Skip to main content

เรื่องของตลาดและการกิน 1

คอลัมน์/ชุมชน

วันอาทิตย์ ผมลุกขึ้นตั้งแต่เช้า ยีขี้ตางัวเงีย "ไอ้ตาม" แมวตัวเดียวที่ผมเลี้ยงไว้ก็เอาหัวของมันชอนไชไปมาที่หัวเข่าของผม มันร้องเหมียวๆ ปลุกให้เปิดประตูอย่างนี้ทุกวัน  บางทีผมลุกไม่ไหวก็จะเจอกับการประท้วงของมัน  บ้างคุ้ยกองหนังสือในบ้านเล่นให้กระจาย  บ้างดันของประดับหลังทีวีให้ร่วงพื้น หลังๆ มานี่มันสุภาพขึ้นจนดูแปลกตา  เช้านี้มีตลาดนัดวันอาทิตย์ เราจึงไปหาของกินกัน


 


โดยธรรมดาแล้วผมชอบเดินตลาด สำรวจผัก-ปลา-อาหารและของที่ชาวบ้านเอามาขายอยู่เป็นประจำ  แน่นอนตลาดและวัด (รวมถึงศาสนสถานของทุกศาสนา) ย่อมเป็นตัวบ่งชี้ความเจริญของชุมชนได้เป็นอย่างดี ทั้งสามารถบ่งบอกความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาคนั้นๆ ได้มากทีเดียว  ไม่น่าแปลกใจนักที่ตลาดไม่ว่าตลาดสดหรือตลาดนัดต่างๆ ของภาคใต้จะบรรดามีไปด้วย พืชผักนานาพันธุ์  ปลาทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด รวมถึงผลไม้หลากชนิดตามแต่ฤดูกาล เพราะนี่หมายถึงเนื่องมาจากลักษณะของพื้นที่อยู่ในเขตร้อนชื้นฝั่งทะเล และแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์อันเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้ภาคใต้ของไทยนั้นมีทรัพยากรพื้นฐานด้านโภชนาการที่อุดมยิ่ง


 


เรื่องที่กล่าวมาเป็นเรื่องของสภาพทั่วไปที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารและโภชนาการพอคร่าวๆ เรียกพอเป็นน้ำย่อย  เช้านี้ในตลาดคนเยอะเดินกันมืดฟ้ามัวดินไปหมด ตลาดมีการแบ่งโซนกันอย่างเป็นระเบียบแบบชาวบ้าน ข้างหน้าขายพวกผักปลาและของสดมากมาย ลึกเข้าไปเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทั้งมือสองมือสามและมือหนึ่ง ลึกเข้าไปเป็นรองเท้าและของอื่นๆ อีกจิปาถะ


 


หากใครเคยลงมาสัมผัสกับตลาดแถบภาคใต้ก็จะพบเจอกับบรรยากาศเช่นนี้  


 


ร้านน้ำชา-กาแฟ  ร้านข้าวแกง ร้านขนมจีนมีอยู่เกือบทุกมุมตลาด ไอ้ร้านน้ำชา-กาแฟนี่แหละก็ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีที่ใดเหมือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศในการสนทนาพูดคุยก็มักจะเป็นเรื่องของเหตุบ้านการเมืองอะไรทำนองนั้น ถ้าพูดกันหยาบๆ ก็อาจได้ข้อสรุปว่าเพราะคนใต้สนใจการเมืองเป็นพิเศษก็เป็นได้  หากเป็นร้านในตลาดแถบชนบทออกไปหน่อยก็จะเป็นเหมือนรายการเล่าข่าวเช้ากันเลยทีเดียวเชียว เพราะคนส่วนใหญ่ก็รู้จักกัน เรื่องเล่าในร้านจำพวกนี้บางทีก็เลยลึกไปถึงใน "มุ้ง" กันบ้าง  (ส่วนใหญ่ลูกค้ามักเป็นผู้ชาย)


 


ส่วนร้านขนมจีนนั้นมักมีลูกค้าเป็นผู้หญิงและนั่นจึงเป็นเหตุให้เรื่องในวงสนทนาของแต่ละร้านแปลกแยกกัน ในร้านขนมจีนก็นิยมพูดเรื่องข่าวชาวบ้าน ข่าวบ้านบ้านกัน ก็ตามแบบฉบับลูกผู้หญิงเขานั่นแหละครับ


 


ชุมชนในภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตร มีการพาณิชย์ไม่มากนัก เรื่องของการกินจึงง่ายๆ พึ่งพิงตนเอง ส่วนใหญ่จึงเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน อาหารเหล่าพวกนี้จึงถือได้ว่าเป็น "อาหารพื้นเมืองแท้" ของชาวใต้


 


ผมแวะร้านน้ำชาอยู่พักหนึ่งแล้วออกเดินเล่นต่อ  ซื้อสะตอมานิดหน่อยเพื่อไว้แกงกับกุ้ง ซื้อปลาแห้งกับทูเค็ม ซื้อกุ้งส้ม ซื้อลูกเนียงเพาะและลูกเหรียงไว้เหนาะ (เหนาะ หมายถึง กินเป็นเครื่องเคียง)


 


แดดสายเริ่มดันดวงอาทิตย์ขึ้นสูง แม่ค้าหลายคนลุกขึ้นมาขยับร่มกันแล้ว ผมกับเพื่อนๆ ก็ได้กับข้าวมาพอสมควร เราตัดสินใจกลับแผ่นดินเหนือทะเลสาบสงขลากัน วันนี้เราเห็นพ้องกันว่าจะกลับทางแพข้ามฝั่ง บนแพเรานั่งกิน "หัวครกผัดน้ำผึ้ง"(เม็ดมะม่วงหิมพานราดน้ำตาลเคี่ยวจนหนืด) กันอย่างอร่อย หนึ่งในกลุ่มของเราพูดขึ้นว่า "นี่แหละ ‘หัวครกเครือบคาราเมว’ ของบ้านเรา ฮา.....


 



ขายปลาย่าง


 


 


ขายสะตอ


 


 


ปลาเค็ม


 


 


ปลาแห้ง


 


 


ร้านหนมจีน


 


 


ลูกเนียงเพาะ


 


 


ลูกเหรียง


 


 


หัวครก