Skip to main content

เปิดใจเยาวชนยุค "คลิ๊ก"

คอลัมน์/ชุมชน

 "บ้าเซ็กส์ มั่วเพศ ติดเอดส์ หัวรุนแรง ติดเกม ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย …"  


 


อาจปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นความในใจของใครๆ หลายคน กำลังจินตนาการถึงวัยรุ่นวันนี้ว่าเป็นเสมือนผู้ต้องหา มีความผิดร้ายแรง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ก่อเกิดปัญหาสังคมต่างๆ มากมาย      


 


แต่อีกมุมหนึ่งในสังคม ยังมีวัยรุ่นกว่า 200 กลุ่มในภาคเหนือ ผู้ซึ่งทำกิจกรรมในหมู่บ้านของตนเอง  เห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น  และต้องการออกมาบอกว่า "วัยรุ่นมิใช่ผู้สร้างปัญหา แต่เป็นทางออกของปัญหาสังคม"


 


โลกหมุนเร็ว สังคมเปลี่ยนแปลง


 



 


ด้วยเหตุข้างต้นจึงทำให้เกิดงาน "สมัชชาเยาวชน ด้านเอดส์ภาคเหนือขึ้น  ระหว่างวันที่  21-23  ตุลาคม 2549   ณ โรงแรมเดอะแฟมิลี่ จังหวัดเชียงใหม่   ซึ่งจัดโดย เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน  มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (AIDSNet) โครงการป้องกันการแพร่ระบาดของเอดส์ในชุมชนภาคเหนือ กองทุนโลก(GFATM) และคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ภาคเหนือ ทั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นทางหนึ่งในการเพิ่มเสียงเยาวชนสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น


 


ฟาริดา  ลังกาฟ้า ผู้จัดการ Project  Hope  กล่าวว่า หากย้อนดูเรื่องการสื่อสารของคนในสังคม เมื่อ  10 ปีก่อน โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก หรือเรียกกันว่ามือถือรุ่นกระติกน้ำ มีแต่คนที่มีฐานะดีเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของได้ ขณะที่ปัจจุบันวัยรุ่นเกือบทุกคนมีมือถือใช้ อยากจะบอกอะไรกับใครก็บอกได้เลย ไม่ต้องรอ  รวดเร็วทันใจ   อยากรู้เรื่องอะไรก็คลิ๊กดูในอินเตอร์เน็ตได้เลย  แทบจะพูดได้เลยว่าเป็นเยาวชนยุค "คลิ๊ก"


 


ด้านวัฒนธรรม กรวิทย์  ไชยสุข เยาวชนกลุ่มรักษ์ล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สังคมไทยมีความหลากหลาย แต่ละภูมิภาคก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง    เช่น ภาคเหนือมีสำนวนที่ว่า "ของกิ๋นของลำ มีคนฮักมีคนเปิงใจ๋"  สะท้อนว่าในอดีตคนหนุ่มสาว  ที่มีความชอบ  ความรักในสิ่งคล้ายกันก็จะรวมตัวทำกิจกรรมร่วมกัน  ซึ่งแตกต่างจากวิถีในยุคนี้


 


ด้านการสื่อสารปัจจุบัน  เอกราช  พึ่งยล กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จังหวัดพะเยา กล่าวว่า  สื่อในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ  สื่อเข้ามามีผลต่อทัศนคติของคน  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน  หากรับสื่อโดยรู้ไม่เท่าทันหรือไม่มีคนให้คอยให้คำแนะนำ  ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงเร็ว เด็กเยาวชนในชนบทมุ่งหน้าไปเรียนในตัวเมืองใหญ่ เมื่อใช้ชีวิตในเมือง มีรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ ไม่เข้าใจประเพณี วัฒนธรรมของคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เช่น การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ การสืบชะตา ทำให้หมู่บ้านไม่มีคนสืบทอดประเพณี


 


"ปัจจุบันวัฒนธรรมแบบใหม่ ที่เน้นความทันสมัยใหม่เข้ามา มือถือเข้ามา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกตอนนี้มันไร้พรมแดน ตอนนี้มีเกมอินเตอร์เน็ตให้เล่น  เด็กบางคนเล่นแบบไม่ยอมกินข้าว  เล่นแบบ "คุณแม่ไม่ปลื้ม" มันจึงเกิดปัญหาขึ้นระหว่างพ่อแม่กับลูก  ยุคสมัยมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ เด็กจะอยู่ยังไง จะรับมันเรื่อยๆ หรือว่าจะเลือกรับ"  เอก ตั้งคำถามถึงจุดยืนของเยาวชน 


 


เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่บ้านบนดอย เช่น บ้านของ แสงทอง โอโดเชา  หนุ่มปกาเกอะญอจากเครือข่ายเยาวชนด้านชาติพันธุ์  บอกเล่าว่า เมื่อก่อนลูกหลานปกาเกอะญออยู่กับครอบครัว อยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ ต่อมามีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา มีโรงเรียน ทีวี ถนน ไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน จากเดิมผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้สอนเรื่องของการใช้ชีวิต กลายเป็นหน้าที่ของครูในโรงเรียน ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมคนดอย  มีเรื่อง "เงิน" เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น คนบูชาเงินมากขึ้น


 


สาเหตุข้างต้นทำให้เยาวชนจำนวนมากออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง เช่น ลงมาเป็นเด็กปั้ม  มีวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ เนื่องจากความไม่รู้หรือรู้ไม่เท่าทันในการรับสื่อ ทำให้เพื่อนเยาวชนตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น  ความไม่ภาคภูมิใจในความเป็นปกาเกอะญอ ไม่รู้จักรากวัฒนธรรมของตน  ไม่อยากแต่งกายประจำเผ่า เป็นต้น


 


วัยรุ่น ทางเลือก ทางออก


 


"วัยรุ่นมีปัญหาน่าจะเกิดจากการเกิดวัฒนธรรมย่อยในสังคม บางคนตอบสนองความสุขของตน สังคมมันเปลี่ยวเงา ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวห่างเหินกันออกไป เหมือนแตกเป็นเสี่ยง ๆ ทำให้วัยรุ่นเคว้งคว้าง มีคำถามกับตัวเองว่า "ฉันเป็นใคร"  เพื่อน คนใกล้ตัวจึงเป็นผู้มีความสำคัญต่อเขา และมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศมากขึ้น เหมือนว่า วัยรุ่นกำลังค้นหาบางสิ่งบางอย่างมาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป"  ฟาริดา ตั้งข้อสันนิฐาน


 


ส่วนกรวิทย์ ค้นพบว่าความเหงา โรคที่วัยรุ่นเป็นอยู่นั้นแก้ได้ด้วยครอบครัว พ่อแม่อาจไม่รู้ในสิ่งที่วัยรุ่นสมัยนี้สนใจ เพราะคนรุ่นพ่อแม่ไม่รู้เรื่องอินเตอร์เน็ต ไม่เข้าใจเวลาลูกมีปัญหา ดังนั้นคนรุ่นลูกเวลามีปัญหาควรหาเวลาปรึกษาท่าน ค่อยๆ ทำความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองคิด  ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินใจ เพราะเสี้ยววินาทีการตัดสินใจ นั่นหมายถึง หนทางที่จะนำไปสู่ทางที่ดีหรือเลวร้ายในพริบตา


 


โดยเฉพาะเรื่องวัยรุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างหญิง และชาย ความสัมพันธ์ทางเพศ ที่มักถูกพ่วงคำถาม ถึงความไม่เหมาะสมเรื่องการมีเซ็กส์ในวัยรุ่นเสมือนเป็นกฏเหล็กของสังคมไทย แต่ไม่มีทางเลือกให้สำหรับคนวัยนี้ …


 


ตัวแทนเยาวชนมีข้อเสนอแนะได้อย่างน่าสนใจ   เช่น นิศาชล  สืบแจ้  ตัวแทนจากเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือ บอกว่าไม่มีคำตอบสำเร็จรูปในเรื่องนี้ เพราะไม่สามารถตัดใจได้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับใคร สิ่งสำคัญคือมีอย่างไรจึงจะปลอดภัย  การใช้ถุงยางอนามัยก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ปลอดภัย  มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อคนรักของตน


 


กรวิทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  "ห้ามใจ เข้าใจ และเอาไปใช้" คือวัยรุ่นน่าจะทำความเข้าใจและศึกษาวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อน หลีกเลี่ยงที่จะมีสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่ง หรือไม่อย่างนั้นควรมีแนวทางที่ทำให้เราปลอดภัย


 


นี่คือ อีกหนึ่งเสียงที่สะท้อนจากเยาวชน ด้วยหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี…


 


*รายงานฉบับนี้เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าว "กาแลน้อย" โดยทีมละอ่อน+ ในงานสมัชชาเยาวชนด้านเอดส์ ภาคเหนือ "เพิ่มเสียงเยาวชนสู่การเปลี่ยนแปลง" วันที่ 21-23 ตุลาคม 2549 ณ จังหวัดเชียงใหม่