Skip to main content

ต้องทุบทิ้งเพียงประการเดียว

สมัยผมยังเป็นหนุ่มน้อย


ยังอ่อนด้อยทั้งประสบการณ์ชีวิตและวุฒิภาวะทางความคิด ผมได้อ่านเรื่องสั้น ๆ เรื่องหนึ่งของรพินทรนาถ ฐากูร นักเขียนชาวอินเดียที่ได้รับรางวัลโนเบลคนแรกของเอเชีย ซึ่งมีผู้แปลลงในนิตยสารรายเดือนเก่าแก่ฉบับหนึ่งที่ปิดตัวไปนานแล้ว ตอนที่ผมได้อ่านเรื่องสั้น ๆ เรื่องนี้ที่ชื่อว่า "ปีกนก" (ถ้าจำไม่ผิด) ในครั้งนั้น ผมยอมรับว่าผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าผู้เขียนต้องการจะสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน แต่ทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจ เรื่องสั้น ๆ เรื่องนี้กลับฝังลึกอยู่ในความทรงจำของผมตลอดมา คลับคล้ายคลับคลาเหมือนอย่างว่า มันมีอะไรบางอย่างที่เป็นแก่นสารสำคัญ ทำให้ผมไม่อาจลืมได้


 


แต่ความไม่เข้าใจเรื่องสั้น ๆ เรื่องนี้


กลับทำให้ผมเข้าใจและคลายความหมั่นไส้ นักวรรณกรรมบางคนที่ชอบวางมาดขรึมขลัง พูดให้ตัวเองดูดี แต่ทำให้คนอื่นเขารู้สึกโง่และต่ำต้อยว่า หนังสือบางเล่มเราต้องรอให้อายุของเราเท่ากับมันเสียก่อน เราจึงจะอ่านหนังสือเล่มนั้นรู้เรื่องและเข้าใจ


 


เพราะต่อมา


ในวันวัยที่ผมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผ่านประสบการณ์ความทุกข์สุขของชีวิต เท่าที่คน ๆ หนึ่งที่เกิดมาในโลกนี้พึงจะประสบ เมื่อผมบังเอิญได้อ่านเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ผมถึงกับร้องอ๋อ…ออกมาทันที เพราะเรื่องสั้น ๆ เรื่องนี้ มีแก่นสารที่สำคัญถึงระดับมนุษย์ชาติเลยทีเดียว


 


ผมจะเล่าให้คุณฟัง


เรื่องสั้น ๆ เรื่องนี้ เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ชอบเที่ยวเดินเก็บของกระจุกกระจิกตามบริเวณบ้าน มานั่งง่วนเล่นอยู่คนเดียวตามลำพัง วันหนึ่งเธอเดินไปเก็บได้ปีกนกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกและมหัศจรรย์สำหรับเธอมาก จนไม่อาจอดใจเก็บมันไปเล่นคนเดียวตามปรกติ เธอจึงถือขนนกวิ่งเอาไปให้แม่ดู เพื่อหวังจะอวดแม่ แต่แม่ของเธอกลับแสดงความรังเกียจและตำหนิติเตียนเธอที่เอาอะไรก็ไม่รู้ที่สกปรกมอมแมมและไร้สาระมาเล่น แถมยังเกรี้ยวกราดสั่งให้เธอเอาไปโยนทิ้ง


 


แล้วเรื่องสั้นเรื่องนี้ ก็จบลงด้วยความสะเทือนใจว่า ตั้งแต่นั้นมา เวลาเด็กหญิงเที่ยวเล่นไปเก็บของอะไรได้ เธอมักจะเก็บซุกซ่อนเอาไว้อย่างมิดชิด เพราะกลัวจะมีคนเห็น โดยเฉพาะแม่ของเธอ


 


เรื่องสั้น ๆ เรื่องนี้


สะท้อนความจริงของชีวิตให้เราตระหนักว่า วัยเยาว์ของมนุษย์นั้น เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด เพราะช่วงวัยนี้คนเราได้รับการปลูกฝังอบรมและเลี้ยงดูมาอย่างไร เขาก็จะเติบโตออกมาเป็นคนอย่างนั้น เพราะวัยเยาว์ของคน ๆ หนึ่งก็เหมือนดินเหนียวก้อนหนึ่งที่อยู่ในมือของช่างปั้น ดินถูกปั้นออกมาอย่างไร เมื่อดินแห้งและแข็งตัวก็จะคงอยู่ในรูปนั้น


 


ดังนั้น


ถ้าหากคน ๆ หนึ่งวัยเยาว์ของเขาถูกปั้นออกมาอย่างบิดเบี้ยว เขาย่อมเติบโตออกมาอย่างบิดเบี้ยว และยากยิ่งที่จะแก้ไขขัดเกลา ถ้าความเป็นคนที่บิดเบี้ยวของเขา เกิดตกผลึกและแข็งตัวจนไม่สามารถทำอะไรได้


 


เหมือนตึกแถวเก่า ๆ ที่ทรุดโทรมอัปลักษณ์ จนไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงให้ดูดีได้ เพราะเข้าไปแตะตรงไหนก็เกิดการปรักหักพังขึ้นตรงนั้น และไม่เป็นที่ต้องการของใคร ๆ ในที่สุดก็ต้องถูกทุบทิ้ง…เพื่อสร้างขึ้นใหม่


 


เช่นเดียวกับคนจำนวนมากมายหลายคนในประวัติศาสตร์ของสังคม ตราบเท่าจนถึงปัจจุบันนี้ ที่สังคมจำเป็นต้องจัดการกับเขา เหมือนตึกแถวเก่า ๆ ที่ทรุดโทรมอัปลักษณ์ เพราะความบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ของเขา นอกจากจะไม่เป็นที่ต้องการของใคร ๆ แล้ว ยังทำความเดือดร้อนให้กับผู้คนและสังคมทุกพื้นที่ที่เขาย่างก้าวเข้าไป…


 


เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเป็นเช่นนั้น