Skip to main content

ไปงานสัปดาห์หนังสือฯ

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้ (19 ต.ค.) และวานนี้ หลังเลิกงานที่นิด้าแล้ว ผู้เขียนได้ไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติฯ ถือว่าได้เห็นสัปดาห์หนังสือฯรุ่นใหม่ ที่ยกระดับมาจากกว่าสามสิบปีก่อน จำได้ว่าตอนนั้นอายุราว 10 ขวบได้ เคยไปออกร้านขายที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แล้วก็ย้ายมาที่โน่นบ้างนี่บ้าง แล้วก็ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม   ติดคุรุสภา จนย้ายมาที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติฯ ปัจจุบัน บรรยากาศน่าเดินกว่าเดิมมาก เพราะไม่ร้อน แต่ที่จอดรถก็หายากไม่แพ้ของเดิม อย่างไรก็ตามถือว่าดีกว่าแต่ก่อน ห้องน้ำห้องท่าดีกว่า แต่ค่าออกร้านก็แพงกว่าเดิม (แม่ผู้เขียนไปออกร้านอย่างที่เคยเป็นมา จึงรู้) อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการให้ความสะดวกแก่ทุกฝ่าย ถือว่าคุ้มก็แล้วกัน


 


ผู้เขียนเดินและเดิน ซื้อหนังสือที่จำเป็นแก่การสอน ไม่ได้ซื้อเพื่อบันเทิงแต่น้อย เพราะขนาดนี้ยังหาเวลาอ่านแทบไม่ได้ งานสอนถือว่าเป็นงานที่ต้องทุ่มเท การเตรียมสอนถือเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งเพิ่งกลับมาใหม่ๆ ต้องเตรียมใหม่เกือบหมด เพราะสอนแบบฝรั่งไม่ได้ เด็กไทยไม่ใช่ฝรั่ง ป้อนมากกว่าและต้องไม่ให้งานในระดับเดียวกับฝรั่ง เพราะจะหนักเกินไปกับเด็ก  ส่วนงานวิจัยเต็มๆนั้นตอนนี้ยังต้องรอไว้สักนิด


 


เอาเป็นว่า ก็ซื้อหนังสือ "วิชาเกิน" ที่พอมีขาย ส่วนมากเป็นพวกอ้างอิงต่างๆ ที่อาจต้องใช้เป็นประจำ เช่นพวกพจนานุกรมบางอย่าง หรืออะไรที่ต้องใช้หยิบฉวยได้ง่าย นอกนั้นก็ขอรายชื่อหนังสือมาแล้วให้ห้องสมุดนิด้าจัดการซื้อ (ถ้ามีงบ) แต่ต้องขอบคุณนิด้าที่มีงบให้อาจารย์แต่ละท่านซื้อหนังสือเพื่อพัฒนาตนเองได้ ทำให้ครูอย่างผู้เขียนสามารถมีอะไรอ่านได้เร็วขึ้น แม้ว่าห้องสมุดจะมีบริการดีอยู่แล้วก็ตาม เสียดายว่าหนังสือ "วิชาเกิน" ที่ผู้เขียนต้องการไม่ค่อยมีขายในงานนี้ ก็ถือว่าได้เห็นตลาดหนังสือของเมืองไทยว่าไปถึงไหนแล้ว


 


ผู้เขียนเติบโตมากับร้านหนังสือของทางบ้าน เดิมขายพวกเครื่องเขียนแบบเรียนของระดับโรงเรียนด้วย ก็เลยมีหนังสืออ่านมากกว่าเพื่อน เรียนที่โรงเรียนวิชานี้เล่มนี้ แต่ที่บ้านมีเล่มอื่นที่ใช้ในโรงเรียนอื่นให้อ่านด้วย เลยรู้มากกว่าเพื่อนในห้อง พอโตขึ้นรู้เลยว่าที่บ้านไม่ได้มีหนังสือวิชาการดีๆให้อ่าน มีแต่นิยาย เพราะพ่อแม่ไม่มีความรู้สูงๆ ไม่รู้ว่าจะเลือกต้นฉบับมาพิมพ์ขายอย่างไร อีกทั้งหนังสือที่ไม่บันเทิงขายยากมาก หนังสือบันเทิงขายง่ายกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะขายดี ถ้าหากกระแสในสังคมไม่ต้องการ พิมพ์ออกมาก็เหมือนฉีกแบ๊งค์เล่น ค่ากระดาษและการผลิตอื่นๆแพง แต่ถ้าขายไม่ได้หนังสือแต่ละเล่มจะถูกขายเป็นกิโล ราคาหน้าปกเล่มละ100 บาท พอขายเป็นกิโลจะได้แค่หกสลึง อะไรแบบนี้ ชีช้ำเสียไม่มี


 


ผู้เขียนเห็นชัดๆ เลยว่าหนังสือบันเทิง และหนังสือตามกระแสนั้นยังไงก็ขายได้ กลยุทธการตลาดเอามาใช้อย่างถึงพริกถึงขิง คิดแล้วก็นึกชมว่าเค้าขยันกันจริงๆ มี Gimmickให้คนเดินเป็นตัวการ์ตูนบ้าง ชุดเกาหลีบ้างมาแจ้งทั่วงานเรื่องสินค้าของแต่ละแห่ง สนุกสนานดี เห็นเด็กๆคนขายตะโกนโหวกเหวกเรียกลูกค้ามากกว่าเดิมด้วยเทคนิคแปลกๆ ใจนึกฉงนว่าเดี๋ยวนี้ขนาดนี้กันแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็ว่าเหมือนพาหุรัดติดแอร์ แทนที่จะเป็นแขกหรือจีนที่ร้องชวนเชิญกลายเป็นเด็กรุ่นใหม่ๆมาร้องให้ซื้อหนังสือ ถ้าดัดจริตคิดมากก็อาจทนไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่านี่แหละแบบไทยๆ ฮาร์ดเซลส์ ก็ได้อารมณ์อีกแบบหนึ่ง


 


หนังสือนิยายที่บ้านมีลูกค้าเดิมๆ มาซื้อ ลูกค้าใหม่ๆมีบ้าง ผู้เขียนไม่อ่านเลยระยะหลังๆ เพราะแค่อ่านงานของตนเองก็แทบไม่มีเวลา นึกชมคนอ่านในใจว่ามีเวลาอ่าน เพื่อนๆผู้เขียนที่เป็นอาจารย์ด้วยกันก็ชอบอ่านนิยายสุดฤทธิ์ ยังแปลกใจเลยว่า อุ๊ยเค้ามีเวลามากกว่าเราอีก แม่ผู้เขียนไม่ได้บังคับให้ผู้เขียนไปช่วยขายนิยายเพราะรู้ว่าไม่ใช่ทาง ทั้งที่ตอนเด็กๆไปช่วยขาย ไปเชียร์ให้คนซื้อนิยาย ตอนนี้อยากไปเชียร์เหมือนกันแต่ไม่ได้อ่านเลย จะขายขี้หน้าเสียเปล่าๆ อีกทั้งหลายครั้งก็อยากให้คนอ่านนิยายแบบแยกแยะได้ว่าคือเรื่องแต่ง แต่ก็รู้ว่ามันห้ามกันได้ยาก มันคือทางออกอย่างหนึ่งของคนในสังคมที่อาจไม่สุขนัก แต่เมื่อได้อ่านนิยาย คนอ่านเหล่านี้ได้เป็นสุขชั่วคราว เราคงห้ามกันไม่ได้ ได้แต่หวังว่าอ่านแล้วก็ปล่อยมันไป อย่าเอามาคิดจนเกินไปนัก


 


หนังสือที่มีคนเขียนดังๆ มักขายดี หลายคนมาให้ลายเซ็นด้วย ถือเป็นกลไกการตลาดที่ดี ผู้เขียนเห็นรายหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับภาษาอังกฤษของคนไทย มีคนรุมล้อมซื้อหนังสือและขอลายเซ็น รู้สึกสนุกไปกับเค้าด้วยแต่ไม่ได้ซื้อ เพราะว่าไม่ใช่ทางตนเอง นึกดีใจแทนว่าหนังสือขายดี อย่างนี้ก็คงรวย อย่างไรก็ตามขอให้คนที่ซื้อไปอ่านอ่านแล้วเก็บอะไรไปใช้ให้ได้ ยิ่งจะดีเพราะว่าจะได้ไม่เสียของ


 


ผู้เขียนเดินไปที่ร้านของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานผู้เขียน เพื่อซื้อหนังสือของผู้เขียนด้วย ตั้งใจว่าจะแจกเพื่อนๆ ญาติๆ ตอนปีใหม่หรือในวาระต่างๆ เจ้าของสำนักพิมพ์ก็น่ารักมากออกมาทักทายอย่างดี ผู้เขียนรู้สึกเสียใจที่หนังสือขายได้ไม่คล่อง เพราะไม่ตรงใจตลาดกระมัง เอาเป็นว่าไปซื้อมาแล้วจะยัดเยียดให้คนใกล้ตัวอ่านก็แล้วกัน  ภาวนาเอาใจช่วยให้สำนักพิมพ์ขายหนังสือของผู้เขียนออกบ้าง


 


เดินไปเดินมา เจอพรรคพวกเพื่อนฝูงสามสี่คน ต่างถามกันว่าผู้เขียนมาไทยตั้งแต่เมื่อไร อันนี้ก็ถือว่าเป็นการคืนสู่เหย้าอีกแบบ หรือรวมญาติอีกแบบ เห็นคนมากันเป็นครอบครัวนั่งทานอาหารกันตามทางเดินในงานด้วย คิดในใจว่าก็ดีแต่ห่วงความสะอาดและสุขอนามัยแทน ถือว่าเป็นการทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว แล้วก็เห็นหนังสือของเด็กๆ มาขายมากกว่าเดิม


 


จากการที่ได้เดินมาสองวัน ยอมรับว่ายังไม่ละเอียดพอ  แต่ว่าถ้าใครที่เสพหนังสือฝรั่งมากๆ อาจไม่ค่อยถูกใจอะไรนักเพราะตรงนี้ไม่ใช่ตลาดแบบนี้ หากอยากอ่านแบบไทยๆ ไม่ว่าจะวิชาเกินหรือไม่ก็พอหาได้ พลางนึกถึงงานออกบู๊ธแบบนี้ในงานประชุมวิชาการใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ หรือที่อื่นๆ มีหนังสือดีๆ ให้ดูให้ซื้อ แต่ที่เมืองไทยไม่มี อันนี้เป็นข้อเสียเปรียบในประเทศด้อยพัฒนาอย่างเราที่ไม่มีหนังสือคุณภาพมาให้อ่าน แต่ก็ต้องถามกลับอีกว่าถ้ามีหนังสือดีๆ ให้อ่านมากๆ แต่ไม่ได้ใช้ได้แสดงออก ก็คงอึดอัด ร้อนวิชาแล้วกลายเป็นลมปราณแตกสะบั้นได้ง่ายๆ


 


จากวันนี้มองย้อนไปถึงเมื่อกว่าสามสิบปีก่อน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมีพัฒนาการอย่างช้าๆ แต่มั่นคง คุณภาพหนังสือก็ได้พัฒนาขึ้นบ้าง แต่ในใจผู้เขียนนั้นไม่ค่อยพอใจในคุณภาพเหล่านี้นัก นึกฝันว่าถ้าทำได้หรือมีอำนาจที่จะบันดาลอะไรได้ อยากให้ตลาดหนังสือไทยมีตัวเลือกมากขึ้น ผู้ผลิตสามารถพัฒนาตนเองได้ และผู้อ่านมีคุณภาพมากขึ้น  แล้วที่อยากเห็นที่สุดคือ คนไทยอ่านงานมากขึ้นกว่านี้ ขอแค่ในเชิงปริมาณก่อนก็ได้


 


ผู้เขียนยังตั้งใจว่าจะไปเลือกซื้อหนังสืออีกจนกว่างานจะเลิก หากมีเวลาและเงินมากพอที่จะเจียดซื้อได้