Skip to main content

เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย

คอลัมน์/ชุมชน

อายุปัจจุบันวันนี้ของผม คือ 21 ปี ย่าง 22 ปี, ผมเพิ่งพบว่าตัวเองไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ถูกห้ามทำแบบนั้น ทำแบบนี้ เพราะเพิ่งพ้นวัย 20 ปี ได้มาเมื่อปีกลายนี้เอง ความรู้สึกของผมคือ การมีอายุที่มากกว่า 20 ปีนั้นเหมือนได้หลุดพ้นจากพันธนาการที่คนมองว่ายัง "เป็นเด็ก" และ "ยังไม่บรรลุนิติภาวะ"


 


ตอนที่ผมยังอายุน้อยกว่านี้ คือตอนที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีนั้น "สิทธิและหน้าที่" ของผม ต้องอยู่ตามครรลอง ครองธรรม ของทั้งจารีต ประเพณี และกฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้มานมนาน - เมื่ออายุ 15 ปี ผมสามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนของตัวเองได้ สามารถทำไปขับขี่รถจักรยานยนต์ เมื่ออายุ 17 ปี ผมสามารถขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน เมื่ออายุ 18 ปี ผมทำใบขับขี่รถยนต์ได้ เลือกตั้ง สส. สว. ได้ - ซึ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของสิทธิและหน้าที่เมื่อมีอายุที่น้อยกว่า 20 ปี ที่สามารถทำได้โดยชอบธรรม ตามกรอบ กติกาที่สังคมกำหนด


 


นอกจากผมจะได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ก็มีหลายอย่างที่ผมไม่สามารถทำได้ ทั้งที่อยากทำ เช่น ผมยังเข้าผับไปเที่ยว เต้น เล่น ดื่มเหล้ากับเพื่อนๆ ไม่ได้ (แต่ก็กินเหล้าที่ห้องเพื่อน) ผมยังไม่สามารถจะซื้อเหล้าหรือบุหรี่ได้ (แต่ก็ฝากคนที่อายุมากกว่า 20 ปีซื้อให้แทน) หรืออย่างบางคนหากมีเพศสัมพันธ์ ก็จะถูกมองว่ามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ


 


ยิ่งเมื่อเร็ววันมานี้ ผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ได้ออกกฎประกาศมาว่า จะไม่ขายเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่คนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และยังมีการเถียงกันอีกว่า จะไม่ให้คนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นนักเต้นโคโยตี้


 


มาถึงตรงนี้ เพื่อนของผมหลายคนที่อายุมากกว่า 20 ปี จึง "โล่งอก" ไปตามๆ กัน เพราะพวกเขาพ้น "ตัวเลข" ที่ผู้ใหญ่ขีดเส้นไว้ว่า อายุแบบไหน ควร หรือไม่ควรทำอะไร และผมเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกไม่สบายใจกับ กรอบ กฎเกณฑ์ ที่ผู้ใหญ่เคยสร้างมา และกำลังดำเนินการสร้างขึ้น


 


แต่ถ้าย้อนกลับไป หากผมยังมีอายุไม่ถึง 20 ปี ก็คงกระวนกระวาย และอึดอัด กับกรอบ กติกาที่ผู้ใหญ่สร้าง ผมถามกับตัวเองว่า ผู้ใหญ่จะคิดถึง "ความรู้สึก" ของเพื่อนๆ ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปีหรือเปล่า แม้ว่าวันนี้ผมจะพ้นบ่วงอายุที่ผู้ใหญ่สร้างไว้ แต่ผมก็ยัง "อึดอัด" กับสิ่งที่พวกผู้ใหญ่ทำอยู่


 


ผู้ใหญ่บางคนทึกทักเอาเองว่า ความห่วงใยที่เขามีต่อวัยรุ่น โดยการห้ามไม่ให้ทำแบบนั้น ทำแบบนี้ เป็นการปกป้องคุ้มครองเด็ก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับไม่เคยปรึกษา หรือฟังเสียงของเด็กวัยรุ่น เพียงแค่คิดว่าทำแบบนี้วัยรุ่นจะเป็นคนดี ทั้งที่ไม่แยแส หรือใส่ใจต่อความคิดเห็นของวัยรุ่นเลยแม้แต่น้อย – นี้ยิ่งเป็นการสร้างช่องว่างระหว่างวัยให้ขยายเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ใหญ่หารู้ไม่ว่า จะทำให้วัยรุ่นไม่เชื่อฟังและดื้อดึงต่อผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า


 


ผมพูดมาโดยตลอด และอยากย้ำอีกครั้งว่า การมองวัยรุ่นว่าเป็นปัญหา แล้วใช้มาตรการ "ห้าม" "กำกับ" "ควบคุม" ผ่านอำนาจของผู้ใหญ่ที่มีนั้นเป็นการกระทำที่วัยรุ่นหลายๆ คน รวมทั้งผมคนหนึ่งที่รับไม่ได้ และรู้สึกว่า "มันจะอะไรกันหนักหนา" กับชีวิต สิทธิ และศักดิ์ศรีของตน ทั้งยังไม่สอดรับกับความต้องการของวัยรุ่นจริงๆ  - แบบนี้บอกได้เลยว่า "ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน"


 


สิ่งที่ควรจะเป็น คือ ผู้ใหญ่ควรช่วยให้วัยรุ่นได้ตั้งคำถาม ได้คิดว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการเต้นโคโยตี้ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ดี ไม่ดีอย่างไร จะมีผลกระทบด้านต่างๆ อย่างไร โดยให้ทางเลือกต่อวิถีชีวิตของวัยรุ่นมากกว่าการห้าม ควบคุม กำกับ นั่นคือ การส่งเสริมให้ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์


 


วันนี้ ทั้งผม และผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ก็ควรจะ "สำเหนียก" ตัวเอง และจริงใจต่อการรับรู้ถึงความรู้สึก และความต้องการของวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20 ปีด้วย หากผู้ใหญ่สนใจ ใส่ใจ หรือเปิดเวทีรับฟังเสียงของวัยรุ่นต่อเรื่องราวหรือวิถีชีวิตของพวกเราที่เผชิญอยู่ ก็คงจะดีไม่น้อย ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ใหญ่กับวัยรุ่น – แบบนี้เพื่อนวัยรุ่นอีกหลายคน รวมทั้งผม ก็คงไม่เหนื่อยใจกับผู้ใหญ่สมัยนี้เท่าใดนัก


 


ทางแบบนี้ น่าจะช่วยให้ความต้องการที่ผู้ใหญ่อยากเห็นกับความจำเป็นที่วัยรุ่นต้องการตรงกันมากกว่าที่เป็นอยู่