Skip to main content

ฉันรักคาซัคสถาน

คอลัมน์/ชุมชน

 


วันนี้ ( 25 ตุลาคม 2547 ) ดิฉันนั่งเขียนบทความที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี โดยได้รับเชิญมาเป็นแขกพิเศษของ The Green Foundation เพื่อร่วมในเทศกาลภาพยนตร์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่หนึ่ง ( 1 st Green Film Festival) In Seoul ซึ่งจัดระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๖ ตุลาคม ศกนี้ เป็นครั้งแรก ซึ่งจะเขียนรายงานสู่ท่านผู้อ่านในโอกาสต่อไปนะคะ


ขอเล่าต่อเรื่อง การประชุมสมาชิกรัฐสภาเอเซียแปซิฟิค เรื่องประชากรกับการพัฒนาครั้งที่ ๒๐ ที่ประเทศคาซัคสถาน ในหัวข้อ " ความท้าทายต่อสมาชิกรัฐสภาของโลกด้านประชากรและการพัฒนา ในช่วง ๒๐ ปี สู่แผนปฏิบัติการของทศวรรษใหม่ " ( Challenges for International Conferences of Parliament on Population & Development (ICPPD) + 20 Toward a new decade of International Conference on Pop & Development Plan of Action) ประเด็นด้านประชากรในภูมิภาคเอเชียกลาง ศักยภาพในการรองรับของโลก ความยั่งยืนและอนาคต ซึ่งเสนอช่วงบ่ายวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๗ โดย Mr.Nisim Tumkaya ผู้แทนของ UNFPA : หน่วยงานด้านประชากรของสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียกลาง


ภูมิภาคเอเชียกลาง ประกอบด้วย ๕ ประเทศ คือ คาซัคสถาน เคอร์กิสถาน ทาจิกิสถาน เติร์คเมนิสถาน และอุสเบกิสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ใจกลางระหว่างเอเชียกับยุโรป เคยอยู่ภายใต้ประเทศรัสเซียมาก่อน แล้วแยกตัวเป็นอิสระเมื่อ ๑๐ ปี มานี้เอง


ประชากรซึ่งสำรวจกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ของทั้ง ๕ ประเทศ มี ๕๘,๓๒๘,๐๐๐ คน โดยคาซัคสถานมีประชากรมากที่สุดคือ ๑๕,๔๐๓,๐๐๐ ล้านคน


การเปลี่ยนแปลงของประชากรเกิดจาก ๓ ปัจจัย คือ จำนวนการเกิด การตาย และการย้ายถิ่น ซึ่งอัตราการเกิดของประชากรทั้ง ๕ ประเทศนี้ลดลง แต่จำนวนการตายเพิ่มขึ้นจากการติดเชื้อเอดส์ การทำแท้ง การตายของแม่ และทารกแรกเกิด จากการฆ่าตัวตายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายด้วยสาเหตุของความเครียดที่เกิดจากการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลง ในการพัฒนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาด ทำให้คนชนบทอพยพย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพื่อหางานทำ รวมทั้งการอพยพเพื่อทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลของคาซัคสถานต้องกำหนดมาตรการดึงดูดประชากรให้กลับคืนสู่ถิ่นเกิด ด้วยการให้สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย การจัดหางาน และการสร้างความเสมอภาคของหญิงชาย


สถานการณ์ด้านประชากรของภูมิภาคเอเชียกลางในปัจจุบัน คือจำนวนประชากรวัยเด็กลดลง ประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้น ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการพัฒนา



ปัจจัยด้านประชากรสำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ เพราะการพัฒนาสร้างขึ้นโดยประชาชน และมุ่งเป้าหมายเพื่อประชาชน


การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงสำคัญมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ " การพัฒนาคน " ต้องเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา โดยเป็นเป้าหมายสำคัญของการเมือง รัฐบาลต้องมุ่งสร้างปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาคน คือ การศึกษาที่ดีขึ้น สุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ความเสมอภาคของหญิงชาย การกระจายรายได้ การจัดที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เสรีภาพ และความมั่นคงในชีวิต


ความยากจนกับการพัฒนา เป็นสองขั้วที่อยู่ตรงกันข้าม ความสำเร็จของการพัฒนา ต้องวัดจากความก้าวหน้าในทุกมิติ มิใช่แค่การเติบโตทางเศรษฐกิจ


ประเทศจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ต้องใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติและทรัพยากรจากมนุษย์อย่างฉลาดที่สุด โดยคำนึงถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตข้างหน้าด้วย


บริการด้านสุขอนามัยเจริญพันธุ์จึงต้องปรับปรุง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์


ดิฉันอยากเห็น การกำหนดนโยบายของทุกพรรคการเมืองที่กำลังเสนอให้ประชาชนไทย พิจารณาในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งหน้า ( วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ) ต้องคำนึงถึงบทเรียนที่ได้จากการประชุมสมาชิกรัฐสภาของเอเชียแปซิฟิคในครั้งนี้ให้มาก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ และโครงการใหญ่ ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง โดยนำบทเรียนที่ได้จากเวทีการประชุมสากล มาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ


น่าภูมิใจแทนชาวไทย ที่ ส.ว . แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ ในฐานะเลขาธิการของ องค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนา (Secretary General of Asian Forum of Parliamentarians on population and Development : AFPPD) ซึ่งทุ่มเทให้กับงาน AFPPD มาถึง ๔ ปีเต็ม เธอได้รับความศรัทธาจากสมาชิกรัฐสภาของเอเชียแปซิฟิคอย่างยิ่ง ฝ่ายบริหารและผู้เข้าร่วมประชุม AFPPD แสดงความชื่นชมและให้เกียรติเธออย่างมาก ในการทำหน้าที่ประธานการประชุม ส.ว . มาลินี สร้างอารมณ์ขัน ความเป็นกันเอง ทำให้บรรยากาศการประชุมอบอุ่น ฉันท์พี่น้อง มีความน่าเชื่อถือในหลักวิชาการ ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน คือสร้างความร่วมมือของสมาชิกรัฐสภาของโลก รัฐบาล และทุกภาคส่วนในสังคม ที่จะทำให้ทุกประเภทในโลกอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค



ข้อมูลสำคัญจากการประชุมที่พี่หมอมาลินี ขอฝากถึงชาวไทยให้ได้ตระหนักถึง คือ


ทุกหนึ่งนาทีในโลก


๑. ผู้หญิงหนึ่งคนตาย เพราะเหตุการตั้งท้องและคลอดลูก ( ซึ่งสามารถป้องกันได้ )
๒. ผู้หญิง ๙๕ คน ทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด การป่วย จากการคลอดลูก
๓. ๑๐ คน ติดเชื้อ HIV
๔. ๖ คน ตายเพราะโรคเอดส์
๕. ๖๔๖ คน ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
๖.หญิง ๓๙๙ คน ตั้งครรภ์
๗. วัยรุ่นหญิง ๒๖ คน คลอดลูก ( ๒๔ คน อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา )
๘. เด็กหญิง ๔ คน ถูกตัดปุ่มกระสันและแคมอวัยวะเพศ
๙. ๑๔๖ ชีวิต เกิดเพิ่มขึ้นในโลก


บทสรุปของการประชุมครั้งนี้ คือ คำแถลงการณ์ร่วมกัน ดังนี้


๑. สมาชิกรัฐสภาทุกคนที่มาประชุม ณ นคร Almaty มุ่งมั่นที่จะทุ่มเท พากเพียรที่จะเชื่อมโยง เรื่องประชากรกับการพัฒนา เพิ่มโอกาสเข้าถึงและพัฒนาคุณภาพของการให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของทุกคน รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่น
๒. กระตุ้นเตือนและตรวจสอบรัฐบาลและพันธมิตรทุกฝ่าย ให้พัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการระยะยาว ที่รวมถึงประเด็นประชากรกับการพัฒนาและสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์
๓. ส่งเสริมพันธมิตรด้านการพัฒนาทุกระดับ ให้ร่วมกันอย่างเร่งด่วนที่จะ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดยมุ่งที่กลุ่มเยาวชนวัยรุ่นเป็นพิเศษ
๔. รณรงค์ให้เกิดความเข้าใจที่ดี เรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านบทบาทหญิงชาย ให้เกิดความร่วมมืออย่างประสานสอดคล้องกัน เพื่อประโยชน์จากการพัฒนาของทั้งหญิงชาย ในการติดตามสถานการณ์และแนวโน้มของโลก กระตุ้นให้รัฐบาลดำเนินการในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน
๕. ติดตาม ตักเตือนให้ชุมชนโลก เกิดความมั่นใจว่า การค้าระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงวิสัยทัศน์ระยะยาวด้านประชากรกับพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมั่นคงทางอาหารของทุกประเทศ
๖. รัฐบาลของทุกประเทศ ต้องจัดสรรทรัพยากรทุกอย่างที่จำเป็น เพื่อการดำเนินกิจกรรม ด้านประชากรกับการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๗. สมาชิกรัฐสภาทุกคน ต้องมุ่งมั่นที่จะรณรงค์ให้เกิดการปฏิบัติจริงในระดับรากหญ้า จนถึงระดับนโยบายสูงสุดของประเทศ รวมทั้งระดับสากลใน ๖ ประเด็นข้างต้น
๘. สมาชิกรัฐสภาทุกคนเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธีและเคารพสิทธิมนุษยชน และกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลสนับสนุนข้อตกลงอนุสัญญาสากลทุกอย่าง เพื่อสร้างความยอมรับด้านสิทธิมนุษยชน ดำเนินการแก้ไขปัญหาทุกเรื่องด้วยแนวทางสันติวิธี เพื่อสร้างวิถีชีวิตที่เป็นสุขและความมั่นคงในชีวิตแก่มนุษย์ทั้งมวล


Mr.Beksultan Tutkshev ประธานคณะกรรมาธิการด้านครอบครัวของรัฐสภาแห่งคาซัคสถาน เป็นตัวอย่างของเจ้าภาพที่ทำหน้าที่ด้วยมิตรภาพและน้ำใจ Mr.Bek จัดงานเลี้ยงรับรองผู้เข้าประชุมในคืนวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๗ โดยนำศิลปะ ดนตรีของคาซัคสถานมาแสดงอย่างลงตัว เริ่มด้วยการแสดงดนตรีพื้นเมืองที่ผู้แสดงแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายตามประเพณีเดิมเต็มยศประเภทต่าง ๆ สู่ยุคดนตรีร่วมสมัย รวมทั้งสิ้น ๑๓ ชุด สร้างความประทับใจให้แก่ทุกคน



วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ เสร็จการประชุมแล้ว แต่พวกเราต้องรอขึ้นเครื่องบินอีก ๓ วัน Mr.Bek พาไปตกปลา Rainbow Trout ที่อุทยานแห่งชาติ ใช้เวลาเดินทางราว ๒ ชั่วโมง สภาพข้างทางเป็นทุ่งข้าว ข้าวโพดแปลงปลูกแตงโม และพืชเกษตรอินทรีย์ มีฝูงวัวเล็มหญ้าอยู่เป็นกลุ่ม เราได้แวะซื้อแอ๊ปเปิ้ล และองุ่นที่เกษตรกรนำมาขายข้างทาง เป็นหญิงชรากับหลานหน้ากลมป้อม ขายแอ๊ปเปิ้ลที่ปลูกเองในสวนเล็ก ๆ รสชาติจึงหวานสด ชวนกินอย่างมั่นใจว่าปลอดภัย


มาถึงอุทยานเห็นบ่อปลาที่เลี้ยงไว้ แยกบ่อเป็นหลายขนาด มีบ่อปลาตัวใหญ่ ตัวขนาดกลาง และขนาดเล็ก ใต้ต้นหลิวที่ร่มครึ้ม มีปลามากมายมาว่ายใต้อยู่ร่มเงาเป็นกลุ่มใหญ่ ปลา Rainbow Trout สีข้างลำตัวเป็นแถบหลากสี คล้ายรุ้งกินน้ำสมชื่อ


อุทยานจัดพื้นที่ให้ตกปลาโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ตกปลาใช้ขนมปังเป็นเหยื่อล่อ ตกได้ง่ายดาย ตัวขนาด ๕ - ๖ ตัว ต่อ ๑ กิโล แล้วส่งให้ฝ่ายอาหารของอุทยานนำไปย่าง กินกับขนมปัง น้ำจิ้ม ตบท้ายด้วยชากาแฟ และองุ่น แอ๊ปเปิ้ล เป็นการปิกนิคที่ทำให้สมาชิกรัฐสภาไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฟิจิ อินเดีย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างใกล้ชิด


วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ Mr.Bek พาไปดูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ แล้วไปชมหน้าผาซึ่งมีผู้แกะสลักพระพุทธรูป ๕ ปาง ซึ่งคาดว่ามีอายุราวศตวรรษที่ ๑๓ , ๑๔ แต่เพิ่งค้นพบเมื่อ ค . ศ . ๑๘๙๒ การเดินทางไป Tamgali ใช้เวลาไปกลับเกือบ ๖ ชั่วโมง ได้สัมผัสกับทัศนียภาพ ที่งดงามของภูเขาหิน ทุ่งทะเลทราย และแม่น้ำ เป็นที่ประทับใจของทุกคนที่คิดตรงกันว่า ไม่เคยเห็นผืนทราย เทือกเขา และท้องฟ้า เป็นภาพกว้าง ๑๘๐ องศา มาก่อนเลย นับเป็นเสน่ห์ของธรรมชาติอันอัศจรรย์ของประเทศคาซัคสถานอย่างแท้จริง สมควรกับความรู้สึก " ฉันรักคาซัคสถาน " อย่างลึกซึ้ง


ส.ว . มาลินี สุขเวชชวรกิจ และดิฉันมีความเห็นว่า รัฐบาลไทยควรสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับคาซัคสถาน และเอเชียกลางในระดับสถานกงสุลเป็นเบื้องต้น แทนการมีสถานทูตไทยในรัสเซียเท่านั้น เพราะมีช่องทางความร่วมมือลงทุนด้านการท่องเที่ยว การตั้งร้านอาหารไทยและอื่น ๆ ได้อีกมาก


ขอบคุณผู้จัดประชุมทุกฝ่ายและชาวคาซัคสถานทุกคน และขอฝากภาพงามจากฝีมือถ่ายโดยสมาชิกรัฐสภาแห่ง Singapore คือ Mr.Yeo แด่ผู้อ่านทุกคนค่ะ