Skip to main content

สารจากปารีส : ความหลากหลายทางชีวภาพกับความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาของประชาคมยุโรป

คอลัมน์/ชุมชน

เย็นวันแรกของการประชุม "Biodiversity in European Development Cooperation" คือวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จิตใจของดิฉันไม่เป็นปกตินัก เพราะกังวลเรื่องข่าวการยึดอำนาจที่ประเทศไทย  ซึ่งคุณ ABAN ผู้อำนวยการ IUCN ภาคพื้นเอเชีย (สำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ) กรุณาแจ้งให้ทราบตอนช่วงบ่ายแก่ ๆ หลังประชุมเสร็จตอนเย็น เธอจึงชวนดิฉันกลับโรงแรมโดยนั่งแท็กซี่มาด้วยกัน เพื่อตามข่าวจากโทรทัศน์


 


พี่ปุ๋ม (พรศิริ  ดีระพัฒน์) นั่งติดตามข่าวจากโทรทัศน์อยู่ในห้องพักที่โรงแรม ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวจากประเทศไทยโดยตลอด แต่เป็นข่าวเดิม ซ้ำไปซ้ำมา เมื่อโทรศัพท์กลับมาเมืองไทยก็ทราบว่าฝ่าย คปค. ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว


 


เช้าวันที่สองของการประชุม ดิฉันรีบกินอาหารเช้าแล้วมารอที่ล็อบบี้ของโรงแรม อยากพบท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ซึ่งคงมีข้อมูลที่ชัดเจนกว่าข่าวจากโทรทัศน์ แต่ก็คลาดกัน


 


ดิฉันจึงตัดสินใจเดินไปที่ศูนย์ประชุม เพราะถามเพื่อนหญิงจากทวีปอัฟริกาแล้ว เธอบอกว่าเส้นทางง่ายมาก เดินแค่ ๑๐ – ๑๕ นาทีก็ถึง


 


                    


                                                 ประตูชัย บนถนน ฌอง อาลิเซ่


 


ประตูชัย บนถนน ฌอง อาลิเซ่ คือเป้าหมายหลัก ดิฉันรีบมุ่งหน้าจะหาถนนที่พาไปสู่ศูนย์ประชุม แต่ปรากฏว่าทุกแยกถนนมีแต่อาคารหน้าตาคล้ายกันไปหมด หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ดีว่าอากาศช่วงเดือนกันยายนของนครปารีสค่อนข้างเย็นสบาย จึงคิดเสียว่ามาเดินเล่นชมบ้านเมืองของเขาเสียบ้าง


 


ลองถามทางจากคนที่นั่งอยู่ตามร้านกาแฟข้างทาง หรือคนที่กำลังเดินอยู่ โดยเอาชื่อถนน ชื่อศูนย์ประชุมให้ดู ๓–๔ รายแรกส่ายหน้า จนมาถึงโรงแรมเล็ก ๆ จึงเดินไปถามพนักงาน เขาบอกว่าให้ข้ามถนนไปเดี๋ยวก็ถึง


 


เดินอยู่เกือบชั่วโมง เวลา ๑๐ โมงแล้ว ดิฉันถอดใจ คิดว่าหาที่ประชุมไม่เจอแน่ เรียกแท็กซี่ดีกว่า โชเฟอร์ผู้แสนดีชี้ไปทางขวามือ บอกว่านั่นไง ศูนย์ประชุม มองไปก็เห็น ดิฉันใจชื้นขึ้น รีบเดินไป เมื่อเห็นป้ายชื่อถนน ก็สั่งตัวเองให้จำอย่างแม่นยำ


 


การประชุมวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการแบ่งกลุ่มย่อย ช่วงเช้า ๔ กลุ่ม ช่วงบ่าย ๔ กลุ่ม ดิฉันได้พบท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ ตอนพักเที่ยง  ตอนบ่ายจึงเข้าประชุมกลุ่มเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประสบการณ์โครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ EU สนับสนุนในทวีปอเมริกาใต้ อัฟริกา


 


มีบางเรื่องที่น่าสนใจ ตรงกับประเด็นที่ดิฉันดำเนินการอยู่ในวุฒิสภา เช่น ความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำอเมซอนของ ๘ ประเทศในทวีปอเมริกา คล้ายกับเรื่องแม่น้ำโขงที่ ๖ ประเทศในอาเซียนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ยังไม่ชัดเจนเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์และผลกระทบของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่อประเทศท้ายน้ำ เช่น การสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำโขงในประเทศจีน กระทบต่อ ๔ ประเทศท้ายน้ำ แต่ยังไม่ได้เจรจากัน เป็นต้น


 


เรื่องบทบาทของชนพื้นเมืองในการเจรจาต่อรองกับบริษัทที่ไปลงทุนทางธุรกิจ เช่น ทำเหมืองแร่ ขุดน้ำมันหรือต่อรองกับรัฐบาลเพื่อการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เสียดายที่เวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีน้อย ได้แต่รับฟังเสียเป็นส่วนใหญ่  ตอนเย็นดิฉันเดินกลับโรงแรมกับเพื่อนชาวอัฟริกัน เป็นคนเดียวที่ได้คุยกันอย่างสนิทสนม


 


บรรยากาศของถนน ฌอง อาลิเซ่ ยามค่ำ สว่างไสวด้วยแสงไฟ และผู้คนเดินกันขวักไขว่ (พี่ปุ๋มอธิบายให้ฟังภายหลังว่าถนนนี้คือ "ถนนชอปปิ้งของคนไทยในปารีส" มีห้างขายสินค้ายี่ห้อดังมากมาย เช่น หลุยส์ วิต็อง ซึ่งผู้ซื้อต้องไปเข้าคิวกันเพื่อซื้อกระเป๋าราคาแพงลิบลิ่ว) อากาศเย็นสบายดี เดินแค่ ๑๕–๒๐ นาทีก็ถึงโรงแรม


 


คุณ ABAN ผู้อำนวยการ IUCN กรุณาเชิญท่านผู้หญิงสุธาวัลย์กับดิฉันมากินอาหารค่ำ เพื่อปรึกษาแนวทางความร่วมมืองานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ที่โรงแรมใกล้กับหอไอเฟล เป็นห้องอาหารที่สวยงาม  แขกส่วนใหญ่แต่งตัวเพื่อมาดินเนอร์เป็นพิเศษ  บรรยากาศเป็นไปด้วยมิตรภาพที่ดี ที่จะได้สานภารกิจต่อเนื่องจากผลการประชุม


 


วันสุดท้ายของการประชุม (๒๑ กันยายน ๒๕๔๙ ) เป็นการเสนอรายงานผลสรุปจากกลุ่มย่อย ๘ กลุ่ม มีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ข้อสรุปจากประเทศโพ้นทะเล เสนอว่าประเทศที่ขั้วโลก คือ กรีนแลนด์ ประสบปัญหาอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น อันเป็นผลจากภาวะอากาศแปรปรวน และภาวะโลกร้อน ทำให้ระบบนิเวศที่เปราะบางได้รับผลกระทบ ทั้งเรื่องการละลายของภูเขาน้ำแข็ง ป่าชายเลน แนวปะการัง เปลี่ยนสภาพ  มีผลต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ เช่น เต่าทะเล ฉลาม ปลาชนิดต่าง ๆ คนพื้นเมืองซึ่งต้องพึ่งพาการหาปลาและการล่าสัตว์จากธรรมชาติ จึงมีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น


 


ทางแก้ คือ สหภาพยุโรปให้ความร่วมมือกับประเทศในทวีปอาร์คติค ในการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขให้ตรงประเด็น


 


            


 


ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิคใต้ เสนอว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มีถึง ๓,๐๐๐ ชนิด จึงส่งเสริมความรู้ การศึกษา และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อรักษา ปกป้องพันธุ์พืช และสัตว์ให้ดำรงอยู่ เช่น คุ้มครองฉลามชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์


 


ผู้แทนขององค์กรกรีนพีซ เสนอว่า สหภาพยุโรปควรออกกฎ มาตรการควบคุมสินค้านำเข้าที่ผลิตโดยวิธีทำลายธรรมชาติ และผิดกฎหมาย เช่น ป่าในแถบอเมซอน ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก กลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย เพื่อทำไบโอดีเซล หรือบริษัทข้ามชาติเข้ามาตัดไม้โดยผิดกฎหมายกลายเป็นได้สัมปทานถูกกฎหมาย จึงควรส่งเสริมการวิจัยและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ก่อนที่จะกำหนดนโยบาย ซึ่งต้องอาศัยจิตสำนึกทางการเมืองของประเทศผู้ให้ทุน ที่จะให้ทุนเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยให้ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม


 


รัฐมนตรีหญิงจากประเทศผู้เข้าร่วมประชุม เสนอว่า ควรสร้างเครือข่ายรัฐมนตรีหญิงด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายนักการเมืองหญิง ร่วมกับภาคธุรกิจ นักลงทุนเพื่อสร้างแนวร่วมคุ้มครองชีวิตมนุษย์ รวมทั้งกำหนดให้ป่าทั้งหมดของลุ่มน้ำอเมซอนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพราะเป็นแหล่งสำคัญของโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพและผลิตน้ำให้ทั้งโลกถึง ๒๐%


 


ผู้แทนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เสนอว่าแผนพัฒนาของทุกประเทศควรยึดหลักการเป้าหมายการพัฒนาในสหัสวรรษใหม่ของโลก Millenium Development Goals:MDGs เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๐ – ๒๙๙๙ ซึ่งมี ๘ ข้อ คือ


๑.      ลดความยากจนและความหิวโหย


๒.      ให้เด็กทุกคนได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ


๓.      ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชาย และสร้างศักยภาพของสตรี


๔.     ลดอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี


๕.     พัฒนาสุขภาพของผู้เป็นแม่


๖.      ขจัดโรคอันตราย เช่น โรคเอดส์ มาลาเรีย


๗.     เสริมสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม


๘.     สร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาทั่วโลก


 


โดยสหภาพยุโรปควรสนับสนุนทุนให้แก่โครงการที่ใช้หลักการของ  MDGs เป็นเป้าหมายและยึดเรื่องการอนุรักษ์  Biodiversity in European Development Cooperation เป็นแนวทางหลัก เริ่มจากระดับเล็กในท้องถิ่น ระดับจังหวัด จนถึงระดับชาติ


 


                         


 


นโยบายหลักของประเทศควรใช้กรอบของ MDGs ใช้หลักการของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน เพื่อกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ และข้อ ๗ ของ MDGs เป็นข้อหลักที่มุ่งให้การพัฒนาต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมผ่านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้บริโภคต้องปรับทัศนคติและกดดันให้เกิดการแก้นโยบายเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค  


 


สาระที่สำคัญที่สุดของการประชุม ที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนจะนำไปผลักดันให้เกิดขึ้นในโลกและในประเทศของตน คือ การบูรณาการ Biodiversity in European Development Cooperation สู่องค์กรเพื่อการพัฒนาของยุโรป ซึ่งมีความท้าทาย ๔ ประการ คือ


 


ความท้าทายที่ ๑ สนับสนุนแนวคิดหลักในหมู่ประเทศพันธมิตรให้ไปแนวเดียวกัน สหภาพยุโรปจะเป็นตัวกลางประสานให้เกิดความร่วมมือ เพื่อสร้างแนวคิดกระแสหลักในกลุ่มประเทศพันธมิตรที่มุ่งให้การพัฒนาต้องควบคู่กับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สร้างความแข็งแกร่งในด้านนโยบายและสถาบันต่าง ๆ ที่สนับสนุนเรื่องการลดปัญหาความยากจน


 


ความท้าทายที่ ๒ การบริหารการปกครอง ระบบบริการการปกครอง ต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการลดปัญหาความยากจนกับการอนุรักษ์และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน


 


ความท้าทายที่ ๓ เครื่องมือและข้อตกลงด้านนโยบาย  ความสำเร็จจากการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา จะส่งผลดีโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศแถบยุโรปที่สำคัญ คือ เรื่องการอพยพเข้าของประชากร จากประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม เช่น อัฟริกา


 


ความท้าทายที่ ๔  การสร้างจิตสำนึกเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศโพ้นทะเลและดินแดนที่อยู่ใต้การปกครองของประเทศในยุโรป เพื่อส่งเสริมการจัดการอย่างยั่งยืนในท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ และกระตุ้นให้เกิดความพยายามที่จะเกิดความร่วมมือในการทำงานกับภูมิภาคซึ่งอยู่ห่างไกล


 


ผู้เข้าร่วมประชุมได้เน้นถึงความจำเป็นที่จะนำเป้าหมาย เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ๒๐๑๐ เข้าสู่กรอบการทำงานของ MDGs เพื่อส่งเสริมความคิดกระแสหลักกับความร่วมมือการพัฒนา ทั้งยังได้แสดงความยินดีต่อคำมั่นสัญญาของประธานสหภาพยุโรป ชาวฟินแลนด์ ที่จะนำสารจากปารีส ไปเสนอที่ สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศและ EU GENERAL AFFAIR ในเดือนธันวาคม ๒๐๐๖ ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้เสนอให้รัฐสภาและสภาแห่งทวีปยุโรปเป็นผู้นำในการเจรจาเกี่ยวกับการหยุดการสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี ๒๐๑๐ และต่อไป


 


บทสรุป ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความซาบซึ้ง ต่อผู้สนับสนุนและประเทศเจ้าภาพผู้จัดการประชุม ที่ทำให้มีเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้เกิดขึ้น และจะนำผลที่ได้จากการประชุมกลับไปส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในประเทศของตนต่อไป