Skip to main content

เรื่องของความเหงาและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

คอลัมน์/ชุมชน


ชาวเลบนเกาะสิเหร่ ภูเก็ต


 


 


เช้านี้ฝนตกพรำฟ้า ไอหมอกลอยสูงเหนือพื้นทะเลสาบ เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวของชายชาวประมงเดินทางมาก่อนที่เรือและเขาจะผ่านทางมาถึง ผมมองภาพนี้จากบ้านพักที่ตั้งอยู่บนยอดเขาบนเกาะยอซึ่งแลเห็นสะพานติณสูลานนท์ทอดข้ามไปยังอีกฝั่ง อากาศเย็นเล็กน้อยฝนยังพรำอยู่  ภาพปรากฎตรงหน้างดงามตามความเป็นไปของมันเช่นเดิมมานานและแน่นอนผมเหงา


 


เอาเป็นว่าเปลี่ยนเป็นเรื่องของเรากันดีกว่า 


 


นอกเหนือไปจากภูมิทัศน์อันตรึงเสน่ห์แล้ว ปักษ์ใต้ยังมีเรื่องราวที่น่าหลงใหลอีกมากมายที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นวัฒนธรรมอันมีอารยะ  ก่อนหน้านี้ผมเดินทางไปยังสถานที่หลายแห่งในภาคใต้เพื่อซึมซับเอาน้ำเนื้อแห่งความเป็นปักษ์ใต้เอาไว้  พบเจอกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ ซาไก ชาวเล ฯลฯ


 


ทีแรกผมเองยังคิดว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อเลยทีเดียวที่จู่ๆ ก็รู้ว่า ตามหลักฐานทางธรณีสัณฐานโบราณคดีได้ค้นพบว่า ภาคใต้ของไทยเรานั้นมีมนุษย์อาศัยมาแล้วตั้งแต่ประมาณเมื่อ 37,000 ปีก่อนซึ่งนับว่าเป็นมนุษย์ยุคเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว  ปกติผมเองก็ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณอะไรทำนองนี้  เมื่อมารู้ข้อมูลพวกนี้จึงตื่นเต้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่ามนุษย์ในยุคนั้นส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ บริเวณอ่าวพังงาแล้วจึงขยายตัวเป็น "ชาวน้ำ" และ "ชาวถ้ำ" เป็นการต่อมา เพราะบางทีคนใต้อาจเป็นบรรพบุรุษของคนไทยก็เป็นได้


 


ดังนั้น พื้นที่บริเวณภาคใต้ของไทยเรานั้นมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตามข้อมูลที่ปรากฏ ชุมชนแรกเริ่มยุคประวัติศาสตร์ของภาคใต้อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 5-11 โดยเริ่มจากอ่าวฝั่งตะวันตกแล้วขยายไปสู่เวิ้งอ่าวฝั่งตะวันออกซึ่งมีพื้นที่เหมาะแก่การตั้งชุมชนเกษตรกรรมเสียมากกว่าจะทำอย่างอื่น ผมจะยกตัวอย่างกว้างๆ ให้พอเห็นเด่นชัดคือ แถบเวิ้งอ่าวบ้านดอน-ไชยา  อ่าวแถบนครศรีธรรมราช-สงขลา  และแถบอ่าวปัตตานี


 




ซาไก สมัย ร.5


 


 




ซาไก ในปัจจุบัน

 


 


 


 


มัสยิดกรือเซะ


 


ย้อนถึงวันหยุดยาวเมื่อ 3-4 เดือนก่อนหน้านี้  ผมแบกเป้และลุกออกเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งหลังเว้นวรรคไว้เสียนาน เริ่มต้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ แล้วล่องใต้มาจนถึงปัตตานี สิ่งที่ผมพบเห็นก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ อย่างน้อยของฝากจากเพื่อนที่กระบี่ที่ได้มาก็เป็นลูกปัดสีแห่งแหล่งคลองท่อมที่มีชื่อเสียงอันมีอายุประมาณ 1,500 ปี ภาพเขียนผนังถ้ำไวกิ้ง ภาพเขียนผนังถ้ำผีหัวโต หรือเลยไปจนถึงมัสยิด "กรือเซะ" ก็พอจะเป็นหลักฐานและประจักษ์พยานบางอย่างได้บ้างว่าภาคใต้มีผู้คนอยู่อาศัยมานานโขแล้วทีเดียว ยังไม่นับถึงการค้นพบชิ้นส่วนกลองมโหระทึกทั้งหมด 12 ใบ ซึ่งทั้งหมดล้วนสร้างอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 1- 5 และอื่นๆ อีกมาก  ทั้งหลักฐานการตั้งอาณาจักรโบราณอย่าง "ศรีวิชัย" (สุราษฏร์ธานี-นครศรีธรรมราช)  "ลังกาสุกะ" (ปัตตานี)  "สทิงปุระ" (สงขลา-พัทลุง)  หรือแม้กระทั่ง "ครหิ" (ไชยา)  และ "ตามพรลิงค์" (นครศรีธรรมราช) เป็นต้นนี้ด้วย


 


เรื่องของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภาคใต้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 เมืองต่างๆ ในภาคใต้ก็ได้ผนวกรวมกันเข้าเป็นรัฐไทยอย่างเต็มรูปแบบกระทั่งปัจจุบัน


 




ภาพเขียนผนังถ้ำผีหัวโต


 


ผมพยายามไม่ลงลึกไปในข้อมูลมากเพราะไม่อยากให้ดูน่าเบื่อหรือหากอยากรู้ข้อมูลต่างๆ ต่อก็อาจไปศึกษาได้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาซึ่งเป็นแหล่งข้อมูล "เรื่องแบบใต้ใต้" โดยตรง  โดยเฉพาะทั้งข้อมูลดิบ ข้อมูลที่ถูกสังเคราะห์ ถูกจัดรูปแบบ และรวบรวมเอาไว้เป็นอย่างดีแล้ว


 


เรื่องแบบว่าใต้ใต้ตอนนี้ดูจะแข็งทื่อไปด้วยข้อมูลมากสักหน่อย แต่ก็เพื่อจะนำท่านผู้อ่านไปรู้จักเบื้องหลังของภาคใต้กันก่อนจะมาทำความรู้จักเรื่องอื่นๆ ที่ต่างก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย  สำหรับจดหมายที่ส่งผ่านมาทาง poramate@tsu.ac.th นั้นเอาเป็นว่าผมจะค่อยๆ เผยเรื่องราวนั้นออกมาให้ได้ทราบกันต่อไปก็แล้วกัน


 


ฝนซาเม็ดแล้ว น้ำยังค้างอยู่บนยอดไม้สีเขียว อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การนอนเป็นที่สุด นับว่าเป็นเรื่องปกติของช่วงปลายปี  ฤดูฝนให้ความรู้สึกเหงาๆ และปีนี้สำหรับผมก็เหงาเป็นพิเศษ


 


ไอหมอกลอยสูงขึ้น ผมมองดูออกไปนอกประตูหลังบ้านบนยอดเขา ชาวประมงท้องถิ่นยังออกหาปลาเช่นเคยและงดงาม  อย่างไรก็ตามท่านคงพอรู้จักปักษ์ใต้แบบคร่าวๆ บ้างแล้ว ครั้งต่อไปเราจะเดินเล่นกัน


 


บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-เกาะยอ-สงขลา