปเที่ยวกันต่อทุกที ผมในฐานะรุ่นน้องที่ดี ก็ต้องเป็นขาประจำติดสอยห้อยตามแกทุกครั้ง และทุกครั้งที่ไป ก็หนีไม่พ้นจะต้องเมากันจนแทบคลาน เช้ามาทำงานในสภาพผีดิบ แล้วก็ซดกาแฟแทนน้ำ แต่พอตกเย็นก็หาเรื่องไปกันอีกจนได้ แถมพอวันหยุดเสาร์อาทิตย์ผมก็กลับไปเมากับเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยอีก เรียกได้ว่า ชีวิตในช่วงนั้น ทำงานเป็นหลัก เมาเป็นรองก็ว่าได้


 


ต่อให้ผมยังหนุ่มแน่นแต่เมากันสัปดาห์ละ 3-4 วันขนาดนั้น ก็ย่ำแย่เหมือนกัน แต่ก็ในช่วงนั้นอีกเช่นกัน ที่ผมได้เรียนรู้ถึงประโยชน์จากผักพื้นบ้าน น้ำพริก และพวกสมุนไพรทั้งหลาย ซึ่งที่ทำงานส่งเสริมให้มีการปลูกและขายให้กับพนักงาน ผมกินผักกับน้ำพริกแทบทุกวัน แถมบางวันก็มีพวกยาบำรุงทำจากสมุนไพรมาแจกให้ ผมก็ได้พวกนี้ละครับที่ช่วยพยุงให้ไม่ทรุดโทรมจนเป็นศพเดินได้ ผมเองถึงแม้จะทำงานในส่วนของกฎหมาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้เรืองผักเรื่องยา แต่พวกเอกสารต่างๆ มันก็ผ่านตา พลอยได้ความรู้ซึมซับมาบ้าง


 


ในวันว่างวันหนึ่ง ผมได้อ่านหนังสือที่สำนักงานที่ว่าด้วย "การกินแบบเซน" รายละเอียดนั้นจำไม่ค่อยจะได้แล้ว จำได้แต่ว่า ปรัชญาหลักที่หนังสือเล่มนี้เสนอคือเรื่อง "เราเป็นแบบที่เรากิน" หมายถึงว่า เราจะเป็นคนแบบไหนมีพฤติกรรมอย่างไร มีชีวิตอย่างไร คิดอย่างไร พูดอย่างไร จะมีสุขภาพอย่างไร ตลอดจนจะอายุยืนแค่ไหน ล้วนขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรากินเข้าไปทั้งสิ้น หลักการที่ผมจำได้บางข้อก็เช่น เคี้ยวให้ละเอียดที่สุดข้าวแต่ละคำควรเคี้ยวไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง,ดื่มน้ำให้พอเพียง ไม่ใช่ดื่มให้มาก เพราะไตจะได้ไม่ต้องทำงานหนักมาก(ข้อนี้อาจขัดกับความเชื่อที่ว่าดื่มน้ำให้เยอะที่สุด) และ พยายามหัดกิน "ข้าวเปล่า" ให้ได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ข้อนี้ผมจำเหตุผลไม่ได้แล้ว แต่เคยลองทำดูเหมือนกัน เชื่อหรือไม่ว่า ข้าวเปล่าๆ นี่ละครับ เป็นของที่ "กินได้ยากที่สุด" เลยล่ะ แต่ถ้าทำได้ ก็จะได้ประสบการณ์การกินที่แปลกประหลาด ไม่แพ้กินของแปลกอื่นๆ เลย


 


เรื่องการกินแบบเซนนี้ เป็นปรัชญาด้านโภชนาการ จากนักคิดชาวญี่ปุ่น – ประเทศที่มีคนอายุยืนอยู่มากที่สุดในโลก หลายๆ ท่านคงทราบแล้วว่า โดยทั่วไปแล้ว คนญี่ปุ่นเป็นคนกินอยู่ง่ายๆ ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก มีข้าวถ้วยหนึ่ง ผักดองนิดหน่อย น้ำซุปอีกถ้วยก็เป็นอาหารหนึ่งมื้อแล้ว ส่วนพวกปลาดิบ ข้าวปั้น อะไรทั้งหลายนั้น จัดเป็น "ของแพง" ที่ไม่ใช่อาหารประจำวัน และนานๆ ถึงจะกินกันสักที ยิ่งคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในชนบทด้วยแล้ว ยิ่งกินอยู่กันง่ายๆ ไม่ต่างจากอาหารพื้นบ้านแบบดั้งเดิมของไทยเราสักเท่าไร


 


เมื่อสัก 2-3 ปีก่อนมีการสำรวจพบว่า ที่ จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ ในภาคกลาง เป็นจังหวัดที่มีคนอายุเกิน 100 ปีอยู่ร่วมๆ สิบคน แต่ละคนล้วนสุขภาพแข็งแรง แม้จะหูตาฝ้าฟางไปบ้าง แต่ก็ยังพูดคุย และเดินไปไหนมาไหนเองได้ ผู้เฒ่าเหล่านั้น ให้ข้อมูลที่ตรงกันอยู่อย่างหนึ่งว่า พวกเขารับประทาน "ผักและปลา" เป็นประจำ เพราะสิงห์บุรีเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยปลา โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลาซึ่งมีมากมายในอดีต ผักพื้นบ้านก็มีมากมายตามท้องทุ่ง มีข้าวสารก็ไม่อดตายแล้วว่างั้นเหอะ


 


ฟังเผินๆ ก็ไม่น่าเชื่อ กินแค่ผักกับปลา จะทำให้สุขภาพดีและอายุยืนได้ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการ ก็พิสูจน์แล้วว่ามีส่วนจริงอยู่มาก และแนวความคิดทำนองนี้ ก็ได้ถูกแปรรูปให้เป็นเรื่องการตลาดมานานหลายปีแล้ว จนเกิดเป็นกระแส "บริโภคเพื่อสุขภาพ" ดังที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้


 


การกินผักไฮโดรโฟรนิก กิโลกรัมละร้อยบาท, กินอาหารเสริมไฮไฟเบอร์เม็ดละยี่สิบบาท หรือเข้าคอร์สล้างพิษทีละหลายพัน ทำให้หลายๆ คนคิดว่า เรื่องการกินดีอยู่ดี หรือทำอะไรเพื่อสุขภาพนั้นเป็นเรื่องของแฟชั่นและคนรวยเท่านั้น แต่ผมขอยืนยันว่า มันไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นอะไรขนาดนั้นหรอกครับ คนส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพนี้เป็นแนวคิดตะวันตก แล้วเรารับเขามาแบบเดียวกับวัฒนธรรมตะวันตกอื่นๆ แต่อันที่จริงแล้ว มันอยู่กับวิถีชีวิตแบบไทยๆ มาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่สวยหรู ดูดี มีสไตล์ อย่างที่เราพบเห็นในวิถีทางแห่งการตลาดอย่างทุกวันนี้เท่านั้น


 


อาหารเพื่อสุขภาพนั้น ที่แท้ก็คือ ผักจิ้ม น้ำพริก ปลาย่าง อาหารแบบบ้านๆ ของเรานี่ละครับ ผมคงจะไม่อธิบายสรรพคุณมากมาย แต่ก็เคยได้พิสูจน์ด้วยตนเองมาแล้วหลายครั้ง


 


ช่วงที่ทำงานข่าว ผมดื่มหนัก สูบจัด และหงุดหงิดง่าย ข้าวไม่ค่อยได้กิน ซื้อขนมหวานกับน้ำอัดลมจากร้านสะดวกซื้อเป็นประจำ มีคนแนะนำให้ผมทานของหวานให้น้อยลง และลองทาน "งาดำ" สัปดาห์ละช้อนชา ผมก็ไปหาซื้องาดำมาลองทานดู 2-3 วันก็ตักมาเคี้ยวเล่นซะที พวกขนมหวานๆ ก็ลองงดกินซะ ผ่านไปสักสองสัปดาห์ปรากฎว่า ผมใจเย็นลงมาก ทั้งที่ยังดื่มหนักและสูบจัดเหมือนเดิม แต่ก่อนที่ร่างกายจะโทรมไปมากกว่านี้ ผมก็มีโอกาสอำลาจากงานประจำที่กรุงเทพฯ และไปอยู่ที่อำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรี แล้วก็กินผัก น้ำพริก ปลา เป็นหลัก ปรากฎว่า ร่างกายที่ทรุดโทรมจากสุรายาเมาและมลพิษจากเมืองหลวงนั้น กลายเป็นมีน้ำมีนวล และน้ำหนักก็ขึ้นมาอีก 5 กิโลกรัม ในเวลาเพียงแค่ 2-3 เดือน ระบบต่างๆ ในร่างกายก็ดูมันจะเข้าที่เข้าทางขึ้นมาก จากนั้นมาผมก็เริ่มติด "ผัก" คือต้องหาผักกินให้ได้ทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้กิน ท้องไส้มันจะเริ่มติดๆ ขัดๆ เหมือนเครื่องจักรไม่ได้หยอดน้ำมัน


 


หลายๆ คนอ่านมาถึงตรงนี้คงจะส่ายหน้าแล้วบอกว่า "เป็นไปได้ยาก" เพราะชีวิตประจำวันแค่จะหาเวลากินข้าวหรือโอกาสจะได้เลือกของกินมาใส่ท้องยังยากเลย จะไปหาผัก น้ำพริก ปลา จากไหน ผมก็คงต้องบอกว่า เรื่องแบบนี้มันก็แล้วแต่การให้ความสำคัญนั่นละครับ เรื่องปากท้องของเราเอง จะคิดให้หยาบๆ ก็ได้ คือมีอะไรก็ยัดๆ ลงไป ประทังชีวิตไปวันๆ หรือจะคิดให้ละเอียด คือหาสิ่งที่ดี มีประโยชน์ และไม่จำเป็นต้องแพง ก็แล้วแต่ใครให้ความสำคัญ แต่เรื่องจริงที่สุดก็คือ สิ่งที่คุณกินมันย่อมมีผลกับชีวิตของคุณแน่ๆ ไม่ในระยะสั้นก็ระยะยาว


 


ผมคิดว่า การให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรากินเข้าไป มันไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่า เราต้องการจะมีสุขภาพที่ดีหรือมีอายุยืนยาวเท่านั้น แต่มันเป็นการแสดงว่า เราเป็นคนที่ "รักตัวเอง" ดูแลและใส่ใจตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งแรกๆ ที่จะทำให้เรากลายเป็นคนที่ละเอียดอ่อนกับชีวิตมากขึ้น เข้าใจโลกในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งปรับตัวให้ซับซ้อนน้อยลง และเรียบง่ายมากขึ้นด้วย


 


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย มีอะไรก็กินได้ แต่ถ้ามีของกินดีๆ ที่ชอบก็จะกินมากหน่อย วันหนึ่งภรรยาผม (ซึ่งเป็นคนทำกับขาว) เขาบอกว่า อยากจะงดกินเนื้อวัวและเนื้อหมู และอยากจะให้ไปเน้นกิน ผัก ผลไม้ กับปลา แทนเพราะเขาต้องการลดน้ำหนัก และคิดว่ามันน่าจะดีกับสุขภาพรวมทั้งประหยัดเงินไปได้อีกมากโข แรกๆ ผมก็ลังเล เพราะไม่เคยถึงขนาดงดเนื้อวัวเนื้อหมูมาก่อน แต่ก็คิดว่าลองดูก็ดีเหมือนกัน มื้อแรกๆ ที่เป็นต้มผัก รู้สึกจะกินยากหน่อย แต่มื้อต่อๆ มาก็เริ่มชิน บางมื้อไม่มีปลาหรือไข่เลยก็ไม่มีปัญหา ระบบขับถ่ายสบาย ร่างกายก็ดูจะเบาๆ ขึ้นด้วย ผมตั้งใจว่า ก่อนสิ้นปีนี้ เราน่าจะเคยชินกับการกินแต่ผัก ปลา ไข่ โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับ หมู วัว หรือสัตว์ใหญ่อื่นๆ อีกเลย


 


ขอย้ำอีกทีว่า เรื่องอย่างนี้ไม่ลองไม่รู้ครับ ไม่ใช่เรื่องยาก ขอแค่มีความตั้งใจหน่อย ไม่นานก็เห็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า เมื่อร่างกายดีแล้ว สติปัญญา อารมณ์ก็พลอยแจ่มใสไปด้วย ไม่จำเป็นจะต้อง "หักดิบ" เอาให้ได้เดี๋ยวนั้นเดี๋ยวนี้ แต่ค่อยๆ ลองทำจนชินแล้วก็ปรับให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า


 


ด้วยวิธีการมองที่ว่า "เราเป็นอย่างที่เรากิน" ก็พลอยทำให้ผมนึกถึงการบริโภคสื่อของผู้คนทุกวันนี้ หลักๆ คือน่าจะมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ คงจะดูโทรทัศน์เป็นอันดับแรกสุด รองลงมาน่าจะเป็นวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนอินเตอร์เน็ตนั้นอยู่ท้ายสุด ใครใคร่รับสื่อประเภทไหน เขาก็มักจะติดอยู่แต่กับสื่อประเภทนั้น คนฟังวิทยุก็จะไม่ค่อยดูโทรทัศน์ คนเล่นอินเตอร์เน็ตก็ไม่ค่อยจะฟังวิทยุ ทั้งที่จริงแล้ว สื่อแต่ละประเภทก็มีจุดดีจุดด้อยแตกต่างกันไป ถ้าเรามองไม่เห็นถึง "ผลเสีย" จากการรับสื่อแต่ละประเภท ก็อาจทำให้เรามีปัญหาสุขภาพและปัญหาจากการถูกครอบงำเอาได้ง่ายๆ


 


โทรทัศน์กับวิทยุ เป็นตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คนติดโทรทัศน์มีเยอะแยะ และคนติดวิทยุก็มีไม่น้อย ติดแล้วดีมากกว่าเสียหรือเสียมากกว่าดีนั้น คงไม่ต้องอธิบายกันมาก คนติดหนังสือพิมพ์ก็ใช่ว่าจะดีนะครับ คำพูดที่ว่า "ใครไม่อ่านก็โง่ ใครเชื่อก็บ้า" นั้น แม้จะดูประชดแต่ผมว่ามีส่วนจริงไม่น้อย หนังสือพิมพ์บางฉบับใส่สีตีไข่เสียจนข่าวๆ หนึ่งกลายเป็นละครน้ำเน่าเรื่องหนึ่งไปเลย ถ้าอ่านอยู่แต่ฉบับเดียว ก็รู้อยู่แค่มุมเดียว


 


และสำหรับอินเตอร์เน็ตแล้ว ผมว่านี่เป็นสื่อที่ทำให้คน "ติดหนักที่สุด" ยิ่งกว่าสื่อประเภทใดๆ เพราะความหลากหลายในสื่อที่ปรากฎ และความสามารถในการตอบโต้ได้ทันที ทำให้การนั่งหน้าจอติดกันหลายๆ ชั่วโมงต่อวัน กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของหลายๆ คน ผมเคยรู้จักกับคนๆ หนึ่งที่ทุกครั้งที่เข้าอินเตอร์เน็ต เขาจะเอาแต่อ่านเว็บบอร์ดเกี่ยวกับการเมือง และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการโพสต์ข้อความทั้งเห็นด้วยทั้งขัดแย้ง บางทีก็ทุ่มเถียงกันไม่เลิกรา เมื่อเลิกเล่นแล้ว อารมณ์ขุ่นมัวก็ยังติดอยู่ กลายเป็นคนก้าวร้าวแบบไม่รู้ตัว นานวันเข้า เขาก็กลายเป็นคนที่เพื่อนๆ ไม่ค่อยอยากจะสุงสิงด้วย เพราะเมื่อใครแสดงความเห็นต่าง เขาก็จะแย้งแบบใส่อารมณ์ขึ้นมาทันที ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะเล็กน้อยเพียงใด ผมคิดว่าเขา "กิน" ความก้าวร้าวจากอินเตอร์เน็ตมามากไปหน่อย เลยต้องกลาย "เป็น"คนก้าวร้าวไป


 


ผมเองก็เคยชอบอ่านเว็บบอร์ด เพราะมันให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมคิดว่า เว็บบอร์ดที่มีไว้ให้ "เถียง" กันนั้น ไม่ใช่เว็บบอร์ดที่ดีนักหรอกครับ มันไม่ใช่สถานที่แลกเปลี่ยนความคิดเพื่อให้มองเห็นแง่มุมใหม่ๆ แต่มันกลายเป็นพื้นที่ ที่เอาไว้สาดอารมณ์ขุ่นมัวใส่กันต่างหาก คนโพสต์ก็ใช้อารมณ์เข้าว่า คนอ่านก็ต้องพลอยรับรู้ข้อความไม่ประเทืองปัญญา เสียเวลาทำมาหากินทั้งสองฝ่าย


 


ผมเคยคิดเล่นๆ ว่า คงต้องให้คนที่เข้ามาโพสต์ทุกคนใช้ชื่อจริง มีรูปให้ดูนั่นละครับ บอร์ดถึงจะเป็น "เวทีแลกเปลี่ยน" อย่างแท้จริง (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะคนจำนวนมากคิดว่าบอร์ดเปรียบเสมือนสุขาหรือถังขยะมากกว่า)


 


ถ้าเบื่อๆ กับข่าวสารบ้านเมืองหรือการทุ่มเถียงอย่างไร้สาระในเว็บบอร์ดแล้ว ก็เลิกอ่านมันเสีย หรือหันไปรับสื่ออย่างอื่นบ้างก็ได้ครับ ของที่เป็น "พิษ" ก็อย่าไปกินมันเลย