Skip to main content

เซ็กส์ในวันที่ยังไม่ถึงวัยอันควร

คอลัมน์/ชุมชน


 


คืนก่อนวันลอยกระทงไม่กี่วัน ดวงจันทร์เริ่มใกล้เต็มดวงเข้ามาทุกขณะ แม้จะยังไม่ค่อยเต็มดวงเท่าใดนัก แต่พระจันทร์ก็ส่องแสง แผดจ้า สว่างไปทั่วอาณาบริเวณของแผ่นดิน  ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ต่างเฝ้ารอคอยคืนเดือนเพ็ญ ที่จะเห็นพระจันทร์อย่างเต็มดวง และเฝ้าลอยกระทงขอขมาสายน้ำ ในประเพณีเดือนสิบสองที่ใกล้จะมาถึง


 


เย็นวันหนึ่ง มีข่าวในโทรทัศน์ว่า ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ประกาศเตือนสังคม เกี่ยวกับภัยสังคมที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวันลอยกระทง นั่นคือ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นในวันลอยกระทง โดยขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลายให้ดี ระวังอย่าให้มีอะไรในช่วงวันดังกล่าว


 


อันที่จริงหลังจากที่มีข่าวทำนองนี้ออกมา มักจะมีเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน แต่ดูเหมือนว่าปีนี้ ถ้อยประกาศ คำแถลงของรัฐ ดูจะไม่ค่อยมีเสียงตอบโต้จากสังคมมากนัก เพราะอะไรนั้น ผมไม่ทราบ แต่ประการหนึ่งอาจเป็นเพราะทุกคนในสังคมต่างรู้แจ้ง เห็นชัดมาโดยตลอดว่า หากมีเทศกาลสำคัญอะไรที่วัยรุ่นหนุ่มสาวจะได้มาพบเจอกันก็ต้องมีคำเตือนมากมายจากภาครัฐ โดยเฉพาะคำเตือนเรื่องการมีเซ็กส์


 


ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลใด ทั้งวาเลนไทน์ ลอยกระทง สงกรานต์ ฯลฯ –ชาวประชาจะได้ยินคำประกาศจากรัฐให้ระมัดระวังภัยทางเพศหรือการมีเซ็กส์ของวัยรุ่นออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับข้อมูลสนับสนุนจากสารพัดงานวิจัยที่เป็นข่าวสารให้สังคมได้ตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น


 


ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไร ที่ลอยกระทงปีนี้ คำเตือนของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะไม่ค่อยมีการตอบโต้ หรือแสดงความคิดเห็นแย้ง เพราะคนรับฟังมานานว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลนี้ เด็กจะทำอะไรกัน  รัฐจะออกมาประกาศอะไร คนรับรู้กันมาอย่างปกติ


 


อย่างไรก็ตาม คำเตือนจากรัฐครั้งนี้ และทุกครั้งที่ผ่านมา เสมือนเป็นคำเตือนจาก "คนที่อยู่ในวัยอันควร" ที่เตือนมายัง "คนที่ยังไม่ถึงวัยอันควร"


 


คำว่า "วัยอันควร" นี้แหละครับ ที่ฟังและรับรู้มาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่รู้สักทีว่า วัยอันควรนี้เป็นอย่างไร หมายถึงอะไร


 


หากให้ "เดา"  ขอย้ำว่า "เดา" นะครับ คำว่าวัยอันควรที่ผู้ใหญ่พูดถึง น่าจะหมายถึง ….


 


ความหมายแรก วัยอันควรด้านอายุ หมายถึง หากใครอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป คือ ผู้อยู่ในวัยอันควร เพราะบรรลุนิติภาวะ สามารถทำนิติกรรมต่างๆ ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซื้อเหล้า เข้าผับ แต่งงาน นี้แหละคุณอยู่ในวัยอันควร!


 


หรือ ความหมายต่อมา วัยอันควรด้านการศึกษาและการมีงานทำ คือ หากใครเรียนหนังสือจบ ซึ่งโดยมากหมายถึงระดับปริญญาตรี ได้รับใบปริญญา และมีการมีงานทำ มีความรับผิดชอบ นี้แหละคุณอยู่ในวัยอันควรแล้ว!


 


หรือความหมายสุดท้าย วัยอันควรด้านสรีระร่างกาย คือ ประมาณอายุ 12 ปี ที่เพศสรีระเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง คือ ชายเริ่มมีขนรักแร้ มีน้ำอสุจิ เสียงแตกมีคอหอย ส่วนหญิงคือเริ่มมีหน้าอก มีประจำเดือน เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเยี่ยงนี้แหละ คุณอยู่ในวัยอันควรแล้ว!


 


ทั้งสามความหมายนี้ ผมลองจินตนาการดูนะครับว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่มักกล่าวขาน ต่อว่า วัยรุ่นว่าทำแบบนั้น ทำแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์ว่า ทำไปก่อนวัยอันควร นั้น ท่านทั้งหลายมองจากแง่มุม ความหมายใด เพราะที่ผ่านมาผมเองก็ไม่เคยได้ยินชัดๆ เลยว่าเมื่อไหร่ ยามใด เวลาไหน ช่วงอะไร แบบไหน ที่จะบอกได้ว่าคุณอยู่ในวัยอันควรแล้ว


 


สิ่งที่เห็นอีกอย่างคือ "วัยอันควร" แต่ละคนก็อาจจะมองจากความหมายคนละมุม และแต่ละมุมก็มีที่มาที่ต่างกัน บางคนเป็นวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 ปี แต่มีงานทำ รับผิดชอบตัวเองได้ เขาก็อาจบอกว่าเขาอยู่ในวัยอันควรที่จะมีสิทธิมีเซ็กส์ได้ แต่ผู้ใหญ่อาจมองว่าเขายังเป็นเด็กอยู่ก็ได้ ดังนั้นแต่ละคนย่อมอยู่ในวัยอันควรในความหมายที่ต่างกัน


 


แต่เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า "วัยอันควร" ที่ผู้ใหญ่พูดกันปาวๆ นั้น ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลทั่วไปที่เอามายัดเป็น "ข้อหา" ให้กับวัยรุ่นเสียมากกว่า เพราะเหตุผลนี้ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาวัยรุ่นลดลงเลยแม้แต่น้อย เพราะสิ่งที่เรียกว่า "วัยอันควร" นี้แหละที่ทำให้เกิดผลกระทบจากการมีเซ็กส์มากขึ้น


 


ถามว่ามากอย่างไร  ก่อนอื่นเราลองมาดูพฤติกรรมของคนคนหนึ่งก่อน โดยที่ ไม่ได้เอา "วัย" มาเกี่ยวข้องนะครับ สมมุติว่ามีชายคนหนึ่งมีเซ็กส์กับผู้หญิงโดยไม่ได้ป้องกัน จนทำให้เกิดการท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือติดเชื้อเอชไอวีเอดส์  ตัวอย่างนี้ผมลองตั้งขึ้นเพียงเพื่อจะบอกว่า ไม่ว่าชายคนนี้อายุ 15 ปีหรือ 40 ปี หากเขามีเซ็กส์โดยไม่ได้ป้องกันก็จะเกิดผลที่ตามมาดังตัวอย่างได้เช่นกัน


 


ดังนั้น ประเด็นจึงไม่น่าจะอยู่ที่ว่า "ยังไม่ถึงวัยอันควร" แล้วทำแบบนั้นจะเกิดปัญหา เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าชาย หญิง วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ข้าราชการ นักการเมือง อาจารย์ นักศึกษา นักพัฒนาสังคม นักธุรกิจ วัยไหนก็ตาม หากมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัยและรับผิดชอบ ก็สามารถเกิดผลกระทบต่างๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน จึงไม่น่าจะอยู่ที่ว่าวัยนั้นควรหรือไม่ควร


 


ดังนั้น แทนที่จะมาเถียงกันว่า วัยอันควรหมายถึงอะไร  ผมว่ารัฐควรจะรณรงค์ให้คนทุกคนในวัยต่างๆ มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ โดยไม่คำนึงว่าเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ หากแต่ต้องคำนึงถึงสัมพันธภาพของคนที่เท่าเทียมกันที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเคารพสิทธิของกันและกัน


 


การย้ำเตือน เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ ควรทำอย่างต่อเนื่อง และไม่เน้นแค่ที่วัยรุ่น หรือในช่วงเทศกาลสำคัญๆ แต่อย่างเดียว แต่ควรให้น้ำหนักกับคนทุกคนในสังคม ในทุกวัน  มีการสื่อสารเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาและรอบด้าน ชัดเจน เพราะถึงอย่างไรเรื่องเพศสัมพันธ์ก็เป็นวิถีธรรมชาติของมนุษย์ ที่ต้องทำให้เป็นเรื่องไม่ใกล้ตัว และทำให้เกิดค่านิยมที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ


 


มากกว่าจะมาบอกว่า ไม่ควรมีเซ็กส์ก่อนวัยอันควร อย่างพร่ำเพรื่อ  เสมือนว่าวัยรุ่นเป็นนักโทษ หรือเป็นแพะรับบาป ที่ถูกโยนข้อกล่าวหามาให้ โดยไม่มีสิทธิแม้กระทั่งจะอุทธรณ์คำกล่าวหาเลยแม้แต่น้อย