Skip to main content

อันเนื่องมาจาก "ดาบมังกรหยก" (ภาค 2)

คอลัมน์/ชุมชน

แม้ขณะที่เขียนนี้เป็นคืนวันลอยกระทง (5 พ.ย.) ผู้เขียนก็ไม่ได้ออกไปไหนเพราะส่วนตัวไม่ได้สนใจงานนี้แต่อย่างใด มีผู้รู้ท่านหนึ่งเคยบอกว่าตำนานเรื่องนี้มีที่มาที่ไปและไม่น่าเชื่อว่าจะเก่าจริง อาจเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองบางอย่างในสมัยหนึ่งแล้วสืบเนื่องมาจนวันนี้ที่คนเลิกถามกันว่ามีมูลความจริงกันแค่ไหนกันเชียว อย่างไรก็ตามในงานเขียนชิ้นนี้ จะไม่ได้กล่าวเรื่องงานลอยกระทงแต่อย่างใด แค่โปรยหัวเท่านั้น


 


คืนวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมาก็ได้ดู "ดาบมังกรหยก" อีกครั้ง เพราะหัวใจมันขอมา หลังจากที่ติดใจกับความเป็น "เตียบ่อกี้" ในใจคิดว่าอยากให้เด็กรุ่นใหม่ดูเรื่องนี้ให้ชัดๆ แล้วพิจารณาตัวเอง จะได้เลิกคิดอะไรเกิน "ตัวตน" แบบสุดๆ เสียบ้าง คนดีๆอยู่แล้วก็คงพอมี  แต่หาได้น้อยเหลือเกิน  จำได้ว่าเมื่อปี 2531 หรือ 18 ปีก่อน เคยตำหนินักศึกษาปี 1-2 ตอนนั้นว่า ทีไปดูคอนเสิร์ตนี่ นักร้องสั่งให้ทำอะไรทำได้หมด แต่พอพ่อแม่ครูบาอาจารย์สั่งงานหรือสอนสั่ง ไม่เคยทำไม่เคยเชื่อ ตอนนั้นพวกนักศึกษาได้แต่หัวเราะคิกๆ ขำที่ครูกัด สมัยนี้ ถ้าพูดแบบนี้เด็กจะไม่ขำ แต่คงจะลุกมาด่ากลับหรือหาเรื่องวิวาท หรือ อาจวิ่งไปฟ้องผู้บริหารให้มาจัดการผู้สอนที่ "บังอาจ" ไปตักเตือนหรือขบกัดทางวาจาเพราะอยากให้เด็กได้ดี ดังนั้น งานเขียนนี้คือการมองบทบาทของคนรุ่นใหม่ โดยผ่าน "เตียบ่อกี้"  


 


"เตียบ่อกี้" เป็นตัวละครที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เอาชีวิตแทบไม่รอดมาก็หลายหน แต่ก็เพราะโชคร้ายเหล่านั้นที่ทำให้ตัวเขาเองกลายเป็นยอดฝีมือ สามารถเรียนรู้เคล็ดวิชาสุดยอดในแต่ละสำนักได้ และมีพลังฝีมือเป็นเลิศแม้จะมีอายุน้อยก็ตาม ที่น่าสนใจคือเตียบ่อกี้ไม่ได้หยิ่งผยอง เมื่อสู้ชนะบรรดายอดฝีมือที่มีอาวุโสมากๆ ก็ยังให้เกียรติไม่ข่มว่าตนเหนือกว่า ในขณะเดียวกันที่มีจอมยุทธผู้ใหญ่หลายคนที่มีคุณธรรมให้เกียรติเตียบ่อกี้ ยอมรับว่ามีฝีมือล้ำเลิศ ดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องที่น่านิยม อย่างไรก็ตามในเรื่องก็มีหลายฉากที่พยายามบอกว่า คนชั่วคนดีมีคละเคล้ากัน และแต่ละคนไม่ได้ดีหมด ย่อมมีข้อบกพร่องแม้แต่ตัว "เตียบ่อกี้" เองในบางจุดก็แย่และโหลยโท่ย เช่น เจ้าชู้เงียบและตัดสินใจไม่เด็ดขาด  ทำให้เรื่องไม่แบนไม่บี้แบบละครชุดหรือหนังชุดของไทยที่ผ่านๆมาเกือบทั้งหมด  (แม้ว่าบอกว่ามีการพัฒนาไปแล้วก็เถอะ)


 


จำได้ว่าเรื่องค่านิยมดีๆในสังคมไทยที่ควรจะมีอยู่และสนับสนุนให้เป็นที่ปฏิบัติ สามารถนำมาใส่ในความบันเทิงแบบไทยๆ ได้ อันนี้ท่านดร. จุรี วิจิตรวาทการ ได้เคยกล่าวไว้ในประชุมของสภาอาจารย์ ที่นิด้า เมื่อไม่นานมานี้ในงานที่สภาอาจารย์ได้จัดเลี้ยงฉลองให้ท่านในโอกาสที่ได้รับการยอกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของ U. of California, Berkeleyซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากที่จะทำ ท่านบอกว่าควรจะมีการแทรกเข้าไปให้ได้ ซึ่งตรงกับหลักความคิดทางวิชาการด้านสื่อศึกษา


 


น่าเสียดายที่ตรงนี้สังคมไทยกลับทำไม่ได้ซักที ที่พอทำได้ก็ออกมาด้านๆ ตื้นๆ ที่ทำออกมาดีคือพวกชิงรักหักสวาทกันทั้งเรื่อง จู๋ต้องการจิ๋ม จิ๋มหวงจู๋  ไม่ก็บอกว่า ถ้าจะเป็นคนดีต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เอากันโต้งๆ ไม่มีการทำให้เนียน (รวมไปถึงการขุดเอา เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี มารีมิกซ์ ให้เด็กรุ่นใหม่มานั่งขำกลิ้ง)  อันนี้จีนทำได้ เนียนกว่าหน่อย แต่น่าเสียดายที่ของจีนก็มีเรื่อง "แค้นต้องชำระ" ที่คนจีนเองหนีไม่พ้น แล้วก็เผื่อแผ่มายังสังคมไทยบางส่วนที่ชอบเสพหนังจีนแต่แยกแยะอะไรไม่ได้ (จึงมีการเช็คบิลกันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่รุ่นเด็กๆจนถึงผู้ใหญ่บิ๊กๆ--หลายคนที่ไปเช็คบิลเมื่อวันก่อน วันนี้ก็เลยโดนเช็คบิล เป็นวงจรอย่างนี้เรื่อยๆ) ดังนั้นจึงไม่ได้บอกว่าละครจีนจะหลุดน้ำเน่าได้มากนัก เพียงของเค้า กลิ่นไม่แรงเท่าของเรา ในบางจุด


 


กลับมาดูที่คนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ที่ขาดคุณธรรมแบบ "เตียบ่อกี้" เรื่องไม่ทำให้ใครเสียหน้า เดี๋ยวนี้ ที่พบเจอคนรุ่นใหม่ไม่ได้คิดอะไรเกินเรื่อง "ชิงดีชิงเด่น" หากถามว่าคนรุ่นเดียวกับผู้เขียนหรือก่อนหน้าเป็นมั้ย บอกได้ว่ามี และไม่น้อยด้วย หากแต่เมื่อมองเทียบกับรุ่นหลังๆนี้ บอกได้ว่ารุ่นใหม่แซงหน้าไปหลายขุม ยังคิดอยู่ต่อไปว่า เอ๊ะต่อไปสังคมนี่จะเป็นอย่างไร คิดแล้วก็ไม่ค่อยอยากอยู่เห็นเท่าไร ถ้าตายก่อนได้ก็จะเลือก


 


แต่เพราะตายไม่ได้ในวันนี้พรุ่งนี้อย่างที่ปรารถนา  และเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่ดีๆก็ยังมี ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากให้คนรุ่นใหม่มองโลกอย่างเข้าใจมากขึ้น พวกที่ทำงานดีๆ อยู่แล้วก็ต้องอดทนมองผู้ใหญ่อย่างเข้าใจด้วย และไม่ต้องมาบ่นนักว่าลำบากเพราะผู้ใหญ่เองก็ผ่านมาก่อนและเข้าใจ เพียงแต่เด็กเองไม่เคยมองว่าตนเองสบายกว่ารุ่นก่อนกี่เท่า อันนี้ต้องด่าคนรุ่นเดียวกับผู้เขียนด้วยที่เลี้ยงลูกไม่เป็น เลี้ยงเด็กจนไม่มีความอดทน พอทำดีเข้าหน่อยก็อยากได้ผลทันตา มันไม่แน่หรอกเรื่องแบบนี้ จึงอาจพูดได้ว่า "พ่อแม่อาจลืมสั่งสอน" หรือ "พ่อแม่สอนไม่เป็น" หรือบางทีก็คือ "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น—บื้อได้ข้ามรุ่น" เรียกว่า พ่อแม่บกพร่องอย่างที่สุด


 


ผู้เขียนอยากขอวิงวอนให้คนรุ่นใหม่รู้จักอดทนเพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ เพราะจะได้เป็นผู้ใหญ่แบบมีคุณภาพ หัดมองดูในอดีตด้วยว่าคนรุ่นเก่านั้นผ่านวัยเด็กมาเหมือนกันและก็ลำบากมามากกว่าด้วย วันนี้อดทนแค่นี้คงไม่ตาย ไม่ใช่เพราะเหตุนี้หรอกหรือที่ผู้ใหญ่รุ่นผู้เขียนหรือมากกว่าบางคนจึงใจอ่อนยอมตามใจเด็กรุ่นหลังจนเสียเด็กแบบนี้ เพราะไม่อยากให้ลูกของตนทรมานแบบสมัยที่ตนเคยเป็นมา จนกลายสภาพมาเป็นเหมือน "พ่อแม่รังแกฉัน" ในวันนี้ ผู้เขียนเห็นพ่อแม่รุ่นใหม่กลัวลูกจนหงอ เห็นอาจารย์บางคนกลัวลูกศิษย์จะโกรธและเกลียด


 


"เตียบ่อกี้" เป็นตัวอย่างที่ดีในหลายด้านที่ผู้เขียนอยากให้คนรุ่นใหม่ของไทยได้ดูและนำไปคิดต่อ ไม่จำเป็นต้องเหมือน แต่ดูแล้วควรจะคิดได้ว่าคุณธรรมบางอย่างไม่ใช่ของล้าสมัย ไม่ใช่ของที่โยนทิ้งได้ เรื่องของความอดทน อดกลั้น การยกย่องคนที่ควรยก ข่มคนที่ควรข่ม การมองอะไรมากกว่าตัวตนของตนเอง เป็นเรื่องที่ต้องจรรโลงไว้ ไม่งั้นสังคมคงจะอยู่ไม่ได้ การมาตะแบงเถียงอย่างเดียวว่า "การเป็นคนรุ่นใหม่ นั้นลำบาก นั้นเหนื่อย" บางทีก็เป็นสิ่งที่น่าสมเพชมากกว่าน่าเห็นใจ เพราะจริงแล้วปัจจุบันโลกให้อะไรกับคนรุ่นใหม่มากจนไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่นี้สบายมากกว่าที่ควรจะเป็นเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งสังคมสมัยนี้ก็ไม่ค่อยกล้าคาดหวังคนรุ่นใหม่มากมาย สบายกว่าเก่าแยะจริงๆ


 


ว่าแล้ว ไม่ว่าคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าต้องมาคุยกัน และช่วยกันทำให้ดีขึ้น  แต่จะได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน คงต้องดูกันต่อไป แล้วผู้เขียนก็จะดู "ดาบมังกรหยก" ไปเรื่อยๆ ถ้าทนคอยดูไม่ได้ก็จะไปหาดีวีดี หรือ วีซีดีมาดู ให้มันจบๆ ไปซะ นี่ไงที่ว่าชีวิตสมัยใหม่อะไรๆ ก็เร็วได้ มีทางเลือกได้มาก สะดวกกว่าเก่าแยะ "ไม่เหนื่อย ไม่ลำบาก" ถ้าหากรู้จักใช้ให้เป็น