Skip to main content

เรื่องไม่เข้าใจกับเรื่องไม่เท่าเทียมที่ต้องทำใจ

คอลัมน์/ชุมชน

ฉันคิดว่าคงเพราะโตมากับการได้เห็นประเพณีจีนอยู่รอบ ๆ ตัว ได้กินอาหารจีน แถมในเมืองไทยก็มีของจีนๆ เหมือนกับที่นี่ หลังจากมาเรียนที่กวางเจา ฉันเลยไม่มีความรู้สึกแปลกตาหรือตื่นเต้นอะไรไปกับคนอื่นเขาทั้งที่ไปมาหลายที่แล้ว (หรือเพราะฉันมีอะไรผิดปรกติ)  บางทีกินอาหารจีนที่นี่ยังรู้สึกว่าอาหารอย่างเดียวกันที่เมืองไทยอร่อยกว่า หรือเวลาไปร้านขายของที่ระลึกก็จะรู้สึกเฉยๆ เพราะเห็นจนเจนตาแล้วที่เมืองไทย แม้แต่แหล่งช้อปปิ้ง ก็ยังเห็นว่าของไม่ต่างกับบ้านเรา ราคาก็ไม่ได้ถูกกว่าด้วยซ้ำ ตอนนี้ถ้ามีเวลาว่างที่กวางเจา ฉันยังไปที่นั่นที่นี่บ้าง หวังว่ายังมีที่พิเศษที่ฉันยังไปไม่ถึง


 


คราวนี้ไม่พาไปที่ไหน แต่มีเรื่องอยากเล่าให้ฟังค่ะ


 


ในความรู้สึกฉัน เวลาเราเจอคนที่ต่างกับเรามากๆ ทั้งความอ่อนโยนของใจ กิริยาท่าทาง วาจาและการแสดงออก บางวันเราก็พร้อมจะทำความเข้าใจแล้วหัวเราะปลอบใจตัวเองได้ แต่บางวันที่เราเองก็มีปัญหา หลายเรื่องสุมหัวอยู่ หรือบางทีเราก็เบื่อ ไม่อยากจะเข้าใจ แล้วต้องมาเจอเรื่องไม่เข้าท่าน่าเบื่อเดิมๆ ซ้ำๆ  มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน


 


วันที่ฉันเป็นคนแปลกหน้าของที่นี่ใหม่ๆ ฉันเคยหัวเราะได้เวลาเจอคนจีนเดินชนหรือแซงคิวต่อหน้าต่อตา เวลาใครถามหรือบ่นว่าคนจีน  ฉันก็จะคอยอธิบายให้พวกเขาเข้าใจ เพราะฉันรู้ว่าคนจีนเองก็กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงกันอยู่  แต่พอครบหนึ่งเดือนจนถึงตอนนี้ ที่เคยหัวเราะได้กับเรื่องเหล่านั้นมันก็เริ่มชินชา บางครั้งเจอคนมาทำมารยาทไม่ดีใส่ ฉันจะเริ่มไม่พอใจ ก็เราอยู่ของเราดีๆ ทำไมต้องเดินมาชน พอหันไปมองก็เหมือนเขาจะไม่รู้ตัวว่าเพิ่งเดินกระแทกคนมาเมื่อกี้  ต่อให้ฉันโกรธง่ายหายเร็วแค่ไหน ก็อดที่จะหงุดหงิดขึ้นมาไม่ได้ (งานนี้ต้องคิดปลงตามหลักกรรมใดใครก่อฯ ว่าฉันคงเคยทำอย่างนี้กับคนอื่น เลยมาโดนทำอย่างนี้คืนบ้าง)


 


หรืออย่างคราวนั้นที่ไปสวนสัตว์ รู้อยู่ว่าครอบครัวจีนมักมีลูกแค่คนเดียว ฉันไม่ได้อิจฉาที่เห็นเด็กหนึ่งคนจะมีทั้งพ่อแม่และปู่ย่าตายายคอยดูแล (บางทีก็เอาใจสารพัด) ฉันรู้ว่าเด็กคนนั้นเปรียบได้กับหัวใจของครอบครัว แต่บางทีฉันว่ามันมากเกินไป และบางครั้งก็ก่อนิสัยไม่ดีให้เด็กด้วย ฉันเห็นครอบครัวหนึ่ง แม่พูดอะไรกับลูกก็ไม่รู้ แต่ลูกร้องไห้ พ่อเห็นเข้าก็เลยว่าแม่แล้วจับมือลูกไปตีแม่ ส่วนตัวพ่อเองก็ช่วยลูกตีด้วย ฝ่ายคุณแม่ก็ไม่พูดอะไรออกมานอกจากยืนด้วยสีหน้าเจื่อนๆ


 


บางครอบครัวที่ลำบากและมีลูกคนเดียวเหมือนกัน พ่อแม่ย่อมยิ่งฝากความหวังไว้ ฉันอ่านเจอครั้งหนึ่งว่าครอบครัวทุกครอบครัวย่อมอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี ได้เรียนในมหาวิทยาลัย เพราะความหมายของการจบมหาวิทยาลัยคือการจะได้มีงานดีๆ ทำ วันก่อนในโทรทัศน์ เห็นหนูน้อยชาวจีนคนหนึ่งออกมานั่งอาศัยแสงจากเสาไฟริมทางทำการบ้าน เพราะไฟในบ้านสว่างไม่พอ เด็กให้สัมภาษณ์ว่ามีความสุขดี และจะตั้งใจขยันเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ฉันดูแล้วก็อึ้ง เด็กบางคนอยู่สุขสบายเหลือแสน อยากได้อะไรก็มีคนหามาให้ ยิ่งตอนนี้คนจีนด้วยกันเองที่จบมหาวิทยาลัยยังแย่งงานกันแทบแย่ ถ้าเด็กคนนั้นโตขึ้น แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เขาจะทำยังไง หรือถ้าสอบได้เรียนจบออกมาจะมีงานทำที่หาเงินพอเลี้ยงพ่อแม่ได้หรือเปล่า


 


ริมถนน ป้ายรถเมล์ ฉันเห็นคนแก่มาเดินขอเงิน ขอทานบางคนหอบลูกที่เป็นโรคน่าสงสารมานั่งบนทางเท้า เวลาเห็นฉันจะคิดถึงเมืองไทย ไม่ว่าที่ไหนๆ ต่อให้เมืองเจริญอย่างไร ก็มีช่องว่างเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีกับคนไม่มี


 


ฉันรู้ว่าเราไม่มีวันเท่ากัน แต่มันต้องมีสักทางที่จะทำให้คนที่มีน้อยกว่าเราได้รับการดูแลบ้าง มันน่าจะดีกว่าที่บางคนทำหน้ารังเกียจหรือผวากลัวเวลาพวกเขามายืนใกล้ๆ หรือแม้กระทั่งไล่พวกเขาไปให้พ้นสายตา


 


ส่วนเรื่องหงุดหงิดใจของฉัน ก็เป็นเรื่องที่ฉันเองต้องทำใจ.


 


 


เมื่อได้เห็นมา


 


วันหนึ่งในคาบเรียน อาจารย์ของฉันเล่าให้นักเรียนฟังว่า คำทักทายและคำถามที่นักเรียนต่างชาติมักกระอักกระอ่วนเวลาฟังหรือเวลาจะตอบ มักเป็นเรื่องวิธีถามของคนจีนที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกแปลกๆ หรือเข้าใจผิดได้ง่าย คนจีนมักทักทายและถามประมาณว่า


1.             "อายุเท่าไหร่แล้ว" กับบางคนอาจจะรู้สึกว่าถามละลาบละล้วงเกินไป เป็นเรื่องที่เค้าไม่อยากบอก ที่คนจีนถามแบบนี้เพราะพวกเขาจะได้รู้ว่าควรปฏิบัติกับเราอย่างไร เช่น ถ้าเราเด็กกว่า เขาก็จะช่วยเหลือ หรือถ้าเราแก่กว่า เขาก็จะให้ความเคารพ


2.             "เดือนหนึ่งมีเงินใช้เท่าไหร่"  ถ้าฉันเจอคำถามนี้ ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรเหมือนกัน เพราะคิดว่าทำไมต้องบอก เขาจะอยากรู้ไปทำไม ถ้าเกิดมันมากไปหรือน้อยไปแล้วยังไงต่อ ฉันได้ยินมาว่าที่คนจีนถามกันอย่างนี้เพราะห่วงใย อยากรู้ว่าเราอยู่ดีกินดีมั้ย หรืออีกแง่ก็คือเป็นแค่ธรรมเนียมการทักทายของเขา เขาก็ถามกันไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้ต้องการจะอยากรู้คำตอบจริงจังสักเท่าไหร่


3.             "จะไปไหนเหรอ"  ตอนแรกๆ ก็ตอบได้สนุกดี แต่หลังๆ เริ่มลำบากใจ บางคนจะคิดว่าถ้าไม่ตอบก็ดูไม่มีมารยาท จะให้ตอบก็ไม่อยากเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว อันนี้ก็เหมือนกัน เป็นแค่ธรรมเนียมการทักทายเท่านั้น


4.             สมมติเรากำลังอ่านหนังสือ คนจีนก็จะทักว่า "อ่านหนังสือเหรอ" เรากินข้าว เขาก็ทัก "กินข้าวเหรอ" ตอนทำการบ้านอยู่ก็ "เธอทำการบ้านเหรอ" คนฟังจะงงๆ ว่าก็เห็นอยู่แล้วจะถามอีกทำไมเนี่ย


5.             คนจีนมักทักทายเวลาเจอคนรู้จักว่า "กินข้าวรึยัง" อาจารย์ฉันเล่าให้ฟังว่าบางทีเจอกันที่หน้าห้องน้ำก็ทักแบบนี้ แต่พูดสั้นลงว่า "เธอกินรึยัง" ทีนี้คนฟังก็ทำหน้าไม่ถูกว่าหมายถึงกินอะไร


 


เอารูปมาฝาก ชายจีนคนหนึ่งกับอิริยาบถสบายๆ.