Skip to main content

เส้นทางของอธิการบดีชื่อ "สุรพล นิติไกรพจน์"

คอลัมน์/ชุมชน


 


ข่าวท่านอธิการดีธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นักกฎหมายมหาชนชื่อดังออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวต่อกรณีมีกลุ่มศิษย์เก่าและผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่งพากันเข้าชื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หลังท่านได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า


 


ในระดับหนึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่า รัฐธรรมนูญ 2540 และระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้ถูกเลิกไปแล้วโดยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการประหารรัฐ และประหารรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง ถ้าจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อย่างที่เราเรียกร้อง มันก็ต้องเขียนขึ้นใหม่ พิจารณายกร่างใหม่ทีนี้ใครจะเป็นคนทำ? จะให้คณะรัฐประหารไปยกร่างกันเองเพื่อที่จะเอามาด่ากันต่อว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือ สืบทอดอำนาจเผด็จการหรือแล้วจากนั้นก็มีการต่อสู้เรียกร้อง มีความขัดแย้งแล้วก็นำไปสู่ความแตกแยกในชาติอีก ผมคิดว่าคนที่เชื่อเรื่องต้องไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่ไปสนับสนุนต้องคิดต่อต้านคณะรัฐประหารก็มีเหตุมีผลของเขา ผมเองก็มีความคิดอย่างนี้" (ประชาไท 1 .. 49)


 


มันชวนให้ผมนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 3 ปี ก่อน


 


ใช่ครับ ปีที่ท่านเพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีหมาดๆ ท่ามกลางความหวังของประชาคมธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งว่าท่านจะเป็น "อัศวิน" ที่มากู้มหาวิทยาลัยจากสภาวะสำลักทุนนิยม ปัญหาคาราคาซังภายในเรื่องย้าย-ไม่ย้ายออกไปสู่รังสิต ฯลฯ ซึ่งธรรมศาสตร์กำลังเผชิญอย่างหนักหน่วง ด้วยความที่ท่านเป็นนักกฎหมาย "มหาชน" ชื่อดังซึ่งได้รับการยอมรับในวงวิชาการ


 


ด้วยผลงานการวิจัยมากกว่า 20 ชิ้น ซึ่งมากที่สุดในฐานะศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชนคนแรกของมหาวิทยาลัย


 


ด้วยรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์จากสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับนักวิจัย


ด้วยความกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อย่างไม่เกรงใจใคร  และด้วยความที่สมัยเรียนท่านเป็นนักกิจกรรม เมื่อจบคณะนิติศาสตร์แล้วอยากเป็นครูด้วยเจตจำนงที่แน่วแน่ว่า "ไม่ควรจะไปทำอาชีพที่มีอำนาจและมีโอกาสใช้อำนาจโดยมิชอบ ถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้ จะทำให้วงการเขาเสียเปล่าๆ"


 


หากท่านยังไม่ลืม ช่วงต้นปี 2548 ท่านให้สัมภาษณ์อย่างภาคภูมิใจกับนิตยสารสารคดีถึงจุดยืนในฐานะนักวิชาการและในฐานะอธิการบดีธรรมศาสตร์ในการออกมาแสดงความคิดเห็นว่า


 


"เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมรู้สึกว่าหลักการสำคัญทางกฎหมายถูกกระทบกระเทือน รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แนวคิดเรื่องนิติรัฐถูกกระทบ หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเลย ผมก็จะพูด"


 


ยังมีประโยคกินใจอีกหลายประโยคอาทิ


"เมื่อคุณไม่เคารพกฎหมายเสียแล้วคนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเคารพอำนาจของคุณ" 


"แม้ว่าจุดมุ่งหมายจะดีอย่างไรก็ตาม รัฐไม่มีสิทธิ์ที่จะไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน"


(สารคดี ฉบับที่ 240 ปีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548)


 


แต่ไม่ทันไรเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่ง งานแรกของท่านคือปล่อยให้เจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยไป "เก็บกวาด" คนขายของในมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลว่า "เกะกะ" ก่อนจะเปลี่ยนใจหลังความจริงเรื่องนี้ถูกสื่อนำไปรายงานจนท่านเสียหน้ายับเยิน ถึงกับคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยที่ดูแลเรื่องนี้ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม


(เชื่อว่าท่านจำกรณีเบอร์นาร์ดแขกขายถั่วได้)


 


จากนั้นจัดการเฉือนทำลายสนามฟุตบอลด้านทิศตะวันตกที่ท่าพระจันทร์ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไปทำลานจอดรถและประดับไฟแบบโรแมนติก โดยอ้างว่า "ปรับภูมิทัศน์"  ควักเงินภาษีประชาชนหลายสิบล้านบาทมาใช้


 


แล้วโครงการปรับภูมิทัศน์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์จุดต่างๆ ก็ติดตามมาแบบดอกเห็ดฤดูฝน จนศิษย์เก่าปริญญาตรีรหัส 47 ขึ้นไปกลับมามหาวิทยาลัยแล้วจำแทบไม่ได้


 


ด้วยตึกบางตึกกลายเป็นหินอ่อนอย่างดี ลานปรีดีถูกรื้อสร้างใหม่ และต่อไปกำลังจะมีหลังคาเชื่อมระหว่างท่าพระจันทร์ไปจนถึงประตูท่าพระอาทิตย์ (สำหรับปริญญาโทเดิน?)


 



 


ดร.สุรพล มุ่งพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า "จิตวิญญาณธรรมศาสตร์" ที่รังสิต เห็นดีด้วยกับรองอธิการบดีผู้มีภาพลักษณ์งดงามด้านประชาธิปไตยไปทำแปลงนาขึ้นแปลงหนึ่ง จัดให้นายกสภามหาวิทยาลัยรวมถึงบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ไป "ดำนา" กับนักศึกษาแล้วให้นักข่าวถ่ายรูปเพื่อแสดงตนว่ามีความ "พอเพียง" ในขณะที่ลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยด้วยราคานับสิบล้าน


 


ทั้งที่ในความเป็นจริง ชีวิตส่วนตัวของท่านผู้ใหญ่ที่เหล่านั้น หลายคนมีเลขาส่วนตัว นั่งรถเบนซ์ อยู่ในห้องแอร์ตลอดทั้งวันเป็นส่วนใหญ่ก็ว่าได้ จะออกไปสร้างภาพว่าสนใจคนชนบทก็บางคราว


 


ส่วนนักศึกษาบางคน เมื่อดำนาเสร็จ ก็กลับไปใช้ชีวิตของตนเองต่อ เดินฟิวเจอร์ปาร์ค ดูหนังที่เมเจอร์ และกินเหล้าหลัง ม. ฯลฯ เช่นที่เคยเป็นมาก่อนดำนาสาธิต นักศึกษาคนอื่นในมหาวิทยาลัยก็รู้บ้างไม่รู้บ้างว่าในสถานศึกษาตนเองมีแปลงนาสาธิตอยู่ เพราะไม่เคยสนใจอะไร และยุ่งกับกิจกรรมเชียร์เกินกว่าจะมาสนใจ


 


แต่ท่านและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เชื่อว่าพวกเขาได้ซึมซับเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว…


 


หลายปีก่อน ฤดูน้ำหลากเช่นนี้ ผมเห็นธรรมศาสตร์ รังสิต ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ แล้วดึงน้ำที่ขังอยู่ในมหาวิทยาลัยออกไปลงในพื้นที่ๆ รอบของชาวบ้านกับตา - - ไม่รู้ว่าปีนี้ยังทำอยู่หรือไม่?


 


ล่าสุด ปลายเดือนกันยายน 2549 ผมไปยืนฟังท่านให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า


"คปค. คือรัฐถาธิปัตย์" (ถืออำนาจโดยชอบธรรม)


ทั้งที่การทำรัฐประหารนั้นผิดรัฐธรรมนูญอย่างแจ่มแจ้ง


 


ท่านยืนเต๊ะอยู่กับรองอธิการบดี ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาปริญญาโท และศิษย์เก่า จัดการชุมนุมเกินกว่า 5 คนเพื่อเย้ยกฎอัยการศึกที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ของ คปค. ที่ลานโดม


 


แล้วก็พูดเพียงว่า "ผมผ่านมาแล้วมีวิธีที่ดีกว่านี้ นี่ผมกันทหารนะ ไม่ให้เข้ามา พวกคุณไม่รู้อะไร คนถือปืนมันยิงได้หมดแหละ มันมีวิธีที่ดีกว่านี้"


แต่อาจารย์ก็ไม่เคยแสดงออกมาว่าคืออะไร (หรือต้องเข้าร่วมกับ สนช. ที่ คปค. ตั้ง)


ล่าสุดท่านสุรพลให้สัมภาษณ์ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่ความจริงที่ต้องยอมรับคือมันเกิดขึ้นแล้วและผ่านไปแล้วโดยแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้…ที่ผมอยากชี้แจงก็คือ เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีกติกาการปกครองใหม่ ถ้าเราเชื่อว่าเราจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง เราก็ต้องไปทำและพยายามทำให้ได้ ผมขอเรียนว่าหลังรัฐประหาร ๑ สัปดาห์ คือเมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๙ ผมได้รับการติดต่อจากนักกฎหมายที่กำลังยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้อยู่นี้ให้ไปช่วยดูร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างเบื้องต้นเสร็จแล้วที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาผมก็ตัดสินใจไปโดยความเชื่ออย่างที่ว่า"


 


ก่อนร่ายยาวว่าปล่อยให้ คมช. ทำคนเดียวไม่ได้ แล้วก็จะไปว่าเขาเผด็จการอีก และสิ่งที่ท่านได้เสนอนั้น คมช. ก็ได้ยอมรับและนำไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้มาจากการรัฐประหาร


ซึ่งร่างเตรียมเอาไว้แล้วในระดับหนึ่ง !!


 


ท่านอธิบายว่า "เห็นว่ามันมีโอกาสและมีทิศทางในการผลักดันสิ่งที่เราเชื่อให้เป็นจริงได้ และจะทำอะไรได้ตามสมควรในการช่วยกันสร้างสังคมไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยขึ้นได้ และปรากฎการณ์นี้ก็ทำให้คิดไปได้ว่าคณะรัฐประหาร ซึ่งกระทำรัฐประหารด้วยเหตุผลความจำเป็นใดก็ตามที่ผมไม่ทราบและไม่เห็นด้วยนั้นไม่ได้คิดไปในทางที่อยากจะมีอำนาจ หรือสืบทอดอำนาจของตัวเองต่อไป อันนี้ผมย้ำว่าเป็น ความเชื่อส่วนตัวของผมเท่านั้นและทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้ในการที่จะเข้าไปผลักดันให้เกิดอะไรบางอย่างได้ ผมก็เข้าไปทำก็เท่านั้นเอง"


 


ไม่แน่ตอนท่านพูดว่า  "เมื่อคุณไม่เคารพกฎหมายเสียแล้วคนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเคารพอำนาจของคุณ"


 


ท่านอาจกำลังเมาความรู้หลังคืนก่อนหน้านั้นเปิดตำรากฎหมายเตรียมตัวให้สัมภาษณ์กระมัง…


ท่านลืมคิดว่าไปว่า การปฏิวัติในอนาคต ก็เกิดขึ้นได้และท่านก็ต้องยอมรับเขาเป็นรัฐถาธิปัตย์อีก ?


 


เราถูกสอนและถูกอบรม ให้ เห็นความอุจาดลามกเป็นความงาม


ถ้าเราปฏิเสธความงามกำมะลอ ซึ่งที่แท้ก็คือความอุจาดลามก


เราก็จะถูกตราหน้าว่าเป็น "แกะดำ"


 


คำกล่าวของกุหลาบ สายประดิษฐ์ยังเป็นจริงอยู่เสมอ และท่านอธิการบดีคงไม่ยอมเป็น "แกะดำ" ผิดกับคนกลุ่มหนึ่งที่ยอมเป็น "แกะดำ" เรียกร้องท่านอยู่ในขณะนี้


 


ในวันนี้ ท่านกำลังบอกว่านักเลงถือปืนที่มาไล่โจรในบ้านคนก่อนออกไปนั้น พึ่งได้มากกว่าดีกว่ากระบวนการยุติธรรมที่ท่านเรียนมาตลอดชีวิตในการลงโทษโจรเสียแล้ว


 


และท่านกำลังบอกเป็นนัยว่า ท่านเชื่อโดยส่วนตัว ประชาธิปไตยถือกำเนิดจากกระบอกปืน!!! ไม่ใช่ประชาชน และคนไทยกำลังจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าจากการรัฐประหาร


 


นี่คือความคิด ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชน


ศิษย์เก่านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 สอบได้ที่ 1 ของรุ่นรหัส 21


นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์


เจ้าของวลี "เมื่อคุณไม่เคารพกฎหมาย คนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเคารพ อำนาจ ของคุณ"


แต่วันนี้ต้องเคารพอำนาจของ คปค. ซึ่งฉีกรัฐธรรมนูญ???!!!!


 


อ้างอิง


-          วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์ ..ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "เมื่อคุณไม่เคารพกฎหมาย คนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเคารพ อำนาจ ของคุณ" .นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 240 ปีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548


-          ภาพจากนิตยสารสารคดีฉบับเดียวกัน