Skip to main content

10 ปีของ Paradox

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อคราวที่เว็บประชาไทเกิดเหตุการณ์หมิ่นเหม่ว่าเว็บจะ "อยู่" หรือจะ "ไป" ในช่วงเวลาที่ "อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย" เมื่อคราวที่รถถังออกมาวิ่งเล่นให้เราเห็นกันอยู่ J  มีความเห็นหนึ่งที่เข้ามาในท้ายข่าวของประชาไทในเชิง "ประชด" ทำนองว่า "ประชาไทน่าจะเปลี่ยนมาพูดถึงอัลบั้มใหม่ของคุณเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตยเลยจะดีกว่ามั้ย"


 


ตอนนั้นผมก็ตอบกลับความเห็นนั้นในใจไปด้วยอารมณ์สนุกว่า "ผมว่าถ้าจะพูดถึงพี่เบิร์ดนะ พูดถึงอัลบั้มใหม่ของพาราด็อกซ์น่าจะสร้างสรรค์กว่าเยอะ"


 


แม้ผมจะยอมรับว่ามันเป็นอารมณ์ช่างประชดของตัวเอง แต่มันก็มีพื้นฐานจากความรู้สึกจริงๆ...ผมว่าพาราด็อกซ์น่าสนใจกว่าป๋าเบิร์ดในตอนนี้จริงๆ นะ


 


เพราะการที่วงดนตรีบ้าๆ เพี้ยนๆ วงหนึ่งจะสามารถยืนระยะอยู่ในวงการเพลงได้ถึงสิบปีนั้น ผมว่าน่าตื่นเต้นกว่าอัลบั้มใหม่ของนักร้องระดับซุปเปอร์สตาร์ที่มีทีมงานแข็งแกร่งคอย "สร้าง" ภาพลักษณ์ให้ดูดีทุกกระเบียดนิ้ว...ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว พาราด็อกซ์เหมือนกับหนังเกรดบีที่แม้ทุนสร้างไม่เยอะนัก แต่ลูกบ้าของมันก็ทำให้หนังเรื่องนั้นน่าสนใจกว่าหนังภาคต่อทุนสร้างมโหฬาร แต่เนื้อเรื่องงั้นๆ ตั้งเยอะ


 


(ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะเถียงผมว่า "พาราด็อกซ์ก็อยู่แกรมมี่นะพ่อคุณ ก็คงมีบรรดาทีมงานสร้างภาพลักษณ์เหมือนกันแหละ" ...ก็ถูกครับ แต่ผมก็เชื่อว่า "ภาพ" ของพาราด็อกซ์นั้นถูกขยายมาจากภาพลักษณ์ของทางวงเอง ถ้าไม่เชื่อก็ลองคิดดูสิครับ ทีมงานสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทไหนจะกล้าให้มือเบสของวงดนตรีสักวงแต่งหญิงทุกครั้งที่ขึ้นเวทีกันล่ะ)


 


อีกเรื่องที่น่าสนใจของพวกเขา ก็คือพวกเขาเป็นวงดนตรีไม่กี่วงที่แม้จะก้าวจากการเป็นวงแบบทำเอง-ขายเองสู่สังกัดใหญ่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองมากนัก อีกทั้งแม้จะไม่ได้เป็นซุปเปอร์สตาร์ แต่พวกเขาก็มีแฟนเพลงกลุ่มประจำชนิดเหนียวแน่น รวมถึงชื่อเสียงในการแสดงสดที่อาจจะเรียกได้ว่าพวกเขาเป็นวงดนตรีที่เล่นสดได้ดีที่สุดวงหนึ่งในยุคนี้ทีเดียว


 


ที่พูดมาหลายๆ ย่อหน้าข้างบนนั้นก็เพื่อจะบอกว่าผมจะเขียนถึงอัลบั้มชุดใหม่ของพวกเขา (อัลบั้ม Paradox X) ซึ่งเป็นอัลบั้มในโอกาสครบรอบ 10 ปีของทางวงนะแหละ...


 




 


อัลบั้มชุดนี้แบ่งเพลงออกได้คือสองกลุ่ม คือเพลงปกติ (10 เพลง) และ Bonus Track ที่แถมมาด้วย (ซึ่งมี 12 เพลง...ทำไมมันมากกว่าเพลงในอัลบั้มอีกหว่า) ซึ่งในส่วนของเพลงปกตินั้น ก็ยังคงตามสูตรปกติที่ Paradox เคยเป็น นั่งคือเพลงป๊อป-ร็อคที่เจือกลิ่นพังค์ยืนพื้น แต่เดี๋ยวก็เอาเฮฟวี่มาปนนิดหน่อย บางเพลงพี่แกก็ล่อเอาสามช่ามาใส่ซะงั้น ซึ่งตัวดนตรีก็มาพร้อมกับเนื้อเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวฝีมือของคุณต้าร์-อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา มันสมองของวง


 


พูดถึงเพลงที่คุณต้าร์เขียน ก็ต้องบอกว่าเพลงของเขาไม่สละสลวยเท่าไหร่ แต่เสน่ห์ในเพลงฝีมือเขาอยู่ที่ความแปลกประหลาดที่มักจะแอบซ่อนอยู่ในเพลง ยกตัวอย่างก็อย่างเพลง "ผงาดง้ำค้ำโลก" ที่เป็นเพลงเปิดตัวของอัลบั้มนี้ ที่ถ้าเราฟังเพลงนี้เผินๆ เพลงนี้ก็เหมือนเพลงกลิ่นการาจร็อคจังหวะชวนดิ้นที่มีเนื้อหาปลุกปลอบใจให้สู้ชีวิตธรรมดาๆ เพลงหนึ่ง แต่ถ้าฟังเนื้อเพลงดีๆ โดยเฉพาะท่อน...


 


"ปลุกปั่นมันให้สู่ อย่าอ่อนล้า


อย่าเหี่ยวจนโตงแต่งและเตงต่อง


สูบฉีดเติมชีวิต สู้ให้ผงาดง้ำ


หยัดยืนบนโลกให้สุดแรง..."


 


อาจจะเริ่มรู้สึกว่า "เอ...มันพูดถึงชีวิตหรืออะไรกันหว่า" (ก็คิดดูสิฮะ อะไรหนอที่เราต้อง "ปลุกปั่น" ให้ "สู้" ล่ะ:-P)


 


แต่ถึงกระนั้นก็ยังรู้สึกได้ว่า กราฟการเคลื่อนไหวทางอารมณ์ของเพลงในอัลบั้มนี้ออกจะราบเรียบไปหน่อย ไม่มีเพลงบ้าๆ หลุดๆ ใน 10 เพลงแรกที่เป็นเพลงในอัลบั้มจริงๆ เลย...แต่เพลงบ้าๆ หลุดๆ เพี้ยนๆ ทั้งหลายนั้นไปปรากฏอยู่ในโบนัสแทร็คของอัลบั้มนี้แล้วครับ


 


ซึ่งบรรดาความบ้าที่ผมพูดไปนั้นก็มีตั้งแต่เพลงที่มีในอัลบั้มอยู่แล้ว แต่นำมารีมิกซ์จนได้เพลงในเวอร์ชั่นที่พิลึกพิลั่น, เพลงที่อัดไม่ยั้งขนาดเกือบๆ จะเป็นเดธ เมทั่ล (มะเร็งอารมณ์), เพลงที่ให้บรรยากาศแบบหนังสยองขวัญเกรดบี (นั่งยาง...เพลงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเพลงที่ "โรคจิต" ที่สุดในปีนี้แล้วมั้ง), ไปจนถึงการนำเพลงในสมัยที่ทางวงยังทำงานใต้ดินอยู่ ("กลัว" และ "โรงหนังเก่า" ซึ่งเพลงหลังเป็นเพลงลูกทุ่ง!)


 


สรุปง่ายๆ ก็คือถ้าคุณชอบเพลงเพราะๆ ที่ไม่เบาโหวง แถมชวนให้โดดได้บ่อยๆ ก็ฟัง 10 เพลงแรกไป แต่ถ้าใครเป็นแฟนระดับฮาร์ดคอร์ของทางวงที่ "รู้ทาง" ของวงนี้มาแต่ไหนแต่ไร ก็เชิญฟัง Bonus Track ทั้ง 12 เพลงได้เลย


 


แต่จนแล้วจนรอด...อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่คุณสามารถซื้อแผ่นลิขสิทธิ์ได้โดยไม่อายใครครับ


 


 



ของฝากจากเด็กใหม่ฯ


 


ของฝากในคราวนี้ ผมจะหยิบเพลง "ใจนาง" ของวง "ชาตรี"-วงดนตรีสตริงขวัญใจคนไทยยุคทศวรรษ 2520 ที่มีข่าวว่าจะกลับมารวมตัวเล่นคอนเสิร์ตกันใหม่มาให้ฟังกันครับ


 


จริงๆ แล้วเพลงนี้ก็เป็นเพลงป๊อปธรรมดาๆ ตามมาตรฐานของชาตรีนะแหละ แต่สิ่งพิเศษของเพลงนี้อยู่ที่เสียงปืนดัง "เปรี้ยง..ง..ง" ที่ดังขึ้นหลังท่อนฮุกของเพลง (ซึ่งไอ้เสียงปืนนี่แหละ ที่สามารถเปลี่ยนอารมณ์จากเพลงรักอกหัก ให้กลายเป็นเพลงประกอบหนังฆาตกรรมได้เลย)


 


ด้วยเสียงปืนที่ว่า บวกกับเสียงดนตรีและซาวด์ที่เชยได้ใจ ทำให้เพลงนี้ฟังแล้วได้อารมณ์พิลึกครับ