Skip to main content

หัวใจของการประชุมสมาชิกรัฐสภาเอเชียแปซิฟิก เรื่องประชากรและสิ่งแวดล้อม : ประเด็นท้าทายความคิดนักการเ

คอลัมน์/ชุมชน



































































































































หัวใจของการประชุมสมาชิกรัฐสภาเอเชียแปซิฟิก


เรื่องประชากรและสิ่งแวดล้อม : ประเด็นท้าทายความคิดนักการเมืองไทย
 

 

การประชุมครั้งที่ ๒๐ ของสมาชิกรัฐสภาเอเชียแปซิฟิกเรื่องประชากรและการพัฒนา จัดขึ้น ๒ วัน คือวันอังคารที่ ๒๘ และวันพุธที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๗ พิธีเปิดเริ่มเช้าวันที่ ๒๘ มีสื่อมวลชนของคาซัคสถานทั้งโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์มากันมาก

 

ประธานวุฒิสภาคาซัคสถาน Mr.Nurtay Abykaev กล่าวเปิดงาน ประธานคณะกรรมาธิการครอบครัวของรัฐสภา วุฒิสภา Mr.Beksultan Tutkshev กล่าวต้อนรับผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมมาจากประเทศลาว เขมร เวียตนาม ศรีลังกา อินเดีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิจิ เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน และไทย รองประธานของ Asian Population and Development Association (APDA) Ms.Kayako Shim Mizu ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีหญิงในกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้กล่าวสุนทรพจน์อันมีสาระที่น่าติดตามว่า

 

 

 

"APDA ได้มาจัดประชุมครั้งสำคัญนี้ที่นคร Almaty ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมของคาซัคสถาน เพราะ Almaty เป็นที่ประกาศเจตนารมย์สุขภาพดีถ้วนหน้าในศตวรรษที่ ๒๑ " (Alma Ata Declaration "Health For All") เมื่อ พ . ศ . ๒๕๒๑ โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขทั่วโลก ร่วมกันรับรองว่า " สุขภาพคือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การให้การบริการสาธารณสุขขั้นมูลฐาน ต้องนำไปปฏิบัติ และบรรลุวัตถุประสงค์ สุขภาพดีถ้วนหน้าภายใน พ . ศ . ๒๕๔๓ "

 

" หลังจากเวลาหนึ่งในสี่ของศตวรรษผ่านไป ( ๒๕ ปี ) สมาชิกรัฐสภาอาเซียน จึงมาร่วมกันสรุปผลที่ได้จากการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development : ICPD) และจะร่วมกันแถลงการณ์ถึงภารกิจที่จะร่วมกันปฏิบัติต่อไปในสิบปีข้างหน้า โดยขอให้ตระหนักร่วมกันว่า ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการรักษาพยาบาล ได้สร้างคุณประโยชน์มหาศาลแก่มนุษย์ แต่ขณะเดียวกันมนุษย์ก็เบียดเบียนโลก ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมาก และด้วยการกระตุ้นการบริโภคพลังงานมากเกินที่วงจรของธรรมชาติจะรองรับได้ จึงจำเป็นที่ต้องทบทวนระบบเศรษฐกิจของโลก เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน "

 

" กิจกรรมการพัฒนาประชากรและชุมชนต้องอยู่บนหลักการที่ " เคารพในศักดิ์ศรีของทุกชีวิต " (Reverence for Life) ขอให้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะสร้างสังคมที่เด็กทุกคนที่เกิดมาจะมีโอกาสเท่าเทียมกัน มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี การประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนา กำหนดให้การพัฒนาประชากรเป็นสาระสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงเพื่อให้ชีวิตของผู้หญิงดีขึ้น "

 

 

ปาฐกถาโดย Mr.Shin Sakurai อดีตประธานของ Asian Forum of Parliamentarians on Population and Development : AFPPD เรื่อง " ความก้าวหน้าและความท้าทาย จากผลงานด้านประชากรและการพัฒนาของสมาชิกรัฐสภา หลังจาก ๑๐ ปีของการประชุมระดับโลกด้านประชากรและการพัฒนา : ICPPD" มีสาระสำคัญที่ท้าทายความคิดของคนไทย ทั้งรัฐบาล นักการเมือง นักธุรกิจ และประชาชน ว่า " ปี ๒๕๔๗ เป็นวาระครบรอบ ๑๐ ปี หลังจากการประชุม ICPPD ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของโลก ที่ยอมรับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ การพัฒนาสภาพแวดล้อมของผู้หญิง โดยให้หญิงมีทางเลือก ได้รับข้อมูลและอุปกรณ์การวางแผนครอบครัว ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรของโลกมีความมั่นคง สมดุล

 

ตัวชี้วัดผลของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การปรับปรุงสุขภาพและชีวิตของคนระดับรากหญ้า ถือเป็นภารกิจสำคัญของสมาชิกรัฐสภา โดยจะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของคนในประเทศของตน ควบคู่ไปกับการสร้างอนาคตที่สดใสและมั่นคงของมนุษย์ชาติทั้งมวล "

 

" มนุษย์ทั้งมวลล้วนร่วมชะตากรรมเดียวกัน คืออาศัยอยู่ในโลกเดียวกัน ซึ่งเป็นโลกที่มีทรัพยากรจำกัด เราจึงไม่ควรจะใช้พลังงานเกินที่โลกจะตอบสนองได้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มองประชากรเป็นเพียงตลาด นักธุรกิจและรัฐบาลมักมองผลประโยชน์ในช่วงสั้น ๆ แค่ ๕ ปี แต่การมองด้านประชากรต้องมองระยะไกล จาก ๒๐ - ๓๐ ปี ถึง ๑๐๐ ปี โดยเทียบกับเวลาที่มีชีวิตมนุษย์อยู่ในโลกนี้ " " ในเวทีโลกขณะนี้ เกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกันมากขึ้น จากแนวคิดที่มุ่ง กอบโกยให้มากที่สุดจากผลประโยชน์ระยะสั้น " ( Maximizing short term interests) ขอยกกรณีเรื่อง อาหาร ซึ่งเป็นความจำเป็นต่อการอยู่รอดของมนุษย์ ถ้าขาดอาหารชีวิตย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ แต่พื้นดินที่จะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกได้ กลับถูกทำลายและลดน้อยลง ทำให้ยุ้งฉางของเกษตรกรในหลายประเทศว่างเปล่า เช่น ในรัฐปัญจาบของอินเดีย นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำจืด ซึ่งมีปริมาณน้อยลงก็เป็นวิกฤตสำคัญของโลก

 

ปัญหาเรื่องการเกษตรเป็นเรื่องหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน คำถามคือ กระบวนการผลิตอาหารควรเป็นอย่างไร จะกระจายอาหารให้ทั่วถึงได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเปลี่ยนเป็นการมองถึงเป้าหมายระยะยาว แทนการคิดแบบเศรษฐกิจและการเกษตรแบบกระแสหลักอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเห็นได้จากการขัดแย้งกันของผลประโยชน์ของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นองค์กรสมาชิกองค์การการค้าโลก ( World Trade Organization) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของการค้า ด้วยระบบการค้าเสรี แต่กลับเป็นการคุ้มครองประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งส่งออกผลผลิตการเกษตรที่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล อันเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา และสั่นคลอนรากฐานการเกษตรของประเทศกสิกรรมทั้งหลาย

 

แนวคิดกระแสหลักของประชาคมโลกขณะนี้ ขายมุมมองเรื่องผลประโยชน์ของอนาคตระยะยาว แต่กลับมุ่งสร้างกำไรสูงสุดเฉพาะหน้า ซึ่งจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้โลกนี้สูญเสียศักยภาพที่จะดำรงอยู่อย่างสมดุล

 

หากกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจล้มเหลวในการป้องกันมลพิษ แต่กลับถมมลพิษสู่ทะเล สู่แผ่นดินและภูเขา ผลเสียจะเกิดขึ้นต่อลูกหลานอีกหลายล้านชั่วคนในอนาคต แต่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากการสร้างมลพิษให้แก่โลก

 

ประชากรในโลกไม่ควรจะอดทน ต่อการได้ประโยชน์สูงสุดบนความเห็นแก่ตัวอีกต่อไป เป็นความถูกต้องชอบธรรมหรือ ที่นักการเมืองและสมาชิกรัฐสภาจะตัดสินใจจากหลักการได้ประโยชน์สูงสุดในระยะสั้น ปัญหาการผลิตอาหารได้ไม่ทันกับการเพิ่มของประชากร (และลัทธิบริโภคนิยม) จะไม่เป็นเพียงปัญหาทางเศรษฐกิจและจะกลายเป็นปัญหาทางการเมือง และเป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ต่อไป

 

ขอให้สมาชิกรัฐสภาทั่วโลก ฟังความเห็นของประชาชนระดับรากหญ้า และคิดถึงอนาคตของสังคมที่จะรวมกันสร้าง สมาชิกรัฐสภาต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนความคิดความหวังของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่ให้คะแนนเลือกพวกเราเข้ามาทำงาน และกำกับทิศทางให้รัฐบาลกำหนดนโยบายอย่างเหมาะสม ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ขณะเดียวกันต้องมองสถานการณ์ของโลก ส่งเสริมความร่วมมือขององค์กรระดับโลก กระตุ้นและทำให้องค์กรเหล่านี้ ทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง สมาชิกรัฐสภาต้องรับผิดชอบภารกิจอย่างซื่อสัตย์ เป็นอิสระ และประสานสอดคล้องกัน

 

 

ดิฉันได้รับรู้ข้อมูลที่สำคัญ คือ เป้าหมายการพัฒนาของศตวรรษใหม่ (The Millennium Development Goals: MDGs) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ได้จากการประชุมสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ เมื่อทศวรรษที่แล้ว เพื่อเป็นกรอบวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาของโลก

 

MDGs มุ่งให้ประชาคมโลกบรรลุเป้าหมายที่สามารถวัดได้ ที่จะปรับปรุงชีวิตของประชาชน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เป็นบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา แต่ประเทศที่ร่ำรวยต้องให้ทุนเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนา และสถาบันเพื่อการพัฒนาพหุภาคี ( Multilateral Institution) ต้องช่วยให้ประเทศทั้งหลายปฏิบัติได้จริง

 

๗ เป้าหมายแรกมุ่งเป้าเพื่อขจัดความยากจน ซึ่งประเทศที่ยากจนทั้งหลายต้องการความช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวย ที่สำคัญคือ การลดภาระหนี้ที่ทับถมประเทศยากจนอยู่ ลดอุปสรรคทางการค้า ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอย่างเป็นอิสระ

 

เป้าหมายการพัฒนาของศตวรรษใหม่ มีดังนี้

 

๑. ลดความยากจนและความหิวโหย
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๐ ถึง ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๕๘) สัดส่วนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ต้องลดลงครึ่งหนึ่ง และประชาชนผู้ทุกข์ยากจากความหิวโหยลดลงครึ่งหนึ่งด้วย (สัดส่วนเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี ที่น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานต้องลดลง สัดส่วนประชากรที่ได้บริโภคอาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำต้องลดลง)

 

๒. ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า
ภายใน พ.ศ. ๒๕๕๘ เด็กทุกแห่งหน ทั้งหญิงและชาย จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วน (ชี้วัดโดยอัตราการรู้หนังสือของวัย ๑๕-๒๔ ปี และสัดส่วนของนักเรียนที่เรียน ป. ๑ จนจบภาคบังคับ ๕-๖ ปี)

 

๓. ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชายและพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง
ลดความไม่เสมอภาคของโอกาสในการศึกษาขั้นพื้นฐาน และขั้นมัธยมของหญิงชาย ภายใน พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยตัวชี้วัดคือ อัตรานักเรียนหญิง/ชายในโรงเรียนประถม/มัธยม ผู้รู้หนังสือหญิงชาย อายุ ๑๕-๒๔ ปี สัดส่วนผู้หญิงที่ได้รับการจ้างงานนอกภาคเกษตร สัดส่วนที่นั่งของผู้หญิงในรัฐสภาระดับชาติ

 

๔. ลดการตายของเด็ก
ภายใน พ.ศ. ๒๕๕๔ อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี จะน้อยลง ๒ ใน ๓

 

๕. ปรับปรุงสุขอนามัยของแม่
ลดอัตราตายของแม่ลง ๒ ใน ๓ และสนับสนุนการทำคลอด ด้วยบุคลากรที่มีความชำนาญ ภายใน พ.ศ.๒๕๕๘

 

๖. ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ
หยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ ภายใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (ตัวชี้วัด คือ การติดเชื้อเอดส์ของหญิงอายุระหว่าง ๑๕-๒๔ ปีที่ตั้งครรภ์ อัตราการใช้วิธีคุมกำเนิด จำนวนเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อเอดส์ การป้องกันและรักษาผู้ป่วยวัณโรค)

 

๗. ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า สิ่งแวดล้อมจะมั่นคงยั่งยืน ( Ensure Environment Sustainability) โดยบูรณาการหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืนลงสู่นโยบายและโครงการพัฒนาของประเทศ รวมทั้งป้องกันการสูญเสียทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (วัดโดยสัดส่วนของพื้นที่ป่าธรรมชาติ การคุ้มครองพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และ GDP ต่อหน่วยการใช้พลังงาน) ภายใน พ.ศ. ๒๕๕๘ สัดส่วนของประชาชนที่ไม่เข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยต้องลดลงครึ่งหนึ่ง และภายใน พ.ศ. ๒๕๖๓ ชีวิตของคนในชุมชนแออัด ๑๐๐ ล้านคนต้องได้รับการปรับปรุง

 

๘. พัฒนาพันธมิตรระดับโลก
เพื่อการพัฒนาให้เป็นการพัฒนาอย่างเปิดเผย และเปิดโอกาส เป็นไปตามหลักการของกฎกติกา สามารถคาดการณ์ได้ ไม่กีดกันทางการค้าและระบบการเงิน รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล การพัฒนา การลดความยากจนทั้งระดับประเทศและระดับโลก

 

ยังมีสาระที่เป็นประโยชน์จากการประชุมที่ประเทศคาซัคสถานอีก ดิฉันจะขอนำเสนอต่อในตอนหน้านะคะ