Skip to main content

อาถรรพ์แห่งพงไพร : ซีไรต์จากฝั่งลาว

คอลัมน์/ชุมชน

                                 


 


"น้ำตาของลูกผู้ชายคลอเบ้าในวันแรกที่เห็นต้น(ประ)ดู่ต้นแรกถูกโค่นล้มลงด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง เสียงต้นไม้ฉีกขาดล้มลงดังก้องป่าคล้ายเสียงสั่งลาแกมสะอื้นของเนื้อไม้สีแดง น้ำยางไม้ไหลลงมาอาบโคนต้นจนเปียกแล้วไหลลงสู่พื้นดินรอบต้นไม้เป็นเวลาหลายชั่วโมงจนดินรอบๆ ตอไม้เปียกชุ่มคล้ายดั่งเรียกร้องให้รากไม้ที่ยังฝังอยู่ในดินดูดซึมมันไว้ แต่รากไม้ติดตอปราศจากองคอินทรีย์อื่น มิอาจมีแรงดึงดูดวัตถุอินทรีย์ใดได้อีก พลังของมันสาบสูญไปพร้อมกับลำต้นแข็งแรงของมันที่ถูกคมโลหะที่แข็งกว่าแทรกซึมตัดแยกทุกอณูเนื้อของมัน"


 


ความตอนหนึ่งจากนวนิยายขนาดสั้นชื่อ "อาถันแห่งพงไพ" หรือจะสะกดตามแบบภาษาไทยก็คือ อาถรรพ์แห่งพงไพร ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์จากประเทศลาว ประจำปี 2006  ข้อความข้างต้นนี้เป็นการถอดความแบบตรงไม่ได้ขัดเกลาใดๆ มาจากภาษาลาวเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งหากผู้อ่านที่สามารถอ่านจากต้นฉบับภาษาลาวนั้นคงซาบซึ้งกับการพรรณนาโวหารต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ได้มากกว่านี้แน่ แต่อยากจะยกมาให้ดูถึงสำนวนลีลาการพรรณนาความในหนังสือเล่มนี้ว่างดงามขนาดไหน


 


ได้มีโอกาสอ่านหนังสือฉบับนี้เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่แล้วเป็นภาษาลาว (แต่ทราบว่าตอนนี้มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว)  เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านรวดเดียวจนจบพร้อมกับความรู้สึกชุ่มชื่นหัวใจและคิดว่าเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเต็มอิ่ม แล้วก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง


 


หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนใช้นามปากกาว่า "ดอกเกด" ซึ่งเจ้าของนามปากกานี้ชื่อจริงก็คือ ดวงเดือน บุนยาวง สำหรับคนไทยที่คุ้นเคยกับงานวรรณกรรม วัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ลาวแล้วเข้าใจว่าจะรู้จักเธอเป็นอย่างดี เพราะได้มีผลงานของเธออยู่จำนวนหนึ่งที่มีการนำมาแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย


 


สำหรับ "อาถันแห่งพงไพ" นี้ก็เป็นผลงานอีกรูปแบบหนึ่งที่นักเขียนท่านนี้ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา และ กลายเป็นผลงานที่ได้รางวัลซีไรต์ดังกล่าว ทั้งนี้ หนังสือเล่นนี้ในประเทศลาวเองก็น่าจะได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยเพราะว่านี่เป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกนั้นตีพิมพ์เมื่อปี 1995 


 


"อาถันแห่งพงไพ" เป็นเรื่องสะท้อนสังคมชนบทและปัญหาที่ผู้คนในชนบทต้องเผชิญ ในเรื่องนี้มีครูหนุ่มเป็นตัวเอกเป็นตัวเดินเรื่องที่เป็นแกนนำกลุ่มชาวบ้านในความพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนในการที่จะรักษาป่าไม้เอาไว้ในการทำประโยชน์ให้กับชุมชน โดยในเรื่องนี้คือต้องการจะตัดไม้ในป่าในหมู่บ้านไปสร้างโรงเรียน ในขณะที่ป่าไม้แห่งนั้นถูกให้สัมปทานในการตัดไม้กับบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งไปแล้ว


 


ในท่ามกลางความสับสนและสังคมที่ซับซ้อนของบ้านเราแล้วและด้วยการแข่งขันในตลาดนักเขียน หนังสือที่นำเสนอออกมาในปัจจุบันหลายๆ เล่ม โดยเฉพาะบรรดานักเขียนยุคใหม่นั้นก็พยายามหาแนวใหม่ๆ มานำเสนอ หรือพยายามคิดโครงเรื่อง (plot) หรือการดำเนินเรื่องที่อาจซับซ้อนมากขึ้นจนอาจเรียกว่าเป็นการท้าทายทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน เพราะหลายครั้งแหวกแนวจนยากที่จะเข้าใจจนกลายเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มไป


 


แต่สำหรับหนังเล่มนี้นั้น หากพูดถึงเฉพาะ plot หรือมองแค่แก่นของเรื่อง (theme)เพียงคร่าวๆ ก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะพื้นๆ หมายถึงไม่หวือหวามากนัก เพราะเป็นเรื่องคนในชนบทห่างไกลแห่งหนึ่งของที่ต่อสู้กับอำนาจทุนหรืออำนาจรัฐ  ซึ่ง theme แบบนี้เราอาจเห็นได้บ่อยในประเภทวรรณกรรมเพื่อชีวิตของบ้านเรา ทว่า ต้องไม่ลืมว่าหากมองในบริบทของประเทศที่มีพรรคการเมืองเดียวและสังคมก็ไม่กว้างนักรวมทั้งการเปิดโอกาสในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมานั้นยังค่อนข้างทำได้ยากอยู่


 


หนังสือเล่มนี้นับเป็นอีกหนึ่งของความกล้าหาญและมีศิลปะอย่างยิ่งในการสะท้อนปัญหาออกมา หรือการถอดเอาระบบระเบียบของทางการออกมาพูดถึงได้ค่อนข้างชัดเจน


 


นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังอาจช่วยจุดประกายหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวชาวลาวในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกหวงแหนและรักในธรรมชาติ รวมทั้งเน้นให้เกิดความสามัคคีกันของคนในชุมชนอีกด้วย


 


ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ในฐานะของผู้อ่านธรรมดาๆ คนหนึ่งที่บอกว่าอ่านแล้วรู้สึก "อิ่ม" นั้น ก็เพราะว่า นอกจากตัวเนื้อหาของเรื่องที่ดีและการดำเนินเรื่องที่กระชับแล้ว นี่เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เราได้เห็นความสมบูรณ์แบบในเชิงองค์ประกอบทางวรรณศิลป์ มีการพรรณนาโวหารที่มีทั้งอุปมา อุปลักษณ์ และบุคลาธิษฐาน (simile, metaphor, personification) รวมทั้งการสอดแทรกคำพังเพย สุภาษิตต่างๆ เข้าไปด้วย ซึ่งนักเขียนยุคหลังๆ ที่เน้นลีลาและวิธีการนำเสนอที่แหวกแนวจนบางครั้งมักไม่ใคร่นึกถึงเรื่องเหล่านี้กันมากนัก


 


ด้วยประสบการณ์ด้านงานเขียนและความรุ่มรวยทางภาษา ผู้เขียนสามารถที่จะเลือกใช้สำนวนภาษาที่สามารถเรียกว่า "ภาษาสวย" มาบรรยายฉากต่างๆ ที่ทำให้ผู้อ่านคิดตามและเห็นภาพความงามทางธรรมชาติของหมู่บ้านในชนบท และเข้าถึงความรู้สึกของตัวละคร ตลอดจนการสอดใส่ธรรมเนียมปฏิบัติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวลาวอยู่ตลอดของการดำเนินเรื่อง ล้วนแล้วแต่กลมกลืนและสมเหตุสมผลที่จะมาสอดใส่ไว้ในเนื้อหาแต่ละตอนที่อ่านแล้วไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดหรือถูกสอน


   


มีตัวอย่างเรื่องของวิถีชีวิต เช่น ตอนเปิดเรื่อง มีการพูดถึงคณะผู้แทนจะมาจากเวียงจันทน์มาเยี่ยมหมู่บ้าน ชาวบ้านก็คิดกันเป็นการใหญ่ว่าจะต้อนรับอย่างไร หรือเด็กนักเรียนก็สงสัยว่าจะต้องใส่เสื้อขาวมาต้อนรับหรือเปล่า หรือคนในหมู่บ้านก็บอกว่าจะต้องเตรียมการบายสีสู่ขวัญกันหรือไม่ เหล้ายาปาปิ้งที่จะต้องเตรียมต้อนรับจัดเตรียมอย่างไร หรือความรู้สึกของตัวเอกของเรื่องต่อการต้อนรับ "คณะผู้แทน" ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชีวิตจริง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนถูกใส่ไว้ในบทสนทนา


 


หรือตอนที่ตัวเอก หรืออาจเรียกว่าพระเอกของเรื่องถูกจับติดคุกเนื่องจากพยายามที่จะเอาไม้มาสร้างโรงเรียนแต่ถูกกลั่นแกล้งจนถูกจับเนื่องจากข้อหาบุกรุก หลังจากที่นางเอกซึ่งมาจากเวียงจันทน์กับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งได้ช่วยเหลือออกมาได้ และกลับมาที่หมู่บ้านของพระเอกนั้นมีการนำเสนอบรรยากาศการต้อนรับที่มีการบายสีสู่ขวัญลงไป พร้อมทั้งนำเสนอให้เห็นบรรยากาศในช่วงรื่นเริงที่ต้องมีการดื่มสุราด้วยนั้น  ก็ได้นำเสนอให้เห็นภาพธรรมเนียมปฏิบัติตามแบบอย่างชาวลาวแท้ๆ เช่น ต้องมีคนนำเสนอรินเหล้าให้ และต้องรู้ว่าใครควรเป็นผู้ที่จะดื่มก่อนหรือดื่มทีหลัง ซึ่งหากคนที่คุ้นเคยกับการปฏิบัติแบบนี้ก็นึกภาพออก ส่วนคนที่ไม่ยังไม่เคยเห็นก็ถือเป็นความรู้ใหม่ที่เผื่อในอนาคตหากร่วมวงดื่มกับกับคนลาวก็จะได้รู้ธรรมเนียม


 


มีอีกประเด็นที่น่าสนใจที่ไม่ได้พบบ่อยนักในวรรณกรรมลาว คือ ประเด็นบทบาททางเพศ ซึ่งผู้เขียนแอบใส่ไว้ในบางตอน เช่น ตอนที่พวกผู้ชายบอกว่าจะประชุมกันแล้วบอกให้หญิงสาวผู้หนึ่งในหมู่บ้านว่าให้ไปช่วยรินเหล้าให้หน่อย สาวคนนี้ก็บอกว่า ถ้าไปก็จะไปประชุมจะไม่ไปเพื่อการรินเหล้าหรอก และที่สำคัญเธอเป็นถึงหัวหน้าหน่วยเยาวชนแล้วไม่มีหน้าที่มานั่งรินเหล้าหรอก  นอกจากนั้น ผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญในการนำพอสมควร เช่น ป้าพอน ที่ตัวพระเอกต้องมาอาศัยอยู่ด้วย  รวมทั้งตัวนางเอกก็วางไว้ให้เป็นลักษณะของผู้หญิงเก่งที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความสามารถและอาจเข้มแข็งกว่าตัวเอกที่เป็นผู้ชายอยู่เล็กน้อย


 


การที่มีมุมมองแบบนี้สอดแทรกอยู่ในเรื่องด้วยก็อาจเป็นเพราะผู้เขียนนั้นเป็นผู้หญิงที่หัวก้าวหน้าอีกคนหนึ่งในสังคมลาว เท่าที่อ่านงานเขียนลาวส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายที่ส่วนใหญ่ซึ่งค่อนข้างละเลยประเด็นเหล่านี้ บทแบบนี้จึงไม่ได้เห็นบ่อยนัก ทั้งนี้  ดวงเดือน บุนยาวง นั้นเป็นนักเขียนหญิงคนแรกของลาวที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ซึ่งก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งของแวดวงวรรณกรรมลาว


 


กล่าวโดยสรุป แม้ว่านี่จะเป็นเพียงนวนิยายเล่มหนึ่ง หากแต่หนังสือเล่มนี้กลับไม่ได้ให้คุณค่าเพียงแค่ความเพลิดเพลิน และแสดงให้เห็นความสามารถของผู้เขียนในเชิงวรรณศิลป์เท่านั้น แต่ยังให้ภาพชีวิตที่ผู้อ่านซึ่งเป็นคนลาวนั้นคงจะได้คิดในหลายประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของตนเอง  แต่หากเป็นคนไทยได้อ่านแล้วอย่างน้อยสำหรับคนที่อยู่ในชนบทหรือมาจากต่างจังหวัดก็คงแอบคิดถึงถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองอยู่ไม่น้อย รวมทั้งยังได้ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมลาวมาขึ้นด้วย


 

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในประเทศลาวนั้นการตอบรับต่อหนังสือเล่มนี้ในฐานะของการเป็นวรรณกรรมที่ได้รางวัลซีไรต์จะเป็นอย่างไรกันบ้างมีการยกย่องชมเชยหรือวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายเช่นเดียวกับรางวัลซีไรต์ไทยหรือไม่ แต่เชื่อมั่นเป็นการส่วนตัวว่า หนังสือเล่มนี้ควรค่าแก่แก่การได้รับรางวัลอย่างยิ่ง และสำหรับนักอ่านไทยที่ไม่เคยมีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมลาวและอยากรู้จักคนลาวหรือวัฒนธรรมลาวมากขึ้น นับเป็นเรื่องดีไม่น้อยที่จะเริ่มต้นทำความรู้จักผ่านหนังสือเล่มนี้