Skip to main content

อันเนื่องมาจาก "ดาบมังกรหยก"

คอลัมน์/ชุมชน

คืนวันเสาร์ (28 ต.ค.) ที่ผ่านมา นอนไม่ค่อยหลับทั้งที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาสอนวันอาทิตย์ ได้ดูหนังจีนชุดเรื่อง "ดาบมังกรหยก" ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจาก "มังกรหยก" ที่มีก๊วยเจ๋งและอึ้งย้งเป็นตัวละครเอก และเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทยที่เคยติดหนังชุดแบบนี้ ตัวผู้เขียนเองเคยอ่านชุดมังกรหยกตอนเด็กๆ เพราะได้อิทธิพลจากทีวี  ตอนนี้จำได้ไม่ค่อยละเอียด แต่ประทับใจในความสัมพันธ์ของตัวละครก๊วยเจ๋งและอึ้งย้ง อีกทั้งเห็นการพัฒนาตัวละครบางตัวในแง่มุมต่างๆ ที่สำคัญคือเรื่องของการมองคนที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าจะต้องดีหมดหรือเลวหมด และเรื่องของสถานการณ์ที่มีอิทธิพลต่อตัวละคร


 


ในเรื่อง "ดาบมังกรหยก" ตอนที่ได้ดูนั้น เป็นเรื่องที่ "เตียบ่อกี้" พระเอกของเรื่องยอมเสียสละให้เจ้าสำนักง้อไบ๊ "ฟาดฝ่ามือ" ที่ทรงพลานุภาพใส่ตนเองเพื่อแลกกับชีวิตของคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ด้วยมีกำลังภายในดี จึงไม่บาดเจ็บ ทำให้คนกลุ่มนั้นได้รับการปล่อยตัว ไม่ต้องโดนฆ่า เตียบ่อกี้พระเอกจึงมีภาพของความเป็นวีรบุรุษที่เสียสละตนเองเพื่อบุคคลอื่น เป็นการตอกย้ำภาพว่านี่คือคุณธรรมของพระเอก ในมุมมองทั่วไปถือเป็นเรื่องดี เพราะส่งเสริมให้คนเสียสละ เนื่องจากสังคมจริงๆนั้น คนเห็นแก่ตัวแบบสุดๆ การที่มีการแสดงภาพว่าการเสียสละเพื่อคนอื่นเป็นเรื่องดีน่าสรรเสริญอาจช่วยดึงให้คนมาทำดีได้บ้าง แต่ไม่น่าคาดหวังมากนัก


 


เรื่องนี้ในสายตาผู้เขียนนั้นขาดมิติในเรื่องการเสียสละ ที่อธิบายออกมาได้ด้วนๆไปหน่อย  แต่ก็น่าคิดว่าที่พระเอกยอมสละแบบนี้ ก็เพราะตนเองรู้สึกว่าไม่อยากให้ครอบครัวของคนอื่นๆต้องเคว้งคว้างหรือแพแตก อันมาจากการที่หัวหน้าครอบครัวต้องเสียชีวิตไป เรื่องนี้เป็นปมในใจของพระเอกมาตลอดเวลา เพราะพ่อแม่ของตนโดนฆ่า ตนเองจึงกลายเป็นเด็กกำพร้า ทำให้ต้องมีชีวิตวัยเด็กที่ไม่น่าปรารถนาแต่อย่างใด พระเอกเรื่องนี้มีปมในเรื่องนี้ และเมื่อมีเรื่องของเด็กกำพร้าหรือการสูญเสียบุคคลในครอบครัว  อะไรแบบนี้ พระเอกจะทนไม่ได้ ว่าไปแล้วพระเอกเรื่อง "ดาบมังกรหยก" กับของเรื่อง "มังกรหยก" ภาค 1 และ 2 ก็มีลักษณะเหมือนกันคือการเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวล่มสลาย เพราะพ่อแม่โดนฆ่า ไม่ว่าจะเป็น ก๊วยเจ๋ง เอี้ยก้วย และ เตียบ่อกี้ ล้วนมีพื้นมาจากการเป็นเด็กไร้พ่อแม่มาทั้งสิ้น  แต่ในที่สุดก็ได้เป็นจอมยุทธที่ทำเพื่อสังคม


 


ผู้เขียนเพิ่งได้มาสังเกตประเด็นนี้ แล้วทำให้ฉุกคิดต่อไปว่า มันน่าจะบอกให้เห็นว่าบุคคลที่ผ่านปัญหาหนักๆมาในชีวิต มักจะมีมุมมองที่ต่างจากคนที่ไม่มีปัญหาหรือพบปัญหาน้อยๆในชีวิต ผู้เขียนเองมองว่าคนที่ขาดพ่อแม่ในวัยเด็กแม้ว่าจะมีใครอื่นที่ทุ่มเทให้ก็ตาม ก็ยังตอบได้ยากว่าจะเท่ามีพ่อแม่หรือไม่ ทั้งที่พ่อแม่อาจเลวสุดๆก็ตาม อันนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงความโชคดีของตนเองที่มีพ่อแม่ครบมาจนวันนี้  ถึงจะทำหน้าที่แบบกะพร่องกะแพร่งบ้างก็ตาม


 


น่าเสียดายที่พ่อแม่รุ่นใหม่หลายคนและเด็กหลายคนที่ผู้เขียนรู้จักมักสงสารตนเอง และมักแต่จะคิดเรื่องการเอาชนะและมักได้ หลายคนบอกว่าต้องตักตวง ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่ปล่อยชีวิตออกไปตามยถากรรม คอยแต่จะให้คนมาช่วย คอยแต่พึ่งพาคนอื่น หาความพอดีได้ยากเหลือเกินในปัจจุบัน


 


คำถามที่ตามต่อมาคือ จำเป็นหรือไม่ที่ต้อง "สอนให้รู้จักเสียสละ" ผู้เขียนคงต้องตอบว่า "ต้อง" คำว่า "เสียสละ" นั่นหมายถึงว่า "ละวางสิ่งที่ยังต้องการจะรักษาไว้กับตนอยู่ เพื่อเห็นแก่ความสุขความสงบเรียบร้อย" (พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ 2525) ถือว่าเป็นนิยามที่ใช้ได้ดีทีเดียว เพราะอาจเป็นการละวางไม่ว่าด้านวัตถุ หรือความรู้สึก ดังนี้ หากมีสำนึกในการเสียสละได้ สังคมจะน่าอยู่กว่านี้อีกมาก


 


วันนี้หันไปทางไหน อาจพอหาคนเสียสละได้บ้าง แต่หลายคนเสียสละเพื่อตนเองโดยตรงทั้งสิ้นเพราะเห็นว่าการเสียสละนั้นเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของตนเสียมากกว่า หากการเสียสละที่แท้จริงควรมาจากการสำนึกที่แท้จริงว่าสังคมอยู่ไม่ได้หากผู้คนไม่เสียสละอย่างแท้จริง ไม่ใช่งานง่ายเลยที่จะทำได้ อันนี้คงเป็นงานหนักที่สังคมไทยต้องทำให้สำเร็จ


 


ศุกร์หน้า "ดาบมังกรหยก" จะมาให้ดูอีกครั้ง ถ้าผู้เขียนไม่ง่วงจนหลับไปเสียก่อนจะคอยดูต่อไป อาจมีอะไรให้เก็บมาคิดอีก แล้วจะมาเล่าให้ฟัง