Skip to main content

จาก ม.7 ถึง สนช. : ผลประโยชน์ทับซ้อน

คอลัมน์/ชุมชน

คำว่าผลประโยชน์ทับซ้อนปรากฏบ่อยครั้งช่วงทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จนชาวบ้านร้านตลาดก็สามารถใช้วาทกรรมคำนี้เพื่อโจมตีนายกฯ ทักษิณได้โดยที่ก็ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไรกันแน่ รู้แต่ว่ามันเป็นอะไรที่ไม่ดีไม่งามเกี่ยวกับผลประโยชน์ของทักษิณ


จะว่าไปเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซ้อนทับไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใดเลย แต่การเมืองและม็อบพันธมิตรก็ได้ทำให้คำนี้กลายเป็นคำยอดฮิตติดตลาดในสมัยที่ทักษิณเรืองอำนาจ


ผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่มนุษย์รวมกันอยู่เป็นสังคม "ที่ไหนมีมนุษย์ ที่นั่นก็ย่อมมีผลประโยชน์ทับซ้อน"  แต่อะไรทับซ้อนกับอะไร? 


ผลประโยชน์ส่วนตัวทับซ้อนกับประโยชน์ส่วนรวม?
ผลประโยชน์ในฐานะข้าราชการประจำทับซ้อนกับผลประโยชน์ในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทเอกชน?
ผลประโยชน์ในฐานะนักวิชาการทับซ้อนกับผลประโยชน์ในฐานะอาจารย์แห่งสถาบันกวดวิชา?
ผลประโยชน์ในฐานะบุคคลสาธารณะทับซ้อนกับผลประโยชน์ส่วนตัว?  ฯลฯ


คำว่า "สวมหมวก 2 ใบ"  คือดำรงตำแหน่ง 2 ตำแหน่งพร้อมๆ กัน ก็มีนัยของผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยเหมือนกัน และการสวมหมวก 2 ใบก็เกิดขึ้นเป็นปกติมานมนาน อย่าว่าแต่ 2 ใบเลยบางคนสวมถึง 5 ใบ ดังนั้น ผลประโยชน์จึงเป็นเรื่องธรรมดาๆ หมายถึงว่ามันเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยมายาวนาน แต่จะเป็นเรื่องปกติที่มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดหรือไม่นั้น ต้องพิจารณากันเป็นกรณีไป


คุณทักษิณ ชินวัตร ค่อนข้างโชคร้ายที่ถูกโจมตีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างหนักหน่วงจนกลายเป็นกระแสความเกลียดชัง ผมไม่ปฏิเสธหรอกว่าทักษิณไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ที่อยากเสนอก็คือคนจำนวนไม่น้อยที่โจมตีทักษิณในเรื่องนี้ก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การกล่าวหาโจมตีทักษิณในเรื่องนี้ดูจะไม่ค่อยเป็นธรรมนัก


และเพื่อให้การกล่าวหาคุณทักษิณ ชินวัตร มีความเป็นธรรมมากขึ้น การพิจารณาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจึงต้องเพ่งเล็งไปหาบุคคลอื่นๆ บ้าง เพื่อดูสิว่าคนที่ดูเหมือนเป็นคนดีขี่กระแสหาเสียงนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นเดียวกับทักษิณ  ชินวัตรหรือไม่


ในฐานะตำแหน่งของอธิการบดี ย่อมเป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะพาตนเองไปนั่งเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาขององค์กรต่างๆ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการทับซ้อนกันของตำแหน่งซึ่งแน่นอนว่าทับซ้อนกันในเรื่องผลประโยชน์ด้วย


ฐานะตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย ในประเทศโลกที่สามอย่างประเทศไทยนั้น นอกจากหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นตำแหน่งที่ถูกคาดหวังว่าควรจะมีบทบาททางสังคมด้วย  ดังนั้น เราจึงได้เห็นอธิการบดีแสดงความคิด ความอ่านผ่านทางสื่อแขนงต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง


การแสดงความคิดเห็นทางสังคม และทางการเมืองของผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอาจมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เช่น ในเรื่องของมาตรา 7 หรือที่เรียกกันแบบสะดวกปากว่า ม.7 ที่เป็นช่องทางกฎหมายที่เปิดให้ "คนนอก" เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยการพระราชทาน หรือที่เรียกกันว่านายกพระราชทาน


คอกาแฟข้างทางเดินซึ่งไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ มักจะหยิบเอาเรื่อง ม.7 ที่เสนอโดยอธิการบดีมาล้อเล่นหัวเราะกันจนเป็นที่สนุกสนาน เพราะว่าการเดินเกมเห็นด้วยกับ ม.7 ของอธิการบดีนั้นเป็นเรื่องตลกตกสมัย และไม่ค่อยมีใครอยากซื้อแม้ว่าจะไม่ชอบทักษิณก็ตาม


อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ส่อแสดงให้เห็นว่าการจัดการกับทักษิณตามวิธีคิดของอธิการบดีนั้นไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงวิถีทางประชาธิปไตยแต่อย่างใด ความคิดนี้ปูทางไปสู่การรัฐประหารด้วยวิธีการแบบดักดานของเหล่าทหารหาญในที่สุด


เมื่อเกิดการรัฐประหาร สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือการผ่องถ่ายอำนาจไปสู่คนกลุ่มใหม่ การปูนบำเหน็จให้แก่ผู้ร่วมก่อการซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีพวกม็อบพันธมิตร หรือบางคนเรียกว่า "ม็อบพันธมาร"  บางคนอารมณ์ขันหน่อยก็เรียก "ม็อบอัณฑมิตร" ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป (โชคดีที่ผมไม่เคยเห็นด้วยเลยกับม็อบพันธมิตรและรู้ทันคนอย่างสนธิ แซ่ลิ้ม ไม่อย่างนั้นแล้ว "ตราบาป" จะติดตัวหลอกหลอนไปตลอด)


อธิการบดีซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย และดูเหมือนจะเป็นตำแหน่งทางสังคมด้วย  ได้รับการแต่งตั้งปูนบำเหน็จให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อธิการบดีบางท่านอาจเฉยๆ บางท่านอาจชอบ แต่ในกรณีของอธิการบดี ม.7 แล้ว เชื่อได้ว่าโปรดปรานยินดีกับตำแหน่งที่ทหารตั้งให้เป็นอย่างมาก เพราะท่านได้ "ปูทาง" อย่างแอบๆ ให้กับตนเองมาโดยตลอด


การดำรงตำแหน่งอธิการบดีกับสมาชิก สนช. นั้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่? การรับเงินเดือนในฐานะข้าราชการกับเงินเดือนจากในฐานะสมาชิก สนช. ซึ่งแต่งตั้งโดยทหารเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่?


นี่แหละครับ สังคมไทย "ว่าแต่เขา  อิเหนาเป็นเอง"  ทั้งนั้น