Skip to main content

นิทรรศการ "คำ" # 2

คอลัมน์/ชุมชน

ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดเลวจริงจังหรือดีแท้แน่นอนเสมอไป


เพราะความดีหรือความเลวนั้น อยู่ในใจของมนุษย์แต่ละคน


ที่จะเป็นผู้ชี้ขาด


 


ประภัสสร เสวิกุล เคยบอกไว้ในเรื่องสั้น "อีกวันหนึ่งของตรัน" ฉันคิดว่า "ความหมายของคำ" ก็เช่นเดียวกัน


เมื่อตัวหนังสือรวมกันเป็นแถว แต่ละประโยคอาจสร้างความรู้สึกในใจคนอ่านแตกต่างกันไป


อย่างไรก็ดี ทัศนะที่แตกต่าง คือสิ่งที่ทำให้ "คำ" ทั้งหลายแตกยอดและมีชีวิตอีกต่อไป


ฉันคิดเช่นนั้น.


 


 




เจ้าของ


 


"แล้วม้านั่งคนผิวดำล่ะที่ไหน" ฉันหันกลับและถาม


"ไม่มีหรอก สำหรับที่นี่ ไม่มีอะไรที่จะเป็นของคนผิวดำได้"


"แต่มันต้องมี มันจะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีม้านั่ง มันอาจจะมีอะไรอย่างอื่นแน่" ฉันถามอย่างเชื่อมั่นเช่นนั้น


"ถ้าจะมี มันจะมีเพียงอย่างเดียว" คาลีกล่าวเนิบช้า


"อะไร อะไร" ฉันถาม


"ผิวนี่ไงล่ะ" เขากล่าว และชูต้นแขนสีดำสนิทของเขาอวด


"ผิวสีดำของเรา ที่เป็นของเราเสมอ ไม่เห็นมีใครคิดแย่งไปจากเราเลย"


 


สันติ เศวตวิมล


จากเรื่อง ม้านั่ง, หนังสือ ฉันมีแต่วันวาน


.............................................................................


 


 




การยกย่อง


 


เราหยามหยัน ผู้สร้างเหตุแห่งการโรมรันฟันแทงเหล่านั้นหรือไม่เล่า?


ไม่หรอก เขาประกอบภาระแห่งเกียรติยศ! เขาประดับเรือนกายด้วยทองคำและวัตถุส่องประกาย


เขาประดับขนนกบนศีรษะ และมีเครื่องหมายประดับประดาตรงหน้าอก


เขาได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญ บำเหน็จรางวัล และยศถาบรรดาศักดิ์มากมาย


เขาได้รับความภาคภูมิ การยกย่องคารวะ ความรักจากหญิงสาว การไชโยโห่ร้องจากฝูงชน ก็เท่านั้น


เพราะภาระหน้าที่ของเขา คือการทำลายล้างหลั่งเลือดมนุษย์!


 


เขานำพาเครื่องมือการฆ่ามนุษย์ไปตามถนนต่างๆ ให้ผู้พบเห็นรู้สึกอิจฉา


การฆ่าเป็นกฎยิ่งใหญ่ โดยธรรมชาติในหัวใจแห่งการดำรงชีวิตอยู่


ไม่มีสิ่งใดสวยงามและมีเกียรติคุณเกินไปกว่าการฆ่ามนุษย์เป็นแน่แท้


 


กีย์ เดอ โมปาสซังต์


จากเรื่องสั้น อนุทินของคนบ้า, ถิรนันท์ อนวัช แปล, หนังสือ ความดีงามที่ถามถึง


 


.............................................................................


 




ความนับถือ


 


คุณเคยอ่านประวัติของวูดโรว์ วิลสัน บ้างไหม


ฉันชอบเขามากพอประมาณ เขาเป็นคนโดดเดี่ยวและอ้างว้าง เหมือนฉันนี่แหละ


เขามีอุดมคติมากมาย และพยายามใช้อุดมคติกับโลกของความเป็นจริง แก้ไขปัญหาต่างๆ


แต่อุดมคติก็เป็นไปเพื่อความฝันอย่างเดียว


เมื่อเวลาของความจริงมาถึง คนเราก็ต้องทิ้งอุดมคติเพื่อความสำเร็จในชีวิต


เขาล้มเหลว เพราะมีอุดมคติ


ฉันคิดว่ามันน่าขัน


แต่ฉันก็นับถือเขา


 


อำไพ ศรีสงคราม


จากเรื่องสั้น บทแทรกของเสียงเพลงและความเหงา, หนังสือ หนุ่มเหน้าสาวสวย


 


.............................................................................


 




เหตุผล


 


"ไม่เป็นไร ตายก็ตายด้วยกัน"


คนหนึ่งยื่นมือมาจับแขนผมไว้อย่างเข้าใจในความอ้างว้าง


ผมพยักหน้า ขณะที่ทุกคนลุกขึ้นยืนกำบังตัวผม


ในวินาทีนั้นความหวาดกลัวได้เหือดหายไปจนหมดสิ้น ไม่ใช่เป็นเพราะมีคนใช้ร่างกายบังกระสุนให้


เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่มีร่างกายของใครจะทำหน้าที่นั้นได้


มิตรภาพต่างหากที่ทำให้ผมกล้าขึ้นมาถึงขีดสุด


ไม่ใช่ความกล้าที่จะไปรบราฆ่าฟันกับใคร


...แต่กล้าที่จะตาย เพราะผมมีเหตุผลที่ดี


 


เสกสรรค์ ประเสริฐกุล


เรื่องสั้น คืนแห่งชะตากรรม, หนังสือ มหาวิทยาลัยชีวิต


 


.............................................................................


 




เกม


 


ถ้าหากความปรารถนาคือความฝันของคนหลับ


สงครามก็คือสัญญาแห่งการตื่นตระหนก


แล้วฉันจะไปหวังอะไรอีกเล่ากับเกมการฆ่ากัน


นอกจากความตายที่มาจากความขัดแย้งอย่างไร้ข้อมูล


ที่มนุษย์มีอยู่


 


ทระนง ศรีเชื้อ


จากเรื่องสั้น สงครามในหลุมฝังศพ, รวมเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน


 


.............................................................................


 




ความเปรียบ


 


สายน้ำไหลสวนทางกับเขา บางตอนตื้นและใส จนมองเห็นพื้นหินขาววาวอยู่ใต้น้ำ


บางช่วงก็เชี่ยวจนเมื่อปะทะกับโขดหินก็แตกกระเซ็น สะท้อนแสงเป็นประกาย แต่บางตอนก็เฉื่อย


 


เขาชอบแม่น้ำนี้ เพราะไม่ว่ามันจะไหลเชี่ยวหรือเฉื่อย


สายน้ำนั้นยังคงเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเสมอ


หากมันหยุดนิ่งเหมือนน้ำในห้วย นักแต่งเพลงคงไม่เปรียบเทียบชีวิตว่าเป็นการล่องไปในแม่น้ำ


ที่ไม่มีวันหวนกลับ


 


ธัญญา ผลอนันต์


จากเรื่อง หกองศา-แปดองศา, หนังสือ ถนนไปสู่ก้อนเมฆ


 


.............................................................................


 




อาชญากรรม


 


เมืองนี้ (WRANGELL) อยู่บนเกาะชื่อเดียวกับเมือง เป็นของอินเดียนแดงมาก่อน (อีกนั่นแหละ) เพราะดูในพิพิธภัณฑ์ก็เป็นแบบนั้น


 


คือทหารรัสเซียมาเจอเข้าเมื่อปี 1834 แล้ว ก็จัดการ (ปล้น) ซะ ต่อมาก็เอามาขายให้อเมริกา (อลาสก้าเป็นของรัสเซียมาก่อน) เรียกง่ายๆ ว่าปล้นเขามาแล้วก็เอามาขาย ก็เลยไม่รู้ว่าความชอบธรรมนั้นมันอยู่ตรงไหน


 


เพราะทั้งคนขายและคนซื้อต่างก็ไม่รู้สึกว่าทำผิดอะไร ทั้งๆ ที่คนขายปล้นเขามา คนซื้อก็น่าจะโดนข้อหารับซื้อของโจรเข้าให้ แต่ก็เปล่า


 


เพราะทั้งคู่นั้นเป็นผู้เจริญ คนป่าก็เลยต้องเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ (ตามระเบียบ) เพราะเป็นผู้ที่ไม่เจริญ (ในทางเดียวกับเขา ผู้เจริญแล้ว)


 


แต่งานศิลปะของคนป่า ผู้เจริญกลับเอาขึ้นมาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของตัวเอง แล้วก็เอาปลาของคนป่า เอาต้นไม้ของคนป่า เอาน้ำมันของคนป่า เอาทองของคนป่า เอาทั้งหมดไปเป็นของตัวเอง


 


คนป่าเจ้าของบ้านก็กลายเป็นตัวแสดงเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวดู


 


ชาติ กอบจิตติ


จากเรื่องสั้น บันทึกนักเขียน, หนังสือ สบสังวาสสโมสร