Skip to main content

มหกรรมสร้างโลกสีเขียว รวมพลคนรักแม่น้ำโขง

คอลัมน์/ชุมชน


เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ นับว่าเป็นฤกษ์ดีของการจัดประชุมสัมมนาระดับชาติและระดับสากล เพื่อรณรงค์จิตสำนึกของความรัก ความเคารพ ความกตัญญูที่มนุษย์พึงมีต่อธรรมชาติ ในฐานะที่ธรรมชาติทำหน้าที่เป็นผู้ให้ ผู้หล่อเลี้ยงมนุษย์ทั้งในมิติทางกายภาพ มิติทางจิตวิญญาณ


งานแรก คือ การประชุมระดับโลก ซึ่งจัดโดย สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ THE WORLD CONSERVATION UNION (IUCN) เป็นการประชุมองค์กรสมาชิกของ IUCN ทั่วโลก จัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม ยังความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นแก่ผู้เข้าประชุมทั่วโลกประมาณ ๕,๐๐๐ คน ซึ่งมีเวทีย่อยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ นับร้อยเวที รวมทั้งเวทีเกี่ยวกับการอนุรักษ์แม่น้ำโขงด้วย งานนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนสากลอย่างยิ่ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงต้อนรับ เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน ศกนี้


งานที่สอง คือ การประชุมเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและกลไกความร่วมมือในภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง ที่ห้องประชุมอาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาคม ๖ ประเทศในลุ่มน้ำแม่โขง คือ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา มากกว่า ๑๐๐ คน เจ้าภาพคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา และโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า


งานที่สาม คือ สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก ครั้งที่ ๓ มหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุม พระราชทานรางวัลแก่เกษตรกรผู้สร้างสรรค์งานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน และเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ นับเป็นขวัญ กำลังใจอันยิ่งใหญ่ต่อองค์กรร่วมจัดงานและผู้เข้าร่วมงานทุกคน ที่จะร่วมสืบสานอุดมการณ์ "ฟื้นฟูวิถีไทย เพื่ออธิปไตยของชาติ" ให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป


งานที่สี่ คือ มหกรรมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชนเผ่า อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จัดโดยสถาบันชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, เครือข่ายผู้รู้ภูมิปัญญาชนเผ่าแห่งประเทศไทย, เครือข่ายผู้รู้ชนเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย ๑๓ ชนเผ่า หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน ซึ่งมีพี่น้อง ๑๓ ชนเผ่า ได้แก่ ม้ง เมี่ยน อาข่า ลาหู่ ลีซู กระเหรี่ยง ลัวะ ดาระอั้ง (ปะหล่อง) คะฉิ่น บีซู ไทยใหญ่ ไทยลื้อ และไทยยวน ในประเทศไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือ ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และจีน โดยมาร่วมกันสร้างบ้านจำลองเหมือนจริง แสดงวิถีชีวิต การตำข้าว ฝัดข้าว ทอผ้า แกะสลัก ร้องเพลง เล่นดนตรี เต้นรำ แบบพื้นเมือง และเครื่องแต่งกายดั้งเดิม นับเป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของพี่น้องชนเผ่า และความมุ่งมั่นที่จะสืบทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าคู่สังคมไทยและสังคมโลกตลอดกาลนาน


และงานที่ห้า ซึ่งเริ่มต้นในวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ อันเป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ วันลอยกระทง คือ การอภิปรายเรื่อง "แม่น้ำโขง มุมมองภาคประชาชนกับงานวิจัยจาวบ้าน" จัดที่ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการครู โรงเรียนบ้านหัวเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เป็นงานมหกรรม "รวมพลคนรักแม่น้ำโขง" การรวมพลคนรักแม่น้ำโขงทั้ง ๒ วัน ที่อำเภอเชียงของ จัดโดยคณะนักวิจัยจาวบ้านน้ำของ เครือข่ายนักวิจัยไทยบ้าน ๖ ลุ่มน้ำ (แม่มูน ราษีไศล สงคราม สะเอียบ สาละวิน เชียงของ) เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ OXFAM AMERICA, IUCN (สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์) โดยมีชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และ MEKONG WATCH เป็นองค์กรร่วมจัด



กระแสความสนใจ และความห่วงใยต่อสถานการณ์การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งชาวบ้านริมฝั่งโขงในเขตอำเภอเชียงของและอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ได้สังเกตว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้การทำมาหากินของชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทั้งต่อชาวประมง เกษตรกรผู้ปลูกผักริมฝั่ง และคนเดินเรือรับส่งสินค้า ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยว จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มรักษ์เชียงของ


กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ร่วมกับองค์กรอนุรักษ์ในภูมิภาคและสากล ศึกษาข้อมูล สาเหตุการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง จึงได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า มีการสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำแม่โขง ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และมีโครงการปรับปรุงแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ภายใต้กรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจของประเทศจีน พม่า ไทย ลาว ซึ่งมีแผนการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ส่วนของประเทศพม่า ไทย ลาว เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ ระวาง ๓๐๐, ๕๐๐ ตัน เดินทางในแม่น้ำโขงได้ตลอดปี มิใช่ใช้เรือขนาด ๑๐๐ - ๑๕๐ ตัน เดินทางได้เฉพาะฤดูน้ำหลาก ส่วนฤดูแล้ง เดินทางได้จำกัดอย่างที่เคยเป็นมา


ในส่วนภารกิจของวุฒิสภา ๓ คณะ คณะกรรมาธิการที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ศึกษาและติดตามสถานการณ์ร่วมกับเครือข่ายประชาคม นักวิชาการ และภาครัฐ


ผลสรุปจากการประชุมเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและกลไกความร่วมมือในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
๑. ทบทวนอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของแม่น้ำโขง รัฐบาลของทั้ง ๖ ประเทศควรร่วมกันรักษาความหลากหลายของระบบนิเวศและวัฒนธรรมท้องถิ่นลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นองค์รวม โดยไม่ขึ้นกับชายแดนของประเทศใด ควรทบทวนหรือยุติโครงการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงที่ไม่มีหลักประกันต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะโครงการสร้างเขื่อน ทั้งเขื่อนในประเทศจีน เวียดนาม (เขื่อนยาลี) ควรพัฒนากลไกภาคประชาสังคมจากตัวแทนประชาชนในท้องถิ่น ให้เป็นกลไกการต่อรอง เพื่อตอบสนองความต้องการภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง


๒. การพัฒนาพลังงานในลุ่มน้ำโขง ที่ผ่านมาเป็นการรวมศูนย์ มุ่งประโยชน์ทางธุรกิจ จึงทำให้เกิดโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งก่อผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และผลักภาระค่าการจัดหาพลังงานต่อผู้บริโภค การพัฒนาโครงข่ายพลังงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น และอธิปไตยของประเทศนั้น ๆ


สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือประเทศผู้บริหาร ควรระงับการสนับสนุนโครงการพัฒนาพลังงานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ หันมาสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมการบริหารจัดการได้ รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทุกด้าน และข้อมูลงบประมาณการเงินอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ทั้งการรับรู้ข้อมูล การร่วมตัดสินใจ และร่วมติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล



ภาคประชาสังคมในลุ่มน้ำโขง ต้องร่วมมือทำงานมากขึ้นใน ๓ ระดับ ดังนี้


ระดับ ๑ ติดตามและเรียกร้องต่อโครงการพัฒนาในภูมิภาค
ขอให้ยุติโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง โดยศึกษาทางเลือกในการคมนาคมค้าขายอย่างเหมาะสมกับระบบนิเวศน์
ขอให้ทบทวนโครงการสร้างเขื่อนตอนเหนือแม่น้ำโขง และการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาของประเทศต่าง ๆ
เรียกร้องความรับผิดชอบจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนในจีน และแม่น้ำยาลีในเวียดนาม เรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศเคารพต่อสิทธิชุมชนและวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนท้องถิ่น และรักษาผลประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น ชนพื้นเมืองให้ตัดสินใจแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ โดยมีทางเลือกของประชาสังคมอย่างเหมาะสม


ระดับ ๒ การรณรงค์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง
ให้คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเคารพต่อวิถีของเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นแหล่งสนองความมั่นคงทางอาหารของทุกชีวิต โดยสร้างอนาคตร่วมกันด้วยการแบ่งปันที่ไม่จำกัดด้วยเขตแดนการปกครอง
ควรร่วมกันพัฒนาระบบการศึกษาให้ตระหนักถึงคุณค่าของแม่น้ำ ในหลากหลายมิติ ทั้งมิติทางจิตวิญญาณ ศาสนา วัฒนธรรม แหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตทางกายภาพ แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งอาชีพ


ระดับ ๓ สร้างเครือข่ายความร่วมมือตลอดลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ
สร้างความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการพัฒนา ส่งเสริมการวิจัยโดยชุมชน เพื่อสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นนำสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย
สร้างกลไกตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและแหล่งทุน เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารโลก (WORLD BANK) เสนอให้แหล่งทุนต้องกำกับดูแลผลการดำเนินงานของ โครงการที่ให้ทุนไปแล้ว โดยก่อนการอนุมัติโครงการต้องจัดเวทีเจรจาต่อรองของกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เช่น กรณีเขื่อนปากมูน ซึ่งรัฐไม่สนองการมีส่วนร่วมของประชาชน


จบเวทีภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่กรุงเทพฯแล้ว ขอเชิญมาร่วมรวมพลคนรักแม่น้ำโขงในพื้นที่จริง ริมน้ำแม่โขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน และวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดทั้ง ๒ วัน ท่ามกลางการต้อนรับอันอบอุ่นของ "จาวบ้านเชียงของ" และดวงจันทร์ใสสว่างบนฟากฟ้าเหนือแม่น้ำโขง


วันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ที่ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการครู โรงเรียนบ้านหัวเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีรายการวิชาการเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า ปาฐกถา โดย รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เรื่อง "อารยธรรมลุ่มน้ำโขงตอนบนกับโลกาภิวัฒน์" ต่อด้วยการสรุปสถานการณ์ปัจจุบันของการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน โดยนักวิชาการจากประเทศจีน (เควิน ลี) และเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการอภิปราย "การพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง มุมมองภาคประชาสังคม"


ช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอรายงาน "วิจัยจาวบ้าน" โดยนักวิจัยจาวบ้านจาก ๑๓ หมู่บ้านริมฝั่งโขงซึ่งได้ทำงานวิจัยตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ นำเสนอโดย ครูตี๋ หรือคุณนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ ในเรื่อง "มองแม่น้ำโขงจากชุมชน" ลุงเสาร์ ระวังศรี คนหาปลาจากบ้านเวียงแก้ว "เรื่องเล่าจากสายน้ำของ คอนผีหลง และคนหาปลา" และเรื่อง "พืชริมน้ำ ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาวะ" เป็นต้น จบด้วยการปาฐกถาปิด โดย ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง "งานวิจัยจาวบ้านในมุมมองของนักวิชาการ"


ส่วนภาควัฒนธรรม มีการแสดงกลองสะบัดชัย โดยจาวบ้านน้ำแพร่ สะล้อซอซึง โดยชาวบ้านเวียงแก้ว อำเภอเชียงของ งานวัฒนธรรมลำน้ำของ จากกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ไทยวน ร่วมงานลอยกระทงริมฝั่งของ และชมภาพยนตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม


ในวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เป็นการรวมพลคนรักแม่น้ำโขง ช่วงเช้า ล่องเรือแม่น้ำของ คอนผีหลง หาดบ้าย หาดทรายทอง และหาดแฮ่ เรียนรู้วิถีชีวิตหาปลา แวะผาพระ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ลอยเรือโปรยดอกไม้แสดงความรักต่อแม่น้ำโขงที่ผาฟ้า กินอาหารไทลื้อ ที่บ้านหาดบ้าย และฟังลำนำเพลงไทลื้อ เรียนรู้การทำเกษตรริมน้ำโขง ทอดผ้าป่าที่วัดหาดบ้าย ชมการแสดงทางวัฒนธรรม ล่องเรือกลับ แวะแก่งคอนผีหลง


ขอเชิญพ่อแม่ชาวกรุง ชาวเมือง พาลูกหลานไปเรียนรู้ธรรมชาติ วัฒนธรรมริมน้ำโขง เพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณของท่าน และรวมพลังคนรักแม่น้ำโขงให้เข้มแข็ง แผ่ไพศาลไปถึงความรักแม่น้ำทุกสาย และธรรมชาติทั่วโลก ทั่วจักรวาล ขอให้ทุกท่านมีความสุขในเทศกาลลอยกระทงค่ะ


หมายเหตุ : ขอขอบคุณเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอื้อเฟื้อภาพแม่น้ำโขงพร้อมคำบรรยาย