Skip to main content

คนไทยอยากให้ภาคใต้สงบร่มเย็น

คอลัมน์/ชุมชน


วุฒิสภาได้อนุมัติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงชายแดน ภาคใต้ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ โดยการเสนอของ ส.ว.บุญญา หลีเหลด สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสงขลา ส.ว.ฟัคดุริน บอตอ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนราธิวาส มีคณะกรรมาธิการจำนวน ๑๙ คน ซึ่งได้แต่งตั้งให้พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ เป็นประธาน ส.ว.ทองใบ ทองเปาด์ เป็นรองประธาน ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา มาจนถึงปัจจุบัน


คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางลงพื้นที่หลายครั้ง เพื่อศึกษาสภาพความเป็นจริงและเรื่องร้องทุกข์ต่าง ๆ เช่น เรื่องของชาวประมงพื้นบ้าน ที่ถูกเรืออวนรุน อวนลากของนายทุน ใช้อุปกรณ์จับปลาที่ทำลายระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำที่ควรจะเติบโต เป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ได้อย่างพอเพียงในอนาคต แต่เพราะกฎหมายที่ชราภาพ ไม่ทันสถานการณ์ และขาดการสนับสนุนปัจจัยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมผู้ทำผิดได้ทันเหตุการณ์ ชุมชนท้องถิ่นจึงต้องรับภาระรวมตัวกันเพื่อตรวจสอบผู้ทำผิดด้วยเรี่ยวแรงเล็ก ๆ ที่มีอยู่


ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานมานานหลายชั่วคน ปู่ย่าตายายได้ปลูกยาง ไม้ผล คือ ทุเรียน มังคุด ลองกอง สะตอ เอาไว้เป็นอาชีพของลูกหลาน แต่ทางการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภายหลัง ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องหาแนวทางให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ดี เป็นแนวทางสายกลาง


ผลจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ทำให้วิถีชีวิตของครอบครัวและชุมชนเปลี่ยนไป ผู้อาวุโสต้องการปฏิบัติตามหลักศาสนา ไม่อยากให้ลูกหลานทำผิดจากหลักธรรมคำสอนของพระอัลเลาะห์ ไม่อยากให้มีสถานบันเทิง บริการทางเพศ การพนัน ยาเสพติด อยากดำรงวิถีทางแห่งความสงบสุขที่เคยเป็นมา รักษาแนวทางจัดการศึกษาและวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเสนอให้การบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่าง ๆ มีคนท้องถิ่นที่เข้าใจภาษา หลักศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ ในจำนวนที่เหมาะสม


ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ คณะกรรมาธิการฯ ประทับใจในความมีอัธยาศัยไมตรีของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู นักเรียน ชาวบ้านในท้องถิ่น รวมทั้ง ส.ว.ของ ๕ จังหวัดภาคใต้ที่ร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็ง



จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนช่วงเดือนมกราคมปีนี้ (๒๕๔๗) ต่อด้วยเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และเรื่องเศร้าสลด ๖ ศพ กับ ๗๘ ศพที่ตากใบ ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คณะกรรมาธิการฯ ๓ คณะของวุฒิสภา คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงชายแดน ภาคใต้ (นำโดยประธาน พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (นำโดยประธาน ส.ว.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ) และคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นำโดยประธาน ส.ว.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ) จึงต้องเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน ๒ ครั้ง ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ และ วันที่ ๕-๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงชายแดน ภาคใต้ และกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งดิฉันได้ร่วมเดินทางไปด้วยทั้งสองครั้ง


" รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย
จะอยู่ภาคไหนไหน ก็ไทยด้วยกัน
เชื้อสายประเพณี ไม่มีกีดกั้น
เกิดใต้ธงไทยนั้น ปวงชนทุกคนคือไทย "


บทเพลงที่ดิฉันสอนเด็กนักเรียนชาวเขา เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีมาแล้ว ให้ภูมิใจว่า ทุกคนที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ ภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ล้วนมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีอย่างเสมอภาคกัน ได้กลับมาสู่ความทรงจำ ดิฉันเชื่อมั่นว่า ความรัก ความเมตตาของประชาชนทุกหมู่เหล่า อันเป็นหลักธรรมสำคัญของทุกศาสนา จะช่วยเยียวยาทุกปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทำหน้าที่บริหารสูงสุด ซึ่งกำหนดนโยบายของประเทศ และผู้ปฏิบัติตามนโยบาย จะต้องเจริญเมตตาภาวนา ต่อพี่น้องประชาชนอยู่ทุกขณะจิต เพื่อนำศานติสุขสู่สังคมอย่างเป็นปกติ


เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ คณะ ส.ว. ๑๕ คน ส.ส.อีกเกือบ ๑๐ คน ได้ไปฟังคำชี้แจงของแม่ทัพภาคที่ ๔ (พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เยี่ยมผู้ที่ถูกจับกุมอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และค่ายคอหงส์ และได้เยี่ยมผู้ป่วยจากเหตุการณ์ชุมนุมที่โรงพยาบาลนราธิวาส


เมื่อวันที่ ๔-๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ คณะ ส.ว. ๑๐ คน ส.ส. ๑ คน ได้ไปฟังคำชี้แจงของรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (พันตำรวจเอกทนงศักดิ์ ภัทรภานุ) และรองผู้กำกับการสอบสวนตำรวจภูธรอำเภอตากใบ (พันตำรวจโทภักดี ปรีชาชน) ณ สถานที่เกิดเหตุการณ์จริง แล้วได้พบกับพ่อแม่ ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส ได้เยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งได้พบกับประธาน และคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส



ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้ จะคล้ายกับที่สื่อมวลชนทั้งหลายได้นำเสนอไปแล้ว ดิฉันจึงขอเล่าในส่วนที่เป็นมิติทางสังคมอันควรพิจารณา ดังนี้


ตัวแทนของชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย (ซึ่งมี ส.ส. ส.ว. หญิงทุกคนเป็นสมาชิก) คือ ส.ส.ฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง โฆษกชมรมฯ คุณรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ที่ปรึกษาชมรมฯ และดิฉัน ซึ่งเป็นเลขานุการชมรมฯ ได้คุยกับกลุ่มผู้หญิงที่เป็นญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ตากใบ พบว่า หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ ๔ ค่ายกรมหลวงนราธิวาส ภาคนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไป ชาวสวนยางเคยออกกรีดยางตั้งแต่ช่วงตีสองตีสาม ซึ่งอากาศเย็น น้ำยางมีปริมาณและคุณภาพดี แต่บัดนี้ต้องออกกรีดยางเมื่อใกล้รุ่ง มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้ได้น้ำยางน้อยลง รายได้ขาดไปเกือบครึ่ง


ยามค่ำคืน เมื่อพลบค่ำ ซึ่งเคยเป็นเวลาที่ไปเยี่ยมเยียน พบปะสนทนากับเพื่อนบ้าน พี่น้อง เพื่อปรึกษาเรื่องการงานในวันต่อไป กลับเป็นช่วงที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน เพื่อความปลอดภัยของชีวิต


ด่านสกัดซึ่งทางการตั้งขึ้นถึง ๒๐ กว่าจุดในเขตอำเภอตากใบ รวมทั้งบนถนนสายต่าง ๆ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า บ้านเมืองที่เคยร่มเย็นเป็นสุข กำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติ อยากให้รัฐบาลทำบ้านเมืองสู่ความสงบโดยเร็ว


จากข้อมูลสภาพทั่วไปของจังหวัดนราธิวาส สรุปได้ว่า นราธิวาสเป็นจังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศ ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู ติดกับประเทศมาเลเซีย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๑,๑๔๙ กิโลเมตร ทิศเหนือ ติดจังหวัดปัตตานี เขตอำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น และอ่าวไทย ทิศตะวันออก ติดอ่าวไทยและมาเลเซีย ทิศใต้ ติดรัฐกลันตัน มาเลเซีย ทิศตะวันตก ติดจังหวัดยะลา เขตอำเภอบันนังสตา


พื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ๔,๔๗๕.๔๓ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ ๒ ใน ๓ เป็นป่าไม้และภูเขา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือเทือกเขาสันกาลาคีรี กั้นพรมแดนไทย มาเลเซีย พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่ติดกับอ่าวไทย และที่ราบลุ่มแม่น้ำ ๔ สาย คือ บางนรา สายบุรี ตากใบ และสุไหง-โกลก เขตการปกครองของนราธิวาส แบ่งเป็น ๑๓ อำเภอ คือ อำเภอเมือง ตากใบ สุไหง-โกลก สุไหงปาดี แว้ง สุคิริน จะแนะ ศรีสาคร รือเสาะ ระแงะ บาเจาะ ยี่งอ เจาะไอร้อง ข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ มีประชากร ๗๐๘,๒๔๑ คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มักใช้ภาษาท้องถิ่น คือ "มลายู ท้องถิ่น " อาชีพหลัก คือ การทำเกษตร สวนยาง สวนผลไม้ (เช่น ลองกอง อันลือชื่อ) ทำนา ทำประมง เลี้ยงสัตว์ และการท่องเที่ยว


การเดินทางไปนราธิวาส ทางบกด้วยรถยนต์ มีทุกวันจากกรุงเทพฯ ปัตตานี นราธิวาส และสุไหง-โกลก ทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ ถึงนราธิวาส สุไหง-โกลก ทางอากาศ เคยมีเที่ยวบินลงเป็นประจำ แต่หยุดบินไปเป็นปีแล้ว เพราะจำนวนผู้โดยสารไม่พอ ทำให้ขาดทุน ซึ่งชาวนราธิวาสอยากให้มีการบินกลับคืนมา สักสัปดาห์ละ ๒- ๓ วันก็ยังดี


ชื่อเมืองนราธิวาสได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ได้เสด็จมาถึงเมืองบางนรา พระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เมืองบางนรา และโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น " เมืองนราธิวาส " เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๕๘ มีความหมายเป็นมงคล คือ นร + อธิวาส แปลว่าที่อยู่ของคนดี


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ประเทศไทยได้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด เมืองนราธิวาสจึงเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดนราธิวาสจนถึงปัจจุบัน



สภาพทั่วไปของจังหวัดนราธิวาสที่ดิฉันเห็น คือ ความเขียวขจี อุดมสมบูรณ์ ความงดงามของวัฒนธรรม และความมีไมตรีจิตของคนท้องถิ่น แม่ค้าที่ร้านขายเสื้อผ้า ซึ่งขายผ้าโสร่ง ผ้าคลุมหน้า หมวก และเสื้อผ้าของเด็กและผู้ชาย ได้คุยกับดิฉันอย่างเป็นมิตร


เธอถามดิฉันว่า " มาภาคใต้ ไม่กลัวหรือ ข่าวออกเรื่องไม่ดีทุกวัน " ผู้หญิงที่มาซื้อผ้าอีก ๒-๓ คน ก็ถามเหมือน ๆ กัน


เมื่อดิฉันตอบว่า ไม่กลัว เพราะเราเป็นคนไทยเหมือนกัน เป็นพี่น้องกัน ทุกคนก็ยิ้มอย่างดีใจ เมื่อดิฉันซื้อหมวกใบสวยที่ใส่เพื่อปิดผมให้เรียบร้อย พร้อมกับผ้าคลุมฮิญาบ เนื้อนุ่ม ปักลวดลายงามวิจิตร เพื่อเตรียมตัวไปพบปะกรรมการอิสลามจังหวัดในวันรุ่งขึ้น พวกเธอก็ช่วยเลือก ช่วยจัดผ้าคลุมหน้าอย่างเต็มใจ แล้วบอกว่า " สวยดี "


นี่คือความอบอุ่น ซาบซึ้งใจที่ได้จากมิตรภาพอันบริสุทธิ์ ไม่มีช่องว่างทางศาสนา วัฒนธรรม มาขวางกั้น มีแต่ความเคารพ ความชื่นชม ความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งควรปลูกฝังให้เกิดในใจของชาวไทยทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่วัยเยาว์ที่เริ่มรู้ความ รับการสื่อสารและการศึกษาได้


หญิงแม่ค้าที่ขายลองกอง ได้นำลองกองใส่ถุงมาให้ชิม แล้วบอกว่า " พรุ่งนี้เช้าพาเพื่อนมาชิมนะ ถ้าอร่อยก็ซื้อไปกินที่กรุงเทพฯ ด้วย " ตลาดเช้าที่นี่ ขายของตั้งแต่ตีสี่ตีห้า จนถึงสาย ๆ ดิฉันรับปากว่าจะมาแน่


เจ็ดโมงเช้าของวันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ คุณยี โชเฟอร์รถตู้ผู้รอบรู้เรื่องท้องถิ่น มารับไปดูส่วนที่ลำคลองต่อกับทะเลของอ่าวไทย แล้วพาไป หมู่บ้านประมงพัฒนา ซึ่งทีมสำนักข่าวประชาไทได้ถ่ายภาพมาฝากท่านผู้อ่านด้วย (ขอบคุณคุณครรชิต สพโชคชัย ผู้เอื้อเฟื้อภาพค่ะ)







พวกเราได้ไปเยี่ยมบ้านที่ทำน้ำบูดู ซึ่งคุณป้าและลูกชาย นักศึกษา มอ.หาดใหญ่ ได้มาพูดคุยด้วยความยิ้มแย้มแล้วพาไปเยี่ยมบ้านที่ต่อเรือกอและ อันเป็นภูมิปัญญาของชาวนราธิวาส นายมามุ มามะ เล่าว่า การต่อเรือกอและ แต่ละลำ ใช้เวลาประมาณ ๓ เดือน โดยต้องตัดไม้ให้โค้งตามรูปเรือ ตากไม้ให้แห้งสนิทเพื่อประกอบเป็นลำเรือ แล้ววาดลวดลายให้งดงามด้วยสีสันสดใส เรือลำละประมาณหนึ่งแสนถึงสามแสนบาท ใช้ครั้งละ ๓๐-๔๐ ปี ก็นำมาซ่อมแซม ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ต่ออายุไปอีก ๒๐-๓๐ ปี



ลูกสะใภ้กับลูกชายเจ้าของบ้าน กำลังนั่งร้อยแห อวน เข้ากับทุ่น เพื่อนำไปจับปู ปลาในทะเล เธอบอกว่า ออกเรือครั้งหนึ่งใช้อวนสัก ๒๐ หลัง วางไว้ ๒-๓ วัน จึงไปกู้มา



คณะเราเดินดูชีวิตชาวบ้านมาเรื่อย ๆ เห็นผู้หญิงกำลังช่วยสามีแกะปู ปลา ออกจากอวน กลุ่มเด็ก ๆ เกือบ ๒๐ คน วิ่งเล่นกันอย่างมีความสุข



บ้านหลังสุดท้ายที่ได้พบเป็นศิลปินทำเรือกอและจำลอง ขนาดยาวสัก ๒ ฟุตครึ่ง เป็นเรือเล็กที่วาดลวดลายสวยงาม สลับสีสดใส ทั้ง ๆ ที่นายสะมะแล อามะ จบเพียง ป.๓ ไม่เคยเข้าเรียนศิลปะที่ไหน แต่คิดลวดลายและให้สีเอง เขาบอกว่าเรือของเขาทำตามที่มีคนสั่งมา แต่ไม่ค่อยมีคนสั่ง ทั้งยังให้ราคาถูกมาก ใช้เวลาตั้ง ๓-๔ เดือน แต่ได้ราคาแค่หมื่นต้น ๆ ซึ่งควรส่งเสริมให้เขาเป็นครูภูมิปัญญา และยกย่องให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ ๕ ดาว


นายสะมะแล อามะ ยังทำว่าวและกรงนกได้อย่างสวยงาม นับว่าเป็นศิลปินพื้นบ้าน เป็นเพชรเม็ดงามของนราธิวาสตัวจริง


ตลาดเช้าของนราธิวาสมีสีสันสดใส มีอาหารทะเลสด ๆ และพืชผักผลไม้ วางขายอย่างอุดมสมบูรณ์ แม่ค้าหน้าตายิ้มแย้ม ชาวบ้านบอกว่า อยากให้คนจังหวัดอื่น ๆ มาเที่ยวนราธิวาสมาก ๆ ไม่มีอันตรายอะไร ข่าวความรุนแรงที่ออกไปตามสื่อต่าง ๆ ทำให้คนกลัวเกินจริง ชาวบ้านจึงขาดรายได้จากการท่องเที่ยว แม้แต่ลองกองก็ขายไม่ออก ไม่มีพ่อค้ามาซื้อ ราคาจึงตกเหลือกิโลกรัมละ ๒๕-๔๐ บาท จากเดิม ๘๐-๑๒๐ บาท


ขอให้รัฐบาลและชาวไทยทุกฝ่าย ร่วมกันลบภาพมายาคติเรื่อง " โจรแบ่งแยกดินแดน โจรก่อการร้าย " นำความเป็นธรรมมาสู่ชาวนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล หยุดความหวาดระแวงที่ทำให้ผู้นำท้องถิ่นทุกระดับถูกจับตามองอย่างเพ่งเล็ง จนแทบไม่เหลือความปลอดภัย ตั้งแต่ครูสอนศาสนา โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จนถึง ส.ส. ส.ว.ยังถูกสงสัย ถูกจับ แยกคนไม่ดี ซึ่งมีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ออกจากประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ได้โดยเร็ว รัฐต้องดูแลครอบครัวผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตให้ครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาของลูก อาชีพ และความมั่นคงของสมาชิกครอบครัว มิใช่แค่จ่ายเงิน ๑ แสนบาทแล้วจบ ต้องรับแจ้งความกรณีคนสูญหาย โดยไม่ปัดความรับผิดชอบว่า ไม่มีคนสูญหาย


หากรัฐบาลให้หลักสันติวิธีตามแนวพระราชดำริ สันติสุขจะกลับคืนสู่นราธิวาสและภาคใต้โดยเร็ว ขอให้ทุกฝ่ายร่วมใจกันนะคะ