Skip to main content

จน.. เครียด.. กินเหล้า VS รวย.. เครียด.. อดโฆษณาเหล้า

คอลัมน์/ชุมชน


"จน.. เครียด.. กินเหล้า" คิดว่าคนจำนวนไม่น้อยคงจำโฆษณานี้กันได้ และภาพที่คนนั่งกินเหล้าอยู่นั้นสังเกตดู น่าจะเป็น "เหล้าขาว" ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันในหมู่ผู้มีรายได้ต่ำ และผู้ใช้แรงงาน


 


โฆษณาชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการรณรงค์ให้คนเลิกดื่มเหล้า ตามภาพที่ปรากฏออกมานั้นดูเหมือนจะเชื่อว่า เหล้าเป็นสาเหตุของความจน ดังนั้น ในโฆษณาหวังถึงผลพลอยได้ว่าหากเลิกเหล้าได้แล้วก็จะเลิกจน และจะได้ไม่ต้องมานั่งเครียดอีกต่อไป โฆษณาชิ้นดังกล่าวนี้ หากมองในรูปแบบของการโฆษณา นับว่าได้ผลในการทำให้คนจำโฆษณาได้ ทว่า จะได้ผลตามวัตถุประสงค์แท้ๆ หรือเปล่านั้น ไม่แน่ใจนัก เพราะพบว่า ที่สุดแล้วคนที่ดื่มก็ยังคงดื่มอยู่ แถมนำเอาคำโฆษณานี้มาพูดติดปากในระหว่างการดื่มด้วย มิหนำซ้ำอาจเอาจุดนี้มาเป็นข้ออ้างในการดื่มด้วยซ้ำว่า จน เครียด ก็เลยกินเหล้า


 


แต่ก่อนที่จะมองว่าโฆษณานี้ส่งผลให้คนเลิกดื่มได้มากน้อยแค่ไหน ขอตั้งข้อสังเกตสักเล็กน้อยว่า หากต้องการรณรงค์ให้คนงดดื่มสุราหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กันแล้วก็น่าจะทำกับทุกกลุ่ม เพราะว่า การดื่มเครื่องแอลกอฮอล์นั้นสามารถสร้างปัญหาทั้งสุขภาพและสังคมได้ในคนทุกกลุ่ม แต่ว่าภาพที่ออกมาดูเหมือนจะทำขึ้นเพื่อรณรงค์ในกลุ่มคนจนเท่านั้น ดังนั้น หากคิดลึกๆ ลงไปอาจจะเป็นการไปดูหมิ่นคนจนอยู่ไม่น้อย  ว่าคนจนเท่านั้นที่เป็นปัญหา และเหล้าเป็นสาเหตุของความจนก็เป็นประเด็นที่ไม่ถูกต้อง


 


คราวนี้มาถึงผลกระทบอันเกิดจากโฆษณา โฆษณาชิ้นนี้ได้กลายเป็นดาบสองคมไปแล้วเพราะแทนที่จะเป็นการรณรงค์ให้เลิก กลับกลายเป็นว่า คำรณรงค์ที่ติดปากกันยิ่งส่งเสริมว่าเพราะคนเลยเครียด เครียดจึงต้องดื่มเหล้า แม้ตอนท้ายจะมีบอกว่า "เลิกเหล้าเลิกจน" แต่คงไม่มีใครจำประโยคนี้ได้ อีกทั้งว่ามันเป็นเช่นนั้น "จริงหรือ?"


 


ทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องการรณรงค์งดดื่มเหล้า รัฐบาลนี้มีความจริงจังมากขึ้นคือ ขณะที่คนจน..เครียด..กินเหล้า คนรวยหรือกลุ่มผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายก็เครียดเช่นกัน เพราะอดโฆษณาเหล้า อันเป็นช่องทางหนึ่งการทำการตลาดของสินค้า กล่าวคือ ตอนนี้รัฐบาลกำลังเข้มงวดกับการแก้ปัญหาเรื่องการดื่มสุรามากขึ้นโดยมีมาตรการห้ามการโฆษณาเหล้าทุกรูปแบบ ด้วยเชื่อว่า การโฆษณานั้นเป็นการจูงใจหรือปลุกเร้าให้มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมากขึ้น กระนั้นก็มีผู้ถกเถียงว่า อันที่จริงการโฆษณานั้นมีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะยอดจำหน่ายสุราที่สูงสุดในบ้านเราคือ "เหล้าขาว" แบบที่เห็นในโฆษณาจน เครียด กินเหล้านั่นแหละ ซึ่งไม่มีการโฆษณาเลย (เอ..หรือว่านี่จะเป็นโฆษณาแฝงก็ไม่รู้นะ)


 


ที่พูดถึงเรื่องนี้ก็ไม่ได้จะคัดค้านเรื่องการห้ามโฆษณาเหล้า เพราะเหล้าเป็นหนึ่งในอบายมุข โดยธรรมชาติแล้วคงไม่จำเป็นจะต้องโฆษณา ผู้คนก็มักจะค้นหากันจนเจอ หมายถึงว่าคนก็ไปตามหามาดื่มกินกันจนได้ แต่อยากจะมองว่าการโฆษณานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตลาด ซึ่งการห้ามไม่ได้ส่งผลต่อยอดขายมากมาย  เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


 


กระทรวงสาธารณสุขน่าจะเข้าใจดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามคนดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะประเทศเราไม่ได้เป็นรัฐศาสนา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้ง เราได้นำเอาแอลกอฮอล์มาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตมานานแล้ว การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิงจึงอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา ดังนั้นจึงมีโจทย์เป็นว่า ทำอย่างไรให้คนไม่ดื่ม หรือดื่มน้อยลง หรือคนที่ดื่มต้องรู้จักดื่มเป็นหรือดื่มแล้วไม่เป็นปัญหากับใคร ดังนั้น นอกจากควบคุมการโฆษณาแล้วอีกทางหนึ่งที่ภาครัฐคิดขึ้นมาเป็นทางออกในการแก้ปัญหาก็คือเรื่องอายุของผู้ดื่ม หรือคนที่สามารถจะซื้อสุราได้


 


อันนี้เองที่เป็นประเด็นถกเถียงกัน คนรวยก็เริ่มเครียดอีกแล้ว เพราะนอกจากจะต้องหากลยุทธ์มาแข่งขันเพื่อส่งเสริมการขายแทนการโฆษณาแล้วก็ยังเจออีกต่อหนึ่งคืออายุของผู้ซื้อที่เพิ่มขึ้น


 


แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐพยายามควบคุมด้วยมาตรการกำหนดอายุผู้ซื้อ แต่ประเด็นก็คือการนำมาใช้นั้นมีจุดอ่อนและสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้ยิ่ง  ที่สุดแล้วก็ไม่เข้าใจนักว่าสังคมของเรานั้นใช้มาตรการใดมากำหนดว่าอายุเท่าไรควรทำอะไรได้ หรือแม้แต่การบรรลุนิติภาวะของคนไทย จริงๆ แล้วควรจะอยู่ที่เท่าไร


 


ถ้าเราจะดูจารีตปฏิบัติในอดีตนั้น เราให้ผู้ชายอายุวัย 20 ปี ไปบวชเรียน เมื่อออกมาก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว สามารถแต่งงานออกไปตั้งเหย้าตั้งเรือนเป็นของตัวเองได้ โดยก่อนหน้านั้นก็จะอยู่ในความดูแลอบรม จากผู้ใหญ่ในครอบครัว


 


ในทางกฎหมาย ก็น่าจะอิงจากแนวคิดจารีตเหล่านี้ จึงกำหนดให้ 20 ปี เป็นอายุที่เรียกว่าบรรลุนิติภาวะซึ่งหมายความว่าสามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ด้วยตัวเอง  สามารถแต่งงานได้ถึงแม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง  และสำหรับผู้ชายวัย 21 ปีก็ต้องไปเกณฑ์ทหาร


 


เมื่ออายุ 20 ปี เป็นอายุที่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ด้วยตัวเองแล้ว ประกอบกับการพูดถึงเรื่องการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้น การกำหนดให้สามารถดื่มสุรา หรือไปเที่ยวในสถานเริงรมย์ได้ก็ควรจะอยู่ตรงนั้น ปรากฏว่ากลับไม่ใช่ เพราะว่าบรรดานักการเมืองที่อยากได้คะแนนเสียงจากกลุ่มวัยรุ่นได้แก้กฎหมายให้คนอายุ 18 ปีมีสิทธิไปเลือกตั้งได้  จึงมีการกำหนดอายุของผู้ที่สามารถซื้อสุราได้อยู่ที่ 18 ปีเช่นกัน


 


แต่มาวันนี้ ด้วยนโยบายควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอที่อายุ 25 ปี ให้เป็นอายุที่คนไทยสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเจตนาที่ดีแต่ก็ต้องพบกับสียงคัดค้านระงมเพราะความไม่สม่ำเสมอในกฎหมายนั่นเอง แน่นอนหนึ่งในข้อโต้แย้งก็คือ ในเมื่อคนอายุ 18 ปีสามารถตัดสินใจทางการเมืองได้แล้ว ทำไมจึงไม่ยอมให้ตัดสินใจในเรื่องจะดื่มหรือไม่ดื่มแอลกอฮอล์ด้วยตัวเอง นี่ก็เป็นผลพวงจากความไม่มีมาตรฐานของกฎหมายไทย ที่สร้างความสันสนให้กับประชาชนยิ่ง


 


แน่นอนการกำหนดอายุ 18 ปีไปเลือกตั้งได้นั้น ทางรัฐบาลไทยอาจอิงตามอนุสัญญาสิทธิเด็กของสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้คนที่อายุ 18 ปีลงมาคือเด็ก หมายความว่า 18 ปีขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่และตัดสินใจอะไรได้เอง แต่ไม่ได้มองในความเป็นจริงว่าเกณฑ์นี้เหมาะสมหรือไม่และคงไม่คิดว่าจะถูกมาเปรียบเทียบกับกรณีอื่นอีก  


 


จริงๆ แล้วการกำหนดอายุ 18 ปีนั้นอาจจะเป็นเกณฑ์ตามแบบตะวันตกก็ได้เพราะการเลี้ยงดูลูกของชาวตะวันตกนั้นต่างจากคนไทย และเด็กชาวตะวันตกส่วนใหญ่พอพ้นจาก 18 ปีก็ต้องออกจากบ้านมาดูแลตัวเอง รับผิดชอบชีวิตตัวเอง แต่เด็กไทยนั้นตอนอายุ 18 ปี มีจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่จัดการกับชีวิตตัวเองได้แล้ว แต่ประเทศไทยก็เลือกรับเอาเกณฑ์นี้มาใช้กับการเลือกตั้งอย่างเดียว โดยที่คนเหล่านี้ยังคงไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ด้วยตัวเอง


 


ดังนั้น อาจจะมีความจำเป็นที่จะใช้มาตรฐานเดียวกันในกรณีการกระทำใดๆ ที่เป็นการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ควรจะเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยอิงกฎหมายปัจจุบันที่ว่าต้องเป็นบุคคลที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพื่อความไม่สับสน ซึ่งการกำหนดวัย 20 ปีนั้นดูจะสมเหตุสมผลทั้งในเรื่องประสบการณ์ชีวิตและความเจริญเติบโตของร่างกาย สำหรับวัย 18 ปีนั้นแม้ไม่นับว่าเป็นเด็กแต่ก็ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะยังไม่ผ่านวัยที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า teenage ซึ่งเป็นวัยที่อาจจะยังไม่นิ่งและมั่นคงนักในเรื่องของวุฒิภาวะและประสบการณ์


 


กล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐบาลจะออกมาตรการใดๆ ก็ทำเถิดแต่ก็ให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและสอดคล้องกัน และก่อนจะมีมาตรการใดๆ ก็ควรมองภาพรวมเพื่อให้กฎหมายที่ออกมาไม่ขัดแย้งกันเอง  กันความสับสนและให้มีความสะดวกในการปฏิบัติตาม เพราะหากมีแต่การออกกฎที่ก่อให้เกิดความสับสนเช่นนี้ เรื่อยๆ ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็อาจจะเครียด และเลิกใส่ใจกฎหรือหาทางเลี่ยงกฎไปเลย แล้วรัฐบาลเองนั่นแหละที่จะเครียด...