Skip to main content

กรรมการรัฐวิสาหกิจ

ในพระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น มีข้อห้ามมิให้ข้าราชการดำรงตำแหน่งในกรรมการรัฐวิสาหกิจเกินกว่า ๓ แห่ง


 


ในตอนที่ผมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.คุณสมบัติของกรรมการรัฐวิสาหกิจผมได้เสนอให้เพิ่มข้อห้ามนี้ โดยให้รวมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจด้วย เพราะมีหลายท่านเป็นกรรมการถึงสิบกว่าแห่งถ้ารวมบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจด้วย ปีหนึ่งก็ได้รับเงินตอบแทนหลายสิบล้านบาท  รัฐวิสาหกิจบางแห่งคลอดบริษัทลูกนับหลายสิบบริษัท ทำให้ยากในการตรวจสอบ และหลบเลี่ยงกฎหมายข้อนี้ เพราะไม่มีข้อห้ามในกฎหมาย ห้ามเฉพาะรัฐวิสาหกิจหลักเท่านั้น


 


ปรากฏว่าวุฒิสภาได้เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขนี้


ต้องดูว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการเสนอต่อสภานิติบัญญัติจะมีการยืนยันตามวุฒิสภาชุดที่แล้วหรือไม่?


 


ในสหรัฐอเมริกามีคดีเกี่ยวกับกรรมการบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บางแห่งมีการฉ้อโกง โดยกรรมการบริษัทตกแต่งบัญชี ซ่อนกำไรไว้ในบริษัทลูก  และนำผลกำไรในบริษัทลูกไปใช้ และตั้งเบี้ยเลี้ยง ตั้งเงินเดือน เบิกค่าใช้จ่าย เบิกค่ารับรองเป็นจำนวนมาก  ถึงขนาดซื้อเรือยอร์ช ซื้อที่ดิน ทรัพย์สินโดยใช้เงินบริษัทลูกทั้งสิ้น เพราะบริษัทแม่โดนตรวจสอบมาก แต่การตรวจสอบในบริษัทลูกนั้นไม่มี เป็นช่องว่างในการซ่อนและยักย้ายถ่ายเทเงิน


 


เป็นตัวอย่างเป็นคดีที่ดังไปทั่วโลก เช่นในบริษัทเอ็นรอน ที่กรรมการบางคนโดยตัดสินจำคุกนับสิบปี ต้องชดใช้เงินที่โกงในคดีตกแต่งบัญชีที่สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งทุนนิยม


 


เป็นตัวอย่างที่ต้องนำมาล้อมคอกมิให้เกิดขึ้นในบริษัทของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจของไทยที่มีอำนาจการผูกขาดอย่างล้นเหลือ!


 


หากปล่อยให้กรรมการรัฐวิสาหกิจไปดำรงตำแหน่งมากกว่า ๓ บริษัทจะทำให้ประสิทธิภาพไม่ดีพอ ที่สำคัญคือไม่มีเวลาในการทำงาน


 


สิ่งที่มากไปกว่านั้นก็คือกรรมการโดยตำแหน่งที่กำหนดไว้โดยกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้น มีผลประโยชน์ทับซ้อน


 


ผมเคยยกตัวอย่างเรื่องกรรมการ ปตท. ที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานบริหาร ปตท. แล้วปลัดกระทรวงพลังงานมีหน้าที่ต้องเป็นองค์กรกำกับดูแล ปตท.ด้วย  เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคนกำกับดูแล กลับเป็นคนปฏิบัติเอง เป็นทั้งผู้กำกับและผู้แสดงเอง ?!


 


ถามว่านโยบายพลังงานของไทย จะไม่โดนบิดเบือนหรือ จะไม่ให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลักของไทยได้ไหม? เพราะปลัดกระทรวงพลังงานได้รับโบนัสจาก ปตท. แล้วทำให้ ปตท.กำไรสูงสุดไม่ดีกว่าหรือ  ปตท.ยิ่งกำไรมากตัวเองก็ได้รับโบนัสเยอะ  เราก็เลยได้นโยบายพลังงานที่มีการกำหนดให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการใช้พลังงานของไทย


 


ในขณะที่ในต่างประเทศจะเน้นการลงทุนในพลังงานที่ถูก  เช่น ในญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา ได้มีการสนับสนุนให้ไปลงทุนในเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ เพื่อนำพลังงานราคาถูกมาใช้ แต่ในเมืองไทยนโยบายพลังงานเน้นการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักทั้งๆ ที่มีทางเลือกของพลังงานมากมาย  แล้วการผูกขาดท่อก๊าซที่ทำให้ปตท.คิดค่าผ่านท่อแบบผูกขาด ไม่มีการต่อรองราคาให้ลดราคาลงเลย เพราะองค์กรกำกับดูแลไม่ทำงานแบบอิสระ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะบริษัทยิ่งกำไรเยอะ กรรมการกำกับดูยิ่งได้เงินปันผลเยอะ กรรมการกำกับดูแลกลายไปเป็นกรรมการในบริษัทที่ตัวเองต้องคุมต้องกำกับอยู่


 


นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องแก้ไข เพราะการมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นเป็นอันตรายต่อระบบการควบคุมรัฐวิสาหกิจยิ่งนัก


 


โอละหนอ เราจะได้เห็นการแก้ไขในสมัยรัฐบาลชุดนี้ไหมหนอ