Skip to main content

บันทึกจากถนนหมายเลข 2

คอลัมน์/ชุมชน


 


สายวันนั้น ผมนั่งหลับๆ ตื่นๆ อยู่บนรถเก๋งคันหนึ่งที่ออกจากกรุงย่างกุ้งมุ่งหน้าสู่เมืองตองอูด้วยความเร็วระดับไม่ถึงหนึ่งร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง  ด้วยถนนไฮเวย์คุณภาพระดับน้องๆ โลกพระจันทร์ได้สกัดอัตราเร่งของรถเอาไว้เพียงเท่านั้น


 


 "คุณรู้ไหมมันเกิดขึ้นแป๊บเดียวเท่านั้นแหละ" หนุ่มเบอร์มีสนั่งหน้ารถเปิดประเด็นเพื่อไม่ให้ผู้มาเยือนง่วงเหงาหาวนอนจนเกินไป


 


เขาก็ชี้ไปข้างหน้า ตามเส้นทางที่ขรุขระและเต็มไปด้วยกระบวนการซ่อมแซมโดยการใช้แรงงานคนเทเศษหินลงไปในหลุมอยู่เป็นระยะๆ


"ถนนเส้นนี้ รถบรรทุกเป็นร้อยๆ คันวิ่งกันครึกโครม พวกเขาทิ้งย่างกุ้งภายในคืนเดียว"


"คืนเดียว" ผมทวนคำ


"แสดงว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่ได้รู้ตัวมาก่อนเลย"


"คุณเดาถูก เขาบอกกันก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น"


 


ผมจึงกระจ่างใจว่า คืนที่พม่าย้ายเมืองหลวง ชาวบ้านชาวเมืองในย่างกุ้งแทบจะไม่รู้อะไรเลย นอกจากใครตื่นขึ้นมาดึกๆ ก็จะพบขบวนรถบรรทุกยาวเหยียดมุ่งหน้าออกจากเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ มุ่งหน้าไปสู่ปิ่นมะนา เมืองหลวงใหม่


 


ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ รู้ล่วงหน้าไม่นาน ว่ากันว่าทหารบางนายยังเมาอยู่ในเธคเมืองย่างกุ้ง ขณะที่ ว. ด่วนจากนายมาดังที่เอวว่าให้เตรียมพร้อมภายในเที่ยงคืน ไม่มีแต่และถ้าใดๆ ทั้งสิ้น


 


ขบวนรถที่ออกจากกรุงย่างกุ้งวันนั้น ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของข้าราชการชาวพม่าหลายคนไปตลอดกาล ด้วยเมืองหลวงใหม่ย้ายไปอยู่ใจกลางหุบเขาพะโค-โยมา ที่โอบล้อมเมืองไว้ดั่งป้อมปราการ


"เพื่อนผมนี่อยู่ในกองทัพ เข้าเวรเป็นเดือนๆ แล้วค่อยกลับมาบ้านที่ย่างกุ้ง คนอื่นก็ไปเข้าเวรแทน"


 


ส่วนขั้นตอนติดต่อราชการต่างๆ ก็แทบไม่ต้องพูดถึง ที่ปรกติที่ช้าอยู่แล้วตามธรรมเนียมเผด็จการทหารก็ยิ่งช้าขึ้นไปอีกเมื่อศูนย์ราชการทั้งหมดโดนย้ายไปปิ่นมะนา และระบบประเภทออนไลน์ทั้งหลายยังอยู่ในยุคพระเจ้าเหา


"สถานทูตหลายแห่งบ่น จริงๆ รัฐบาลพม่าชวนไปอยู่ปิ่นมะนาด้วยจะได้ติดต่อได้สะดวกๆ หลายประเทศยังไม่อยากจะย้าย เพราะมันไม่สะดวกเหมือนอยู่ย่างกุ้ง"


"เขาขนอะไรกันไปบ้าง" ผมยิงคำถามต่อ


"เอกสาร ตู้ โต๊ะ"


"นึกยังไงถึงตัดสินใจย้ายเมืองหลวง"


"ให้เดา เขากลัวอเมริกาบุกเลยย้ายไปอยู่ในหุบเขา เรือรบที่ไหนก็ไม่มีทางเอาปืนตั้งแล้วยิงถึงปิ่นมะนา ถ้าจรวดไอ้กันก็ไม่แน่ ที่สำคัญที่สุดผมว่าเรื่องดวง


"เกี่ยวกับหมอดูอีทีหรือเปล่า" คนถามหูผึ่ง เพราะเกี่ยวกับอดีตนายกฯ ประเทศตัวเอง


 


เขาหัวเราะ ก่อนตอบออกมา "ทำเป็นเล่นไป คุณ อีตี่เขาแม่นนา เรียกว่าเดินเข้าไปเขาทายเลขธนบัตรในกระเป๋าคุณได้เลย แล้วก็แม่นเฉพาะช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า หลังจากนั้นว่าเขาไม่ได้ นายทหารพม่าก็ชอบไปดู"


           


"ลือกันว่าถ้าไม่ย้ายเมืองหลวง นายพลตานฉ่วยจะหมดอำนาจ เผด็จการครองอำนาจต่อไม่ได้ ผมว่านี่คือสาเหตุสำคัญ"


 


เบอร์มีสหนุ่มเล่าต่ออีกว่า ตัวเขาไม่เคยไปเมืองหลวงใหม่แม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งถ้าไม่มีธุระจำเป็นการเข้าไปถึงนั้นยากมาก เพราะมีแต่ต้องติดต่อราชการเท่านั้นจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้


 


สำหรับคนพม่าในมิติหนึ่ง ปิ่นมะนาจึงเหมือนเป็นเมืองลึกลับ


 


และยิ่งลึกลับสำหรับประชาธิปไตยที่รัฐบาลทหารพยายามอ้างโน่นอ้างนี่ร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นเวลานับสิบๆ ปีแล้ว ท่ามกลางความหวังอันริบหรี่ของคนพม่าทั้งมวล


 


และแล้ว วันสุดท้ายในพม่าก็มาถึง…ก่อนจากกันที่สนามบินมิงกะลาดอน ผมถามเขาถึงผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง


 


ผู้หญิงที่จิตวิญญาณของเธอนั้นยังคงตั้งมั่นเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ที่ย่างกุ้ง


"เธอยังอยู่ที่นั่น อยู่ในบ้านริมทะเลสาบอินยาหลังนั้น คนประเทศนี้รักเธอ มิใช่เพราะเธอเป็นลูกนายพล อองซาน แต่เธอคือคนที่พยายามจะนำสิ่งที่ดีกว่ามาให้คนในประเทศนี้"


"คนรุ่นหลังรู้จักเธอไหม"


"รู้ครับ เผด็จการกลัวเธอมาก เราอึดอัด เราพูดมากไม่ได้"


 


การเดินทางครั้งนั้น ผมไปไม่ถึงปิ่นมะนา แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ก็ทำให้ทราบว่าหัวใจคนพม่าทั้งประเทศ ยังคงเรียกหาประชาธิปไตย โดยมีจุดรวมใจที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่โดนกักขังมาเป็นเวลายาวนาน


 


ตราบวันนี้ วันที่รัฐบาลพม่าย้ายหนีความ "ขี้ขลาด" และความเชื่อ "ไสยศาสตร์" ของตนเองไปอยู่ที่เมืองหลวงใหม่ เธอก็ยังคงยืนหยัดด้วยหัวใจที่ร่ำร้องเรียกหาเสรีภาพดุจหลายสิบปีที่ผ่านมา


 


บนเครื่องบินเที่ยวกลับนั้น แวบหนึ่ง ผมหวนคิดไปว่า…


 


เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของพม่านั้น ดูจะยาวไกล ไม่แพ้เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของไทยในขณะนี้เลย