Skip to main content

วันแรกในโลกใหม่เปิดโลกเอเชียกลาง : การประชุมเรื่องประชากรกับการพัฒนาที่คาซัคสถาน

คอลัมน์/ชุมชน

























































































คาซัคสถานเป็นดินแดนที่ผสมผสานระหว่างความเก่าแก่กับความเป็นสมัยใหม่ ตั้งอยู่ระหว่างใจกลางของยุโรปกับเอเชีย ทิศตะวันตกจดทะเลสาบแคสเปี้ยน ทิศตะวันออกจดเทือกเขาอัลไต ประเทศจีน ทิศเหนือจดรัสเซีย ทิศใต้จดกีร์กิสถาน อุซเบกิสถาน และ เติร์กเมนิสถาน

 

คาซัคสถานแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต และประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 เป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ลำดับ 9 ของโลก ด้วยเนื้อที่ 2.7 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากร 14.9 ล้านคน เชื้อสายคาซัค 52% รัสเซีย 31% อื่น ๆ 18% เมืองหลวงคือ Astana เมืองสำคัญคือ Almaty ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงเก่า มีประชากร 1.3 ล้านคน ประกอบด้วยชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 100 ชนชาติ

 














คาซัคเป็นดินแดนที่สงบ ด้วยความผสมผสานของวัฒนธรรมเอเชียกับยุโรป จากยุคของเส้นทางสายไหมเมื่อ 2 ศตวรรษก่อนคริสตกาลจนถึงศตวรรษที่ 10 ถึงยุคเส้นทางคาราวานขนส่งสินค้าด้วยอูฐ จากศตวรรษที่ 10-17 ดังนั้นคาซัคจึงพร้อมที่จะอวดผู้มาเยือนด้วยสถานที่อันโดดเด่น เช่น หน้าผาแกะสลักภาพพระพุทธเจ้าปางต่าง ๆ ที่ Tamgary ทะเลสาบและป่าสน เส้นทางสายไหมและเมืองโบราณ เป็นต้น

 

เมื่อปลายปี 2545 ดิฉันได้รับเชิญจาก World Mountain People Association (WMPA) ให้ไปประชุมในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้ ค. ศ. 2002 เป็น International Year of Mountains โดยจัดประชุมที่เมือง Bishkek เมืองหลวงของประเทศกีร์กิสถาน ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มเอเชียกลาง ครั้งนั้นดิฉันประทับใจต่อสาระของการประชุมและต่อความงามของเทือกเขา Tien-Shan อันสูงตระหง่านกับความเป็นแหล่งอารยธรรมของเส้นทางสายไหม ตั้งใจไว้ว่าจะศึกษาเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับกลุ่มประเทศเอเชียกลางให้มากขึ้น

 

โอกาสที่สองมาถึง เมื่อได้ทราบจากพี่หมอมาลินี สุขเวชชวรกิจ ส.ว . นครสวรรค์ ผู้ทำหน้าที่ เลขาธิการของ AFPPD (Asian Forum of Parliamentarians on Population and Development) ว่าจะมีการประชุมครั้งที่ 20 ของสมาชิกรัฐสภาเอเชีย/ แปซิฟิก เรื่องประชากรกับการพัฒนาที่ประเทศคาซัคสถาน ในวันที่ 28-29 กันยายน 2547 ดิฉันจึงเสนอตัวไปร่วมประชุม เพราะได้ติดตามเรื่องประชากรกับการพัฒนามาตลอด และสนใจที่จะไปประเทศในเอเชียกลางด้วย

 

ได้ทราบข้อมูลว่า ช่วงนี้ประเทศคาซัคสถานเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อากาศเย็นประมาณ 5-20 องศาเซลเซียส จึงเตรียมชุดที่อบอุ่นไปให้เพียงพอ วันเดินทางคือ วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2547 มี ส.ว. ไปประชุม 2 คน คือ พี่หมอมาลินีกับดิฉัน พร้อมกับ Dr. Shiv Khare ซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริหารของ AFPPD และ Ms. Belle Austriaco ซึ่งเป็น Programme Associate ของ AFPPD เครื่องบิน Emirates ออกจากกรุงเทพฯ 05.45 น. ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงถึงสนามบินดูไบ รอที่ดูไบ 2 ชั่วโมง แล้วเปลี่ยนเครื่องเป็น Astana Air ของประเทศคาซัคสถาน ใช้เวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง ถึง Almaty ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมของคาซัคสถาน มีเจ้าหน้าที่มารับจากสนามบินไปที่พัก

 

เวลา 1 ทุ่มกว่าของเมือง Almaty แสงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า มองจากรถเห็นเทือกเขา Tien-Shan สีน้ำเงินเข้ม ดวงจันทร์ค่อย ๆ โผล่พ้นยอดเขา สีนวลสว่าง ท้องฟ้ากระจ่างไร้เมฆ จึงเป็นพระจันทร์เต็มดวงทอแสงเย็นตา พวกเราชี้ชวนกันดูด้วยความประทับใจ เพราะเมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยตึกสูง ยากที่จะเห็นภาพงามเช่นนี้

 

เกือบ 40 นาที ก็มาถึงที่พัก คือ Alatau Health Resort ซึ่งเป็นที่พักฟื้น บำบัดรักษาสุขภาพด้วยวิธีธรรมชาติ เป็นตึกโบราณ ล้อมรอบด้วยป่าไม้ร่มรื่น ทุกห้องพักมีระเบียงชมวิว มองเห็นเทือกเขา Tien-Shan อันสลับซับซ้อน ยอดเขาสะท้อนแสงจันทร์ดูแวววาวในความมืด บนโต๊ะในห้องมีผลไม้สดจัดไว้ให้ในพานแก้ว คือ แอปเปิล ลูกแพร์ กับองุ่น

 

อากาศในฤดูนี้ค่อนข้างแห้งทำให้รู้สึกกระหายน้ำบ่อย ผิวแห้ง คัน ปากแห้ง ต้องหมั่นทาปากด้วยลิปมัน ทาผิวด้วยเบบี้ออยล์ และเอาผ้าเช็ดตัวชุบน้ำพาดไว้ที่ท่อทำความร้อนในห้องน้ำ จะได้ช่วยเพิ่มความชื้นบ้าง

 

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2547 ดิฉันตื่น 7 โมงกว่า เปิดประตูออกมายืนที่ระเบียง มองเห็นพระอาทิตย์สดใส ฝูงนกกากำลังบินสู่ท้องฟ้า อากาศเย็น น่าลงไปเดินสัมผัสธรรมชาติ จึงโทรไปชวนพี่หมอมาลินีซึ่งพักอยู่ห้องติดกันไปเดินเล่น เพราะวันนี้ได้พักหนึ่งวัน การประชุมจะเริ่มพรุ่งนี้ (28-29 กันยายน 2547) ผู้ประชุมยังมากันไม่ครบ
















ด้านหน้าอาคาร เขาปลูกดอกไม้พื้นบ้านเหมือนที่เมืองไทยเรา คือ ดอกบานชื่นสีชมพู สีส้ม ดอกพุทธรักษาสีเหลืองเข้ม ดอกกุหลาบสีขาว แดง ชมพู แต่ดอกกุหลาบใหญ่และมีกลีบหนากว่าบ้านเรา เดินเลยอาคารที่พักไปสักครู่ก็พบสระน้ำขนาดใหญ่ มีต้นหลิว และไม้ใหญ่ชนิดต่าง ๆ ปลูกไว้โดยรอบ ดูร่มรื่นสมกับเป็นสถานที่บำบัดพักฟื้น

 

แปดโมงครึ่งมาทานอาหารที่โรงอาหาร ซึ่งเขาจัดไว้ให้ทั้งสามมื้อ มื้อเช้ามีมะเขือเทศ แตงกวาที่สดใหม่ หั่นใส่ถาดไว้ มีโยเกิร์ต อาหารร้อนคือ ข้าวสวยเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองเม็ดสั้น สีน้ำตาลแดง ไส้กรอก เนยแข็ง ขนมปัง มีหม้อน้ำร้อนขนาดใหญ่ กับถ้วยใส่ชาเขียว ชาอินเดีย กาแฟ นม น้ำตาล ให้ชงกินเองตามชอบ

 
ตอนสายสัก 11 โมง เจ้าภาพพาไปดูภูเขา Chimbulak หรือเขียน Shymbulak ก็ได้ อยู่ห่างจากเมือง 25 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งเล่นสกีที่ขึ้นชื่อ ผ่านชุมชนเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวขนาดย่อม ทุกบ้านมีปล่องไฟ ดิฉันเดาว่าข้างในบ้านคงจะมีเตาผิงเพื่อให้ความอบอุ่นยามฤดูหนาว รถทั้งสองคันใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็มาถึง Chimbulak Ski Resort กลุ่มผู้สูงวัยพากันไปนั่งสั่งชา กาแฟมาดื่ม เพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น เพราะอากาศเริ่มหนาวเย็น มองไปที่ยอดเขาเห็นหิมะปกคลุมอยู่ลิบ ๆ
 
ดิฉันเห็นคุณ Belle เดินไปกับผู้มาประชุมกลุ่มหนึ่ง ก็ถามว่าจะไปไหนกัน เธอบอกว่าจะนั่ง Sky Cabin ขึ้นไปชมธรรมชาติบนภูเขา ดิฉันมองดูเห็นชิงช้าเป็นทิวแถวอยู่บนเส้นลวดสลิง เลื่อนลงมาเส้นทางหนึ่ง เลื่อนขึ้นไปข้างบนอีกเส้นหนึ่ง ชั่งใจดูว่าจะปลอดภัยไหม มั่นใจได้แค่ไหน สั่งช็อกโกแลตร้อนมากิน 1 ถ้วยระหว่างรอศึกษาข้อมูล
 
คุณ Elina ไกด์สาว แนะนำว่า น่าจะขึ้น Sky Cabin ไปบนภูเขาเพราะสวยมาก ถ้าไม่ได้เห็นแล้วจะเสียใจ ดิฉันจึงชวนพี่หมอมาลินีไปด้วยกัน ไกด์พาไปซื้อตั๋ว เจ้าหน้าที่บอกว่าการเดินทางมี 3 ระดับจากล่างไปถึงจุดสูงสุด ราคาช่วงละ 400 เท็งเก ( อัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 US$ คิดเป็นเงิน 130 เท็งเก) ดิฉันคิดว่าไหน ๆ ก็มาแล้ว น่าจะไปจุดสูงสุด จึงซื้อตั๋วรวดเดียว 3 ช่วง
 
เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่พาไปจุดที่จะขึ้นเคบินไฟฟ้า ดิฉันเข้าใจว่า เคบินจะจอด เพื่อให้ผู้โดยสารได้นั่งและรัดเข็มขัดนิรภัย แต่กลับเป็นว่าเมื่อพี่หมอมาลินีขึ้นนั่งแล้ว เคบินก็เคลื่อนขึ้นไปเลย โดยดิฉันยังไม่ทันได้นั่งเรียบร้อย จึงตกลงมาที่พื้น โชคดีที่เคบินยังขึ้นไปไม่สูง ดิฉันตัดสินใจโยนตัวลงมาก่อน ในระดับสูงราว 2 เมตร จึงไม่ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่พาตัวหลบมา เพื่อไม่ให้เคบินที่เคลื่อนตัวมาเรื่อย ๆ ชนเอา
 
เมื่อยืนตั้งหลักได้สักครู่ เคบินไฟฟ้าผ่านไป 5-6 คันแล้ว เจ้าหน้าที่จึงพาไปขึ้นเคบินอีกครั้ง โดยครั้งนี้รู้ระบบ รู้จังหวะว่า เมื่อเคบินมาถึงจุดขึ้น ต้องขยับไปนั่งโดยเร็ว แล้วจับคันโยกมากั้นไว้ด้านหน้าเป็นราวกันตก
 














ระหว่างที่นั่งก็มองไปรอบตัว เห็นดอกไม้บนภูเขาเป็นช่วง ๆ หากไม่มีเหตุการณ์ให้ตระหนกตกใจเสียก่อน คงจะมีใจสนุกสนานกับการนั่งมากกว่านี้ เกรงใจว่าได้ทำให้พี่หมอมาลินีเป็นห่วงไปด้วย การใช้ภาษาอังกฤษเป็นข้อจำกัดที่ทำให้สื่อสารกันได้ยาก เพราะคาซัคเพิ่งเป็นเอกราชจากรัสเซียได้เพียง 10 ปี เพิ่งเปิดตัวสู่โลกภายนอก ประชาชนที่รู้ภาษาอังกฤษดีจึงมีน้อยมาก ต้องพึ่งพาล่ามเป็นหลัก

 

เมื่อถึงสถานีที่หนึ่ง เห็นพี่หมอมาลินีลงจากเคบิน พี่หมอมองมาเห็นดิฉันนั่งเคบินตามมา ก็ร้องบอกว่า " แดง พอแค่นี้นะ" ดิฉันจึงลงด้วย แล้วต่อเคบินกลับลงมาเลย ขาลงอากาศเริ่มเย็น มือเย็น หูเย็น คิดในใจว่า ถ้าขึ้นไปถึงระดับ 2 ระดับ 3 คงจะเย็นจัดกว่านี้ เราไม่ได้เตรียมตัวมารับความเย็นของหิมะบนยอดเขา เพราะไม่ได้ศึกษาข้อมูลมาก่อน นั่งมาระดับที่หนึ่งก็พอแล้ว

 
เมื่อเคบินใกล้ถึงที่จอด ดิฉันเตรียมโยกราวที่กั้นที่นั่งขึ้น แล้วดีดตัวลงมา คราวนี้เจ้าหน้าที่รีบคว้าตัวให้หลบไปข้างทาง ซึ่งต้องอาศัยความคล่องตัว ความไว ดิฉันได้ข้อสรุปว่า การนั่ง Sky Cabin เช่นนี้ ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ร่างกายอุ้ยอ้าย หรือร่างกายไม่ปกติ เพราะจะไม่ปลอดภัยในการขึ้นลง
 
กลุ่มผู้มาประชุมที่รออยู่ปรึกษากันว่า เวลาเกือบบ่ายสามโมงแล้ว น่าจะกินอาหารกันที่รีสอร์ตข้างล่าง มีอาหารอร่อยมาก จึงชวนกันนั่งรถลงไป พบว่าภัตตาคารเป็นกระโจมที่ทำด้วยผ้าขนสัตว์หนา ๆ คลุมบนโครงไม้ซี่ถี่ ๆ เป็นรูปทรงกลม ประตูเป็นผ้าที่ตลบขึ้นไปเป็นช่วง ข้างในพื้นปูพรมสีสด มีโต๊ะ เก้าอี้เตี้ย ๆ ตั้งไว้ 4-5 ชุด
 
ไกด์เอาเมนูมาให้ดู บอกว่าภัตตาคารนี้จัดโดยรัฐบาล เป็นอาหารพื้นเมืองแท้ ๆ ส่วนใหญ่อาหารจะประกอบด้วยเนื้อแกะ เนื้อวัว และเนื้อม้า ซึ่งถือว่าเป็นอาหารพิเศษสุดยอด
 
ผู้บริการเป็นชายมีอยู่คนเดียว ในขณะที่พวกเรามากันเกือบ 20 คน ดิฉันจึงไปดูว่ามีอะไรพอจะรองท้องได้ก่อนที่อาหารจานร้อนจะเสร็จ พบว่า มีลูกเกด ถั่วลิสงคั่ว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มันฮ่อ ลูกนัทชนิดต่าง ๆ จึงให้เขาจัดมาประทังความหิว จากนั้นซุปร้อน ๆ ซึ่งประกอบด้วยก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่แบบของญี่ปุ่น กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ต้นหอมซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเนื้อสัตว์ต่างที่สั่งก็ทยอยส่งมา ดิฉันอยากกินซุปร้อน ๆ จึงขอแบบไม่ใส่เนื้อสัตว์ แต่ก็เป็นซุปเนื้ออยู่ดี จึงกินได้แค่ไม่กี่ช้อน เพราะกลิ่นแรงมาก
 
กินเสร็จแล้ว เดินออกมาชมบริเวณ มีต้นแอปเปิลอยู่ 3-4 ต้น กำลังออกลูก บางคนก็ขอเก็บมากินสด ๆ จากต้น เป็นพันธุ์พื้นเมือง ลูกเล็ก ปลูกแบบธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีเจือปน
 
กลับมาถึงที่พักหกโมงเศษ ๆ ห้องอาหารยังมีอาหารเย็นบริการอยู่จนถึงสองทุ่ม ทานเสร็จก็ขึ้นห้องพัก เตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การประชุมที่จะเริ่มในวันรุ่งขึ้น ซึ่งดิฉันจะเล่าในตอนหน้าค่ะ